คอลัมน์ในอดีต

สายใยสองภพ : ความรัก คือ ความทรงจำ

ความรัก คือ ความทรงจำ

เวลานี้เป็นช่วงฤดูฝน บรรยากาศขมุกขมัว อึมครึมตลอดทั้งวี่ทั้งวัน หญิงชราวัยใกล้ฝั่งก็ยังคงทำกิจวัตรประจำวัน ใส่บาตรหลวงตาทุกๆเช้า วันพระก็จะไปทำบุญใส่บาตรที่วัดโพธิ์ชัย กราบไหว้หลวงพ่อพระใส วัดพระศรีคุณเมือง ไหว้หลวงพ่อพระสุกองค์จำลองบ้าง แล้วแต่โอกาสจะอำนวย โดยมีจุกกับเปียเป็นเพื่อน ทุกเช้าค่ำหญิงชราก็จะทำวัตรเช้า ค่ำมาหญิงชราก็จะทำวัตรเย็น และสอนให้จุกกับเปียเข้าสมาธิ

ก่อนจะเข้าสมาธิ ให้นั่งขัดสมาธิราบ โดยใช้ขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย หงายฝ่ามือทั้งสองขึ้นนั่งตัวให้ตรง ดำรงสติอยู่เฉพาะหน้าค่อยๆหลับตาลงเอาจิตมาจับไว้ที่ปลายจมูก กำหนดลมหายใจเข้า-ออก ขณะหายใจเข้าให้กำหนดว่า พุท หายใจออกให้กำหนดว่า โธ และยิ้มกับตัวเราเองนะลูก

การทำสมาธิด้วยการนำ ธรรมสมาธิ จะช่วยให้เกิดสมาธิสงบนิ่งเป็นอย่างดี ต้องมีความปราโมทย์ คือความแช่มชื่นใจ ความเบิกบานใจ ร่าเริงแจ่มใส ความสดชื่นซึ่งเมื่อเกิดอารมณ์ในแง่บวกนี้แล้ว ก็ย่อมทำให้เกิดสมาธิได้ง่าย เพราะจิตใจไม่เศร้าหมองตกต่ำ มีความปิติ คือความอิ่มใจ ความปลื้มใจ ซึ่งเหนือกว่าความดีใจธรรมดา มีความสงบเย็นทั้งกายใจ มีความผ่อนคลายสบายใจทำให้เราไม่เครียด ไม่มีสิ่งใดมาตัดรอนรบกวนจิตใจ มีความสุขรู้สึกไร้ความขัดข้อง ไร้ความกังวลทั้งปวง ท้ายสุดก็คือสมาธิ คือความสงบรออยู่ ตั้งมั่นอยู่ โดยที่จิตใจไม่มีสิ่งใดรบกวนรบเร้า ซึ่งความรู้สึกสงบเช่นนี้ ก็คือเราเข้าสมาธิได้แล้ว ก็จะทำให้เราเกิดสติปัญญา รู้เท่าทันเหตุการณ์ สามารถระลึกรู้ ยิ่งในห้วงที่สงบเช่นห้องพระก็จะเสมือนห้อง “ทิพยญาณ” เลยทีเดียวลูก แต่เมื่อจิตเราฟุ้งซ่านขึ้นเมื่อไหร่ก็ให้ดึงกลับมาทันทีด้วยคำว่า พุท-โธ

หญิงชราอธิบายว่า เมื่อเราออกจากสมาธิแล้วจึงสวดบทแผ่เมตตาอุทิศบุญกุศลให้ตนเองก่อนนะลูก

อะหัง สุขิโต โหมิ ขอให้ข้าพเจ้าจงเป็นผู้มีความสุข
อะหัง นิททุกโข โหมิ ขอให้ข้าพเจ้าจงเป็นผู้ไม่มีความทุกข์
อะหัง อะเวโร โหมิ ขอให้ข้าพเจ้าจงปราศจากเวร
อะหัง อัพยาปัชโฌ โหมิ ขอให้ข้าพเจ้าจงปราศจากอุปสรรคอันตรายทั้งปวง
อะหัง อะนีโฆ โหมิ ขอให้ข้าพเจ้าจงปราศจากความทุกข์กายทุกข์ใจ
สุขี อัตตานัง ปะริหะรามิฯ ขอให้ข้าพเจ้าจงมีความสุขกายสุขใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเถิด

