กีฬากอล์ฟ เป็นทั้งศาสตร์และศิลป – รศ.ดร.กำพล รุจิวิชชญ์
รศ.ดร.กำพล รุจิวิชชญ์
คณบดีคณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“กีฬากอล์ฟ เป็นทั้งศาสตร์และศิลป ที่มีอยู่ในตัวของทุกคนอยู่แล้ว”
สมัยเรียนมัธยมที่ไตรมิตรวิทยาลัย ผมค่อนข้างตัวสูง เลยได้คัดเลือกให้เป็นนักบาสเกตบอลโรงเรียน เคยไปแข่งจนได้แชมป์ ไม่ได้เล่นกีฬาประเภทอื่นเลย จากนั้นมาเรียน ม.ปลาย ที่สวนกุหลาบ ก็เริ่มห่างกีฬาเพราะต้องอ่านหนังสือเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย พอเรียนปริญญาตรีก็ไม่ได้เล่น ยิ่งไปต่อเมืองนอก แล้วกลับมาเป็นอาจารย์สอนหนังสืออย่างเดียว เป็นหนอนหนังสือ อ่านหนังสือเพื่อเตรียมตัวใช้ประกอบการสอน ทำให้ไม่มีเวลาไปเล่นกีฬา จนกระทั่งน้ำหนักตัวเองเพิ่มขึ้นจนเกือบร้อยกิโล
ช่วงเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัยผมตั้งเป้าจะเข้าคณะแพทยศาสตร์ แต่โค้งสุดท้ายผมกลับป่วยตอนสอบ จนทำคะแนนได้ไม่ค่อยดีนัก แต่ก็ไม่คิดจะไปสอบใหม่ สอบติดอะไรก็จะเรียนคณะนั้น แล้วพอเข้าไปเรียนปีหนึ่งที่คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผมก็ติดการทำกิจกรรม ยิ่งตรงกับช่วง 6 ตุลา ทำให้มีเรื่องราวที่น่าสนใจต่างๆ ให้ทำเยอะมาก ผมจึงทำกิจกรรมเป็นงานหลัก เรื่องเรียนเป็นงานรอง แต่อาศัยว่าจับคอนเซ็ปต์ของการเรียนได้ ยืมชีสของเพื่อนมาอ่านก็ทำความเข้าใจได้ ผลสอบออกมาก็ค่อนข้างดี โดยอาศัยความเป็นคนช่างสังเกต จับประเด็นได้ จนถึงการทำงานในปัจจุบันก็ยังอาศัยหลักการนี้ของตัวเองอยู่
หลักการของผมคือการ คิดต่าง คนอื่นคิดอย่างไร ผมจะคิดอีกแบบ ทำให้เวลาทำงานอะไรออกไปจึงมีความโดดเด่นไม่เหมือนใคร ทั้งนี้จุดเริ่มมาจากการเป็นนักกิจกรรม มีมุมมองที่คิดต่าง แล้วก็นำทักษะตรงนั้นมาใช้ และติดตัวมาโดยตลอด
ผมคิดว่า เราเรียนอะไรก็ได้ จบออกมาก็ไม่จำเป็นต้องทำงานที่เราเรียน จะไปทำอะไรก็ได้ การเรียนคือพื้นฐานของชีวิต แล้วผมคิดเสมอว่า ถ้าจบออกมาแล้วต้องทำงานในสายงานที่เรียน ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร ตอนที่สอบติดเข้าไปคณะเทคนิคการแพทย์ ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขาเรียนอะไรกัน ตอนสอบก็เลือกแต่แพทย์อันดับต้นๆ ทั้งหมด ทำให้ผมสอบติดด้วยคะแนนอันดับหนึ่งของคณะฯ พอเรียนไปก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะเราคิดต่างอยู่แล้ว ผมเองทำงานในอาชีพตัวเองไปไม่นาน ก็มีอาชีพอื่นของตัวเอง เรียกว่าสามารถเกษียณตัวเองตั้งแต่อายุยังน้อยๆ
