สุรศักดิ์ วงศ์ข้าหลวง
สุรศักดิ์ วงศ์ข้าหลวง
ประธาน โครงการเยาวชนไทยในสหรัฐอเมริกาเยือนแผ่นดินแม่
“การทำงานเพื่อสังคม ย่อมจะต้องใช้ทั้งกำลังกายและกำลังทรัพย์”
เด็กเกเร : ครอบครัวผมเป็นตระกูลโรงพิมพ์ ทำหนังสือพิมพ์ชาวไทย เรามีพี่น้อง 13 คน ผมเป็นคนที่ 6 กึ่งกลางพอดี ผู้ชายจะเรียนที่เซนต์คาเบรียล ส่วนผู้หญิงเรียนเซนต์ฟรังฯ ผมเริ่มเรียนหนังสือที่อนุบาลเรียนราชินีล่าง แล้วย้ายไปเรียนต่อจนจบจากเซนต์คาเบรียล แต่คุณพ่อรู้สึกว่าผมมีความเกเร อยากจะดัดนิสัย ด้วยการส่งให้ไปเรียนต่างประเทศ พี่ ๆ คนอื่นเรียนในเมืองไทยกันทั้งนั้น ผมเป็นคนแรกที่ออกไปเรียนต่างประเทศ เพราะคิดว่าถ้าอยู่ที่นี่คงไม่ดีแน่ (หัวเราะ) จึงไปปรึกษา กพ. (สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน) และได้คำแนะนำว่า แบบนี้ต้องไปอินเดีย ถึงจะเข็ด (หัวเราะ)
อินเดีย : ไปเรียนภาษาอังกฤษที่มหาวิทยาลัยปัญจาบ เมืองศิมลา รัฐหิมาจัลประเทศ เป็นสถาบันการศึกษาของรัฐทางตอนเหนือของอินเดีย ซึ่งพูดภาษาอังกฤษกัน และการศึกษาของเขาดี แต่พอไปถึงก็รู้ได้เลยว่า ชีวิตนี้ลำบากแน่ (หัวเราะ) ผมอาศัยอยู่กับครอบครัวคนอินเดีย โดยในพื้นที่นั้นทานมังสวิรัติ ไม่ทานเนื้อสัตว์ ปัญหาหลักของผมตอนไปอยู่แรก ๆ คือเรื่องอาหารกับกลิ่นเครื่องเทศที่ยังไม่คุ้นชิน (หัวเราะ) อีกเหตุผลที่คุณพ่อส่งไปอินเดียก็เพราะว่า อยู่ใกล้หน่อย ถ้ามีปัญหาก็กลับมาได้บ้าง พอผมกลับมาทีไร คุณพ่อจะเน้นย้ำเรื่องเรียนให้จบ และจบแล้วอยากไปไหนจะให้ไป ปีแรกไปเรียนทั่ว ๆ ไปปรับตัวด้านภาษาพอมีพื้นฐานมาจากโรงเรียนบ้าง ยังไม่เลือกคณะไหน พอขึ้นปีสองผมเลือกเรียนด้านการธนาคาร การบัญชี จนจบปริญญาตรี
อเมริกา : เพื่อน ๆ ไปมักจะไปเรียนต่ออเมริกาและอังกฤษเป็นส่วนใหญ่ พอดีรุ่นพี่ที่จบไปก่อน ชวนให้ไปอเมริกา เพราะรู้มาว่าสามารถทำงานเพื่อแบ่งเบาภาระครอบครัวได้ ขณะที่อังกฤษต้องใช้ทุนมากกว่า ทำให้ผมตัดสินใจได้ง่าย ประกอบกับช่วงนั้น สงครามเวียดนามใกล้จะเลิกแล้ว ประเทศเขาเปิดรับ เอื้ออำนวยให้คนต่างชาติเข้าไปเรียน ทำงาน อยู่อาศัย โดยยังไม่เข้มงวด ทำให้การไปอยู่ที่นั่นมีความสะดวกสบายเรื่องข้อกำหนดกว่าสมัยนี้มาก ผมเริ่มไปอยู่ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย และเปลี่ยนไปเรียนปริญญาโทด้านการจัดการอุตสาหกรรม
