อมยิ้มริมกรีน

เอเชียนเกมส์… กอล์ฟไทย ต้องเปลี่ยนไปตลอดกาล

เอเชียนเกมส์… กอล์ฟไทย ต้องเปลี่ยนไปตลอดกาล

ทำเอาชื่นอกชื่นใจกันถ้วนหน้า สำหรับผลงานจากกีฬากอล์ฟที่เก็บเกี่ยวเหรียญ จากมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของฝากฝั่งเอเชียบ้านเรา เอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 “หางโจวเกมส์” ณ เมืองหางโจว ประเทศจีน ซึ่งรายละเอียดผลงานเป็นอย่างไรนั้น ข่าวก็คงกระหึ่มทั้งเหรียญทองจาก “โปรเปียโน” อาภิชญา ยุบล มือระดับแอลพีจีเอ ทัวร์ รุกกี้ปีล่าสุด พร้อมกับยังพาเพื่อนร่วมทีม เก็บทองด้านสำเร็จอีกด้วย ส่วนทีมชาย ก็ถือว่าทำผลงานได้ยอดเยี่ยมน่ายกย่องเช่นกัน เพราะทำงานกันแบบเป็นทีมจริง ๆ กอดคอกันคว้าเหรียญเงินไปได้แบบต้องปรบมือกราวใหญ่ให้

จุดเริ่มการแข่งกีฬาเอเชียนเกมส์นั้น เริ่มครั้งแรกตั้งแต่เมื่อปี 1951 หรือ พ.ศ. 2494 ณ กรุงนิว เดลลี ประเทศอินเดีย ซึ่งแน่นอนกว่า กว่ากีฬากอล์ฟจะเข้าสู่การแข่งขันอย่างเป็นทางการได้ต้องรอจนถึงครั้งที่ 9 ปี 1982 สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ เป็นการจัดโดยอินเดีย ประเทศเจ้าภาพที่ประเดิมจัดเอเชียนเกมส์ครั้งแรกและวนกลับมาจัดเป็นคำรบสอง หลังห่างหายไปถึง 31 ปี ซึ่งในครั้งนี้ได้มีกีฬาใหม่อย่างกอล์ฟ ถูกบรรจุเข้าไปด้วย มีการชิงสองเหรียญทอง ในประเภทบุคคลชาย และทีมชาย โดยเหรียญทองเหรียญแรกในประวัติศาสตร์ ตกเป็นของนักกอล์ฟชาวอินเดียประเทศเจ้าภาพ “ลักซ์มาน ซิงห์” มีเพื่อนร่วมชาติ ราจีฟ มอห์ทา คว้าเหรียญเงิน ส่วนเหรียญทองแดง แทซึโอะ ซากาตะ จากญี่ปุ่นรับไป และแน่นอนว่า ประเภททีม อินเดีย ก็รับทองไปด้วยเช่นกัน

เอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 10 ปี 1986 จัดขึ้นที่เมืองฮานยาง เกาหลีใต้ กอล์ฟ จัดขึ้น ?ณ ฮานยาง คันทรี คลับ ยังคงชิงสองเหรียญทอง คราวนี้ รามอน โบรบิโอ นักกอล์ฟตากาล็อก เก็บเหรียญทองให้ฟิลิปปินส์ไปได้ ส่วนทีม เหรียญทองเป็นเกาหลีใต้

ครั้งที่ 11 ปี 1990 ปักกิ่งเกมส์ ถือเป็นการเริ่มประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับวงการกอล์ฟอีกครั้ง เมื่อมีการบรรจุ การแข่งขันกอล์ฟหญิง ทั้งบุคคลและทีม เข้าไปเป็นครั้งแรก สาวเกาหลีก็ประกาศศักดาทันที คว้าทองทั้งบุคคลจาก วอน แจ ซุก และทีมไปได้หมด ส่วนประเภทชาย ญี่ปุ่น กวาดทั้งบุคคลและทีมไปเหมือนกัน โดย ชิเกกิ มารุยามา ซึ่งต่อมากลายเป็นโปรระดับโลก ก็แจ้งเกิดจากเอเชียนเกมส์ครั้งนี้เอง