หลังจากจบปริญญาโทจุลชีววิทยาทางการแพทย์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาได้สักพัก จนเมื่อผมมีความพร้อม ถึงได้ไปเรียนต่อปริญญาเอกที่อเมริกา ซึ่งเป็นการเรียนที่ฉีกแนวของผมไปเลย ในสาขา Environmental Science and Public Policy จาก Geoge Mason University มลรัฐเวอร์จิเนียร์ เป็นการเรียนที่ยากมากเพราะเป็นวิชาที่ข้ามสายไปเลย คำศัพท์ต่างๆ ทางภาษาก็ต่างออกไป เป็นการเรียนในเรื่องที่ไม่เคยรู้มาก่อน ถึงจะฟังออกแต่ก็ไม่เข้าใจ เป็นศัพท์เศรษฐศาสตร์เฉพาะที่ต้องอาศัยการเรียนรู้
ผมโทรศัพท์กลับมาปรึกษาเพื่อนที่อยู่เมืองไทย ให้หาหนังสือตำราเศรษฐศาสตร์ภาษาไทยส่งมาให้อ่านเพื่อปูพื้นความทำความเข้าใจ แล้วกลับไปฟังบรรยายใหม่ ต้องเรียนกฎหมาย การบริหารจัดการการปกครอง การทำนโยบายฯ เป็นวิชาที่ใกล้กับรัฐประศาสนศาสตร์ ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้ผมตื่นเต้นและอยากเรียนรู้ เนื่องจากตรงกับใจที่ต้องการ สมัยเรียนก็ไม่ค่อยได้เรียนทางด้านนี้ ชอบทำกิจกรรม สนใจเรื่องการเมือง แล้วพอมาได้เรียนลงลึกในเรื่องที่เคยสนใจ ทำให้ช่วยเปิดโลกทรรศน์ให้กว้างขึ้น สิ่งที่เคยคิดสมัยเด็กๆ เป็นวัยรุ่น มันไม่ใช่มุมมองที่ถูกต้อง คนเรามีหลากหลาย ชีวิตไม่ใช่มีแค่ขาวกับดำ ยังมีสีเทาอีกด้วย ทุกอย่างมีเรื่องราว ต้องศึกษาให้ลึกซึ้งว่าบางเรื่องสมควรหรือไม่กับอารยธรรมแบบนั้นแบบนี้
จริงๆ แล้วผมเข้าเรียนต่อสาขานี้ไม่ได้ เพราะแรกเริ่มผมไปเรียนในทุนของรัฐบาลในสาขาที่เกี่ยวข้องกับชีวโมเลกุล ซึ่งผมเรียนมาแล้วในระดับปริญญาโท พอไประดับปริญญาเอกจะให้ไปทำวิจัยในเรื่องเอดส์ ก็คิดว่ามันไม่เข้ากับเราเท่าไหร่ เรียนได้สักพักก็ข้ามสาย โดยได้สอบถามกับทบวงมหาวิทยาลัยว่าอนุญาตหรือไม่ คำตอบก็คือแล้วแต่เรา ผมจึงเปลี่ยนสายทันที แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะผมต้องสอบให้ผ่านทั้งสามวิชา เศรษฐศาสตร์ กฎหมายทั่วไป และเรื่องกระบวนการนโยบายฯ ผมต้องอาศัยเพื่อนชาวต่างชาติที่เรียนด้วยกันซึ่งเขาเป็นผู้พิพากษาช่วยติวให้ จนผ่านหมดทุกวิชา
