Interview

ดร.นิเวศ แววสมณะ

ดร.นิเวศ แววสมณะ
บ้านตุ๊กตุ่นหุ่นกระบอกไทย
“มีคนรัก ย่อมมีคนเกลียดเป็นธรรมดา”

ลูกนักเลง : พ่อเป็นนักเลง แม่เป็นนักห้าม ผมจึงได้ความใจเย็นจากแม่ ได้ความเป็นนักเลงจากพ่อเยอะมาก ถ้าจำเป็นต้องตีรันฟันแทง ก็อยู่แถวหน้า ซึ่งทุกคนรู้ แต่ผมเป็นคนเรียบร้อยมาก ถ้าไม่จนมุมจริง ๆ จะไม่มีวันมีเรื่อง ส่วนใหญ่จะนิ่ง ๆ ขอแค่อย่าล้ำเส้น ซึ่งโดยปกติรู้กันอยู่แล้วว่า “ลูกบ้านช่างแป๊ะ” อย่ายุ่ง (หัวเราะ) แล้วพ่อแม่ชอบทำบุญมาก พ่อจะสร้างถนน สะพาน ในชุมชนทั้งหมด ใครไม่มีอะไร ขาดเหลือขอให้บอก ชุมชนน้ำท่วม กระเตงผมไปนอนข้างถนน กางมุ้งโล่ง ๆ ให้ แล้วใช้เครื่องสูบน้ำพญานาค สูบน้ำออกจากตลาด เพื่อช่วยชุมชน ผมก็ไปอยู่ด้วยกับพ่อแม่เป็นเดือน ๆ ไม่ได้กลับบ้าน คนในชุมชนจึงให้ความรักความเกรงใจพ่อกับแม่มาก

เด็ก (ไม่) ดื้อ : พ่อแม่บอกว่า เป็นลูกที่เลี้ยงง่ายที่สุด พูดอะไรก็จะฟัง ไม่ดื้อเป็นกิจจะลักษณะ แต่สิ่งหนึ่งที่ดื้อเงียบ ๆ คือ ชอบวาดภาพ งานศิลปะ ซึ่งสมัยก่อนเขาไม่ให้เราแตะต้องงานพวกนี้เลย ถือเรื่องนี้มาก กลัวเป็นบ้า หากไม่ได้รับการครอบครู ทำพิธี ให้ถูกต้อง มาได้เข้าพิธีครอบครูจริง ๆ ตอนมัธยมแล้ว แต่ตอนนั้นผมก็จะหาวิธีทำอะไรก็ได้ เพื่อจะได้วาดภาพ ถูกตีด้วย เราก็ไม่ยอม ชอบในสิ่งนี้ จะทำในสิ่งนี้ จนพ่อแม่ยอมปล่อย (หัวเราะ) เป็นสิ่งเดียวที่ผมดื้อ

กำแพงบ้านลานศิลปะ : พี่สาวเรียน ป.7 มีหนังสือรามเกียรติ์ ผมชอบเปิดเป็นแบบวาดภาพ อาศัยครูพักลักจำ ไม่รู้ว่าตัวไหนคือใคร ไม่รู้ที่มาที่ไป รู้แต่เพียงว่า ได้วาดภาพ ได้ปั้น แล้วมีความสุข จำได้ว่าชอบวาดหนุมานมาก เพราะเห็นแล้วสวย อีกภาพที่ชอบวาดคือในหลวง ร.9 เพราะหนังสือสมัยก่อนจะมีภาพตัวอย่างเยอะ ก็วาดไปตามวิถีเด็ก ช่วงพ่อแม่ทำงานรับเหมาก่อสร้าง มีฉาบปูนตามบ้านต่าง ๆ ผมก็ไปอยู่ตามไซต์ของคนงานซึ่งเป็นพี่น้องกัน เอาแท่งถ่านมาวาดภาพตามผนังเต็มไปหมด พอเจ้าของหมู่บ้านมาเห็น ก็บอกให้ปล่อยไปเถอะ อยากทำอะไรก็ให้ทำ เพราะเดี๋ยวก่อนขายค่อยลงสีทับเอา (หัวเราะ)