ครั้งที่ 12 ปี 1994 ฮิโรชิมาเกมส์ ถึงคราวของทีมหญิง จากไต้หวัน นำโดย หวง ยู เชิน พร้อมกับทีมแม่เนื้ออ่อน ไซนิส ไทเป กวาดทองทั้งบุคคลและทีม ส่วนฝ่ายชาย ญี่ปุ่น ก็ยังกวาดทองได้ครบ ยานาเมะ โยคู เก็บทองบุคคลไปได้ พร้อมกับทีมก็ได้เหรียญทองเช่นกัน ที่น่าสนใจก็คือ ชาง เลียง เวย นักกอล์ฟชายสายเลือดมังกร คว้าเหรียญเงินบุคคลไปได้ รวมถึงทีมหญิงก็เก็บเหรียญทองแดงได้สำเร็จ เป็นการเปิดสถิติด้านกอล์ฟให้กับประเทศจีนเป็นครั้งแรกในเอเชียนเกมส์

ครั้งที่ 13 ปี 1998 เอเชียนเกมส์ จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นครั้งล่าสุดสำหรับประเทศไทย ยังจำกันได้ดีว่า ยุคนั้น แฟนกอล์ฟจะคุ้นชินกับชื่อ “ไรสซิ่ง สตาร์” มียอดนักกอล์ฟไทยฝีมือดี รวมทีมกันอย่างหนาแน่น และในเวลาต่อมาต่างมีชื่อเสียงและประสบความสำเร็จกันถ้วนหน้า แต่ผลงานในเอเชียนเกมส์ครั้งนั้น ณ สนามกอล์ฟอัลไพน์ เจ้าบ้านกลับถูกทีมชายญี่ปุ่น และทีมสาวไต้หวัน ขโมยผลงานไปซึ่ง ๆ หน้า โดยมี โทโมฮิโร คอนโด (ญี่ปุ่น) และ ลู เซียะ ชวน (ไต้หวัน) เป็นแชมป์เหรียญทองในประเภทบุคคลชายและหญิง

ครั้งที่ 14 ปี 2002 ปูซานเกมส์ เกาหลีใต้ จีฟ คาร์ปู จากอินเดีย คว้าทองบุคคลชายไปได้ ขณะที่ประเภททีม ตกเป็นของ หนุ่มไต้หวัน ทั้ง ๆ ที่ ในทีมไม่มีใครได้เหรียญใด ๆ เลย ส่วนฝ่ายหญิง ไอ มิยาซาโตะ เก็บทองให้ญี่ปุ่นได้สำเร็จ ส่วนทีมหญิง เป็นสาวเกาหลีที่ยังเหนียว เกาะกลุ่มรับเหรียญแทบจะทุกครั้ง สังเกตได้ว่า ชื่อของแชมป์ในครั้งนี้ ต่อมาจะคุ้นหูและติดอันดับโลกกันถ้วนหน้า

ครั้งที่ 15 ปี 2006 โดฮาเกมส์ ที่ การ์ตาร์ ผลการแข่งขันกอล์ฟก็ยังวนเวียนอยู่กับเจ้าเดิม โดยแชมป์บุคคลชาย เป็นของ คิม คยุง แต หนุ่มเกาหลี ส่วนบุคคลหญิง ริว โซ ยอน ก็ไม่น้อยหน้า และไม่น่าแปลกใจที่รอบนี้ ทีมกาหลีใต้ ก็กวาดทองไปได้ทั้งหมดแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

ครั้งที่ 16 ปี 2010 กวางโจวเกมส์ ประเทศจีน เกาหลีใต้กวาดทองทุกเหรียญไปได้อีกครั้ง โดย คิม มีน วฮี และ คิม ฮยัน ซู รับทองประเภทบุคคล และพาทีมเข้าป้ายครบอีกรอบ

ครั้งที่ 17 ปี 2014 อินชอน ประเทศเกาหลีใต้ ถือว่าเป็นเอเชียเกมส์ที่ต้องจดจำไปตลอดกาล สำหรับทีมหญิงของไทย ที่สามารถรวมพลังจนคว้าเหรียญทองมาได้สำเร็จ จากผลงานของ “นุ้ก” บุษบากร สุขพันธ์, “ออม” เบญญาภา นิภัทร์โสภณ และ “กิ๊ฟ” สุภมาส แสงจันทร์ ซึ่งในประเภทบุคคล ปาร์ค จียอล สาวเกาหลีใต้ คว้าทองไปได้ โดยมี บุษบากร และ สุภมาส ตามเกาะติดด้วยเหรียญเงินและเหรียญทองแดง สร้างประวัติศาสตร์ให้วงการกอล์ฟของประเทศไทยว่า เราทำได้แล้ว ขณะที่บุคคลชายเหรียญทองเป็นของ ปัน เชง ซึง จากไต้หวัน พร้อมกับคว้าทองประเภททีมไปด้วย