ช่วงเรียนหนักๆ เครียดมากๆ ก็อาศัยฟังเพลงสากลเก่าๆ เปิดดังๆ ให้เพลิดเพลินผ่อนคลาย เพราะสมัยก่อนไม่มีอินเตอร์เน็ต ทุกอย่างต้องค้นคว้าจากห้องสมุด อ่านแล้วจด ทำให้รู้จริงและเขียนได้ พิมพ์ยังอาศัยเครื่องพิมพ์ดีด ผิดก็แก้ทีละตัว ต้องมีความพยายามมากกว่าคนสมัยนี้มากๆ
สิ่งที่ลำบากอีกอย่างก็คือเรื่องของความแตกต่าง เราเองก็ไม่ค่อยเข้าใจในวัฒนธรรมของเขา บางอย่างก็ต้องเรียนรู้ในราคาแพง ผมเคยโทรศัพท์ข้ามทวีปโดยไม่ทราบว่าต้องหมุนระหัสประกอบกับการใช้การ์ดถึงจะประหยัด พอโทรสายตรงกลับบ้านบิลเก็บเงินมาทีเป็นพันเหรียญ ทั้งๆ ที่ซื้อการ์ดมาแล้ว พอในหน้าหนาวจะก่อเตาผิง แต่ไม่รู้ว่าต้องเปิดช่องระบายอากาศก่อน พอจุดไฟควันก็คลุ้ง สัญญาณไฟไหม้ดังจนชาวบ้านแตกตื่น หรือผมเคยกลับประเทศไทยแล้วระหว่างนั้นภาษีรถใกล้จะขาด พอกลับไปขับเลยกำหนดไปแล้วสองวัน ตำรวจก็จับทันที พอขึ้นศาล กลายเป็นว่าต้องจ่ายค่าปรับหนักกว่าเดิม ศาลบอกว่านั่นคือหน้าที่ของเราที่จะต้องรู้ว่าถ้าจะไปไหนก็ต้องต่อภาษีล่วงหน้า ไม่มีเหตุผลใดที่จะมาอ้าง และการมาขึ้นศาลแบบนี้มันทำให้เสียเวลา เพราะฉะนั้นคุณต้องจ่ายค่าปรับแพงขึ้นไปอีก ซึ่งวัฒธรรมแบบนี้ไม่เหมือนกับบ้านเราซึ่งมีความยืดหยุ่นกันได้มากกว่า…
หลายครั้งที่เรียนๆ ไปแล้วท้อจนอยากกลับบ้าน บางครั้งไปนำเสนอหน้าชั้น ต้องเขียนแผ่นใสฉายขึ้นจอ เวลาเราพูดภาษาอังกฤษก็คงเหมือนกับเราฟังฝรั่งพูดไทย เขาก็ตั้งใจฟังเรา แต่ไม่เข้าใจในสิ่งที่ต้องการสื่อสาร เราเรียนภาษาอังกฤษจากครูคนไทย เขาฟังสำเสียงเราไม่เข้าใจ จนเข้าใจผิด เราต้องเขียนกำกับว่าสิ่งที่พูดไปคืออะไร ยากจนแทบจะร้องไห้ ท้อจนอยากจะขนของกลับ เพราะเราต้องเหนื่อยกว่าคนปกติทั่วไปเป็นสิบเท่า แต่ผลสอบที่ออกมา เราได้คะแนนมากกว่าฝรั่งที่นั่งเรียนด้วยกันซะอีก นั่นทำให้เกิดกำลังใจว่าเราก็ทำได้ ไม่เห็นจะยากอะไรเลยถ้ามีความพยายาม ก็กัดฟันสู้เรียนจนจบ
พอกลับมาก็ทำงานบริหารที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ก็แทบจะไม่ได้อยู่ที่คณะเลย ทำงานบริหารอยู่ท่าพระจันทร์ห้าปีเป็นรองอธิการฯ , ไปเป็นรองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, รองคณบดีฝ่ายวางแผนพัฒนา คณะสหเวชศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, รักษาการรองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะสหเวชศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ศูนย์รังสิต และ คณบดี คณะสหเวชศาสตร์ ในปัจจุบัน