แล้วจึงต่อด้วย

พุทธังอนันตัง ธัมมังจักรวาฬัง สังฆังนิพพานัง ข้าพเจ้า ขอแผ่เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ให้แก่บรรดาสัตว์ ที่มีดินน้ำลมไฟ บิดามารดา ญาติกาทั้งหลาย จงมารับ เอาส่วนกุศลผลบุญของข้าพเจ้า ในกาลบัดเดี๋ยวนี้เถิด นิพพานปัจจโยโหตุ

– – – เมตตาภาวนา
สัพเพ สัตตา อะเวรา โหนตุ ขอสรรพสัตว์ทั้งหลายจงอย่ามีเวรแก่กันและกันเลย
สัพเพ สัตตา อัพยาปัชฌา โหตุ ขอสรรพสัตว์ทั้งหลายจงอย่าเบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย
สัพเพ สัตตา อะนีฆา โหนตุ ขอสรรพสัตว์ทั้งหลายจงอย่ามีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย
สัพเพ สัตตา สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ ขอสรรพสัตว์ทั้งหลายจงมีความสุขกายสุขใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเทอญ

– – – กรุณาภาวนา
สัพเพ สัตตา อะลาภา ปะมุญจันตุ ขอสรรพสัตว์ทั้งหลาย จงพ้นจากความเสื่อมลาภ
สัพเพ สัตตา อะยะสา ปะมุญจันตุ ขอสรรพสัตว์ทั้งหลาย จงพ้นจากความเสื่อมยศ
สัพเพ สัตตา นินทา ปะมุญจันตุ ขอสรรพสัตว์ จงพ้นจากนินทา
สัพเพ สัตตา ทุกขา ปะมุญจันตุ ขอสรรพสัตว์ทั้งหลาย จงพ้นจากความทุกข์

– – – มุทิตาภาวนา
สัพเพ สัตตา ยะถาลัทธะลาภะสัมปัตติโต มา วิคัจฉันตุ ขอสรรพสัตว์ทั้งหลาย จงอย่าเสื่อมคลายไปจากสมบัติ คือ ลาภที่ตนได้แล้ว
สัพเพ สัตตา ยะถาลัทธะยะสะสัมปัตติโต มา วิคัจฉันตุ ขอสรรพสัตว์ทั้งหลาย จงอย่าเสื่อมคลายไปจากสมบัติ คือ ยศที่ตนได้แล้ว
สัพเพ สัตตา ยะถาลัทธะปะสังสะสัมปัตติโต มา วิคัจฉันตุ ขอสรรพสัตว์ทั้งหลาย จงอย่าเสื่อมคลายไปจากสมบัติ คือ ความสรรเสริญที่ตนได้แล้ว

– – – อุเบกขาภาวนา
สัพเพ สัตตา กัมมัสสกา โหนตุ สรรพสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน
สัพเพ สัตตา กัมมะทายาทา โหนตุ สรรพสัตว์ทั้งหลายเป็นทายาทของกรรม
สัพเพ สัตตา กัมพันธุ โหนตุ สรรพสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์
สัพเพ สัตตา กัมมะปฏิสะระณา โหนตุ สรรพสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย

เมตตา หมายถึง ความรักความปรารถนาดี ต้องการให้มีความสุขยิ่งๆขึ้นๆไป คุณธรรมอย่างหนึ่งซึ่งควรปลูกฝังให้เกิดในใจ นั่นคือ เมตตาธรรม เพราะเป็นคุณสมบัติของเมตตา คือความเย็นใจ ด้วยเหตุที่ดับความโกรธ ความประทุษร้าย ความพยาบาทลงได้ด้วยเมตตาธรรม ซึ่งพระพุทธองค์ทรงกล่าวไว้ เมตตาธรรมค้ำจุนโลกนะลูก

มณีจันทร์ฉาย