คอลัมน์ในอดีต

ความรัก คือ ตำนาน

หลังจากคืนส่องจันทร์ พระจันทร์เต็มดวงผ่านไป ทำให้เจ้าพบ เจ้าแพร อยากรู้เรื่องราวของพญานาคในลำน้ำโขงมากยิ่งขึ้น ทุกเช้าเย็นจะพากันมาช่วยงานเล็กงานน้อยกับหญิงชราเป็นประจำหลังจากนำข้าวปลาอาหารถวายหลวงตาเพื่อแลกกับการเล่าตำนานของพญานาคที่พวกเขาอยากรู้อยากเห็น

เย็นวันหนึ่งใกล้พลบค่ำ…หญิงชรา…รู้ถึงความอยากรู้อยากเห็นของเด็กน้อยทั้งสอง จึงเรียกเด็กน้อยทั้งสองมานั่งใกล้ๆถามความในใจว่า

“อยากรู้เรื่องพญานาคอีกใช่ไหมล่ะ”
เด็กทั้งสองพยักหน้าตอบ…หญิงชราลูบหัวเจ้าแพรอย่างเอ็นดู

บรรยากาศในค่ำคืนนี้ หลังจากฝนพึ่งหยุดตก ใบไม้ ใบหญ้าดูสดชื่นไปหมด ละอองฝนยังคงเกาะอยู่ตามดอกไม้ ใบไม้ ต้นหญ้า รอบบริเวณบ้านเรือนไทยหลังเก่านั้น หญิงชรา…เหม่อมองไปยังที่ริมฝั่งน้ำโขง ขณะที่มือยังคงลูบอยู่ที่หัวเจ้าแพร

“ยายก็รู้มาจากคนเฒ่าคนแก่ที่ล่วงลับไปแล้วเล่าขานต่อๆมายังพอจำได้ว่าที่ตำบลหนองแส แคว้นยูนาน สมัยดึกดำบรรพ์ มีพญานาคผู้เป็นใหญ่แห่งหนองแสอยู่สองตน รักใคร่ปรองดองอยู่ด้วยกันมาช้านาน ต่อมาภายหลังเกิดผิดใจกันทะเลาะวิวาทกันเอง จึงอยู่ร่วมอาณาจักรกันสืบไปไม่ได้ พญานาคตนหนึ่งเป็น ผู้มีสัจจะบารมี รักษาศีลอย่างมั่นคง ยอมถอยหนีร่นออกจากหนองแส โดยพาบริวารเดินทางขุดดินมุดโคลนเป็นร่องลึกไปเรื่อยจนถึงดินแดนแถบลาวและไทย ไปออกทะเลแถบเมืองทัพพระยา จนกลายเป็นแม่น้ำขนาดใหญ่ คดเคี้ยวเหมือนงู ตำนานภาษาบาลีเรียก อุรงคมาลีนที แปลว่า แม่น้ำสายงู ภาษาไทลื้อในดินแดนสิบสองปันนา เรียก แม่น้ำล้านช้าง คนจีนเรียก หลานชาง หมายถึง แม่น้ำที่ไหลเชี่ยวกราก ไหลผ่าน ๖ ประเทศ จีน พม่า ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม ก่อนออกสู่ทะเลจีนใต้ กลายเป็นแม่น้ำขนาดใหญ่เราเรียก แม่น้ำโขงซึ่งมีความยาวยืดเยื้อมาก เหล่าบริวารของพญานาคที่เป็นฝ่ายหนี บ้างก็พลัดหลงกันไปตามเส้นทางอื่นต่างก็ขุดคุ้ยดินโคลนจนเกิดเป็นแม่น้ำชี และแม่น้ำมูล พญานาคฝ่ายหนีซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติธรรมถือศีล จึงได้เป็นใหญ่อยู่ในลุ่มแม่น้ำโขงเรานี่แหละ และเชื่อกันว่าเป็นผู้จุดประทีปโคมไฟถวายพระพุทธเจ้า เป็นพุทธบูชาในวันออกพรรษาของทุกปี ที่บ้านเราเรียกว่า บั้งไฟพญานาค ก็คือท่านปู่พญานาคราชที่เราเห็นกันในคืนส่องจันทร์ไงลูก อีกไม่นานก็จะถึงอีกแล้ว แต่ก่อนหน้าเข้าพรรษาก็ยังมีพิธีแห่บั้งไฟ พบกับแพรเคยเห็นแล้วเมื่อพรรษาก่อน”