ตั้งแต่เด็กๆ ก็เคยได้ยินเรื่องของกีฬากอล์ฟ แต่ก็มองแค่ว่าเป็นกีฬาไฮโซที่เกินเอื้อม เลยไม่ให้ความสนใจ ตอนไปเรียนต่างประเทศก็มีเพื่อนฝรั่งมาชวนไปซ้อม แต่เพราะเราต้นทุนชีวิตต่ำกว่าเขา ต้องปฏิเสธไปเพื่อเอาเวลามาอ่านหนังสือ มุ่งกับการเรียนอย่างเดียว นึกย้อนไปก็รู้สึกเสียดายเหมือนกัน ถ้าเล่นตอนนั้นก็อาจจะเล่นได้ดีไปแล้ว เพราะเพื่อนๆ เล่นกอล์ฟกันทั้งนั้น
ผมเพิ่งมาเจอกับกีฬากอล์ฟไม่นานมานี้เอง สาเหตุก็เพราะมาทำหลักสูตรฯ คุยกันกับหลายๆ คนว่าจะทำหลักสูตรกอล์ฟธรรมศาสตร์ แต่ตัวเองยังไม่เล่นกอล์ฟเลย แล้วน้ำหนักตัวก็มาก รู้สึกอึดอัด เหนื่อยเร็ว สุขภาพไม่ฟิตเท่าไหร่ จึงคิดว่าจะลองหัดเล่นสักหน่อย ประกอบกับมีนักศึกษาของเราเป็นนักกอล์ฟเยาวชนมาชวนให้ไปลองเล่น ครั้งแรกตีลูกไม่ค่อยถูก แต่ก็รู้สึกดี ได้ผ่อนคลาย หายเครียด สนุก พอได้ปรึกษากับโปรเชาว์ (เชาวรัตน์ เขมรัตน์) ซึ่งผมเชิญมาเป็นอาจารย์พิเศษที่คณะฯ ว่าจะทำอย่างไรดี โปรเชาว์ ก็แนะนำว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง ผมก็จับประเด็นสำคัญซึ่งเป็นสิ่งที่ผมถนัดได้ว่า ปัญหาของผมคือ ตีลูกไม่โดนเต็มๆ ตัวแกว่ง สมาธิไม่มี ผมเลยลองทำตัวสบายๆ ทำขาให้มั่นคง ปรากฎว่าได้ผล ตีได้ไกลขึ้น แล้วผมก็จับอารมณ์นี้ ค่อยๆ พัฒนา ระยะที่ตีได้ก็ไกลขึ้นเรื่อยๆ จนไม่มีใครเชื่อว่าผมเพิ่งจะเล่นกอล์ฟมาได้แค่ไม่กี่เดือนเท่านั้น จะเห็นได้ชัดว่ายังเล่นมาไม่เยอะก็เพราะลูกพัตต์ยังไม่ค่อยดีนัก
คณะสหเวชศาสตร์เพิ่งจะเริ่มก่อตั้งสาขาวิทยาศาสตร์การกีฬาและพัฒนาการกีฬา ผมเป็นคนแรกที่จัดหลักสูตรสาขาศิลปศาสตร์บัณฑิตการจัดการการกีฬา, ศิลปศาสตร์บัณฑิตการฝึกสอนการกีฬา สองหลักสูตรนี้เอื้อให้กับผู้ที่จบศิลปศาสตร์บัณฑิตมาเรียนได้ แล้วยังมองว่านักกีฬาที่ไม่มีเวลาเรียน เราสามารถพัฒนาให้เขาเรียนไปด้วยเล่นกีฬาไปด้วย ไปเรียนขอบสนามก็ได้ เป็นการส่งความรู้ไปให้เขาถึงที่ เพราะปัจจุบันมีสื่อการสอนมากมาย พอคิดขึ้นมาก็ทำโครงการ หลักสูตรนี้เปิดมาได้สองปี มีนักศึกษาอยู่ราวหกร้อยคน เป็นนักกีฬาทีมชาติ นักกีฬาเขต อยู่มากมาย โดยเฉพาะนักกอล์ฟฝีมือดีๆ ที่จุดประกายเรื่องการเล่นกอล์ฟให้กับผมคือนักศึกษาของเราที่ตั้งคำถามว่าทำไมผมถึงไม่เล่นกอล์ฟ…
