คอลัมน์ในอดีต

สายใยสองภพ : ความรัก คือ สายน้ำ (1)

ความรัก คือ สายน้ำ (1)

หญิงชรา…ทอดสายตาไปทางริมฝั่งโขง แล้วเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับแม่น้ำโขงต่อ

แม่น้ำโขงโดยเฉพาะรอยต่อพรมแดนไทยกับลาวเราเนี่ยนะลูก จะมีเกาะแก่งคุดคู้มากมาย โดยเฉพาะก่อนช่วงฤดูฝนจะมองเห็น ดอน มีสภาพเป็นเกาะกลางน้ำ เกิดจากทรายและก้อนหินขนาดเล็กมากมายที่แม่น้ำโขงพัดมาทับถม บริเวณดอนมีพืชริมน้ำ โดยมีพืชหลักคือ แขม อ้อ ไคร้ พืชตระกูลเฟิร์น พืชเหล่านี้จมอยู่ใต้น้ำหลายเดือนในช่วงฤดูกาลน้ำขึ้น ซึ่งจมอยู่ในระดับความลึก 8-10 เมตร พืชที่จมน้ำจะเปื่อยยุ่ยกลายเป็นอาหารของปลา และยังเป็นที่พักอาศัยและวางไข่ของปลาด้วย ซึ่งเมื่อฤดูน้ำลดพืชเหล่านี้จะฟื้นกลับคืนมา เมื่อดอนโผล่พ้นน้ำ บริเวณดอนยังมี หลงน้อย มีลักษณะเป็นหลุมเล็กๆกว้างประมาณ 1-3 เมตร ลึกไม่เกิน 1 เมตร เป็นที่วางไข่ของปลาเช่นกัน ผา คือแก่งหินที่มีลักษณะเป็นแท่งตั้งอยู่ในแม่น้ำโขง อาจอยู่ใกล้ฝั่งหรือกลางแม่น้ำ ผาบางแห่งประกอบด้วยชุดของแก่งหินที่อยู่ใต้น้ำ เช่น ผาหลัก ผาบาง แห่งมีสันดอนทรายอยู่รอบๆซึ่งเกิดจากการทับถมของตะกอนแม่น้ำจึงมีพืชริมน้ำขึ้นอยู่ เช่น ผาฟ้า บริเวณดอนที่อยู่รอบๆมีพืชคือ ต้นไคร้ ต้นไคร้หางนาค ขึ้นอยู่จำนวนมาก ผาในแม่น้ำโขงบริเวณนี้จมอยู่ใต้น้ำฤดูหลาก และโผล่เหนือน้ำฤดูน้ำลดเช่นกัน แก่ง คือชุดกลุ่มหินกลางแม่น้ำโขงที่มีความซับซ้อนและมีร่องน้ำลึกในฤดูน้ำลดแก่งจะโผล่พ้นน้ำ บริเวณซอกหินของแก่งซึ่งมีตะกอนทรายที่น้ำพัดมาทับถมจะมีพืชน้ำขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น โดยเฉพาะไคร้ บริเวณที่จมอยู่ใต้น้ำจะเป็นแหล่งกำเนิด ไก ซึ่งเป็นสาหร่ายน้ำจืดชนิดหนึ่ง หาด เกิดบริเวณสองฝั่งแม่น้ำโขง แต่ละหาดอาจยาวนับกิโลเมตร บริเวณดังกล่าวนี้ยอกจากปกคลุมด้วยทรายแล้วยังมีก้อนหินขนาดเล็กมากมาย ก้อนหินเหล่านี้จะเป็นจะแหล่งกำเนิดไก เช่นเดียวกับแก่งหินใต้น้ำ หาดทรายยังเป็นที่อาบน้ำเล่นทรายของนกอีกด้วย คก คือบริเวณหลุมลึกที่แระแสแม่น้ำโขงไหลวนอยู่ริมฝั่งโค้ง-เว้า คกแต่ละแห่งมีความลึกมาก อาจลึกได้ถึง 10 เมตร คกที่สำคัญ เช่น คกลิง คกปวก และ หลง สองฝั่งแม่น้ำโขงมีพื้นที่คล้ายคกตามกระแสน้ำนิ่ง หลงมีขนาดกว้างไม่มาก ประมาณ 5 เมตร บริเวณนี้อุณหภูมิของน้ำจะอุ่น ซึ่งแตกต่างกับแม่น้ำโขงที่น้ำเย็น หลงเป็นแหล่งกำเนิด เตา ซึ่งเป็นตะไคร้น้ำชนิดหนึ่ง คอนผีหลง เป็นบริเวณที่อยู่ระหว่างบ้านดอนที บ้านผากุบ บ้านเมืองกาญจน์ ต.ริมโขง อ.เชียงราย มีความยาวตามลำน้ำประมาณสิบกิโลเมตร คนลาวเรียกว่า คอนผีหลง เป็นช่องน้ำหรือร่องน้ำที่ผีหลง คือคนตายหรือศพ ชุมชนไทยริมแม่น้ำโขงบางกลุ่มเรียกว่า แสนผี สาเหตุที่เรียกเกาะ แก่งหิน บริเวณนี้ว่าเป็นคอนผีหลงหรือแสนผี เนื่องจากประเพณีของคนลาวบางกลุ่มชนชาติพันทางเหนือขึ้นไปตามแม่น้ำโขง เมื่อมีคนตายในหมู่บ้านมีความเชื่อว่าการส่งศพคนตายมากับแพลอยตามแม่น้ำโขง คนที่ตายก็จะได้ไปสู่สรวงสวรรค์เป็นประเพณีที่คล้ายกับประเพณีลอยศพคนตายในแม่น้ำคงคา ประเทศอินเดีย เมื่อศพลอยพัดหลงเข้ามาถึงบริเวณจุดที่มีแก่งหินสลับซับซ้อน ซึ่งมีมากมายในบริเวณคอนผีหลง แรงปะทะของน้ำโขงกับแก่งหิน ทำให้พลิกคว่ำศพคนตายก็ไหลมาติดแก่ง หาด ดอน ตรงวังน้ำวนอยู่ตรงนี้

