เสรีกัญชา เพื่อการแพทย์ อย่าเพิ่งคิดไปไกล
กัญชา หรือ Cannabis indica (Cannabis sativa forma indica) เป็นพืชล้มลุกชนิดหนึ่ง ใบและช่อดอกเพศเมียที่แห้งใช้สูบมีสรรพคุณทำให้มึนเมา ก่อนหน้านี้เรารู้จัก กัญชา ในฐานะยาเสพติดชนิดหนึ่ง ตามกฏหมายในบ้านเรา ซึ่งถูกจัดอยู่ในยาเสพติดให้โทษประเภท 5 การจำหน่าย ครอบครอง หรือเสพ เป็นความผิดและมีโทษตามกฎหมาย
ในอีกมุม มีงานวิจัยพบว่า กัญชา มีสาร 2 ชนิดที่สามารถสกัดมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ได้ ก็คือ สาร CBD (Cannabidiol) มีคุณสมบัติลดอาการคลื่นไส้อาเจียนและการบวมอักเสบของแผล และ สาร THC (Tetrahydrocannabinol) มีคุณสมบัติช่วยให้ความรู้สึกผ่อนคลายและลดอาการปวด อีกทั้งในหลายๆ ประเทศ ทั้งฝั่งอเมริกาเหนือ-ใต้ ฝั่งยุโรป อนุญาตให้มีการปลูกกัญชาและครอบครองตามกฎหมายที่กำหนดไว้ หลายแห่งรับรองให้การซื้อขายครอบครองกัญชา ทั้งเพื่อการแพทย์และสันทนาการอย่างถูกกฎหมาย บางประเทศมีการทำธุรกิจกัญชาแบบเสรี สามารถสร้างเม็ดเงินมหาศาลเข้าสู่ประเทศตัวเอง
นั่นทำให้เรื่องราวของ กัญชา ในบ้านเรา ได้รับการหยิบยกขึ้นมาถกกันในหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ถึงประโยชน์และโทษหากเปิดเสรีบ้าง จนในที่สุด พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) ที่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา ก็เปิดทางให้ กัญชา เป็นพืชที่สามารถผลิต นำเข้า ส่งออก ครอบครอง หรือเสพ เพื่อการแพทย์ได้ หลายคนก็นึกวางแผนไปไกลถึงขนาดที่จะปลูก จะขายกันเป็นเรื่องเป็นราวเลยทีเดียว แต่ช้าก่อน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือ ป.ป.ส. รีบออกมาไขข้อข้องใจและย้ำว่า กัญชา ยังคงเป็นยาเสพติดประเภท 5 การปลูกต้องขออนุญาตทำร่วมกับรัฐ ปชช.ทั่วไปจะปลูกเองไม่ได้
ไม่ว่าจะเป็น กัญชา หรือ พืชกระท่อม ยังคงเป็น ยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 การผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย ครอบครอง หรือเสพ โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นความผิดและมีโทษตามกฎหมาย ทั้งโทษจำคุกหรือโทษปรับ สำหรับการผ่อนปรนเพื่อใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์นั้น กฎหมายได้กำหนดให้มีมาตรการในการกำกับดูแล ทั้งการผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย และครอบครองหรือเสพ เพื่อการบำบัดรักษาอาการเจ็บป่วย ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเท่านั้น
ซึ่งองค์การเภสัชกรรมเป็นหน่วยงานแรก ที่คณะกรรมการยาเสพติดให้โทษได้อนุญาตให้ทำการปลูกกัญชาทางการแพทย์ สำหรับเป็นวัตถุดิบนำมาสกัดเป็นสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ เพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ยาจากกัญชาชนิด น้ำมันหยดใต้ลิ้น (Sublingual Drop) สำหรับนำไปใช้ในการทดลองทางคลินิกในผู้ป่วยที่ร่วมโครงการวิจัย โดยก่อนหน้านี้ใช้กัญชาของกลางแต่วัตถุดิบมีคุณภาพต่ำมีสารปนเปี้อนสูงทำให้ไม่สามารถควบคุณคุณภาพได้ตามต้องการ
ส่วนผู้มีคุณสมบัติตามกฎหมายใหม่ มี 7 กลุ่ม ที่มีสิทธิ์ขออนุญาต ปลูก นำเข้าและส่งออกกัญชาได้ ประกอบด้วย หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัยหรือจัดการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้อง, ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด, สถาบันอุดมศึกษาเอกชน (ทางแพทย์/เภสัชศาสตร์), ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่รวมตัวเป็นวิสาหกิจชุมชน, ผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะระหว่างประเทศ, ผู้ป่วยเดินทางระหว่างประเทศ, ผู้ขออนุญาตอื่น
ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานใด หากยังไม่ได้รับอนุญาต และโดยเฉพาะประชาชนทั่วไป ยังไม่สามารถปลูกกัญชาหรือใช้สารสกัดจากกัญชา ในการบำบัดรักษาอาการเจ็บป่วยได้เอง ซึ่งหากมีข้อสงสัยเรื่องกัญชา สามารถโทรสอบถามที่ได้ สายด่วน ป.ป.ส. 1386 กด 3 หรือ อย.1556 กด 3 ในวันและเวลาราชการ