สายใยสองภพ : ความรัก กับ ศาสนา (1)
ความรัก กับ ศาสนา (1)
เช้าตรู่ของวันใหม่ หญิงชราตระเตรียมอาหารคาวหวานเพื่อใส่บาตรหลวงตาเช่นเคย เจ้าจุกเจ้าเปียมาช่วยกันเก็บดอกบัวหลวงสีชมพูสดใสมาหอบใหญ่ให้หญิงชราได้ใส่บาตร และปักแจกันถวายพระ เพราะวันนี้เป็นวันพระใหญ่ที่อยู่ในพรรษา
ยายครับ…เจ้าจุกเอ่ยถามขึ้นมา จุกไปไหว้หลวงพ่อพระใสมาเมื่อวาน ยังจำได้ว่ายายเคยเล่าว่าหลวงพ่อพระใสอยู่วัดหอก่อง แล้วทำไมถึงมาอยู่วัดโพธิ์ชัยหล่ะยาย?
ฮือ…หลังจากที่หลวงพ่อพระสุกจมลงไปอยู่เมืองบาดาลก็ยังคงเหลือหลวงพ่อพระเสริม กับหลวงพ่อพระใส ซึ่งได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ ณ วัดโพธิ์ชัย หลวงพ่อพระใสก่อนนั้นอยู่วัดหอก่องก็จริงแต่พอสมัยรัชกาลที่ 4 พ่อเหนือหัวสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าให้ขุนวรธานี และเจ้าเหม็นซึ่งเป็นข้าหลวงอัญเชิญหลวงพ่อพระเสริมมาจากวัดโพธิ์ชัยเพื่อประดิษฐานที่กรุงเทพฯ และอัญเชิญหลวงพ่อพระใสจากวัดหอก่องขึ้นประดิษฐานบนเกวียนจะอัญเชิญลงไปกรุงเทพฯด้วยเช่นกัน แต่พอมาถึงหน้าวัดโพธิ์ชัย หลวงพ่อพระใสก็แสดงปาฏิหาริย์เกวียนหักลงอัญเชิญไปกรุงเทพฯไม่ได้ มีแต่หลวงพ่อพระเสริมที่อัญเชิญลงไปกรุงเทพฯและประดิษฐาน ณ วัดปทุมวนาราม ส่วนหลวงพ่อพระใสก็เลยประดิษฐานไว้ที่วัดโพธิ์ชัย หนองคายเรานี่แหละ หลวงพ่อพระใสมีความศักดิ์สิทธิ์แสดงความอัศจรรย์หลายประการ จึงเป็นที่เคารพศรัทธานับถือกันทั่วทั้งหนองคาย ประเทศไทยและประเทศลาว การสักการบูชาของประชาชนที่มีแต่หลวงพ่อพระใสที่ให้ความสำเร็จความร่มเย็นเป็นเสมือนร่มโพธิ์ร่มไทร ที่ให้พุทธศาสนิกชนไทยได้ยึดเหนี่ยวจิตใจ และอานุภาพความศักดิ์สิทธิ์ ความอัศจรรย์ขององค์หลวงพ่อพระใส จนได้สมญาว่า “หลวงพ่อเกวียนหัก” แม้ตราบทุกวันนี้พระบารมีที่คุ้มครองขจัดปัดเป่าภัยพิบัติให้แก่ผู้หวังพึ่งบารมีอย่างไม่เสื่อมคลายเป็นที่อัศจรรย์ยิ่ง อีกทั้งยังทำให้วัดโพธิ์ชัยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวให้พุทธศาสนิกชนจากทั่วประเทศและพี่น้องชาวต่างชาติได้มาสักการบูชาหลวงพ่อพระใสอย่างไม่ขาดสายโดยเฉพาะประเทศลาว
ความอัศจรรย์หรืออภินิหารคราวที่ขุนวรธานีอัญเชิญหลวงพ่อพระใสออกจากวัดหอก่อง เพื่อที่จะนำไปกรุงเทพฯ ปรากฏว่าพออัญเชิญมาถึงวัดโพธิ์ชัยปรารภจะนำไปพร้อมกับพระเสริม คนที่สมมติให้เป็นพราหมณ์ผู้อัญเชิญหลวงพ่อพระใสไปนั้น ไม่สามารถลากเกวียนซึ่งประดิษฐานหลวงพ่อพระใสให้เคลื่อนต่อไปได้แม้จะใช้เครื่องฉุดก็สุดความสามารถเช่นเดียวกัน ได้ทำการอ้อนวอนด้วยประการต่างๆก็ไม่เป็นผล จนในที่สุดเกวียนได้หักลง คราวนี้ได้หาเกวียนใหม่มาประดิษฐานแต่ก็อัศจรรย์อีกครั้ง