เอาตัวรอด : ผมมีอาชีพทำปลาขายตั้งแต่ก่อนเข้าเรียน หลังบ้านเป็นทุ่งนา ตอนกลางคืนปักเบ็ด วางไซ ลอบปลา ทำได้วันละเป็นสิบกิโล กระดี่รำวง ปลาตากแดดเดียว เอาไปขาย เก็บเงิน เพื่อซื้อดินสอสี พู่กัน กระดาษ ใช้เงินตัวเอง ไม่กล้าที่จะขอเงินพ่อแม่ ผมได้เงินไปโรงเรียนวันละ 7 บาท ขณะที่เพื่อน ๆ ได้เป็นร้อยก็มี ผมอาศัยเดินไปโรงเรียนสารวิทยาทุกวัน ไม่เคยเสียเงินค่ารถ มีเงินค่าก๋วยเตี๋ยว 4 บาท เหลือค่าขนม 3 บาท เหลือเฝือสำหรับผม (หัวเราะ) อาจารย์เห็นว่าผมมีฝีมือทางศิลปะ ก็เรียกไปช่วยงาน ทำสื่อการสอน โน่นนี่นั่น ทุกเย็น เป็นสิ่งที่ซึมซับโดยปริยาย และยังมีอาชีพทุกเทศกาล สงกรานต์ ทำแป้ง ทำพวงมาลัยขาย ลอยกระทง ทำกระทงขาย เวียนเทียน ต้องหิ้วกระด้งออกไปขาย ไปหัดทำดอกไม้ริบบิ้น เดินขายตามสี่แยก พ่อแม่ก็ไม่รู้ (หัวเราะ) ไม่เคยอายเลยที่ต้องทำอะไรแบบนี้ มันสนุก กลับจากโรงเรียนมาแม่ต้มถั่วเขียว ถั่วดำ น้ำแดง มัดใส่ถุง แช่เย็นใส่กระติกขาย ทำงานทุกวัน จนพ่อแม่ไม่ห่วงผมเลย มีสิ่งเดียวที่จะถูกบ่นเสมอ คือ ผมไม่ยอมกินข้าว (หัวเราะ) ในสมุดพก คุณแม่ยังเขียนกำกับถึงครูเลยว่า ให้ช่วยดูให้ผมกินข้าวด้วย ตั้งแต่ ป.1 ถึง มัธยม (หัวเราะ) เพราะผมห่วงเล่น ติดเพื่อน

ศิลปินชินหู : เกิดมาก็ถูกชมเลยว่า โตขึ้นจะเป็นศิลปิน โดนกรอกหูโดยคนรอบข้าง ยกเว้นครู ทำให้ช่วงประถม ผมไม่ค่อยถูกโฉลกกับครูเท่าไหร่ อาจเพราะผมดื้อในการวาดภาพ ชอบแบบนี้ก็วาดแบบนี้ ใครมาบังคับให้วาดแบบอื่นก็ไม่ชอบ เลยมักจะมีความขัดแย้งกับครูศิลปะอย่างรุนแรงมาก ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องบังคับให้เราวาดแบบนั้นแบบนี้ ในเมื่อศิลปะเป็นจินตนาการ ถึงความสวยอันดับแรกจะมีทฤษฎี แต่เราไม่สนใจ (หัวเราะ) ถ้าเราวาดแล้วคิดว่าสวย คนดูแล้วชม ผมจบตรงนั้นแล้ว และผมก็มักจะได้รางวัลมาโดยตลอด แต่ไม่เคยได้รับการชื่นชมจากครูเลยแม้แต่คำเดียว ถูกรังเกียจด้วยซ้ำ จริง ๆ ไม่ได้มีความคิดต่อต้าน สั่งอะไรให้ทำก็ยินดีทำ แต่ไม่ชอบที่ถูกบังคับว่าถ้าจะไปวาดรูปเรื่องนี้ ต้องซ้อมก่อนนะ สำหรับผมนั่นคือข้อสงสัยว่า “ทำไมต้องซ้อม?” ไปหน้างานก็น่าจะมีจินตนาการ จริง ๆ การซ้อมเป็นเรื่องดี แต่ว่าไม่ใช่ซ้อมแล้วต้องทำแบบนั้นเสมอไป มันมีสถานการณ์เฉพาะหน้า ซึ่งผมมักจะแหกกฎ สมัยก่อนมักจะมีพื้นที่ล้อมเป็นบริเวณให้ทำงาน อาจารย์มายืนข้าง ๆ คอยกำกับว่าจะให้วาดยังไง แต่ผมไม่ทำตาม และสิ่งที่ผมดื้อ มักจะประสบความสำเร็จด้วย ก็ยิ่งโดนหมั่นไส้ และผมอยากเล่นดนตรีไทย ขออาจารย์เรียน ท่านก็ยังไม่สอน ตามตื้ออยู่เป็นปี จนได้เล่นได้เกือบทุกชิ้น ระนาดเอก จะเข้ เครื่องสาย มีข้ามห้วยไปเล่นโยธวาทิต ฟรุต ไวโอลิน รวมทั้งเป็นดรัมเมเยอร์ ทำให้รู้สึกว่าชีวิตดีไปหมด ไม่เคยเป็นสองรองใคร แต่นั่นคือข้อเสีย

