อมยิ้มริมกรีน

นักกอล์ฟอาชีพ VS อาชีพนักกอล์ฟ

นักกอล์ฟอาชีพ VS อาชีพนักกอล์ฟ

อ่านแล้วอย่าเพิ่งเวียนหัวกับผมนะครับ ที่ขึ้นหัวมาแบบนี้ก็เนื่องจาก มีผู้คนมากมายที่เกี่ยวดองหนองยุ่งกับกีฬากอล์ฟ ซึ่งจุดมุ่งหมายในเบื้องต้นตั้งแต่วันที่จับไม้เป็นครั้งแรก ย่อมแตกต่างกันไป บางคนขอแค่ตีโดนบ้างก็ดีใจแล้ว แต่คิดว่าส่วนใหญ่ “ฝันไกลไว้ก่อน” โดยเฉพาะกลุ่มที่มีเซ็นส์ของการเป็นนักกีฬา ก็อยากจะก้าวยาว ๆ ไปจนถึงระดับแข่งขัน

ก็อย่างว่าล่ะครับ เมื่อจุดหมายปลายทางของอาชีพที่ประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ย่อมมีเงื่อนไข และขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อ “คัดกรอง” ให้เหลือเฉพาะ ที่สุดของที่สุด จริง ๆ เหมือนกับยอดแหลมของปิรามิด ที่สุดท้ายแล้ว มีเหลือแค่เพียงน้อยนิดที่จะไปจนถึงความเป็นที่ “1” กันได้

ที่เห็นกันชัด ๆ ก็อย่างเช่น ในการแข่งขันวิ่งมาราธอน ที่มีผู้คนเรือนหมื่นเข้าร่วม ถึงแม้จะเข้ามาด้วยวัตถุประสงค์ต่างกัน บางคนขอแค่สมัครให้ได้ก่อน แล้วไปยืนถ่ายรูป แต่งตัวเต็ม ๆ พร้อมกับ แค็บชั่นเก๋ ๆ คำคม คำขำ แค่นี้ก็ถือว่า “พอใจ” แล้ว ที่เหลือใครไปวิ่งไปกันแบบไหนก็แล้วแต่เขา ส่วนอีกพวก ซ้อมกันยาว ๆ ทั้งปี มีทั้งแผน มีทั้งลงแรง ขอแค่เข้าเส้นชัยให้ได้ก่อน ส่วนอันดับจะโผล่บ๊วยรั้งท้าย ก็ไม่เดือดร้อน

ส่วนกลุ่มสุดท้ายที่ถือว่าเป็น “แถวหน้า” นั่นคือ มีการเตรียมความพร้อมในทุก ๆ สิ่งสำหรับการเข้าเส้นชัย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะการันตีการไปถึงจุดหมาย หรือไปถึงเป็นอันดับที่เท่าไหร่ เพราะต่อให้พร้อมสักแค่ไหน เตรียมตัวดีมาอย่างไร ส่วนประกอบอื่น ๆ ที่ไม่สามารถควบคุมได้ ย่อมมีโผล่มาให้เห็นอยู่เสมอ แบบนี้ก็ต้องแล้วแต่โชคชะตา บุญนำพาวาสนาพาส่ง

ผมได้สนทนากับนักกอล์ฟระดับแถวหน้าใน “อดีต” หลายท่าน บางรายเคยเป็นดาวรุ่งพุ่งแรง ที่ทำท่าว่าจะมีอนาคตเป็นเส้นตรงพุ่งหาความสำเร็จ แต่แล้วเมื่อถึงเวลาที่น่าจะได้เก็บเกี่ยว เก็บดอกเก็บผล โกยเงินเก็บชื่อเสียงเข้ากระเป๋า กลายเป็นว่า หายไปเฉย ๆ ซะงั้น จนหลาย ๆ คนเราลืมไปเลยว่า เมื่อก่อนเคยตามเชียร์และคอยดูว่าเมื่อไหร่จะขึ้นไปอยู่บนบอร์ดระดับโลก

คนที่ประสบความสำเร็จ ย่อมอยู่ท่ามกลางแสงสว่างแห่งการจับจ้อง กลุ่มเหล่านี้ ผมถือว่าถึงฝั่งฝันแล้ว ที่เหลือก็อยู่ที่ตัวเอง ว่าจะทำอะไรกับโมเมนต์นี้ได้มากแค่ไหน ได้ยาวนานแค่ไหน

แต่อีกกลุ่มที่ค่อย ๆ เลือนหายไป จนเคยตั้งคำถามว่า เขาไปอยู่กันที่ตรงไหน?

