แก้วใจจุลจอม : พระพุทธเจ้าหลวงทรงมีความทุกข์โทมนัส (1)
พระพุทธเจ้าหลวงทรงมีความทุกข์โทมนัส (1)
วันเสาร์ที่ 5 มิถุนายน 2423
สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงเจ้าพระยาภานุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) เพื่อแจ้งข่าวเรือพระประเทียบล่ม อันมีกระแสพระราชหัตถเลขาดังต่อไปนี้
“รฺ ที่ ๙๓
๔๒
ถึง ท่านกรมท่า
ด้วยฉันมีความเสียใจที่จะแจ้งความให้ทราบ เมื่อ ณ วันจันทร์ แรม 8 ค่ำ เดือน 7 ฉันขึ้นไปบางปะอิน สุนันทากับลูกหญิงไปในเรือโบตเรือปานมารุตลาก ถึงบางพูดโดนเรือโสรวารซึ่งพระยามหามนตรี ไปลำนั้น ล่มจมคว่ำอยู่นาน ไม่มีผู้ช่วยทันที สุนันทากับลูกหญิง และขรัวยายเลี้ยงคนหนึ่งตาย ฉันมีความวิตกว่า ถึงจะพาศพลงมากรุงเทพฯ จะขายหน้าแก่สมเด็จพระนางโสมนัส คิดจะพาศพขึ้นไปทำที่บางปะอิน แต่เจ้านายมีสมเด็จกรมพระฯ เป็นหัวหน้ารับจะช่วยจัดการศพให้เหมือนแต่ก่อนๆมา ฉันจึงได้พาศพลงมากรุงเทพฯ คุณสุรวงษ์ก็ได้มีความสงสารด้วย ได้รับช่วยการแข็งแรงเหมือนกัน ศพนั้นควรจะขึ้นอยู่ปราสาทได้ตามอย่างเจ้านายวังหลวงสำคัญที่ตายมาแต่ก่อน แต่ฉันกลัวว่าคนทั้งปวงจะพากันว่าเอาศพคนมีท้องขึ้นไว้บนปราสาท จึงได้เอาไว้ที่หอธรรมสังเวชอย่างครั้งกรมสมเด็จพระเทพศิรินทร สมเด็จกรมพระฯ กับคุณสุรวงษ์ได้คิดการเกณฑ์ไม้จะมาทำเมรุท้องสนามหลวง กำหนดไว้ในเดือน 4 ปีนี้ กงสุลต่างประเทศ มีมิสเตอร์บัลเครฟ กงสุลเยเนอราล อังกฤษ เป็นต้น ได้แสดงความโศกเศร้าถามข่าวด้วยแทบทุกกงสุล ชื่อที่ใช้นั้น ฉันขอให้ใช้เรียกคำนำเป็น “สมเด็จพระนางเธอสุนันทากุมารีรัตน์” พออย่าให้เป็นที่อับอายแก่ลูกต่างกรม แต่คำอังกฤษนั้นใช้ “ปรินเซส” ใช้ “ควีน” แต่คนเดียว ที่ควีนนั้นนึกว่าจะใช้ให้แปลกันเป็น “สมเด็จพระนางเจ้า” มีชื่อแล้ว จึงใช้พระราชเทวีเติมข้างท้าย การซึ่งเป็นขึ้นครั้งนี้ เพราะฉันเชื่อผิด คิดผิด มีความโทมนัสเสียใจยิ่งนัก แทบจะถึงกับชีวิต จึงได้มีจดหมายมาถึงเธอช้าไป มีความคิดถึงเธอเป็นที่สุด ถ้าอยู่แล้วจะเป็นที่หวังใจ วางใจของฉันทุกอย่างทุกประการ การซึ่งตกลงกันไปแล้วนี้จะเป็นการตลอดไปฤาไม่ตลอดก็ไม่ทราบ แต่เห็นว่าชีวิตฉันในเวลานี้จะให้ตายนั้นไม่สู้ยากนัก จะบอกอะไรอีกไม่ได้แล้ว ไม่มีเสียงจะพูด
เขียนที่หอธรรมสังเวชในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพฯ ณ วันเสาร์ แรม ๑๓ค่ำ เดือน ๗ ปีมะโรงโทศก ศักราช ๑๒๔๒ ตรงกับวันที่ ๕ เดือน ยูน คริสตศักราช
๑๘๘๐
(พระบรมนามาภิไธย) สยามินทร์
ลูกหญิงนั้นชื่อ กรรณาภรณ์เพชรรัตน์ อายุได้ ๑ ปี กับ ๙ เดือน กับ ๒๐ วัน แม่อายุได้ ๑๙ ปี กับ ๖ เดือน กับ ๒๒ วัน มีท้องอยู่ได้ ๕ เดือนเต็ม
(พระบรมนามาภิไธย) C.R.S.