“ยายจ๋า…แล้วบั้งไฟพญานาคที่หนูสองคนเห็นนั้น มันคืออะไรจ๊ะยาย”

“ก็เล่าๆต่อกันมานะลูกว่าเป็นการพ่นไฟของเหล่าพญานาคที่ปฏิบัติธรรมถือศีล ประพฤติพรหมจรรย์ไม่เสพเมถุนตลอด ๑ พรรษา เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา น้อมรำลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่แรกท่านปู่ฯ ท่านย่าฯที่เกิดจิตกุศลศรัทธาก็ตามทำบ้าง เพราะฉะนั้นแสงสว่างที่เกิดขึ้นบนท้องฟ้าช่วงจึงสั้นบ้าง ยาวบ้าง ดวงโตบ้าง ดวงเล็กบ้างแล้วแต่อานุภาพของพญานาคแต่ละตนซึ่งไม่เท่ากัน ใครกำลังบารมีอ่อนก็พ่นได้ไม่กี่ดวง แล้วก็สูงไม่มาก ส่วนของท่านปู่ฯ ท่านย่าฯ จะสูงและสุกสว่างกว่าพญานาคตนอื่นๆด้วยจิตอันเลื่อมใสในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงบูชาพระพุทธองค์ด้วยดวงประทีปที่กลั่นจากใจใสๆด้วยแรงอธิษฐานที่กราบไหว้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และหลวงพ่อพระสุกที่ลงไปเป็นพระประธานในเมืองบาดาล

“ท่านปู่พญานาคราช ท่านย่าพญานาคี ที่เราเห็นกายทิพย์เป็นสีทองเหลืองอร่ามและสีเขียวมรกตคืนนั้นทั้งสององค์เป็นคู่รักกันมาทุกภพทุกชาติ ปฏิบัติธรรมจนตามกันทัน ท่านปู่พญานาคราชนี่นะเป็นผู้ที่มีความรักเป็นอมตะ นิรันดร์กาล ที่ผ่านมาท่านย่าฯยังปฏิบัติไม่เท่าทันท่านปู่ฯ ท่านปู่ฯรอคอยด้วยความรักความอดทน แม้การรอคอยจะเนิ่นนานและยาวนานหลายกัปหลายกัลป์ ท่านปู่ฯก็ไม่ละความพยายามเร่งปฏิบัติธรรมถือศีลอยู่เนืองนิจเพื่อส่งบุญกุศลให้ท่านย่าฯ ท่านย่าฯเองก็ปฏิบัติตามอย่างไม่ย่อท้อ ความรักเฉกเช่นนี้หายากมากนะลูก ต้องมีพลังจริงๆจึงจะทำได้เรียกได้ว่าท่านปู่ฯท่านย่าฯมีพลังแห่งรักอันยิ่งใหญ่ต่อกัน จนในที่สุดเมื่อบุญเสมอเท่าเทียมกันทั้งท่านปู่ฯท่านย่าฯก็สามารถสร้างปาฏิหาริย์ให้พวกเราได้เห็นได้ชื่นชมบารมีในคืนส่องจันทร์ที่ผ่านมา”

“ท่านปู่ฯท่านย่าฯที่พวกเรามีบุญได้เห็นด้วยตาเนื้ออยู่ ณ ทิพยพิภพ เมืองบาดาลก็จะมีรูปร่างหน้าตาเหมือนอย่างมนุษย์เราๆนี่แหละแต่จะอยู่อีกมิติหนึ่งที่แยกจากมิติมนุษย์ เป็นมิติที่ซ้อนกันอย่างที่ยายเคยเล่าให้ฟังแล้ว ดวงใจของท่านปู่ฯเป็นดวงใจที่ผูกพัน แม้จะมีอุปสรรคใดๆก็มิอาจขวางกั้นความรักที่เป็นสิ่งนิรันดร์ของท่านปู่ฯท่านย่าฯได้ทำให้โลกแห่งเมืองบาดาลมีแต่ความสวยสดงดงามเหมือนเมืองสวรรค์ ผู้ปฏิบัติธรรมถือศีลต้องมีฌาณนิมิตเท่านั้นถึงจะกำหนดจิตและลงไปเที่ยวเล่นในเมืองบาดาลได้ แต่จะนำสิ่งของ เพชรนิลจินดาที่สวยสดงดงามมีค่ากลับมาเมืองมนุษย์ไม่ได้ นอกจากจะมีวิธีขออย่างระดับเกจิอาจารย์ผู้มีวิชาเท่านั้นถึงจะนำขึ้นมาได้ลูก”