ได้งานก่อนเรียน : โชคดีที่พอไปถึงยังไม่ครบสัปดาห์ เพื่อนชวนให้ไปทำงานพาร์ทไทม์ในธนาคารที่ลองบีช สมัยนั้นการยื่นขอเอกสารรับรองอะไรก็ง่าย ยังเปิดรับอยากให้คนเข้าประเทศ ผมไปยื่นเรื่องขอทำประกันสังคม, ใบขับขี่ ซึ่งก็ทำให้ง่าย ๆ โดยไม่ต้องวุ่นวาย แล้วผมก็ไปสมัครงาน เขาก็รับทันที เป็นงานด้านคอมพิวเตอร์เปิดทำงานเป็นกะตลอด 24 ชั่วโมง โชคดีที่หัวหน้าเป็นฝรั่งใจดี ให้ผมเลือกว่าจะเข้างานกะไหน เพราะเรายังเป็นนักเรียน พอได้งานทำก็บอกพ่อว่าไม่ต้องส่งแล้ว พอดูแลตัวเองเรื่องค่าเรียนได้ แต่ท่านก็ยังส่งให้ (หัวเราะ) ใช้เป็นค่าใช้จ่ายที่พัก
ธนาคาร : หัวหน้าผมดีมาก ช่วยส่งเสริมให้มีความก้าวหน้า จนเมื่อจบปริญญาโท ก็ถามว่าอยากจะเข้าทำงานที่นี่หรือไม่ ผมตอบว่า ยังไม่มีกรีนการ์ด เรียนจบก็จะกลับ เขาบอกว่างั้นจะช่วยเรื่องเอกสารและติดต่อฝ่ายต่าง ๆ ให้ ผมตอบไปว่า งั้นผมก็อยู่ (หัวเราะ) ในที่สุดก็ได้เป็นพนักงานธนาคารอย่างเต็มตัว และเขายังส่งให้ผมไปเรียนเพิ่มเติมเรื่องการธนาคารโดยเฉพาะจากมหาวิทยาลัยยูเอสซีอีกปี
ประเมินความสามารถ : เหนื่อยครับ กว่าจะเป็นหัวหน้าได้ (หัวเราะ) ครั้งแรกที่ได้รับเลื่อนตำแหน่ง โดนลองของ ทดสอบกันน่าดู ตอนแรกผมอยู่ในแผนกเช็ค ซึ่งสมัยก่อนคนอเมริกันใช้เช็คกันเป็นจำนวนมาก ผมก็โดนลองภูมิ วัดความสามารถอยู่เสมอ อย่างถามว่าเช็คใบนี้มาจากรัฐไหน เมื่อจับปุ๊ป เห็นหมายเลข ต้องรู้ทันทีว่า มาจากรัฐไหน แม้กระทั่งเมืองไหน หรือบางครั้งถามว่า ถ้าเช็คใบนี้เด้ง มีขั้นตอนในการปฏิบัติอย่างไร เรื่องเหล่านี้จะถูกทดสอบอยู่ตลอด ทำให้ต้องตื่นตัว พร้อมตอบคำถาม พลาดไม่ได้เลย แล้วพนักงานที่เห็น มีแต่ผมสีทอง หรือผิวสี ฝั่งเอเชียรู้สึกมีแค่ผมกับเพื่อนเท่านั้น แต่เราก็ฝ่าฝัน ต่อสู้ จนได้คุมลูกน้องสองร้อยกว่าคน ทำงานกันยี่สิบสี่ชั่วโมง วันนึงมีสามกะ แต่ละกะมีคนทำงานเป็นร้อย ผมต้องรู้จักทุกคน, ตีห้า ผมต้องไปที่ธนาคารแล้ว เพราะนิวยอร์คเขาเร็วกว่าฝั่งตะวันตกสามชั่วโมง เริ่มเปิดทำการ แล้วยังต้องติดต่อรายงานเรื่องต่าง ๆ กับสำนักงานใหญ่ของญี่ปุ่นอีก ความรับผิดชอบสูงมาก ๆ ทำงานหนักตลอด โชคดีที่มีเจ้านายดี เป็นคนอเมริกัน เขารักเราเหมือนลูก ให้ความช่วยเหลือ ดูแลอย่างดีมาตลอด พอผมมีภรรยาเป็นคนไทยที่ไปเรียนที่โน่นด้วยกัน เขาก็ช่วยให้เข้าทำงาน แต่เนื่องจากมีกฎระเบียบว่า ห้ามสามีภรรยาทำงานด้วยกัน เจ้านายก็ให้ไปเป็นเลขาฯ กระทั่งภรรยาได้ทำงานอยู่ที่นั่นด้วยกันจนเกษียณ
