Interview

ดร.อนุพงษ์ แต้ศิลปสาธิต

ดร.อนุพงษ์ แต้ศิลปสาธิต
ผู้ชำนาญการประจำสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ
“ต้องช่วยกันเริ่มก้าวแรก เพื่อจะมีก้าวต่อไป”

ผมเป็นเด็กนักเรียนอัสสัมชัญ ธนบุรี สมัยก่อนเป็นโรงเรียนชายล้วน ถือว่ามีพื้นที่กว้างมากแห่งหนึ่ง มีสนามฟุตบอลถึงสามสนาม แต่ก็ยังไม่พอ มีเวลาเมื่อไหร่ ต้องแย่งพื้นที่เล่นกีฬา แย่งโต๊ะปิงปอง ใช้ฝาเบียร์เตะแทนลูกฟุตบอลใต้ถุนตึก บ่ายๆ ขึ้นห้องเรียนเสื้อเปียกโชกทุกคน ถูกทำโทษให้ถอดเสื้อเรียนก็ไม่มีใครเข็ด เย็นๆ ก็เล่นกันอีก ใครที่อยู่หอพักแถวนั้นก็เล่นต่อยันค่ำ

สมัยก่อน การเล่นกีฬาของเด็กยังเป็นแค่เรื่องการเล่นสนุก ไม่ค่อยมีเพื่อความเป็นเลิศ ยิ่งโรงเรียนเราส่วนใหญ่เป็นลูกพ่อค้า เต็มที่ก็แค่เป็นนักกีฬาโรงเรียน ไม่เหมือนกับโรงเรียนรัฐบาลที่เขามุ่งมั่นเอาจริงเอาจังในทางกีฬากันมากกว่า ใครที่อยากจะเอาดีทางกีฬา พอจบ มศ.3 ก็ต้องเบนเข็มไปเรียนพวกสถาบันพลศึกษา แต่สมัยก่อนนั้นผู้ใหญ่มักจะไม่ยอมรับ เพราะยังเห็นว่า การทำธุรกิจสำคัญกว่า ยังไม่ค่อยมีใครเห็นความสำคัญของกีฬา กลัวว่าจบแล้วไม่รู้จะไปทำงานอะไร แต่ปัจจุบันนี้โลกเปลี่ยนไปเยอะมาก การกีฬา นอกจากจะมุ่งเน้นให้เป็นเลิศได้แล้ว ยังเป็นอาชีพได้ เป็นธุรกิจทางด้านกีฬาได้

ผมเป็นลูกคนที่ 5 ของครอบครัว คุณพ่อคุณแม่ทำแต่การค้า ใครจะเรียนพิเศษก็ไปเบิก ไม่เคยถามเลยว่าจะไปเรียนวิชาอะไร เวลาคุณพ่อพาไปทานข้าว เพื่อนๆ คุณพ่อถามว่าลูกๆ เรียนชั้นไหน ท่านยังจำไม่ได้เลย เพราะทำงานกันอย่างเดียว พี่น้องเราถูกสอนมาให้มีความรับผิดชอบ จะทำอะไร หรืออยากได้อะไร ก็ต้องแจ้งให้คุณพ่อคุณแม่ทราบ ท่านมีหน้าที่คอยจ่ายให้ แต่ปัจจุบันนี้กลับตรงกันข้าม พ่อแม่ต้องเป็นผู้วางแผนเรื่องการเรียนให้กับลูกๆ

แรกเริ่มคุณพ่อให้พวกเราเรียนที่โรงเรียนแถวบ้าน แต่เมื่อคุณพ่อได้เห็นว่า คนที่เรียนอัสสัมชัญ ใช้ภาษาอังกฤษได้ จึงบอกให้คุณแม่ย้ายลูกๆ เข้าโรงเรียนอัสสัมชัญ ธนบุรี เมื่อเข้าอัสสัมฯ ความคิดพวกเราก็เปลี่ยน ทัศนะคติก็เปลี่ยน จากโรงเรียนเดิมที่เราเคยรู้สึกว่าตัวเองใหญ่ มีความสำคัญ แต่พอมาที่นี่ ไม่มีใครสนใจเลย เขาเล่นดีดลูกหินกันอยู่ เราไปขอเล่นด้วย เขาไม่ให้ ก็ไปเตะลูกหินจนกระจาย เพื่อนๆ ไม่กล้าทำอะไรก็เลิกเล่นกันไป พอเข้าเรียนครูจะออกไปทำธุระข้างนอก แล้วบอกให้หัวหน้าห้องว่า ใครคุยใครดื้อจดชื่อ ผมก็ไม่สนใจอยากทำอะไรก็ทำ พอครูกลับมามีแต่ชื่อผมทั้งนั้น จนถูกทำโทษโดนตีน้ำตาร่วง แต่พอเลิกเรียนหัวหน้าห้องก็โดนผมอัดจนไม่กล้าจดชื่ออีก