ดาบสองคม : เพราะมันเป็นส่วนเสริมที่ทำให้เราเหลิง กร่าง โดยไม่รู้ตัว คิดแค่ว่าเราเก่ง ทุกเวที มักจะได้รางวัล ตั้งแต่ ป.1 ถึง ป.5 อาจารย์ไม่ส่งผมไปประกวดใด ๆ ทั้งสิ้น ถึงแม้ผมจะได้คะแนนดีที่สุดในห้อง เขาเกลียดขี้หน้า (หัวเราะ) พอ ป.6 ก็เริ่มไปประกวดนอกสถานที่ จนถึงมัธยมเคยมีคนพูดว่า ถ้ามีชื่อผมในการประกวด คู่แข่งจะหลบกัน (หัวเราะ) มันทำให้เรากร่าง ซึ่งเป็นอะไรที่ไม่ดี แต่สิ่งหนึ่งที่ดีคือ ทำให้พุ่งไปข้างหน้า เราต้องหนี ทำให้ดี ต้องเอาชนะคนอื่น กว่าจะตกผลึกได้ว่า เป็นสิ่งที่ไม่น่ารักเท่าไหร่ก็โตได้พอสมควรแล้ว แม้เราถูกชื่นชมจากกรรมการก็จริง แต่คนรอบข้างไม่ได้รักเราเท่าไหร่ ไม่ได้ใจคนรอบข้างเลย

สองจิตสองใจ : เชื่อมั่นว่าต้องเป็นจิตรกร ศิลปิน ต้องอยู่ในกรมศิลปากร พอมาเล่นดนตรีไทย วาดรูป เกิดข้อขัดแย้งขึ้นว่า เชยมาก ไม่ทันสมัย จนพอจะขึ้น ม.4 จะมีอาจารย์อยู่สองฝั่ง สนับสนุนให้ไปสายศิลปะโดยตรง กับสายที่สนับสนุนให้ไม่ทิ้งวิชาการ สุดท้ายผมสองจิตสองใจ จนอาจารย์แนะแนวแนะนำให้สอบเข้าช่างศิลป์ ซึ่งผมสอบเข้าเป็นอันดับ 1 ไปเรียนอยู่เกือบเทอม เกรดดีมาก แต่ตลอดเวลาที่เรียน รู้สึกว่าที่นี่ ไม่เหมาะกับผม จนตัดสินใจลาออก กลับมาเรียนต่อ ม.ปลาย ที่สารวิทยา ซึ่งมีความสุขมาก แต่คิดว่าไม่น่าจะเรียนตามเพื่อนทัน ซึ่งก็ไม่ทันจริง ๆ แต่เราก็กลายเป็นดาวอีกครั้ง ได้ทำทุกอย่างที่เรารัก ที่อยากทำ มีเพื่อนฝูงที่น่ารัก อาจารย์คอยสนับสนุนเต็มที่ ทุกอย่างไปได้ด้วยดี แต่วิชาการค่อนข้างแย่ลงเพราะมีกิจกรรมเยอะ แต่ทักษะในการดำเนินชีวิตก็คิดว่าเอาตัวรอดได้ดีมาก พ่อแม่ไม่ต้องห่วงเลย