ชาวบ้านผากุบฝั่งไทยเล่าว่า หลายครั้งที่คนหาปลาเห็นแพลอยมากับน้ำ มีเครื่องใช้ไม้สอย ที่นอนหมอนมุ้งครบถ้วน คนหาปลาบางคนไปเก็บมาใช้บ้างก็มี ไม่ถือว่าเป็นเรื่องลักขโมยแต่อย่างใด ขณะเดียวกันชุมชนชาวไทยริมฝั่งโขงก็มีชื่อเรียกกลุ่มแก่งหินนี้ต่างออกไปโดยเรียกตามความเชื่อ รูปร่าง และลักษณะบางอย่างของ หาด ดอน แก่ง และผาหิน ไม่ได้รวมทั้งกลุ่มเป็นชื่อเดียวกันอย่างที่คนลาวเรียก ดังนั้น คอนผีหลงของลาวจึงประกอบด้วย แก่ง และผาหิน ของไทยมี ดอนสะเล็ง ดอนทรายกลางลำน้ำโขงมีกลุ่มหินใต้น้ำรายรอบมาก ผิวน้ำจึงไม่ราบเรียบ เป็นคลื่น เป็นสะเล็ง เรือที่ผ่านช่วงนี้จะเจอกับคลื่นและกระแสน้ำหลาก ดอนร้องไก คือบริเวณหนึ่งร่องน้ำผ่านตรงกลางดอน เป็นถิ่นกำเนิดของไก สาหร่ายน้ำจืด ร้องก็คือร่องน้ำ ผาหลัก แก่งหินที่มีลักษณะคล้ายกับเสาหินปักลงกลางน้ำ ผาฟอง เป็นบริเวณที่มีแก่งหินใต้น้ำจำนวนมาก เมื่อกระแสน้ำไหลผ่านจะเกิดฟองอากาศตลอดเวลา เท่ากับการเติมออกซิเจนในน้ำ ทำให้สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ในแม่น้ำโขงได้ ผาฟ้า เป็นแก่งหินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบริเวณคอนผีหลงตรงปลายยอดตั้งตระหง่าน น้ำท่วมไม่ถึง ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นที่สิงสถิตของเหล่านางฟ้า หาดฮ้าย ฮ้ายแปลว่าร้าน หรืออันตราย เป็นบริเวณที่น้ำไหลเชี่ยวต้องระมัดระวังในการเดินเรือ ผาช้าง เมื่อมองจากลางลำน้ำมายังฝั่งไทยจะมองเห็นเป็นแก่งหินรูปร่างคล้ายช้างหันหน้าเข้าหาฝั่ง บรรทุกสัมภาระไว้บนหลัง ผาเสือ มีลักษณะคล้ายเสืออยู่ริมฝั่งตรงข้ามกับผาช้าง ผาช้างและผาเสือเป็นสัญลักษณ์ทางธรรมชาติที่ช่วยคาดการณ์ว่าเมื่อใดที่ระดับน้ำขึ้นสูงถึงปากช้างคางเสือ ไม่ควรเดินเรือเพราะระดับน้ำที่สูงและเชี่ยวจะเกิดอันตรายถึงชีวิต ผาพระ ตำนานเล่าว่าสมัยโบราณเจ้าลาวองค์หนึ่งจากหลวงพระบางล่องเรือผ่านผานี้ เกิดอุบัติเหตุเรือล่มทำให้ลูกชายเสียชีวิตจึงสลักรูปพระไว้บนหน้าผาเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตาย ปัจจุบันชุมชนสองฝั่งให้ความเคารพ เป็นสถานที่ทำพิธีทางศาสนาร่วมกันช่วงเทศกาลสงกรานต์ ผากันตุง มีลักษณะคล้ายแท่นปักธงชัย กันตุงคือคันธง

