Interview

พญ.มนัสลักษ์ อริยะชัยพาณิชย์

พญ.มนัสลักษ์ อริยะชัยพาณิชย์
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรวมแพทย์ (หมออนันต์)
“เวลาเป็นสิ่งที่มีค่า ควรใช้กับคนที่มีค่า”

หมอหรือวิศวะ : สมัยก่อน เด็กเรียนเก่ง จะมีทางเลือก ไม่เป็นหมอ ก็เป็นวิศวะ โดยคาแรกเตอร์แล้ว อยากเป็นวิศวะมากกว่า แต่พอสอบติดหมอ แล้วคนที่บ้านเห็นว่าเป็นผู้หญิง ก็เชียร์ให้เรียนหมอมากกว่า เพราะกลัวว่า วิศวะ จะบู๊เกินไป (หัวเราะ) สมัยก่อนไม่มีทางเลือกเยอะ ตัวเองเป็นคนที่ ได้หมด ถ้าสดชื่น (หัวเราะ) และคิดว่าคงไม่เกินศักยภาพ และถ้าเป็นหมอคงได้ทำประโยชน์ให้กับวงการแพทย์ ให้กับเพื่อนมนุษย์ในอีกแบบหนึ่ง

4.00 : พี่สาวเป็นนักกีฬาวอลเลย์บอล เรียนเก่ง สวย เป็นไอดอลให้กับเราเลย พอเราอยู่ในสิ่งแวดล้อมเดียวกัน ไม่ถือเป็นความกดดันก็คิดว่าก็น่าจะไม่ทิ้งแถวกัน ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น พี่น้องกัน ได้ตำราจากพี่สาว ได้อ่านตั้งแต่ ม.1 เทอมแรกเป็นคนเดียวที่ได้เกรด 4.00 ตอนนี้ก็ไม่รู้หรอกว่าจะได้หรือไม่ได้ แต่พอได้แล้วก็คิดว่า เราเป็นคนเดียวที่มีโอกาสได้ 4.00 ตลอดไปนี่ (หัวเราะ) ลองดูละกัน น่าจะพอจัดการได้ ถ้าทำได้ก็น่าจะเจ๋งดีนะ (หัวเราะ) พอแม่เห็นเราจัดการกับชีวิตโดยเฉพาะเรื่องเรียนได้ ก็จะปล่อยให้รับผิดชอบเอง มีบ้างครั้งเหมือนกัน แม่จะไปชมเรากับคนอื่น ก็ต้องคอยบอกแม่ว่า อย่าไปชมลูกตัวเองมากนะ เดี๋ยวคนอื่นจะหมั่นไส้ (หัวเราะ) ด้วยความเป็นเด็ก เราก็ยิ่งอยากจะอยู่เงียบ ๆ มากกว่า

เข้าใจตัวเอง : ถ้าเราเรียนรู้เร็ว เข้าใจง่าย ลองทำข้อสอบ ลองเรียนรู้หลาย ๆ แบบ แล้วเราเอาอยู่ ก็คิดว่าเราจะจัดการได้ โชคดีที่ เรียนรู้เร็ว เรียนรู้ได้เอง แทบไม่ต้องติวเลย อ่านหนังสือเอง เรื่องหนึ่งอาจจะอ่านสามเล่ม แล้วเอามาผสมกัน ถ้ามีเวลาก็จะทำช้อตโน้ตของตัวเอง แล้วไปสอนเพื่อน เพราะนั่นจะยิ่งทำให้เราเข้าใจ แล้วไปทำโจทย์ ในชีวิตเคยติวแค่ไม่กี่ครั้ง, ป.6 เป็นครั้งแรกที่รู้จักคำว่าเรียนพิเศษ เพราะเพื่อน ๆ เขาเรียนกัน ก็ไปเรียนด้วย เริ่มเข้าใจคำว่าติว ทำโจทย์ จนคิดว่าน่าจะลองทำเองที่บ้านได้