อังเคิล แซม : พนักงานในออฟฟิศจะเรียกผมด้วยชื่อนี้ ผมเข้ากับทุกคนได้ง่าย บริหารงานแบบอเมริกัน เมื่อมอบหมายงานแล้ว จะไม่ไปยุ่งเกี่ยวเลย ให้คุณไปทำ แล้วมารายงาน ไม่จู้จี้ หากมีข้อผิดพลาด ทุกสัปดาห์จะมีการประชุมระดับผู้จัดการ เพื่อมาพูดคุยถึงปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น งานเป็นอย่างไร พนักงานเป็นอย่างไร, พอถึงช่วงปีใหม่ ผมจะของบจากสำนักงานเพื่อเลี้ยงปีใหม่เพื่อเป็นกำลังใจให้กับทุกคน ผมยังสนับสนุนให้คนไทยเข้ามาทำงานอยู่เรื่อย ๆ โดยเฉพาะเมื่อมาจากเมืองไทยใหม่ ๆ ผมดูแลอยู่หลายแผนก ทำให้เห็นว่ามีหน้าที่ต่าง ๆ ให้ทำได้ บางคนให้นั่งตรวจเช็คว่าเรียบร้อยสมบูรณ์หรือไม่เช่น พยาบาล ระหว่างรอใบอนุญาตก็มาฝึกงานที่นี่ จนกระทั่งได้ใบเรียบร้อยถึงลาออกไปประกอบวิชาชีพที่ถนัด และผมยังเป็นตัวแทนในการไกล่เกลี่ยหากมีกรณีฟ้องร้องกันระหว่างธนาคารกับพนักงาน ซึ่งธรรมเนียมของเขาไม่เหมือนกับบ้านเรา ขนาดบางคนที่ช่วยเหลือกันมาตลอด แต่พอถึงเวลาที่เขาฟ้อง ก็เล่นเราเต็มที่ (หัวเราะ) ก็ต้องรับมือให้ได้ ผมอยู่ธนาคารทั้งหมด 45 ปี จนก่อนเกษียณได้ตำแหน่ง รองประธานกรรมการอาวุโส นับว่าเป็นความภาคภูมิใจในการทำงานของผม
ชีวิตหลังเกษียณ : เพื่อนที่ลาออกมาก่อน เปิดบริษัทตรวจสอบให้กับธนาคารกลางของอเมริกา เมื่อธนาคารไหนมีปัญหา จะประกาศล้มละลาย ธนาคารกลางจะส่งให้ไปตรวจสอบก่อน, พอเพื่อนรู้ว่าผมเกษียณแล้ว ก็มาตามให้ไปทำงานด้วยกันจนถึงปัจจุบัน, ขณะนี้ในอเมริกามีธนาคารขนาดเล็ก ที่กำลังจะล้มละลายอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้ผมต้องเดินทางไปทำงานทั่วอเมริกา แต่ผมบอกว่าอายุเยอะไม่ไหวแล้ว ขอดูแค่ฝั่งตะวันตก ก็ยังรู้สึกภูมิใจที่เขายังเห็นคุณค่าเรียกเราไปทำงาน
สมาคมคนไทย : สมาคมของคนไทยเมื่อแรกเริ่มก่อตั้งในปี 1962 ใช้ชื่อว่า สมาคมนักเรียนไทยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนียทางใต้ เป็นการรวมตัวกันของนักเรียน นักศึกษาไทย ที่มาศึกษาต่อในสมัยนั้น ซึ่งในเวลาต่อมาก็ล้วนแล้วแต่เป็นผู้มีชื่อเสียงในสังคม