นัลลาบอร์ ลิงค์ สนามกอล์ฟยาว…ที่สุดในโลก
นัลลาบอร์ ลิงค์ สนามกอล์ฟยาว…ที่สุดในโลก
ถ้าในบ้านเรา นักกอล์ฟคงนึกถึง KBSC กบินทร์บุรี กับหมุดหลังสุด KATO Tee ที่ระยะ 8,075 หลา ซึ่งทำเอาผู้ต้องการพิสูจน์ปวดหลังกันนักต่อนักมาแล้ว แต่ถ้าจะบอกว่า มีสนามสุดแปลกประหลาด นั่นคือ Nullabor Links ในประเทศออสเตรเลีย ที่มีความยาวของสนามรวม 1,365 กิโลเมตร !!! ใช่ครับ อ่านไม่ผิดแน่นอน ว่าแต่ว่า มันยาวขนาดนี้ได้อย่างไร แล้วจะเล่นแบบไหนกันล่ะเนี่ยะ?
เรื่องราวเกิดขึ้นจาก อัลฟ์ คาปูโต้ และ บ็อบ บองจิออร์โน ซึ่งทั้งคู่เป็นสมาชิกของสมาคมผู้ประกอบการ ไอย์รี ไฮเวย์ (EHOA, The Eyre Highway Operators Association) ประมาณว่าเป็นนักธุรกิจที่มีกิจการอยู่ในพื้นที่แถบนี้ ได้ปิ๊งไอเดียบรรเจิด ระหว่างชนแก้วไวน์กัน ณ เมืองบัลลาโดเนีย ซึ่งเป็นชุมชนเล็ก ๆ ตั้งอยู่ในเส้นทางดังกล่าว
การเดินทางโดยเฉพาะในช่วง Eyre Highway หรือที่เรียกว่า ไฮเวย์ หมายเลข 1 และ A1 มีความยาวถึง 1,664 กิโลเมตร เชื่อมระหว่างเมืองนอร์สแมนจากฝั่งตะวันตก กับ พอร์ท ออกัสต้า ทางด้านใต้ของประเทศ ตัดผ่าน ที่ราบสูง นัลลาโบร์ (Nullabor) ซึ่งแปลว่า ‘ไม่มีต้นไม้’ ในภาษาละติน และแน่นอนว่าสภาพภูมิ ก็ตามชื่อจริง ๆ โดยกินพื้นที่กว้างใหญ่ถึง 2 แสนตารางกิโลเมตร ครอบคลุมทั้งในรัฐเซ้าท์ออสเตรเลียและรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย
การขับรถข้ามทะเลทรายอันยาวเหยียด แน่นอนว่ากินเวลายาวนานแบบ ข้ามวัน ข้ามคืน ‘น่าเบื่อ’ เป็นที่สุด หนทางหนึ่งที่จะพอช่วยบรรเทาความเมื่อยล้า คือการยืดเส้น ยืดสาย มีการพักทั้งรถและคนอยู่เป็นระยะ ๆ แล้วหากจะเพิ่มสีสันอีกนิด ด้วยการแวะเล่นกอล์ฟระหว่างทาง แบบไม่เสียเวลา (มากนัก) ก็คงช่วยทำให้หมุดหมายในการเดินทางมีความเพลิดเพลิน สนุกเร้าใจเพิ่มขึ้นได้อีกไม่น้อย ซึ่งทั้งคู่มีความเห็นตรงกัน และลงมือลุยโปรเจคนี้ทันที
ไอเดียที่ว่าคือ สร้างสนามกอล์ฟ 18 หลุม พาร์ 72 ทอดตัวตามระยะทาง 1,365 กิโลเมตร โดยแต่ละหลุมจะ ‘หยอด’ ไว้ในแต่ละเมือง หรือโรงแรมริมทาง ตลอดเส้นทาง Eyre Highway จาก Ceduna ในเซ้าท์ออสเตรเลีย ไปยัง Kalgoorlie ในเวสเทิร์นออสเตรเลีย โดยสร้างหลายรูปแบบไม่มีซ้ำตามความเหมาะสมของพื้นที่ มีทั้งมาตรฐานทั่วไปหรือใช้วัสดุประดิษฐ์อย่างหญ้าเทียม และยังมีแฟร์เวย์ธรรมชาติแบบรกร้างอันเป็นเอกลักษณ์ของแทร่ เมดอินออสเตรเลียเท่านั้น