ร้องไห้ครั้งแรก : ตอนจะสอบเข้ามหาวิทยาลัย จะเลือกเข้าสถาปัตย์ แล้วเลือกไม่ได้ ไม่เคยรู้มาก่อนว่าต้องเรียนสายวิทย์ แต่ผมเรียนศิลป์-ภาษา เป็นความผิดหวังครั้งยิ่งใหญ่ จนอาจารย์แนะนำคณะมัณฑนศิลป์ ซึ่งตอนนั้นยังไม่รู้รายละเอียดมากนัก อีกศาสตร์หนึ่งที่สนใจคือการแสดง แต่มานั่งส่องกระจกแล้ว คิดว่าคงยากเกินไป ถึงแม้เราจะเป็นดาวเด่นในโรงเรียน แต่ในชีวิตจริงมันไม่ใช่ ส่วนถ้าจะเลือกดนตรีไทย ซึ่งเราก็ถนัด แล้วจะทำอะไรกิน (หัวเราะ)

การศึกษาสำคัญ : ผมไม่ได้เป็นเด็กใฝ่เรียนเท่าไหร่ แต่พ่อแม่สั่งให้เรียน เพราะท่านไม่มีโอกาสนี้เลย ผมก็ตั้งใจเรียน ตอนจบปริญญาตรีจากคณะมัณฑณศิลป์ ม.ศิลปากร ผมถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว มีคนมาซื้อตัวไปทำงาน ชีวิตก็ดีมากด้วย ไม่เคยคิดจะเรียนต่อ จนกระทั่งวันหนึ่ง มีอาจารย์ที่เคารพ ท่านกล่าวว่า ผมต้องมี “ตาลปัตรพัดยศ” บ้างแล้วนะ เพราะถึงจะเก่งแค่ไหน ทำงานได้มากแค่ไหน เขาก็มองว่าเราเป็นแค่คนจัดงาน และยังมีอีกหลายเหตุการณ์ที่ตอกย้ำให้ผมได้ทราบว่าฐานะวุฒิตำแหน่งทางการศึกษาสำคัญมาก

เรียนเพื่อแม่ : ผมจึงต้องกลับมานั่งคิด ไปคุยกับแม่ ท่านอยากให้ผมเรียน “เรียนให้แม่ได้มั้ย” พ่อแม่ไม่มีโอกาสได้เรียนเลย เพราะฐานะยากจน ผมจึงมีสองประเด็น คือเรียนให้พ่อแม่ และเรียนเพื่อลบคำสบประมาท นั่นคือความท้าทาย ไม่ได้คิดจะเอาความรู้ (หัวเราะ) แล้วก็เรียนปริญญาโท สาขาวิชานาฏยศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ ที่ จุฬาฯ โชคดีที่ได้อาจารย์สุรพล วิรุฬรักษ์ และ อาจารย์ศักดา ปั้นเหน่งเพ็ชร์ ซึ่งเป็นสุดยอดของราชบัณฑิต ดูแลผมจนเรียนจบ แล้วท่านอาจารย์ก็ยังได้พูดกับผมอีกว่า “ตาลปัตรยังไม่มีดิ้นทอง” ทำให้ผมต้องเรียนปริญญาเอก ที่ จุฬาฯ เป็นการเรียนที่สนุก แล้วผมก็ทำสำเร็จ จบปริญญาโททันให้พ่อเห็น ปริญญาเอกทันให้แม่เห็น ซึ่งผมตั้งใจมาก จนได้เป็นวิทยากรด้านงานวิจัยสร้างสรรค์ ระดับระดับชาติ นานาชาติ