สร้างคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติ โดยต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น สมาคมไทยแห่งแคลิฟอร์เนียภาคใต้ เมื่อปี 1972, ผมชอบออกสังคมเพื่อช่วยเหลือคน เวลาใครมีปัญหาก็ออกไปช่วย หลังจากที่อยู่อเมริกาได้ราวสามปี ก็สมัครและได้รับเลือกให้เป็น นายกสมาคมฯ อีกสองสมัย ได้ทำงานร่วมกับสถานกงสุลใหญ่ฯ หน่วยงานสำคัญ ๆ สมาคมไทยต่าง ๆ เนื่องจากเริ่มมีคนไทยเข้ามามากขึ้น ทำให้เกิดสมาคมไทยอื่น ๆ ก่อตั้งมากตามไปด้วย เช่น ศิษย์เก่าธรรมศาสตร์, ศิษย์เก่าจุฬาฯ, อีสาน ฯลฯ กลายเป็นสามสิบกว่าสมาคม โดยมีสมาคมไทยแห่งแคลิฟอร์เนียภาคใต้เป็นศูนย์กลางที่ทุกคนจะเข้ามาร่วมช่วยงานกัน สมัยนั้นกำลังเริ่มก่อสร้างวัดไทย จนกระทั่งสำเร็จ ปัจจุบันมีวัดไทยถึงสี่สิบกว่าแห่ง แต่ที่ใหญ่จริง ๆ คือวัดไทยลอสแองเจลิส เป็นมหานิกาย มีทุกอย่างเหมือนกับในประเทศไทย กับวัดป่าธรรมชาติ ซึ่งเป็นนิกาย ธรรมยุต และจากเดิมเคยมีคนไทยไม่ถึงหมื่นคน ปัจจุบันเพิ่มถึงราวห้าแสนคน เฉพาะที่ลงทะเบียน ถ้าทั่วอเมริกามีมากถึง 1.5 ล้านคน จากการประเมินของทางการ, คนไทยในอเมริกามีบทบาทโดดเด่นในสังคมที่นั่น มีคนเก่ง ๆ มีความสามารถเข้าไปทำงานในตำแหน่งสำคัญ ๆ อยู่มากมาย สมัยปี 1978-1980 ผมได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษานายกเทศมนตรีของนครลอสแองเจลิส ปัจจุบันก็ยังเป็นที่ปรึกษาให้กับนายอำเภอที่นั่นอีกด้วย
งานเพื่อสังคม : เราต้องเห็นใจคนอยู่ที่โน่น เขาไปถึงใหม่ ๆ อยากจะรีบสร้างเงิน สร้างตัวเอง ฉะนั้น การเข้ามาช่วยสังคมจริง ๆ จะไม่เหมือนพวกเราที่อยู่กันมานาน จนมีความมั่นคงแล้ว เพราะในการทำงานเพื่อสังคม ย่อมจะต้องใช้ทั้งกำลังกายและกำลังทรัพย์ แต่หากต้องใช้ของส่วนตัวมากเกินไป จะทำให้เกิดความกังวลใจ อาจไม่มีใครอยากเข้ามาทำงานเพื่อส่วนรวม ถึงแม้มีความสามารถ มีใจอยากจะช่วย ดังนั้นพวกเราจึงต้องช่วยกันไม่ให้เขาเกิดความลำบากใจ แล้วทำให้งานเดินหน้าต่อไปได้ เราจึงสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ได้ทำงานตามวิธีที่เขาอยากทำหรือถนัด แต่จะไม่ไปชี้นำจนรู้สึกอึดอัด คอยอยู่เบื้องหลังให้คำแนะนำปรึกษา แนะนำให้รู้จักกับคนที่จะใช้ความช่วยเหลือได้ โดยเฉพาะการสนับสนุนในการหาทุนเพื่อทำให้งานบรรลุวัตถุประสงค์