เพราะไม่สามารถเคลื่อนที่ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงปรึกษากันว่า จะอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่วัดโพธิ์ชัยแล้วก็ทำการอ้อนวอน เป็นผลดังใจนึกพอเข้ามาหามเพียงไม่กี่คน หลวงพ่อพระใสก็ถูกยกขึ้นประดิษฐานในอุโบสถวัดโพธิ์ชัยให้เราได้กราบไหว้เคารพสักการบูชาและเป็นเกียรติอันสูงแก่ชาวจังหวัดหนองคายตลอดจนบัดนี้
เมื่อรัชสมัยพระเจ้าสุริยวงศ์จะเสด็จเสวยราชย์ขึ้นครองนครเวียงจันทน์ พระองค์ได้ทรงตั้งจิตอธิษฐานเฉพาะพระพักตร์ของหลวงพ่อพระใสว่า ถ้าการปกครองไพร่ฟ้าของพระองค์จะเป็นไปด้วยความสันติสุขปราศจากศัตรูหมู่ไพรีที่จะมาเบียดเบียนแล้ว ขอให้หลวงพ่อพระใสแสดงเหตุอัศจรรย์ให้ประจักษ์ ครั้นถึงเสวยราชย์เดือนอ้ายได้เกิดอัศจรรย์ขึ้นตามคำอธิษฐาน คือ ฟ้าคึกคะนองร้องลั่น หวั่นไหวแลบแปลบปลาบสายฟ้าฟาดสนั่นสั่นสะเทือน แต่จะได้เป็นอันตรายแก่คนและสัตว์หามิได้ นิมิตอัศจรรย์นั้นปรากฏว่าพระองค์ได้เสวยราชย์ทรงปกครองไพร่ฟ้าประชาชนได้อยู่เย็นเป็นสุขโดยทั่วหน้ากันตลอดรัชสมัยของพระองค์
ในคราวต่อมาองค์หลวงพ่อพระใสก็ได้แสดงความอัศจรรย์อีกหลายครั้ง เช่น เมื่อคราวที่ขุนเชาว์ฯเป็นผู้เชิดชูหลวงพ่อพระใสอยู่นั้นได้สวดคาถาหลวงพ่อพระใส ซ้ำๆกันสามครั้ง
อะระหังพุทโธ โพธิชโย เสยยะคุโณ โพธิสัตโต มหาลาโภ ปิยัง มะมะ ภะวันตุโณ โหตุ สัพพะทาฯ
ขณะที่ทางวัดโพธิ์ชัยมีงานสมโภชหลวงพ่ออยู่ ได้มีท่านผู้หนึ่งซึ่งเดินทางมาจากต่างถิ่นไม่สู้เชื่อความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อพระใสมากนัก และอยากทดลองจึงได้พูดว่าถ้าหากหลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์จริงขอให้บันดาลให้ฟ้าผ่าทันที ทันใดนั้นเองฟ้าก็ผ่าลงมาจริงๆทำให้ผู้คนศรัทธาในความศักดิ์สิทธิ์มากยิ่งขึ้น หลวงพ่อพระใสเป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์แต่เดิมปรากฏตามประวัติว่า
หลวงพ่อพระใส หรือ หลวงพ่อเกวียนหัก เป็นพระพุทธรูปปฏิมาที่มีประวัติความเป็นมานับตั้งแต่เริ่มพิธีเททองหล่อ โดยพระราชธิดากษัตริย์ล้านช้างเป็นเจ้าศรัทธามาจนกรระทั่งถึงปัจจุบันนี้ พิสดารมากมายพอสมควร จึงเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธศาสนิกชนตลอดสองฟากฝั่งแม่น้ำโขงให้ความเคารพบูชาศรัทธาเลื่อมใสกันอย่างมากและหลวงพ่อพระใสเองก็ได้ทรงความศักดิ์สิทธิ์แห่งองค์ท่านอยู่เสมอมาแม้ตราบเท่าทุกวันนี้พระบารมีของหลวงพ่อพระใสยังคงปกป้องแผ่คุ้มครองขจัดปัดเป่าภัยพิบัติให้แก่ผู้หวังพึ่งอย่างไม่เสื่อมคลาย พร้อมกับตั้งสมญานามหลวงพ่อพระใส จึงเป็นที่มาของคำว่า “พระพุทธรูปปาฏิหาริย์” หรือ “ยิ่งกว่าอัศจรรย์”บ้าง อย่างที่ยายเล่ามานี่แหละลูก