ปีต่อมาผมเลยมีความรู้สึกว่า เป็นหัวหน้าห้องก็ดีเหมือนกัน เลยยึดตำแหน่งเป็นหัวหน้าห้องตั้งแต่ตอนนั้นจนเรียนจบ มีตำแหน่งประธานลูกเสือ ประธานเชียร์ ประธานรุ่น ผมเป็นหมด เป็นตัวแทนนักเรียนไปทำโน่นทำนี่ก็รับเหมาหมด ตอนที่เริ่มทำนั้นยังไม่รู้จักคำว่า ภาวะผู้นำด้วยซ้ำว่าคืออะไร รู้แต่ว่าส่วนใหญ่ที่ทำแล้วต้องมีพรรคพวก มีเพื่อนคอยทำอะไรด้วยกัน ขนาดพักเที่ยงจะเดินไปกินข้าวยังต้องไปกันเป็นกลุ่มใหญ่ เหมือนกับเป็นแก๊งค์มาเฟียก็ว่าได้ แต่นั่นก็ทำให้พวกเราทุกคนสนิทกันมาจนถึงทุกวันนี้

สมัยก่อนครูยังตีนักเรียนได้ บางคนโดนทำโทษแล้วทำโทษอีก เพื่อนๆ ที่เกเรด้วยกัน พอโตขึ้นมาส่วนใหญ่ก็ได้ดิบได้ดี ประสบความสำเร็จในชีวิตกันทั้งนั้น ส่วนหนึ่งที่เห็นชัดก็คือ การทำโทษ การตีของครู มีผลต่อชีวิตเด็ก ถ้าทำโทษเด็กไม่ได้ก็ไม่รู้เหมือนกันว่า โตขึ้นมาแล้วเด็กเกเรในอดีตเหล่านั้นจะเป็นอย่างไร เวลาเด็กเกเรมากๆ เวลาหลุดกรอบมันจะหลุดออกไปเลย เพราะเด็กจะกลัวครูมากๆ พ่อแม่สองคนดูแลลูกคนเดียว เด็กไม่เชื่อ แต่ที่โรงเรียนครูคนเดียวดูเด็กทั้งห้องได้ ใครไม่ทำการบ้านจะต้องถูกทำโทษ ผมก็ลอกการบ้านเพื่อนจนนาทีสุดท้ายก่อนครูเข้าห้องมาสอน เพราะกลัวครูตี แต่ก็ไม่กล้าหยุดเรียน

เนื่องจากผมมีพี่น้องหลายคน คุณพ่อก็วางแผนให้พี่ชายเรียนต่อที่ อัสสัมชัญพาณิชย์ ซึ่งสมัยนั้นมีชื่อเสียง มีบุคคลสำคัญหลายๆ คนจบจากที่นี่ เด็กที่เรียนจบจะเก่งเรื่องภาษาอังกฤษ พอพี่ชายเรียนจบคุณพ่อก็ให้มาช่วยงานครอบครัวที่กำลังขยายกิจการ ไม่ต้องเรียนต่อปริญญาตรี ส่วนน้องชายไปเรียนต่ออังกฤษ พอดีพี่น้องอีกคนจบปริญญาโทมาช่วยงานพี่ชาย พอมีคนทำงานแล้ว คุณพ่อเลยไฟเขียวให้ผมเรียนต่อไปเรื่อยๆ