โครงการเยาวชนไทยในสหรัฐอเมริกาเยือนแผ่นดินแม่ : มีเรื่องเล่าว่าครั้งหนึ่งที่มหาวิทยาลัยเบิร์กเลย์ อาจารย์ได้ถามนักเรียนถึงเชื้อชาติของตนเอง ซึ่งคนทั่วไปมักจะเรียกเด็กที่มีเชื้อสายจากต่างประเทศด้วยการขึ้นต้นด้วยคำว่าอเมริกันก่อน แล้วตามด้วยประเทศต่าง ๆ เช่น อเมริกัน-ไชนิส แต่พอชี้ถามเด็กไทย เด็กคนนั้นตอบว่า ฉันคือ ไทย-อเมริกัน ไม่ใช่ อเมริกัน-ไทย เพราะประเทศไทย มีวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง แต่อเมริกาไม่มี ทุกอย่างเป็นของคนอื่นทั้งนั้น เรื่องราวแบบนี้แหล่ะ ที่ทำให้ผมมีกำลังใจในการทำงาน ทำกิจกรรมให้กับลูกหลานของเรา, เรานำลูกหลานไทย จากทั่วอเมริกา ให้กลับมาเยือนแผ่นดินไทย สองครั้งแรกที่จัดมีแต่เด็ก ๆ มา ทำให้ยากต่อการดูแล ครั้งที่สาม ให้นำผู้ปกครองมาด้วย แล้วการได้มาอยู่ร่วมกันราวสิบห้าวัน ทำให้เกิดความผูกพันระหว่างครอบครัวที่ดีขึ้น ทุกคนก็ชอบ ซึ่งที่อเมริกาไม่เคยได้อยู่ใกล้ชิดกันยาวนานขนาดนี้ พอได้มาเที่ยวแล้ว เด็ก ๆ ก็บ่นว่าทำไมไม่สอนภาษาไทยให้ เขาอยากพูดไทยได้บ้าง ผมก็สู้มาเรื่อย ๆ เพราะรักเด็ก เขาก็เรียกผมว่าพ่อบ้าง ลุงบ้าง เราก็ดีใจ ภูมิใจที่ทำให้เขาได้มีโอกาส ได้ประสบการณ์ชีวิตดี ๆ โครงการนี้ ทำมากว่าสี่สิบปีแล้ว อีกไม่นานคงทำไม่ไหว (หัวเราะ) จึงได้นำเด็ก ๆ เข้ามามีส่วนร่วม เมื่อครั้งงานเลี้ยงส่งคณะฯ มีคำถามว่า จะจัดกิจกรรมนี้อีกหรือไม่ ผมก็แนะนำบนเวทีว่า นี่คือทหารเสือของผม คนรุ่นใหม่ ๆ อายุ 30-40 ที่เขาอยู่ตัวแล้ว จะก้าวเข้ามาสานต่องานเหล่านี้ เราจัดมาสี่สิบกว่าปีแล้ว เป็นโครงการแรก ที่ดึงดูดให้คนไทยในต่างประเทศทั่วโลกอยากทำแบบนี้บ้าง จึงไม่อยากให้เลิก, รัฐอื่น ๆ, อังกฤษ,ซิดนี่ย ออสเตรเลีย ก็ขอเข้ามาร่วม ขอคำแนะนำปรึกษาในการจัดแบบนี้บ้างซึ่งเราก็ยินดี หรืองาน ไทย นิวเยียร์ สงกรานต์ เฟสติวัล ซึ่งเป็นงานของไทยที่ใหญ่ที่สุดในต่างประเทศ ก็จัดต่อเนื่องมาสิบกว่าปีแล้ว พอถึงเดือนเมษายน ทุกคนแม้กระทั่งฝรั่ง ต่างเฝ้าคอยแล้วว่าเราจะจัดงานสงกรานต์กันวันไหน นั่นคือความภาคภูมิใจของคนไทย
