Interview

ษาริณี เล็กสุวรรณ

ษาริณี เล็กสุวรรณ
เลขาธิการ
สมาคมกอล์ฟอาชีพสตรี

“ถ้าเปิ้ลเกิดช้ากว่านี้ เล่นกอล์ฟช้ากว่านี้สักสิบกว่าปี คงได้ทำอะไรที่สนุกกว่านี้” โปรเปิ้ล กล่าวเปิดประเด็นพร้อมรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ

ก่อนหน้าปี พ.ศ. 2535 วงการกอล์ฟแม่เนื้ออ่อนของประเทศไทยยังไม่มีผู้ใด ได้ใช้คำนำหน้าว่า “โปร” จนกระทั่งมีสาวน้อยฝีมือกอล์ฟสุดแกร่งจากหัวหิน มุมานะ ฝ่าฟันอุปสรรค เพื่อพาฝันของตัวเองให้สู่จุดสุดสูง ในการเปลี่ยนสถานภาพ จากนักกอล์ฟสมัครเล่น ให้เป็น นักกอล์ฟอาชีพ พร้อมมีคำนำหน้าที่เรียกติดปากกันว่า “โปรเปิ้ล” ษาริณี เล็กสุวรรณ (เกษมสรวล)

เมื่อก่อนนั้น วงการกอล์ฟฯ ยังไม่มีความกระตือรือร้นในการจัดสอบโปรสตรี อาจมีสาเหตุมาจากนักกอล์ฟสาวของบ้านเราฝีมือยังไม่แกร่งมากนักเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน การแข่งขันกอล์ฟสมัครเล่นรายการสำคัญๆ สาวไทยเลยยังไม่ค่อยได้ไปถึงดวงดาว ดังนั้นจึงอยากสร้างสาวไทย ให้เก่งและแกร่ง กว่านี้ก่อน ถึงจะเริ่มหันมามองในมุมของการเป็นนักกอล์ฟอาชีพ

“เปิ้ล แข่งกอล์ฟสมัครเล่นมานาน ได้เป็นแชมป์ ไทยแลนด์ เลดี้ส์ อเมเจอร์ สองสมัยซ้อน ซึ่งรายการนี้จัดทุกสองปี เลยคิดว่าเราเองก็รู้สึกเต็มที่กับตรงนี้แล้ว อยากจะเป็นนักกอล์ฟอาชีพบ้าง แต่ก็ไม่รู้จริงๆ ว่า หนทางที่จะเดินไปนั้นเป็นอย่างไร เพราะไม่มีใครคอยบอกเราได้เลยว่าจะทำอย่างไร” นั่นคือจุดเริ่มต้นของโปรเปิ้ลในการเดินทางตามหาความฝัน

แต่กว่าจะได้เป็นนักกอล์ฟอาชีพนั้น เส้นทางยากลำบากยิ่งกว่าโรยด้วยขวากหนามเสียอีก เพราะเมืองไทยไม่เคยมีโปรหญิงมาก่อน ไม่รู้ขั้นตอนว่าควรจะทำอย่างไร ก็อาศัยใช้แนวปฏิบัติเช่นเดียวกับผู้ชายไปก่อน ก็ให้ไปสอบสนามเดียวกัน เล่นจากแท่นเดียวกัน ที่สนามกอล์ฟหัวหิน ต่อให้จะซ้อมมาดีสักแค่ไหน แต่เรี่ยวแรงสตรีมีหรือจะสู้กับพลังช้างสารของหนุ่มๆ ทั้งหลายได้ ไหนจะแรงกดดันที่ถาโถมเข้ามาใส่อีก

“ครั้งแรกไม่ผ่าน คุณเรวดี ต.สุวรรณ ท่านก็ไปคุยกับสมาคมฯ ผู้ชาย ว่าแบบนี้มันไม่ยุติธรรมนะ ซึ่ง สมาคมฯ ก็บอกว่า เขาไม่ก็รู้จะทำยังไง เพราะเราไม่เคยทำสิ่งนี้กันมาก่อน” โปรเปิ้ล เล่าประสบการณ์ที่จะทำให้ชีวิตของเธอและวงการกอล์ฟสตรีของประเทศไทย เปลี่ยนโฉมหน้าไปตลอดกาล