ใจเขาใจเรา : เมื่อเรามาเป็นครู ก็นึกย้อนถึงสมัยก่อน อะไรที่ครูทำได้ในตอนนั้น มาถึงยุคนี้ทำไม่ได้ อะไรที่เราเคยโดนมา จะไม่ทำเด็ดขาด ทุกวันนี้เวลาไปสอน ไปเป็นวิทยากร คาบแรกจะนั่งคุยกันก่อน ให้รู้สึกว่าเราเป็นเพื่อนกัน, อยู่มหาวิทยาลัยแล้ว อยากดื่มใช่มั้ย? เรียนก่อน เดี๋ยวพาไป (หัวเราะ) แต่ต้องโทรบอกพ่อแม่ก่อนนะว่าไปดื่มกับครู จะได้ไม่เป็นห่วง วันไหนไม่อยากเรียนบอก แต่ต้องเรียนให้ครบตามที่กำหนด ผมมีกติกาชัดเจนมาก ตกลงกันแล้วก็ว่าไปตามนั้น ผมโชคดีมาก ที่ไม่ถูกนักเรียนโพสต์ต่อว่า และมักจะได้มาเป็นพวก เป็นญาติสนิท มิตรสหาย สิ่งไหนที่ผมเคยผ่านมาแล้วคิดว่ามันไม่ดี จะพยายามเลี่ยงให้มากที่สุด แม้กระทั่งการพูดไม่ไพเราะ เพราะผมปากจัด (หัวเราะ) ต้องบอกเด็กว่า อย่าเอาเป็นเยี่ยงอย่าง ถ้าเผลอพูดไม่ดีให้ยกมือบอกด้วย ไม่โกรธเลย (หัวเราะ)

มึงมันดื้อ : ทุกวันนี้ ถึงแม้ว่าจะมีหน้าตาทางวิชาการเพิ่มมากขึ้น แต่คำว่า “หนึ่ง ออร์กาไนซ์” ก็ยังฝังหัวอยู่ ลบไม่ได้จากคนที่เคยเรียกเรา ก็ถือเอาเป็นซิกเนเจอร์ของเราเลยละกัน (หัวเราะ) และถือว่าผมมาไกลมาก ไกลเกินฝัน ฝันของผมคือจบแค่ปริญญาตรี และเป็นนักโฆษณา นี่คือสูงสุดแล้ว ผมได้คุยกับอาจารย์สุรพล ถามท่านว่า “ผมมาไกลขนาดนี้ได้ยังไง?” ท่านตอบว่า “ก็อยู่ที่ตัวมึงจริง ๆ มึงมันดื้อ มึงมันร้ายไง” (หัวเราะ) ผมโชคดีที่มีคนรอบข้างคอยดูแลและให้การอุปถัมภ์มาโดยตลอด

นักการตลาด : โชคดีที่ผมอยู่ในวงการโฆษณา พอมาเจอเรื่องหุ่นกระบอกแล้วเริ่มลงมือทำอย่างจริงจัง ในจังหวะที่ต้องออกจากงานโฆษณาพอดี จนคนเริ่มรู้จักมากขึ้น แต่เป็นการรู้จักที่ถูกประณาม “เอาศิลปะมาหาแดก” เป็นคำที่แรงมาก และยังโดนต่อว่าอีกสารพัด สมัยก่อนใครด่ามา ผมด่ากลับทันที (หัวเราะ) ขณะเดียวกันก็ไม่คิดจะกลับไปทำงานในบริษัทอีกแล้ว เพราะลูกค้าก็มีส่งงานมาให้เรื่อย ๆ ให้โอกาสอีกมากมาย ไอเดียเราก็พรั่งพรู เพราะไม่ต้องถูกสกัดจากคนอื่น ได้พูดคุยกับลูกค้าโดยตรง ทำงานได้อย่างมีความสุข รายได้ก็เต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่หุ่นกระบอกจะอยู่ในระยะยาวได้อย่างไร ก็กลับไปดูตำรา นำความรู้ทางการตลาดมาผสมผสานเข้าด้วยกัน มีเครื่องมืออะไรใช้หมด ทำอย่างไรถึงจะมีสื่ออยู่ในมือ มีข่าวออกตลอด วางแผนหมดเลย แล้วไม่ต้องเรียกผมว่าศิลปิน เรียกผมนักการตลาดดีกว่า ผมทำงานบนศิลปะ ขายหุ่นกระบอกไทยได้ อย่างช่วงคริสต์มาส ผมทำหุ่นเฉพาะสีเขียว สีแดง เท่านั้น เพราะฝรั่งต้องซื้อ, ยักษ์ ขายกับทางยุโรป เพราะเอเชียมองว่าเป็นอสูรกาย นี่คือต้องวางแผนทางการตลาด ทำยังไงให้ขายได้ เท่านั้นเอง ไม่ได้คิดว่าจะสืบสานใด ๆ ทั้งสิ้น แล้วสุดท้าย ก็ขายได้ ดังเป็นพลุแตก