เมื่อมีธุรกิจ มีโรงงาน เป็นพ่อค้าแล้ว คุณพ่อก็อยากให้ไปเป็นข้าราชการบ้าง ผมก็ว่าดีเหมือนกัน เลยตั้งเป้าสอบเข้าเตรียมทหาร บังเอิญว่าปีนั้นข้อสอบรั่ว ยกเลิกการสอบ ผมก็ต้องไปเรียน มศ.4 – มศ.5 เพื่อเตรียมสอบอีกครั้ง แต่ในที่สุดก็ได้มาเรียน บริหารธุรกิจที่ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ คิดในอีกมุมหนึ่งก็นับว่าเป็นโชคดีของผมเหมือนกัน เพราะถ้าหากสอบได้ก็ไม่รู้ว่าชีวิตตอนนี้จะเป็นแบบไหน

งานที่พวกเราทำเป็นงานที่เห็นคุณพ่อทำมาตั้งแต่ยังเด็กๆ เรารับซื้อเศษด้ายจากโรงงานตัดเย็บต่างๆ แล้วนำมาใช้เครื่องตีให้ละเอียด ปั่นเป็นเส้นใยสังเคราะห์ สำหรับยัดไส้ที่นอน นับว่าเป็นธุรกิจที่ดี ไปได้เรื่อยๆ จนเมื่อคุณพ่อท่านเห็นว่างานที่ทำเริ่มเล็กไป ก็ไปดูเรื่องการปั่นเส้นด้าย ซึ่งเป็นธุรกิจตัวใหม่ของเรา พัฒนามาจากการตีเศษฝ้าย ให้กลายเป็นเส้นด้ายรีไซเคิล ใช้ทอผ้าที่มีลักษณะหยาบๆ เช่นถุงมือ เบาะ เก้าอี้ และยังมีการแยกไนล่อน แล้วนำไปหลอมละลาย เอามาฉีดเป็นเม็ดพลาสติกไนล่อน ใช้ทำกระดุม ซ่นรองเท้า ล้อรถลาก ฯลฯ ไม่มีอะไรเหลือทิ้งเลย โดยผมรับผิดชอบโรงงานปั่นเส้นด้ายรีไซเคิล ธุรกิจก็ค่อนข้างจะอยู่ตัว

ระหว่างทำงานไปด้วยผมก็เล่นกีฬาแทบทุกอย่างไปด้วย ฟุตบอล เทนนิส แบด ปิงปอง วินด์เซิร์ฟ สควอช กอล์ฟ ฟิตเนส เพาะกาย ว่ายน้ำ ฯลฯ เล่นหนักจนพักหลังรู้สึกว่าไม่ค่อยไหว ต้องค่อยๆ ลดลง และในเรื่องกีฬาผมก็ค่อนข้างมีวินัยในการฝึกซ้อมพอสมควร โดยเฉพาะเรื่องการวอร์มอัพก่อนลงสนาม กีฬาทุกอย่างต้องมีการฝึกซ้อม เพราะพรสวรรค์อย่างเดียวไม่พอ

ผมเพลิดเพลินกับการทำงานมาได้ราวยี่สิบปี จนพอธุรกิจเข้าที่เข้าทาง อาจารย์ปรางทิพย์ (ดร.ปรางทิพย์ ยุวานนท์) ได้เขียนหลักสูตร Sports Management ขึ้นมา แล้วนำไปเปิดสอนที่ราชภัฏจันทรเกษม พอผมทราบก็คิดว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เพราะธุรกิจกีฬา เริ่มก้าวเข้ามาในสังคมชีวิตของพวกเรามากขึ้น ถ้าเป็นเมื่อก่อนนี้ เรายังจะไม่เข้าใจในเรื่องการบริหารจัดการการกีฬา ยังเป็นแค่เรื่องการแข่งกีฬา พอเสร็จก็แยกย้ายกันกลับไป จบแค่นั้นเอง แต่ปัจจุบันนี้ไม่ใช่แค่นั้นอีกต่อไปแล้ว นอกจากการจะได้มาเจอกัน ต้องมีการเตรียมการก่อนหน้า มีการวางแผนจัดทีมงาน จัดการแข่งขัน เสร็จแล้วก็ยังต้องประเมินผลกันอีก แล้วยังมีรายรับเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยอีก ผมก็เลยสงสัย อยากจะเข้าไปเรียนรู้ว่า ธุรกิจกับกีฬา มาผสมผสานกันได้อย่างไร