“บุญบั้งไฟ เป็นประเพณีขอฝนของคนอีสานที่ทำกันในเดือน ๖ หรือเดือน ๗ ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝนเข้าสู่การทำนา ต้นกล้า หว่าน ไถ เพื่อเป็นการบูชาเทวดา ขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาลเหมือนกับการแห่นางแมวของคนภาคกลาง เป็นประเพณีที่สำคัญจะละเลยไม่ได้ เพราะชาวอีสานมีความเชื่อว่าหากหมู่บ้านใดไม่จัดงานบุญบั้งไฟก็อาจจะก่อให้เกิดภัยพิบัติแก่ผู้คนในชุมชน งานบุญบั้งไฟเป็นงานใหญ่ การจัดงานจะต้องเป็นการตัดสินใจของชุมชนนั้นมีการลงทุนสูง ซึ่งในการนี้ต้องมีพิธีเซ่นไหว้ที่ศาลปู่ตา หากเศรษฐกิจฝืดเคืองก็ต้องทำพิธีขอเลื่อนที่ศาลปู่ตาเช่นกัน

การเตรียมการจัดการประเพณีบุญบั้งไฟก็จะมีประชุมชาวบ้าน ผู้เฒ่าผู้แก่ และพระสงฆ์ในหมู่บ้านเพื่อขอความเห็นว่าจะจัดงานบุญบั้งไฟหรือไม่ แต่ถ้าไม่จัดจะต้องส่งตัวแทนเป็นผู้มีอายุชายในหมู่บ้าน และพ่อเฒ่าจ้ำ หมอผีประจำหมู่บ้าน ไปขอขมาต่อเจ้าปู่เพื่อขอเลื่อนไปจัดในปีถัดไป พิธีการรมนี้ไม่ผู้หญิงเกี่ยวข้อง เมื่อตกลงจัดผู้เฒ่าผู้แก่ของหมู่บ้านจะส่งข่าวบอกเล่าเชื้อเชิญไปยังหมู่บ้านใกล้เคียงให้มาร่วมงานบุญ เรียกว่า “เตินป่าว” ในสมัยถัดมาบ้านเมืองเจริญขึ้นก็พัฒนามาเป็นการแจกหนังสือเชิญชวนเรียกว่า “สลากใส่บุญ” เหตุที่ถือว่างานนี้เป็นงานบุญก็เพราะว่า วัดเป็นที่รวมของการจัดกิจกรรมของชุมชน การเตรียมงานต่างๆตั้งแต่การทำบั้งไฟก็มักจะเริ่มจากพระ ซึ่งถือว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญ เป็น ต้นฉบับในวาระโอกาสนี้ยังมีการแทรกประเพณีทางพระพุทธศาสนาเข้าไปด้วย เช่น การบวช พิธีการในการยกย่องพระสงฆ์ ชาวบ้านจะเรี่ยไรเงินและสิ่งของตามศรัทธาเพื่อร่วมสมทบการสร้างบั้งไฟ ในสมัยโบราณจะทำเพียงบั้งเดียว บอกบุญให้บ้านเรือน ๓-๔ หลังคารวมกันต้อนรับแขกจากต่างบ้านที่มาร่วมบ้านหนึ่ง ซึ่งจำนวนไม่มากนักจะมาพร้อมบั้งไฟของหมู่บ้าน เช่น พระภิกษุ สามเณร หญิงชายที่มาร่วมขบวนแห่ ส่วนใหญ่ก็มักจะกำหนดให้ครอบครัวที่บวชลูกหลานเป็นเจ้าภาพ ชาวบ้านที่ได้รับมอบหมายให้สร้างโครงไม้จริง ยกพื้นข้างบนให้พระสงฆ์นั่งฉันภัตตาหาร ส่วนข้างล่างปูด้วยไม้ไผ่หรือฟางข้าวให้หญิงสาวนั่ง โดยมีหญิงสูงอายุควบคุมดูแลหญิงสาวเหล่านี้ เพื่อป้องกันมิให้ถูกชายในขบวนเซิ้งลวนลามจนเกินเหตุ”