ครั้งที่ 18 ปี 2018 จากาตาร์ พาเลมบัง ประเทศอินโดนีเซีย สาวฟิลิปปินส์ โชว์ผลงานอย่างยอดเยี่ยม ขึ้นแซงมหาอำนาจประเภททีมอย่างเกาหลีได้สำเร็จ โดยเก็บได้ทั้งบุคคลจาก ยูกะ ซาโซะ ซึ่งต่อมาก็กลายเป็นยอดนักกอล์ฟระดับโลก และทีมก็ยังได้ทอง ส่วนประเภทชาย ญี่ปุ่น ก็ถึงทีหมุนเวียนเปลี่ยนเข้ามาบ้าง โดยบุคคล เคอิตะ นากาจิมา รับทองไป พร้อมรับอีกทองกับเพื่อนร่วมทีม ส่วนทีมไทยไร้แววทุกเหรียญ

ครั้งที่ 19 ปี 2022 หางโจวเกมส์ 2022 (จัดในปี 2023) ล่าสุดเพิ่งผ่านไปหมาด ๆ แฟนกอล์ฟไทยได้เฮสุดเสียงกันซะที หลังจากรอคอยมานานแสนนาน เมื่อทั้งทัพสาวและหนุ่มไทย จัดเหรียญมาให้ชื่นชม โดยฝ่ายหญิงเป็นผู้บันทึกว่าประวัติศาตร์ดี ๆ ย่อมซ้ำรอยกันได้ จากการคว้าเหรียญทองบุคคล โดย “โปรเปียโน” อาภิชญา ยุบล และทีมกอล์ฟหญิงที่มี “โปรปลาย” พัชรจุฑา คงกระพันธุ์ และ “แพงกี้” แอลล่า แกลทสกีย์ มาช่วยเสริมทัพ ก็ขยับไล่ขึ้นมาจนแซงเข้าป้ายรับเหรียญทอง สานต่อความยิ่งใหญ่จากรุ่นพี่ที่ทำไว้เมื่อเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 17 ที่เกาหลีใต้ ส่วนสวิงหนุ่มไทย รอบนี้ก็เปิดบันทึกประวัติศาสตร์ เก็บเหรียญเงินประเดิมให้ประเทศชาติ ประกอบไปด้วย “โปรดราก้อน” อติรุจ วินัยเจริญชัย, “โปรเพชร” พชร คงวัดใหม่, “โปรภูมิ” ภูมิ ศักดิ์แสนศิลป์ และ “โปรแดน” แดนไทย บุญมา ที่ทั้งทีมรวมพลังเฉือนคู่แข่งอย่าง ฮ่องกง ไปแบบฉิวเฉียด ขณะที่ประเภทบุคคล โค ไทชิ จากฮ่องกง คว้าทองไปครอง

จากสถิตหลังจากเอเชียนเกมส์มีกอล์ฟบรรจุอยู่ด้วยนั้น ประเทศไทยของเรา เพิ่งจะได้สัมผัสกับเหรียญเมื่อไม่นานมานี่เอง และยังเป็นการเข้าถึงที่ดุดันมาก ด้วยการเบียดสวิงมหาอำนาจ อย่างเกาหลี ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นขาใหญ่เจ้าประจำมายาวนาน แต่กว่าเราจะถึงวันนี้ได้ ก็มิใช่ด้วยโชคชะตาเพียงลำพัง การพัฒนาวงการกอล์ฟไทยอย่างมีระบบ มีมาตรฐานสากลต่างหาก ที่สร้างให้เรามีกองกำลังอันเข้มแข็งอย่างที่ปรากฏ เมื่อเรามีทรัพยากรอันล้ำค่า ที่รู้ว่าส่งเสริมแล้วผลลัพธ์กลับมายิ่งกว่าคำว่าคุ้ม ก็อย่าแผ่ว อย่าปล่อยให้เป็นเพียงแค่ความสุขชั่วครั้งชั่วคราว แลกกับเสียงเชียร์ดัง ๆ ที่ผ่านมาแล้วผ่านไปละกันครับ

กองบรรณาธิการ

ที่มา : wikipedia ภาพ : korea.net