ผมเข้าเรียนรุ่นแรก มีเพื่อนร่วมรุ่นราวสามสิบกว่าคน ผมจบเป็นคนแรกด้วยคะแนน 4.00 แรงบันดาลใจที่ทำให้อยากเรียนก็เพราะ ข้อแรกเราไม่ต้องกังวลเรื่องธุรกิจที่สร้างมาจนอยู่ตัวดีแล้ว และความอยากรู้ที่สงสัยในเรื่องการศึกษาว่า มีอยู่แค่นี้หรือ เพราะสมัยเด็กเรามักจะถูกสอนให้ไม่กล้าถามกับผู้สอน สงสัยอะไรก็จะเงียบ ทำให้เมื่อผมเรียนปริญญาโท ผมจะมีคำถามตลอด ถามจนกลายเป็นเด็กเจ้าปัญหา ผมเรียนด้วยความสนุก ความชอบ จนเมื่อจบหลักสูตรคอร์สเวิร์คแล้วยังถามอาจารย์ว่า หมดแล้วหรือครับ ผมยังสนุกอยู่เลย เพราะเรื่องที่เราเรียนนั้นเกี่ยวพันกันทั้งกีฬาและธุรกิจ ซึ่งย่อมมีความแตกต่างกันในบางเรื่องบางมุมอย่างแน่นอน ผมถามจนบางท่านไม่ตอบเลยก็มี… (หัวเราะ)

พอเรียนปริญญาโทจบ ผมสอบปริญญาเอกต่อทันที ในสาขาเดิม เรียนจนจบคอร์สเวิร์คแล้วถึงสองแห่ง แต่ก็ต้องย้ายทั้งสองแห่งเพราะดูแล้วไม่ใช่แนวที่ต้องการ หลังจากที่ใช้เวลาไปแล้วถึง 3-4 ปี จนในที่สุดก็ชักชวนเพื่อนๆ กลุ่มเดิมที่เรียนด้วยกันมาตลอด ไปเรียนที่มหาวิทยาลัยศรีปทุม ในหลักสูตร Sport and Entertainment เพราะเวลาที่ผ่านไปสามปีนั้น วงการกีฬามีการเปลี่ยนแปลง เป็นเรื่องของการจัดการองค์กร ผสมผสานระหว่างกีฬากับความบันเทิง เป็นหลักสูตรที่เน้นไปทางธุรกิจ ซึ่งตรงกับความต้องการอยากรู้ของเรามากกว่า เพื่อนๆ ในกลุ่มเดียวกันก็เห็นด้วย จึงได้ย้ายมาเรียนด้วยกันจนจบ

ผมไม่ถือว่าเสียเวลาเลยเมื่อต้องไปเรียนหลายสถาบัน เพราะสิ่งที่ไปเรียนมานั้น เป็นความรู้ทั้งหมด นอกจากประสบการณ์ชีวิตแล้ว ผมยังได้ความรู้เพิ่มเติมอีกหลายแขนง โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกีฬาในเชิงลึก ถือว่าทั้งหมดที่เรียนไปคือผมได้กำไร ไม่ใช่เสียเวลาเปล่า ทำให้ความรู้เรากว้างมากขึ้น นี่ยังคิดอีกว่าถ้ามีโอกาสก็จะเรียนอีก

สิ่งสำคัญที่ได้รับจากการเรียนปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยศรีปทุม ส่วนใหญ่เป็นเรื่องธุรกิจ การจัดหารายได้ เช่นถ้ามีแต่ความคิด ไม่มีทุน จะทำอย่างไร ซึ่งปัจจุบันนี้ก็คือ การระดมทุน อย่างเช่น การจัดกอล์ฟการกุศล หรือการทำกิจกรรมที่ต้องจัดแต่ไม่มีเงินทุน ผมยังได้เป็นวิทยากรให้กับสถาบันพลศึกษา ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ที่ประจำอยู่ตามจังหวัดต่างๆ แล้วได้รับเงินสนับสนุนจากส่วนกลางให้จัดกีฬาเป็นจำนวนเงินที่น้อยมาก แต่ต้องจัดหลายงาน เพราะยังไงงบที่ได้จากทางการก็ไม่มีทางพอ ผมก็เล่าประสบการณ์ตรงที่เคยจัดงานลักษณะนี้มาก่อนเพื่อเป็นวิทยาทานในการทำงานแบบไม่มีทุนตั้งต้น แล้วนำความคิดนี้ไปประยุกต์ต่อยอดใช้กับงานที่ต้องรับผิดชอบกันจนประสบความสำเร็จ