“การทำบั้งไฟในสมัยก่อนจะใช้ไม้ไผ่ลำขนาดใหญ่ที่สุดแล้วทะลวงปล้องให้ถึงกัน ภายนอกจะใช้ตอกไม้ไผ่ถักเป็นเชือกมัดรอบลำไผ่ให้แน่นเพื่อไม่ให้ลำไผ่แตก ส่วนหัวปล้องสุดท้ายจะถูกอุดด้วยแผ่นไม่หนาพอควร แล้วอัดบรรจุดินปืนให้แน่นด้วยการตำ หรือใช้คานดีดคานงัด

การแห่บั้งไฟ ผู้ร่วมขบวนนั้นดูเหมือนจะตั้งใจละเมิดกฎเกณฑ์ปกติ เช่น ชายแต่งกายเป็นหญิง หรือเอาโคลนพอกหน้า ขบวนเซิ้งจะแห่ไปตามหมู่บ้านเพื่อขอสาโทมากิน การเซิ้งจะมีคนจ่ายกาพย์ และคนตีกลองให้จังหวะเซิ้งอยู่กลางขบวนเซิ้ง เพื่อให้ผู้เซิ้งได้ยินเสียงจังหวะและคำกลอน “ลำกาพย์เซิ้ง”ได้ชัดเจน”

“การละเมิดกฎเกณฑ์และธรรมเนียมปฏิบัติกันทั่วไปเป็นการปลดปล่อยคนให้หลุดจากเกณฑ์ชั่วคราว ในอีสานสมัยก่อนผู้ชายเมื่อแต่งงานต้องเข้าไปอยู่กับครอบครัวฝ่ายหญิง ผู้ชายจึงอยู่ในฐานะที่โดดเดี่ยว ต้องอยู่ในความควบคุมของญาติฝ่ายหญิง และต้องฝากอนาคตของตนไว้กับความเมตตาของครอบครัวฝ่ายหญิงด้วย เพราะจะสามารถสร้างหลักให้แก่ครอบครัวได้ก็ด้วยการอุปถัมภ์ของพ่อตา เขยจะถูกจัดให้เป็นผู้ด้อยกว่าในทางพิธีกรรม การที่แสดงออกในพิธีกรรมบุญบั้งไฟจึงเป็นการปลดปล่อยจากกฎเกณฑ์ของสังคม”

“ตอนบ่ายจะมีการตีกลองโฮม เพื่อให้ขบวนแห่ทุกขบวนไปรวมกันที่วัด ซึ่งจะหมายถึงการไปร่วมพิธีบวชของบุตรหลาน ถ้ามีการบวชก็จะมีการแห่นาคด้วยม้า ถ้าหากเจ้าภาพมีฐานะพอทำได้ มีการจุดตะไลตามหลังม้าไปตลอดทาง กลางคืนจะมีแข่งตีกลองกัน โดยแต่ละหมู่บ้านจะนำกลองกิ่งของวัดในหมู่บ้านตนมาตีแข่ง ถือกันว่าถ้าหากแพ้ในการเส็งกลอง ก็จะไม่ใช้กลองนั้นอีกเลย จะต้องไปเสาะแสวงหากลองเส็งมาใหม่ในปีหน้า การเส็งกลองจะมีกันไปจนถึงเที่ยงคืน รุ่งเช้าจะมีการทำบุญถวายจังหันพระ พอตกบ่ายก็มีการแห่บั้งไฟไปค้างยังที่เตรียมไว้ อาจใช้ต้นไม้ใหญ่เป็นค้างก็ได้ การแข่งขันระหว่างหมู่บ้านก็มีเพียงบ้านใดจะสามารถยิงไปได้สูงกว่ากัน ใช้การนับไปจนกว่าจะมองเห็นบั้งไฟหล่นพ้นก้อนเมฆลงมา เป็นการแสดงความสามารถของช่างของบั้งไฟบ้านนั้น หากบั้งไฟบ้านใคร หรือพ่นดินปืนออกมาแต่ไม่ขึ้น หรือแตกระหว่างการจุด ช่างก็จะถูกจับโยนลงตม คือโยนลงไปในโคลนเป็นที่สนุกสนานทั้งผู้โยนและถูกโยน”

งานบุญบั้งไฟเป็นงานที่สนุกสนานสืบสานต่อๆกันมาช้านานแล้ว แต่ความเชื่อและวัฒนธรรมก็เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาของมันนั่นแหละหลานเอ๋ย”

มณีจันทร์ฉาย