แพทย์ชนบท : เป็นเด็กจังหวัดปราจีนบุรี โชคดีที่เรียนเก่งและมีโอกาส ได้โควตาสอบล่วงหน้า ไปสอบวิศวะไปหลายแห่ง ก็สอบติดทุกที่ พอดีมีโครงการแพทย์ชนบทของจุฬาฯ ที่ให้โอกาสให้กับเด็กต่างจังหวัด เด็กนักเรียนในโซนอีสาน ตะวันออก มีสิทธิ์สอบถ้ามีทะเบียนบ้านในจังหวัดที่กำหนด ถ้ามีศักยภาพพอก็ได้เรียนหมอ จบแล้วสามารถเลือกใช้ทุนได้ทั่วประเทศไทย ไม่จำกัดแค่ภูมิลำเนาของตัวเอง เราก็ไปสอบ จะต่างจากวิศวะตรงที่มีวิชาชีวะ เพราะไหน ๆ ตั้งใจเรียน อ่านหนังสือมาแล้ว ก็สอบติด โชคดีค่ะ ช่วงแรกยอมรับว่ากังวล เพราะไม่รู้ว่าเราเก่งพอหรือเปล่าในการเรียนหมอ เพื่อน ๆ ก็เป็นเด็กเทพทั้งหมด ดูเหมือนเก่งมาก ๆ ติวมาเยอะมาก ๆ ขณะที่เรา ธรรมชาติจัดสรร ก็รู้สึกเกร็งไว้รอนิดนึง แต่พอเข้าไปเรียนรู้เพื่อน ๆ สอบมิดเทอมของปีหนึ่งจบ คะแนนออกมารู้ตัวว่า ก็เอาอยู่นะ เล่นอีกหน่อยก็ได้นี่นา (หัวเราะ) หรือต้องเคร่งวิชาไหนมากกว่านี้ คิดว่าคนเราถ้ามีวิธีการเรียนรู้และประเมินตัวเองถูก ก็จะปรับตัวได้ว่าจะไปทางไหน

เด็กกิจกรรม กีฬา : ตั้งแต่มัธยม เป็นประชาสัมพันธ์โรงเรียนปราจีนกัลยาณี เป็นโรงเรียนหญิงประจำจังหวัด คอยประกาศเสียงตามสายของโรงเรียน ทำบอร์ด จัดอีเว้นท์ต่าง ๆ จัดงานรับน้อง เป็นรองประธานนักเรียน ได้ทำอะไรหลาย ๆ อย่างไม่ได้โฟกัสที่การเรียนอย่างเดียว พอเข้ามหาวิทยาลัย ก็อยากจะเป็นแบบนั้น ช่วงแรกที่เป็นเฟรชชี่ เป็นน้องใหม่ ก็ถูกพวกพี่ ๆ รับน้อง ก็เห็นแล้วว่าสนุกจังเลย ก็อยากจะเข้าไปทำกิจกรรมของมหาวิทยาลัย อยากรู้จักเพื่อนเยอะ ๆ ที่หลากหลาย โชคดีที่ได้โอกาสทำ โชคดีที่ทำออกมาแล้วดีด้วย กีฬาก็เล่นบาสเกตบอล เป็นตัวโรงเรียน ได้แข่งระดับจังหวัด เล่นตำแหน่งปีกซ้าย ชู้ต สามแต้ม สองแต้ม ลูกโทษ ไม่เคยพลาด (หัวเราะ) มีเซ้นต์ในการกะระยะ แต่วิ่งไม่ค่อยไหว เลยต้องเป็นดาวยิง (หัวเราะ) ไม่หักโหมเกินไป เพราะชีวิตเรามีหลายด้าน