ม้ามืด : หุ่นกระบอกสมัยก่อน มีอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต ผลงานของท่านขึ้นหิ้ง ผมไม่กล้าเทียบ ท่านคือไอดอล คุณจะลอกเลียนแบบกี่ร้อยกี่ชาติก็ไม่มีวันเหมือน งานศิลปะมีซิกเนเจอร์ มีอารมณ์ของมัน ถัดมาก็ อาจารย์โจหลุยส์ หุ่นละครเล็ก และมีอีกประปราย เราเป็นม้ามืดขึ้นมา แต่เป็นม้ามืดที่อยู่ท่ามกลางคนด่าทั้งนั้นเลยว่า “หากินกับศิลปะ” จนวันนึงผมตั้งคำถามกลับไปว่า แล้วที่ด่า ๆ กัน ไม่ขายของใช่มั้ย? ก็เงียบ ไม่มีคำตอบ ผมก็ดำเนินชีวิตท่ามกลางความหวาดระแวงของการทำงานศิลปะ ซึ่งช่วงนั้นผมเริ่มเปิดบ้านเป็นสำนักงาน คนที่ดีใจที่สุดคือพ่อแม่ ที่จะได้เห็นลูกกลับมาอยู่บ้าน (หัวเราะ) แล้วท่านก็ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ในทุก ๆ ด้าน

ชุบชีวิต : เริ่มเปิดออฟฟิศเป็น “บ้านตุ๊กตุ่นหุ่นกระบอกไทย” แต่ผมไม่มีความสุข เพราะถูกด่า หวาดระแวง เราเองก็หวงวิชา ถ้าเขามาทำแข่งกับเราจะเป็นยังไง ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่เราเคยเจอกับคนที่เราเคยไปขอเรียนทำหุ่นด้วย จนนึกได้ว่า นี่เรากำลังเป็นเหมือนเขานะ จนวันนึง มีคุณยายอายุมากแล้วมาที่บ้าน ดูหุ่นไปน้ำตาคลอเบ้า บอกว่า หุ่นสวยจัง เหมือนหุ่นนายเปียกที่เคยดูที่สนามหลวง คุณยายถามว่า “เชิดยังไง?” แต่ผมเชิดไม่เป็นเลย ก็ต้องไปค้นคว้า ตามหาว่าใครที่จะสอนผมได้ รู้สึกกลัวไปหมด จนในที่สุดดั้นด้นอยู่หนึ่งปี ก็ได้พบกับคุณยายชื้น ชูศรี สกุลแก้ว ท่านเป็นศิลปินแห่งชาติ เจอท่านตอนอายุ 90 ปีแล้ว แต่ก็ยังเมตตาช่วยสอนให้ ซึ่งไม่ได้ง่ายอย่างที่คิดไว้เลย ต้องเรียนเป็นปี จนวันนึง จับหุ่นนางรจนามาเชิด คุณยายชื้นชมว่ารำสวย เราก็ดีใจ แล้วท่านก็บอกอีกว่า “แต่ต้องเป็นตัวตอแหลนะ เป็นนางเอกไม่ได้” (หัวเราะ)