ผมเรียนเพราะอยากเรียนรู้ และคิดว่าถ้าสามารถทำอะไรในด้านนี้ได้ก็อยากจะลองทำดู และยิ่งเมื่อได้ทำงานด้านสังคมเยอะขึ้น ถ้าเราถ่ายทอดความรู้ให้กับคนรุ่นต่อๆ ไป ที่ยังไม่มีความเข้าใจ คิดไม่ถึงว่าจะหาทุนอย่างไรให้องค์กรอยู่รอดได้

ผมทำงานด้านสังคมค่อนข้างเยอะ ก่อนหน้านี้เป็นนายกสมาคมศิษย์เก่าอัสสัมชัญ ธนบุรี มาถึง 6 ปีแล้ว ก็อยากให้คนอื่นได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่เราได้ทำไปแล้ว เพื่อจะมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นในมุมอื่นๆ ที่ต่างออกไปบ้าง, เป็นอุปนายกสมาคมปีนหน้าผา, เป็นกรรมการฝ่ายต่างประเทศสมาคมกาบัดดี้ แห่งประเทศไทย ซึ่งก็เพิ่งจะหมดวาระไปทั้งคู่ ตอนนี้ก็เลยพยายามทำตัวให้ว่างมากขึ้น เผื่อจะได้มีเวลาออกไปเที่ยวบ้าง เพราะที่ผ่านมาก็มีโอกาสได้เข้าไปช่วยงานของ สปช. (สภาปฏิรูปแห่งชาติ) และ สปท. (สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ)

โดยส่วนตัวผมก็ไม่คิดที่จะคิดจะทำธุรกิจอะไรใหญ่โตอีกแล้ว อยากจะทำงานเพื่อสังคม ช่วยชาติ ผมได้รับโอกาสเข้าไปเป็นคณะการทำงานของ ดร.ชาญวิทย์ ผลชีวิน ผมได้มีส่วนร่วมในการเขียนหลักสูตรของมหาวิทยาลัยกีฬาแห่งชาติ ซึ่งคิดว่าเราจะมีมุมมองที่แตกต่างออกไปมากกว่าอาจารย์ที่เป็นผู้สอนอย่างเดียว เพราะท่านอาจจะมองเห็นในมุมวิชาการ แต่เราเป็นพ่อค้า มองเห็นในมุมธุรกิจ กำไร ขาดทุน แล้วประสบการณ์ที่ได้รับมาทั้งชีวิตของเราก็อยากจะให้กลับคืนสู่สังคม ถ้าหากมหาวิทยาลัยกีฬาเกิดขึ้นได้จริง ตามแนวคิดของคณะฯ ทำงาน ผลลัพธ์ที่ออกมาจะก็คือ เราจะได้เห็นมหาวิทยาลัยกีฬาที่ทันสมัยมีความพร้อมสมบูรณ์

มหาวิทยาลัยกีฬาแห่งชาติ ไม่ได้เน้นแค่นักกีฬาอย่างเดียว เรากระจายความอยากมีส่วนร่วมของคนที่ไม่ใช่นักกีฬา แล้วเราจะมีหลักสูตรใหม่ๆ แปลกๆ ที่ไม่คุ้นเคยมาก่อน เช่น Sports Administration เป็นการบริหารจัดการทางด้านกีฬา, Sports Financial, Sports Computer, Sports Architec เพราะก่อนหน้านี้ยังไม่เคยมีการเรียนการสอนตรงๆ แบบนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นการประยุกต์ใช้จากสาขาวิชาใกล้เคียง และยังมีนวัตรกรรม การคิดค้น ประดิษฐ์ ที่เกี่ยวข้องกับทางด้านการกีฬาทุกชนิด ฯลฯ ซึ่งเรายังไม่เคยมีเรื่องเหล่านี้มาก่อน

และเมื่อมีคำถามว่า เนื้อหาสาระที่เกี่ยวข้องมันมีเยอะแยะมากมายขนาดนี้ เราจะหาบุคลากรจากไหนมาช่วย… คำตอบของผมก็คือ… ถ้าเราไม่รวมพลังช่วยกันเริ่มนับหนึ่ง แล้วก้าวขั้นต่อไปจะมีได้อย่างไรล่ะครับ