ในการสอบโปรครั้งต่อไปที่สนาม ทบ. ทางสมาคมฯ จึงขยับแท่นให้เธออีกนิด ซึ่งจริงๆ แล้วก็ห่างกันแค่ไม่เท่าไหร่ แต่เนื่องด้วยความคุ้นเคยตั้งแต่เด็ก ถือเป็นสนามหลังบ้านก็ว่าได้ ทำให้เธอเอาตัวรอด สอบผ่านด้วยความตื่นเต้น ลุ้นแบบพลาดไม่ได้ที่หลุมสุดท้าย ทั้งๆ ที่ตอนขึ้นแท่นทีออฟตอนเช้ายังมีแต้มเหลืออยู่เยอะ

“จำได้เลยว่ามีพี่นักข่าวเดินตามจดสกอร์ รอสัมภาษณ์ หลุมสุดท้ายต้องเซฟพาร์ไกลเพื่อทำแต้มให้พอดีสอบผ่าน ถ้าไม่ลงคือจบ โชคดีที่พัตต์เก็บลงไปได้”… โปรเปิ้ล เล่าถึงความโล่งอกที่แลกมาด้วยความตื่นเต้นจากพัตต์ที่สำคัญที่สุดในชีวิต

ตำนาน ของโปรสตรี คนแรกของประเทศไทยจึงเริ่มต้นนับ 1 ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา และเป็นเพียงคนเดียวที่ได้ใช้สังเวียนสอบร่วมกับโปรผู้ชาย ซึ่งกว่าจะถึงการสอบคัดเลือกโปรสตรีครั้งที่สอง ก็ผ่านมาอีกหลายปี แล้วเป็นการสอบที่จัดขึ้นสำหรับนักกอล์ฟสตรีโดยเฉพาะ ทำให้วงการกอล์ฟอาชีพสตรีเริ่มมีสมาชิกเพิ่มจำนวนขึ้น หลังจากนับหนึ่งล่วงหน้ามาก่อนพอสมควร

“เปิ้ล ตั้งใจเทิร์นโปร ก็เพื่อจะแข่งรายการ โคไซโด้ ซึ่งเปิ้ลก็เคยเป็นแชมป์ประเภทสมัครเล่นมาแล้ว ก็อยากจะเล่นในสถานะอาชีพบ้าง ในแต่ละปีจะมีการจัดแข่ง 4-5 รายการ ตอนช่วงต้นปี แล้วก็หมดเลย หลังจากนั้นเปิ้ลก็ต้องสอนกอล์ฟเพื่อทำมาหากิน แล้วก็ซ้อมไปด้วย เพราะยังอยากเป็นทัวร์โปร เข้าแข่งล่าเงินรางวัลในรายการอาชีพอยู่”

แต่การสอนกับการซ้อมเพื่อเตรียมตัวแข่งขัน ต้องใช้ความอดทนและความพยายามมากขึ้นเป็นทวีคูณ โดยรับสอนเฉพาะสุภาพสตรีและเด็กเท่านั้น แล้วยิ่งสอนก็ยิ่งเป็นที่รู้จัก ทำให้มีคนสนใจอยากจะมาเรียนด้วยเยอะมาก แต่เธอก็ต้องเบรก หยุดรับนักเรียน เพราะความที่มีวินัยในการฝึกซ้อม หากปล่อยให้เหนื่อยเกินไปก็จะทำให้ร่างกายขาดความพร้อม ถึงแม้การแข่งขันจะมีไม่บ่อยนัก แต่เธอก็มุ่งมั่นและเอาจริงเอาจริงอยู่เสมอ

จุดเด่นของโปรเปิ้ลคือ ความแม่น ความไกล ตีเหล็กตรง และลูกสั้นที่เฉียบคม จนทำให้เกิดข้อเสียที่ตัวเองยังยอมรับว่า ถ้าย้อนเวลาได้จะไม่ทำเด็ดขาด…
“เปิ้ล ขี้เกียจซ้อมพัตต์มาก ถึงมากที่สุด เคยพัตต์ในระยะวงกิ๊ฟไม่ลง 5 หลุมติด แล้วก็ไม่โทษอะไรเลยนอกจาก พัตเตอร์ ถึงขนาดเปลี่ยนทุกวันตอนแข่ง และสาเหตุที่เลิกเล่นกอล์ฟอาชีพแบบถาวรจริงๆ ก็คือ ลูกพัตต์ นี่แหล่ะค่ะ”