พระราชหัตถเลขาที่พระองค์ทรงรำพันถึงความโทมนัสนี้ ยังมีอีกในเดือน ๘ ต่อมาเมื่อวันศุกร์ แรม ๑๑ค่ำ ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงเจ้าพระยาภานุวงศ์มหาโกษาธิบดี อีกโดยตอนหนึ่งมีใจความว่า
“ด้วยฉันมีความไม่สบายเลย จึงไม่ได้จดหมายถึงเธอช้านาน ราชการในกรุงมีความสำคัญ
ตัวฉันเองในระหว่าง ๑๕ วัน ตั้งแต่เกิดเหตุก็อ่อนเปลี้ย เหมือนหนึ่งเป็นคนเจ็บ แต่บัดนี้ร่างกายค่อยสบาย แต่ใจยังไม่มีความสุขเลย”
สำหรับ พระยามหามนตรี (อ่ำ) นับจากการถูกถอดยศก็ต้องโทษในเดือน ๗ ปีมะโรง พุทธศักราช ๒๔๒๓ จำคุก ๓ ปี จึงพ้นโทษ เมื่อวันอาทิตย์ ที่ ๑ กรกฎาคม ๒๔๒๖ แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะแม อีก ๓ ปีต่อมา คือ เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๒๙ ปีจอ พระยามหามนตรี ที่ได้เป็น “พระยาพิชัยสงคราม” หลังพ้นโทษแล้วก็ได้ถึงแก่อนิจกรรม
นับตั้งแต่เกิดเหตุเศร้าสลดเมื่อ วันจันทร์ ที่ ๓๑ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๒๓ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะโรงนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 5)ทรงเสด็จหอธรรมสังเวชทุกวัน วันละหลายรอบเพื่อเยี่ยมพระโกศพระมเหสี พระราชธิดาและพระโอรสในพระครรภ์ และบำเพ็ญพระราชกุศล ทรงสดับปกรณ์และถวายกัณฑ์เทศน์ทุกๆวัน โดยเป็นพระธุระในการพระศพอย่างใกล้ชิดตลอดเวลาด้วยพระองค์เอง
พระราชจริยวัตรในการพระศพและการพระเมรุนั้นมีรายละเอียดมากมายในแต่ละวัน ทรงเสด็จหอธรรมสังเวชเช้าและค่ำ ทรงเลี้ยงพระและตรัสกับเจ้านายต่างๆเรื่องการทำบุญบ้าง ของสลากการพระศพบ้าง วันละหลายเรื่องหลายรายการจนดึกดื่นทุกวัน
คราวหนึ่งทอดพระเนตรเห็นฉัตรกั้นพระศพไม่งาม ก็ทรงกริ้วหนัก ให้ปลดลงไปถวายวัดปทุมธานี แล้วรับสั่งให้ทำขึ้นใหม่
บางวันเสด็จออกมาหล่อเทียน บางวันหอธรรมสังเวชมีพิธีกงเต๊ก ซึ่ง ๗ วันมี ๑ ครั้ง ก็ประทับทอดพระเนตรเผากงเต๊ก
ในวันที่ ๑๕ มิถุนายน ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงพระยารัตนโกษา (จัน จารุจินดา) ที่ประเทศอังกฤษ ทรงสั่งรายการมากมายให้ทำเครื่องประดับโกศสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทาฯ ซึ่งรายละเอียดต่างๆในพระราชหัตถเลขา ได้ประจักษ์ลึกซึ้งถึงน้ำพระราชหฤทัยอันยิ่งใหญ่ และเปี่ยมด้วยความอาลัยรักของพระองค์ซึ่งมีต่อสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระมิ่งมเหสีเทวี
ซึ่งแม้จะทรงโทมนัสเหลือแสน แต่ก็ยังทรงห่วงและสั่งการด้วยพระองค์เอง เพื่อให้พระโกศของพระมิ่งมเหสีเทวี อันเป็นที่รักมีความวิจิตรงดงามสมพระเกียรติที่สุด
ในวันที่ ๒๗ มิถุนายน ทรงตรวจดูกรอบไม้ที่ใช้ขึงผ้าที่จะปักคำโคลงบอกการพระเมรุ และทรงให้รวบรวมตำราคำฉันท์ต่างๆสำหรับแต่งบอกการพระศพปักผ้าเป็นตัวหนังสือใส่กรอบแขวนที่พระแกลพระเมรุ แล้วจะนำไปใช้เป็นตำราสำหรับโรงเรียนสุนันทาลัย
ต่อมาในเดือน ๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงตรากตรำและพระองค์ทั้งเป็นพระธุระในการพระเมรุ และทั้งยังทุกข์โทมนัสเต็มท้นอยู่ในพระทัย
บางวโรกาสทรงคิดถึงพระมิ่งมเหสีเทวีแก้วถึงขนาดเสด็จไปทรงเปิดพระโกศทอดพระเนตรพระศพของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทาฯอยู่บ่อยครั้งนั่นย่อมแสดงให้ประจักษ์ได้ถึงพระอาการเศร้าโศกทุกข์ระทมพระทัยชัดเจน
มณีจันทร์ฉาย