คำตอบบางส่วนที่ได้กลับมาก็คือ “ยังอยู่” ในแวดวงกอล์ฟนี่แหล่ะ เพียงแต่เลือกทางเดินอีกเส้น ที่แยกออกมาจากหนทางเดิมที่เคยตั้งใจว่าจะไป แล้วกลับพบว่า ถ้าฝืนไปต่ออีกคงไม่ไหว มีแต่จะเจอกับขวากหนาม ทั้ง ๆ ที่เมื่อมองทอดสายตาไปไกล ๆ สุดสายตา ต่อให้รู้ว่ามีทั้งกองเงินกองทองรออยู่ ก็ขอถอยดีกว่า ไม่อาวววว ดีกว่า เพราะอาจจะเจ็บหนักจนไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิต ระหว่างที่ดิ้นรนอยู่ในพงหนามแห่งอุปสรรคนั้น ใครไปไหว ก็ปล่อยเขาไปเถอะ

เส้นทางอีกเส้นที่ว่านี้ก็คือ อาชีพอะไรก็ตาม ที่ “เกี่ยวข้อง” กับกอล์ฟ นักกีฬาระดับเคยพยายามเข้าแข่งขัน เชื่อว่าแทบทุกราย ย่อมมี “ดี” อยู่พอสมควร มิเช่นนั้นคงไม่เคยตัดสินใจเลือกจะยึดการแข่งเป็นอาชีพ นี่คือ “ข้อได้เปรียบ” ที่ควรจะนำมาใช้ยึดเป็น “อาชีพ (ที่เกี่ยวข้องกับ) นักกอล์ฟ” ผมขอเรียกว่า อาชีพนักกอล์ฟ เพื่อความกระชับก็แล้วกันนะคับ

“นักกอล์ฟอาชีพ” เป็นกลุ่มที่ต้องนับว่า “เฉพาะทาง” มาก ๆ ในสังคมทั่วไป กว่าจะไปถึงขึ้นใช้คำนำหน้าว่า “โปร” ได้นั้น สำหรับบางคนจัดว่า “สาหัส” แล้วเชื่อได้เลยว่า ไม่มีคำว่า “ง่าย” อย่างแน่นอน

กลุ่มที่ตกขบวนนี้แหล่ะครับ ที่ผมเห็นว่า เป็นกำลังหลักให้กับวงการกอล์ฟ จะมีใครมาเข้าใจหัวอกคนเล่นกอล์ฟมากกว่าคนเล่นกอล์ฟด้วยกัน จริงมั้ยครับ…

สิ่งที่ผมจะสื่อก็คือ ในปัจจุบันนี้ มีนักกอล์ฟฝีมือดีจำนวนมาก ที่ผันตัวเองจนประสบความสำเร็จใน อาชีพนักกอล์ฟ ทั้ง ๆ ที่เคยเป็นนักกอล์ฟอาชีพมาก่อน แต่เมื่อถึงทางตันในเส้นทางที่เดิน แล้วรีบหาเส้นทางใหม่ ซึ่งบางครั้ง กลับทำให้ชีวิตง่ายขึ้น ไปได้ไกลขึ้น กว่าที่จะไปดันทุรังกับถนนเส้นเดิม ด้วยวิธีการแบบเดิม ๆ ที่ต่อให้พยายามเท่าไหร่ก็ไม่ได้รับผลที่ต้องการซะที

อยากให้นักกอล์ฟที่ผ่านช่วงทั้งหอมหวานและขมขื่นกับการเล่น การฝึกซ้อม ให้ลองเปลี่ยนเป้าหมายที่เคยมองไว้ไกลสุดปลายฟ้า ให้กลับมาค้นหาเป้าที่เรา “มี” โอกาสคว้าได้ ถึงมันจะไม่ยิ่งใหญ่สมที่ใจเจตนา แต่ก็ทำให้เราได้อยู่บนยอดปิรามิดอีกลูก ที่คนอื่นอาจจะไม่ถนัดเท่ากับเราถนัดก็เป็นได้