หวงคือทุกข์ : คุณยายชื้นบอกเสมอว่า “ไปสอนต่อนะ หวงไม่ได้”, “เชิดให้ดีซะก่อน” อย่าเพิ่งไปโชว์ใคร… ช่วงนั้น มันก้องอยู่ในหู จนบอกพ่อแม่ว่าจะเปิดบ้านเป็นพิพิธภัณฑ์ แต่ผมทำทุกอย่างแฝงการตลาดทั้งหมดเลย เป็นโชว์รูมขายของ แกลเลอรี เผยแผ่ด้วย คนมาก็เริ่มขาย ถามว่าหุ่นทำอย่างไร มีขั้นตอนอะไร ก็เริ่มบอก แม้กระทั่งงานที่เคยติดว่านี่คือความลับ อย่างการติดทองยังไงให้สวยก็ยังบอก สิ่งหนึ่งที่ได้กลับมาทันทีคือ รู้สึกว่าได้ปลดล็อคตัวเอง และได้รับยาหอมที่เป็นคำชื่นชมกลับมา เพราะผมกลับมานั่นคิด งานออร์กาไนซ์เราก็มี ผมไปเป็นที่ปรึกษาตามหน่วยงานต่าง ๆ งานโฆษณา สอนหนังสือ วิทยากร ฯลฯ ตัวเองไม่มีทางอด บ้านเราก็ไม่อัตคัดเหมือนเมื่อก่อน แล้วเราจะหวงทำไม สุดท้ายเปิดอบรมเลย อยากรู้อะไรให้ถาม บอกหมดเลย ไม่มีปิดบัง โอ้โห… มีความสุขมาก (หัวเราะ) แต่ความสุขนั้น แน่นอนการตลาดก็ยังแฝงอยู่ ทำให้ผมมีข่าวอยู่ในหน้าต้น ๆ ของศิลปวัฒนธรรมมาจนถึงทุกวันนี้ สันดานของการหวง เราเคยเจอมาแล้วนะ มันไม่มีความสุข วันนี้เราทำแบบ คุณยายชื้น สกุลแก้ว ซึ่งเป็นผู้ให้ ผมมีความสุขมาก แล้วคนที่มีความสุขมากกว่าผมอีกก็คือพ่อแม่

สติ – อารมณ์ : การควบคุมสำคัญมากจริง ๆ สมัยก่อนเป็นครีเอทีฟ ถ้าผมโกรธ ถังขยะลอยออกมาจากห้องได้เลย ผมร้ายมาก (หัวเราะ) และเป็นประจักษ์ได้ว่า เขาเกลียดผม ถึงแม้ว่าต่อหน้าจะชื่นชมก็ตาม คนรู้จักเยอะ แต่คนไม่รักก็เยอะ นั่นคือบทเรียน ทำให้ผมใจเย็นขึ้น รอบคอบทางความคิดมากขึ้น การพูดจาออกไป บางอย่างตรงไป อาจแทงใจเขาจนเกินไป ต้องพยามยามทบทวนให้มากขึ้น บางทีก็ยังหลุด ๆ ด้วยความที่ติดมาตั้งแต่เด็ก (หัวเราะ) แต่จะพยายามลดให้ได้มากที่สุด อัตตาที่เคยเยอะ ๆ ไม่ยอมคน ทุกวันนี้ ผมลดไปแทบจะทั้งหมด จากไม่เคยยอมใคร 1 บวก 1 ต้องได้ 1 เท่านั้น ลูกค้าแย้งมาก็ไม่ยอม แต่ทุกวันนี้ต้องอะลุ่มอล่วย รักษาน้ำใจกันไป ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร

น้อยแต่มาก : ผมมักจะดูแลใจตัวเองให้เข้มแข็งตลอด ไม่ว่าสภาวะจะเป็นแบบไหน มีคนรัก ย่อมมีคนเกลียดเป็นธรรมดา และเชื่อว่ามีคนเกลียดผมเยอะ (หัวเราะ) เพราะปากเป็นแบบนี้ ตรง อะไรที่ไม่ใช่ หรือผิด ไม่ยอมเลย คนจึงเกลียดเยอะ ก็ยอมรับแต่โดยดี (หัวเราะ) ผมได้รับพลังบวก จากคนที่รักผมน้อย ๆ แต่เป็นพลังมหาศาล มีคนที่รู้จักมากก็จริง แต่มีเพื่อนน้อยมาก คนที่จะคุยด้วย สามารถบอกอะไรได้ทุกอย่าง มีจำนวนนับนิ้วได้ ครูของผมก็น้อยมาก การที่จะเข้าไปกราบใครสักคน ต้องทำด้วยใจ การที่เราเรียกครูหรืออาจารย์ มีนัยยะ ถึงความหมายจะดูเหมือนกัน แต่หัวใจไม่เหมือนกัน การที่ผมจะเรียกใครว่าครู นั่นคือครูจริง ๆ เพราะครูคือผู้ให้ครับ