โปรเปิ้ล เคยหยุดแข่งขันไปเมื่อมีครอบครัว แต่เมื่อลูกเริ่มโตขึ้น จึงคิดหวนกลับคืนสนามอีกครั้ง และเธอก็ทำผลงานได้ดีอีกด้วย

“เวลาทำอะไร เปิ้ลจะตั้งใจมาก ในปี 2006 แข่งวันแรกขึ้นนำด้วยการทำสกอร์ราว 7 อันเดอร์ พอวันที่สอง เปิ้ลกลับทำตรงกันข้าม เก็บลูกง่ายๆ ไม่ได้เลย จนรู้สึกว่าคราวนี้คงต้องเลิกจริงๆ แล้ว และจังหวะเดียวกันนี้ลูกก็ติดอันดับที่จะได้ไปแข่งจูเนียร์เวิลด์ แต่เราไม่ให้เขาไปเพราะติดแข่งอยู่ ลูกก็เสียใจที่แม่ไม่ให้ไป”

“เป็นการตัดสินใจที่ยากลำบากมาก ที่จะต้องเป็นทั้งผู้เล่นและคอยดูแลน้องๆ ในทีม แล้วยังต้องทำหน้าที่ของแม่อีก เพราะเพียงแค่หลุดโฟกัสนิดเดียว สกอร์เราก็ออกทะเลทันที จนต้องตัดสินใจว่า จะเล่น จะดูน้องๆ หรือดูแลลูก ยอมรับว่าความกดดันที่ถาโถมใส่มาในตอนนั้นมันหนักมาก พอจบรายการนั้นก็ตัดสินใจเลิกเล่นอาชีพทันที”

ถึงแม้จะเลิกแข่งอาชีพ แต่โปรเปิ้ลก็ได้เข้าไปช่วยเหลือสมาคมฯ อย่างเต็มที่ เต็มกำลังเต็มความสามารถเสมอมามิเคยขาด ไม่ว่าจะเป็นบทบาทไหน ตั้งแต่สมัยยังอยู่ร่วมกับนักกอล์ฟอาชีพชายจนได้แยกตัวออกมาเป็นชมรมกอล์ฟอาชีพสตรี จนกระทั่งต่อมาได้ช่วยกันผลักดันให้เป็นสมาคมกอล์ฟอาชีพสตรีได้ในสุด
“หลายๆ คนอาจจะไม่ชอบเปิ้ล เพราะเป็นคน ตรงๆ แรงๆ แต่นั่นเพราะเราอยากให้เรือลำนี้มันไปได้ อะไรที่ไม่ดีเราก็อย่าทำ เปิ้ลเสียงดัง ตรงไปตรงมา เพราะเราต้องรักษาผลประโยชน์ให้กับส่วนรวม ไม่ใช่ทำเพื่อตัวเอง หรือใครคนใดคนหนึ่ง”

ในช่วงวิกฤติครั้งยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งของโปรเปิ้ล นั่นคือการเลือกตั้งนายกสมาคมฯ ซึ่งได้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น เธอขับรถไปร้องไห้ไป จนเจ้านายสายตรง “คุณต้อป” (ปฏิญญา ควรตระกูล) โทรมาถามด้วยความห่วงใยว่า “เรียบร้อยดีมั้ย มีอะไรให้ช่วยรึเปล่า ?” ซึ่งบทสรุปของการสนทนา โปรเปิ้ลก็บอกคุณต้อปไปว่า “ช่วยมาเป็นนายกสมาคมฯ ให้ที”

คำพูดนี้ทำเอาคุณต้อปตกใจ ไม่คิดว่าจะเจอเรื่องใหญ่ขนาดนี้ แต่โปรเปิ้ลก็ค่อยๆ อธิบายถึงเหตุและผล จนเจ้านายเธอใจอ่อน พร้อมที่จะร่วมหัวจมท้ายด้วยกัน ทั้งนี้ก็เพราะ ความไว้เนื้อเชื่อใจ และหัวใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรักในกีฬากอล์ฟ

“คุณต้อปถามเปิ้ลว่า แล้วถ้าทำสมาคมฯ จะเอาเงินที่ไหนไปใช้จ่ายได้ เพราะการเป็นลูกเศรษฐี ไม่ใช่ว่าตัวเองเป็นเศรษฐีนะ เปิ้ลก็บอกคุณต้อปว่า สมาคมฯ ต้องไปได้ด้วยตัวของสมาคมฯ เอง ถ้ามัวแต่พึ่งตัวนายกฯ สมาคมฯ ไปไม่รอดหรอก และตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ เราก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เราไม่เคยรบกวนเงินของนายกฯ เลย แล้วส่วนไหนที่ช่วยเหลือกันได้คุณต้อปก็ช่วยเต็มที่ ที่เหลือปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามกลไก ทำงานตามที่เราได้ร่วมกันวางแผนไว้”