จึงคิดว่าถ้าผมจะเล่นก็ต้องทำหลักสูตรขึ้นมาเพื่อจะให้คนอื่นได้เข้ามาเล่นด้วย พัฒนาคนที่เล่นไม่เป็นให้เล่นเป็น ผมก็ต้องลองด้วยตัวเองก่อน ถ้าผมใช้เวลาสามเดือนแล้วเล่นกอล์ฟได้ คนอื่นก็ต้องทำได้ด้วยเช่นกัน โดยผมใช้ตัวเองเป็นผู้ทดลอง เพื่อที่จะบอกกับหลายๆ คนได้ว่า ถ้ามาเข้าหลักสูตรนี้ท่านต้องเล่นกอล์ฟได้ ซึ่งผมพิสูจน์แล้วว่ากีฬากอล์ฟไม่ได้ยากอะไรมากมาย มันเป็นศาสตร์และศิลปที่มีในตัวเราอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ได้หยิบออกมาใช้เท่านั้น เพราะเราไม่กล้าตี กลัวถูกพื้นแล้วเจ็บ แต่ถ้าจับกริปดีๆ วัดระยะดีๆ ซ้อมตีลมก่อน ยังไงก็ไม่โดนพื้น ขาต้องตั้งมั่น ตามองลูก รับรองทุกคนตีเป็น หลักการนั้นดูง่ายมาก แต่ทำจริงก็ยากมากเช่นกัน ต้องอาศัยการฝึกซ้อมจนชำนาญ
จุดมุ่งหมายในการทำหลักสูตรก็คือ อยากให้ทุกคนหันมาให้ความสนใจกีฬากอล์ฟ และเล่นกอล์ฟเป็น รักในกีฬากอล์ฟ ผมมีความเชื่อว่า การออกรอบทำให้สุขภาพดี ผมเองลดพุงไปได้เยอะมากจากการออกรอบ ร่างกายก็กระฉับกระเฉง สุขภาพดีขึ้น จากเดิมที่ทำงานแล้วรู้สึกเหนื่อยมาก ก็น้อยลง อีกด้านที่จะได้ก็คือเรื่อง เครือข่าย สิ่งที่ผมประทับใจมากๆ คือธรรมเนียมประเพณีในสนาม ทุกคนมีมารยาทอันดี มีน้ำใจให้กัน ถ้อยทีถ้อยอาศัย ทำความรู้จักคุ้นเคยกันได้ง่าย สามารถสร้างเพื่อนได้เร็ว สนุก ท้าทาย
ขณะที่โครงการแรกยังไม่เสร็จสิ้น ก็มีผู้ให้ความสนใจลงสมัครในโครงการสองแล้ว ตราบใดที่ผู้เรียนให้ความสนใจโครงการนี้ก็จะมีความต่อเนื่องไปเรื่อยๆ เป็นการตอบโจทย์ความต้องการของคนที่อยากจะเรียนรู้เรื่องกอล์ฟในหลักสูตรของเรา ทั้งในเรื่องการพัฒนาทักษะกอล์ฟ การหากลุ่มเพื่อนเพิ่มเติม ได้รู้จักกันมากขึ้น ได้รู้เรื่องการดูแลสุขภาพ จะได้เล่นกอล์ฟไปได้นานๆ เพราะกอล์ฟเป็นเรื่องของทักษะมากกว่าการใช้แรง และยังได้ความรู้ในเรื่องการบริหาร การจัดการต่างๆ เหมือนกับเรียนเอ็มบีเอฉบับกระเป๋าที่คัดมาเฉพาะแต่เรื่องสุดยอดทั้งนั้น
หลังจากจบหลักสูตรที่เริ่มในเดือนสิงหาคมนี้ เราก็จะมีการประเมินผลเพื่อปรับปรุงให้เหมาะสมยิ่งๆ ขึ้น โดยจะเปิด ครั้งต่อไปในเดือนกุมภาพันธ์ คาดว่าจะเปิดสองครั้งต่อปี ทางคณะฯ เองก็มีโครงการว่าอีกระยะหนึ่งจะเปิดเป็นหลักสูตรระดับปริญญาโท วิชาเกี่ยวกับกอล์ฟโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราอยากจะทำอยู่แล้ว ช่วงนี้จึงจัดเป็นหลักสูตรสั้นๆ เพื่อตอบโจทย์ให้กับผู้ที่ต้องการเรียนอะไรแบบที่ไม่ใช้เวลามากนัก แค่เพียงราวสามเดือนกว่า ก็จบหลักสูตรได้ประกาศนียบัตรและได้เป็นศิษย์เก่าธรรมศาสตร์อีกด้วยครับ