กิจกรรมยามว่าง : ผมชอบขับรถ ทุกช่วงวันหยุดยาว ๆ 2-3 สัปดาห์จะออกไปท่องเที่ยว ไปมาสี่สิบกว่ารัฐแล้ว เหนือใต้ไปรอบหมดเลย โดยอาศัย ทริปเปิ้ลเอ โอโตโมบิล คลับ ซึ่งมีมาร่วมสองร้อยปีแล้ว วางแผนการเดินทางให้ทั้งหมด ตั้งแต่สมัยการสื่อสารยังไม่สะดวกเหมือนปัจจุบัน ขับรถของเราเองออกจากบ้านไปตามแผนที่ ไปสถานที่ท่องเที่ยว เข้าที่พัก ตามที่แนะนำ จนวนกลับมาบ้าน แล้วก็มีไปยุโรปบ้าง จีนบ้าง ตามจังหวะและโอกาส ส่วนกีฬาผมไม่ค่อยถนัดมากนัก ที่เคยเล่นก็มีฟุตบอลอย่างเดียว ยิ่งช่วงเริ่ม ๆ ชีวิต ทำงานหนักมาก ต้องดูแลคนเยอะ เป็นงานที่ต้องอาศัยความละเอียดรอบคอบ มีความระมัดระวังสูง บางครั้งต้องอยู่กับงานตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้ไม่ค่อยมีเวลาว่าง
ชีวิตธรรมดา : ผมกินอยู่และใช้ชีวิตตามปกติ แต่พออายุมากขึ้น เป็นธรรมดาที่จะมีอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ เข้ามารบกวน ต้องรู้จักการควบคุมมากขึ้น คุณหมอก็คอยเตือน คอยดุ ให้ออกกำลังกาย ไม่ต่ำกว่าวันละครึ่งชั่วโมง ก่อนหน้านั้นทำงานหนักมาก จนไม่กล้าไปพบหมอ เพราะรู้ว่าจะต้องโดนดุแน่ ๆ (หัวเราะ) ข้อดีอย่างหนึ่งของที่นั่นคือ การประกันสุขภาพดีมาก มีการตรวจร่างกายทุกสามเดือน หากไม่ไปตามนัดก็มีจดหมายมาเตือน ถ้าพบอะไรผิดปกติก็รีบดูแลรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ
ครอบครัว : เป็นสิ่งสำคัญที่สุด เวลาทำอะไรต้องปรึกษากัน มีปัญหาก็ต้องช่วยกัน ถ้าเห็นพ้องต้องกัน ก็ทำร่วมกัน พอมีลูกขึ้นมา เราก็เลี้ยงเขาแบบเป็นเพื่อน เป็นพี่ เป็นน้อง และเป็นลูก ให้ความไว้เนื้อเชื่อใจ มีอะไรก็ปรึกษาไม่ปิดบังกัน จนกระทั่งเขาประสบความสำเร็จ ปัจจุบันเป็นจักษุแพทย์ที่ติดอยู่ในยี่สิบห้าอันดับแรกของอเมริกา
อย่าเชื่อแค่เพียงสื่อ : ในสื่อโซเชียลต่าง ๆ มักนำเสนอเรื่องราวการไปใช้ชีวิตต่างประเทศในแบบสวยหรู หยิบจับอะไรก็เป็นเงินเป็นทองไปหมด ขายอะไรก็ขายดี บอกได้เลยว่า นี่คือส่วนน้อย หนึ่งในล้าน คนที่สำเร็จแบบนี้มีน้อยมาก นับได้เลย แต่หากไปเรียนหนังสือ แล้วนำความรู้ไปทำประโยชน์ให้กับประเทศเขา มีโครงการนำเสนอว่าจะทำอะไร เขาก็ให้คุณอยู่ได้อย่างถูกต้อง สมัยนี้หมดยุคของการอยู่แบบโรบินฮู้ดแล้ว ทุกอย่างเข้มงวด ไม่คุ้มที่จะเสี่ยง เมื่อหลายสิบปีที่แล้วเคยคิดว่าการอยู่ที่โน่นดีกว่า แต่ในปัจจุบันอยากกลับมาอยู่ที่นี่ ยิ่งพออายุเยอะ ยิ่งรู้ว่าเมืองไทยน่าอยู่ และคนไทยมีการพัฒนาความรู้ความสามารถให้สูงขึ้นอยู่ตลอดเวลา คนไทยเราไม่แพ้ชาติใดในโลกแน่นอนครับ