นับเป็นประสบการณ์ที่เกินความคาดหมายและไม่เคยมีใครจินตนาการถึงมาก่อน และยังเป็นความท้าทายที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ที่ต้องเสียสละมาช่วยกัน เพื่อทำให้โครงการนี้สำเร็จ เนื่องจากเป็นการส่งเสริมเชิงการท่องเที่ยว มากกว่าเป็นเชิงกีฬาเพื่อความเป็นเลิศ โดยประกาศลงมือเมื่อปี 2004 และเปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2009
ต่อไปนี้การเดินทางยาว ๆ อาจจะกลายเป็นความสนุกและท้าทาย เพราะไม่ว่าท่านจะเริ่มเดินทางจากทิศไหน ก็สามารถเล่นกอล์ฟไปทีละหลุม จนถึงจุดหมายปลายทาง โดยแต่ละแห่งมีบริการให้เช่าอุปกรณ์ อำนวยความสะดวก จะเล่นตรงไหนก็แค่จอดรถแล้วลงไปหวดได้เลย แต่หากจบหลุมนี้แล้ว จะแก้มือ หรือจะกินเพื่อนต่อ อาจต้องอดใจอีกพัก เพราะระยะเฉลี่ยแต่ละหลุมห่างกันไกลถึง 66 กม. ไกลที่สุดเกือบ 200 กม. พัตต์จบหลุมนี้ ทีออฟอีกทีก็อีกหลายชั่วโมงเลย
ทัวร์นาเมนต์ไล่ล่าตะวัน ‘Chasing the Sun’ คือการแข่งขันสำคัญของสนามแห่งนี้ เป็นการเล่นกอล์ฟกันแบบ 7 วันติด ท่านต้องเริ่มหลุมแรก ‘Oyster Bed’ พาร์ 5 ระยะ 530 หลา ในเช้าวันเสาร์ที่เมือง Ceduna แล้วไล่เรียงเล่นตามหลุมต่าง ๆ ในแต่ละแห่งแต่ละเมือง จนมาถึงหลุมสุดท้าย CY O’Connor พาร์ 4 ระยะ 389 หลา ที่ Kalgoorlie ในอีก 7 วันต่อมา โดยมีสารพัดรสชาติของการท่องเที่ยวให้ท่านสัมผัสระหว่างการเดินทาง ยิ่งหากเข้าร่วมโปรแกรมที่จัดขึ้นเป็นประจำด้วยแล้ว ท่านยิ่งจะได้รับประสบการณ์แบบครบถ้วน โดยในปี 2025 จะจัดขึ้นระหว่าง 3 – 10 พฤษภาคม ใครสนใจจะไปร่วมแข่ง ตัดสินใจสมัครตอนนี้ยังทันครับ
ได้ทราบไอเดียแบบนี้แล้ว ก็อดนึกถึงบ้านเราไม่ได้ เพราะมีเส้นทางทุกทิศ ที่ใช้เวลายาวนานกว่าจะถึงจุดหมาย หากมีใครสามารถนำแนวคิดนี้มาประยุกต์ใช้บ้าง คงดีมิใช่น้อย แต่ต้องบอกไว้ก่อนล่วงหน้าว่า นี่คือโครงการคืนกำไรสังคมมากกว่าที่จะคิดถึงในเรื่องการค้าขาย แต่ก็ไม่แน่เหมือนกันนะ หากเกิดฮิตติดลมบน ฝันเอาแค่มีพาร์ 3 หรือสนามพัตต์ ไว้ให้ยืดเส้นเป็นระยะ ๆ ตามจุดพักรถหัวเมืองบ้าง รับรองว่า ถ้าไม่มีเวลาปิด ก็ครื้นเครงกัน 24 ชั่วโมง เพราะคงมีนักกอล์ฟนักเดินทางแวะแล้วติดลมบน ต่อรอง แก้มือ จนไม่ได้ไปไหนแน่ เพราะพวกเราใจร้อน ไม่ยอมรอให้ถึงหลุมถัดไปแน่ ๆ ครับ 555
เรื่อง / ภาพ : nullarborlinks.com, roevingasutralia.com.au, australiantraveller.com, roadstotravel.net, wikipedia.org