“สมาคมกอล์ฟอาชีพสตรี ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปเยอะ ถือว่ายุคนี้เรารุ่งเรืองมาก สมาคมฯ สะอาด โปร่งใส ตอบได้ทุกคำถาม นักกีฬาก็ให้ความร่วมมือช่วยกันดีมาก คุณต้อปพูดเสมอว่า สมาคมฯ เป็นของพวกคุณทุกคน คุณต้องการอะไรบอกเรามา ทำได้เราทำให้ ทำไม่ได้เราชี้แจง ผลงานของนักกีฬาก็ดีมากๆ บวกกับความเจ้ากี้เจ้าการของเปิ้ลเองด้วย เช่นใครที่แต่งตัวไม่เรียบร้อย ดูไม่สวยงาม เปิ้ลก็จะบอก แม้กระทั่งการใช้โซเชี่ยลต่างๆ หากดูแล้วจะเกินขอบเขตก็ต้องมีการว่ากล่าวตักเตือน ทั้งนี้ก็เพราะเราต้องการให้สมาชิกทุกคนดูดี เปรียบเสมือนกับถ้าเรามีสินค้าดี สมาคมฯ ก็ขายดีไปด้วย”

“ถึงแม้ผลงานของสมาคมฯ เราจะได้รับคำชมเยอะแยะมากมาย แต่สิ่งหนึ่งที่ยังขาดหายไปคือ แรงสนับสนุน เราไม่ใช่นักการตลาด เราเป็นนักกีฬา เรามีแต่ความจริงไปนำเสนอ ทำให้เราขายไม่เก่ง ยังไงก็ยังต้องพึ่งภาครัฐ ซึ่งอาจจะยังน้อยอยู่มาก เพราะการสนับสนุนส่วนใหญ่จะอยู่ในเรื่องความเป็นเลิศ โดยเรายังต้องการสร้างทัวร์นาเม้นต์ที่แข็งแรงในบ้านเราก่อน ซึ่งก็ใช้งบสนับสนุนไม่ได้มากจนเกินไป เพราะหากนักกีฬายังผ่านประสบการณ์ตรงนี้ไม่ได้ หรือมีไม่เพียงพอ ก็ยากที่จะออกไปประสบความสำเร็จในระดับสากลข้างนอก”

“วัตถุของสมาคมฯ เราชัดเจนว่า ไม่แสวงหาผลกำไร แต่เราก็ต้องหาให้เพียงพอกับการใช้จ่าย เงินที่ได้รับมาส่วนใหญ่ก็จะจ่ายไปเป็นรางวัลให้กับนักกีฬา ส่วนค่าใช้จ่ายอื่นๆ ก็ต้องว่ากันไปตามระเบียบปฏิบัติ เพราะงานบางอย่างต้องจ่ายทันทีแต่ไม่สามารถเบิกได้ทันที ซึ่งเราเป็นคนหาทุนก็มีความหวั่นใจอยู่เสมอในการหมุนเงินให้จ่ายได้ครบจำนวน”

และก่อนปิดบทสนทนา โปรเปิ้ล ได้ตอกย้ำถึงสิ่งที่มีพระคุณสำคัญต่อชีวิตเธอ และความตั้งใจที่จะตอบแทนที่ได้รับโอกาสนี้

“สิ่งที่เปิ้ลทำอยู่ทุกวันนี้ การที่มีคนรู้จักว่า เปิ้ลเป็นโปรหญิงคนแรกของประเทศไทย เป็นเพราะโอกาสที่ได้รับมาจากสมาคมฯ ทั้งชีวิต ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น อะไรก็ตามที่เปิ้ลสามารถตอบแทนได้ ไม่ว่าจะเป็นใคร สังกัดไหน ขอเพียงแค่ให้เกิดประโยชน์กับวงการกอล์ฟของประเทศไทยเรา เกิดประโยชน์กับสังคมส่วนรวม เปิ้ลยินดีช่วยเหลือเต็มที่ค่ะ”