โปรแข่ง ที่แข่งแล้วไม่เข้าป้าย เขาอาจสอน โค้ชชิ่งเก่ง มีเทคนิคดี ถนัดปั้นนักกีฬา จนมีลูกศิษย์เต็มเมือง ก็ต้องตัดใจทำสักอย่าง เพราะหากยังไปสู้ต่อในสนามแข่งเอง โอกาสสร้างรายได้จากทั้งสองงาน อาจไม่เหลือสักงาน

นักกอล์ฟสมัครเล่น ที่ฝีมือดี ระดับแต้มต่อตัวเดียว ลังเลกับการเทิร์นโปร หรือจะเก็บสถานภาพไว้สำหรับเล่นสนุก มีความสุขกับเพื่อน ก็ต้องคิดแล้วคิดอีก ว่าเทิร์นแล้วจะไปไหวมั้ย? หรือจะอยู่แบบเป็น อาชีพนักกอล์ฟ ที่มีงานประจำเป็นงานอดิเรก แล้วออกรอบสร้างรายได้เป็นอาชีพหลัก ฟังแล้วอาจจะงง ๆ แต่มีกลุ่มนี้ในสังคมกอล์ฟเยอะมาก

สุดท้าย กลุ่มที่ “น่าจะ” เกิดประโยชน์สูงสุด จากการเล่นกอล์ฟระดับจริงจัง นั่นคือ “เยาวชน” ผมไม่ได้มองเป้าหมายว่า เด็กทุกคนที่เล่นกอล์ฟเก่ง จะต้องเทิร์นโปร เพราะนั่นเป็นไปไม่ได้ แล้วยังอาจจะเป็นการทำร้าย ทำลาย ช่วงชีวิตของคน ๆ หนึ่ง ที่ต้องเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ เมื่อสุดท้ายแล้ว เขาไม่ได้เข้าสู่การเป็นนักกีฬาอาชีพ ด้วยสาเหตุและอุปสรรคสารพัด โดยไม่มีแผนสำรองไว้ก่อนว่า ชีวิตนี้จะไปทางไหนได้อีก

ประโยชน์สูงสุด ในมุมของผม สำหรับเด็กวัยนี้ นั่นคือ “การศึกษา” เพราะไม่ว่าจะเรียนในระดับไหน ตั้งแต่ประถม จนถึงปริญญา ทุนการศึกษาที่ให้กับผู้มีความสามารถพิเศษทางด้านกีฬา มีให้เห็นเสมอ และมีตัวอย่างชัดเจนว่า เด็กไทยของเราไปจบปริญญาจากต่างประเทศด้วยทักษะกอล์ฟกันมาแล้วนักต่อนักแล้ว ทั้ง ๆ ที่หลังเรียนจบ อาชีพที่ใช้เลี้ยงชีพ ส่วนใหญ่อาจจะไม่ได้เป็นนักกีฬาอาชีพสายกอล์ฟด้วยซ้ำ แต่เป็นการใช้ประโยชน์ในทางอ้อม ซึ่งมีหลากหลาย ตลาดเปิดกว้าง มีงานรอให้ทำอยู่แบบไม่มีตกงาน เนื่องจากคุณสมบัติของคนกลุ่มนี้ “ครบ” ตามที่ธุรกิจต้องการ นั่นคือ ความรู้ความสามารถตามวุฒิการศึกษา โดยเฉพาะ “ภาษา” อังกฤษ และไลฟ์สไตล์ระดับสากลที่เข้าสังคมได้อย่างไม่เคอะเขิน รวมถึงความรู้ความเข้าใจและทักษะกอล์ฟในระดับสูงมาก

ถึงแม้จะไม่มีสูตรสำเร็จ แต่ก็คิดว่า ถนนเส้นนี้อาจ “คุ้มค่า” มากที่สุด สำหรับหลาย ๆ ครอบครัวที่กำลังจะวางแผน หรือกำลังอยู่ในเส้นทางปฏิบัติเพื่อความสำเร็จก้าวหน้าของลูก ๆ ถ้าลูกเราเก่งจริง ฝีมือไม่มีใครเทียม ก็ดันให้เข้าแข่ง แต่ถ้าฝีมือเกาะกลุ่มกลาง ๆ ก็ลองหาทางหนีทีไล่ไว้บ้าง เพราะยังไงแล้ว กีฬา ก็ยังมีประโยชน์เสมอ เพียงแต่ต้อง “พลิก” หามุมที่เหมาะสมกับเราให้เจอ โชคดีครับ

กองบรรณาธิการ