โดยธรรมชาติของแม่น้ำโขง เกาะ แก่ง ดอน ผา หาด คก หลง เป็นแหล่งกำเนิดพรรณพืชที่เป็นอาหารและที่อยู่อาศัยของปลา ชาวประมงหาเหยื่อ ทั้งจากสัตว์น้ำขนาดเล็กตลอดจนถึงพรรณพืช ที่สำคัญแก่งยังเป็นฝายทดน้ำโดยธรรมชาติ ช่วยลดความเร็วของกระแสน้ำ ช่วยกักเก็บน้ำในช่วงฤดูแล้ง พรรณพืชที่ขึ้นบริเวณแก่งเป็นอาหารของชุมชน บางชนิดเป็นยารักษาโรคได้ และเกาะ แก่ง ดอน ผา หาด คก หลง ยังมีทัศนียภาพที่สวยงาม จนมีนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติเดินทางมาล่องเรือเล็กชมความงดงามของลำน้ำโขง

ความเชื่อที่ชุมชนริมฝั่งโขวงมีต่อเกาะแก่งหินแม่น้ำโขง ปรากฏออกมาเป็นชื่อเรียกที่ต่างๆกัน ชุมชนสองฝั่งโขงมีความเชื่อว่าบริเวณเหาะแก่งบางแห่งมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์สิงสถิตอยู่ มนุษย์มิอาจลบหลู่ดูหมิ่นหรือทำลาย เพราะจะทำให้เกิดภัยพิบัติ

ความเชื่อจากประสบการณ์ที่สืบทอดต่อกันมาแม่น้ำโขงเส้นเลือดหลักของชุมชนสองฝั่งโขงที่มีความซับซ้อนและยิ่งใหญ่มากนะลูก