เปิ้ล ปราจีน : พอขึ้นปีสอง ซ่าส์เลยค่ะ (หัวเราะ) งานฟุตบอลประเพณี แปรอักษร ทุกสิ่งทำหมด พอเกรดเทอมสองออก เอ๊ะก็ได้นี่ (หัวเราะ) ถ้าเราสุดเหวี่ยงขนาดนี้ ผลการเรียนขนาดนี้ โอเครนะ แล้วปีสองต้องข้ามจากจุฬาฯ ใหญ่ มาเข้าคณะ เริ่มเรียนวิชาแพทย์เต็ม ๆ เริ่มผ่าอาจารย์ใหญ่ เรียนสรีระ ทำให้กิจกรรมส่วนรวมลดลงไปบ้าง เพราะข้ามมาทำกิจกรรมกับคณะแพทย์ ได้เจอกับพี่ที่เป็นแพทย์ ก็คิดว่าเราจะต้องวางตัวประมาณไหน และด้วยวิชาเรียนก็เริ่มยากมากขึ้น ต้องท่องจำ เครียดมากที่สุดตอนผ่าอาจารย์ใหญ่ ต้องท่องกายวิภาค เป็นศัพท์เฉพาะทาง โรมัน ละติน ไม่ใช่อังกฤษปัจจุบัน ทำให้ต้องกลับมาโฟกัสกับการเรียน แต่กิจกรรมก็ยังไม่แผ่ว ในระดับเดียวกัน ก็ถือว่าใช้ได้อยู่ (หัวเราะ) เด็กที่เรียนเก่ง อาจมีวิธีคิดคล้าย ๆ กันก็เป็นได้ ‘การเรียนต้องดี กิจกรรมต้องได้’ ยิ่งมีพรรคพวกที่มาจากโรงเรียนเดียวกันเป็นก๊วนก็ยิ่งสนุก ทั้งเรียน ทั้งเล่น คนแบบนี้แหล่ะที่จะมีความสุขกับชีวิต เมื่อเราเป็นเด็ก ไม่ได้โฟกัสกับชีวิตมากนัก สนุกสนานไปตามจังหวะช่วงนั้น แต่เมื่อมองย้อนกลับไป มันมีส่วนช่วยให้เรามีคาแรคเตอร์ ที่ไม่ได้โฟกัสแค่การเรียนอย่างเดียว จนเพื่อน ๆ หลายคน เรียกว่า ‘เปิ้ล ปราจีน’ (หัวเราะ) ประมาณว่าเป็นขาใหญ่ขาโจ๋ ตอนงานฟุตบอลประเพณี มีเด็กจากธรรมศาสตร์มาขอจับมือถ่ายรูปด้วย บอกว่าพี่มันส์มาก แล้วกีฬาของกลุ่มหมอ 12 -13 เข็ม ก็เข้าร่วมด้วยตลอดทุกงาน ทั้งฐานะนักกีฬา และกองเชียร์ปีศาจ (หัวเราะ) มีทั้งแต่งตัวเต็มที่ และเน้นมันส์ทางการแสดงออก, อยู่ชมรมแสงเสียง ทำงานอยู่เบื้องหลัง จัดเวทีเวลามีงานรับน้อง เปิดเพลง ขายเทป แล้วก็เต้นกันกลางจุฬาฯ ตอนเที่ยงมีหน้าที่เป็นดีเจด้วย เปิดเพลงเสียงตามสาย เป็นเพลงวัยรุ่นสมัยนั้น พอปีสี่ย้ายไปเรียนต่อที่ชลบุรี ถึงสถานที่ไม่เหมือนเดิม แต่เราก็ยังเป็นคนเดิมค่ะ (หัวเราะ) ยังเป็นสายกิจกรรม เราก็ไปเจอคนประเภทเดียวกัน เป็นฝ่ายสร้างความสนุกสนานให้กับนักเรียนแพทย์ที่เคร่งเครียด สร้างความบันเทิงให้กับเพื่อน

เชียงราย : เลือกไปใช้ทุนที่เชียงราย ตอนนั้นมีแฟนแล้ว อยากไปเที่ยวด้วย มีเพื่อนไปหลายคน อารมณ์เหมือนกับหนัง F4 (หัวเราะ) แต่ละจังหวัดมีคาแรคเตอร์ไม่เหมือนกัน ที่เชียงรายคือ งานหนัก เงินน้อย เดินทางลำบาก แต่จุดเด่นคือ พี่หมอน่ารักมาก ๆ คนไข้ น่ารักมาก ๆ สังคมดีจริง ๆ อยู่เวรห้องฉุกเฉินแทบไม่ได้กินอะไรเลย เดินไปหากันยังไม่ได้ จนบางครั้งต้องปาขนมให้เพื่อกินรองท้อง เหนื่อยแต่สนุก พอวันเสาร์เลิกงานเช้า ไม่ได้นอนทั้งคืน พากันขึ้นรถ ไปภูชี้ฟ้าต่อ ไปดอยนั้นดอยนี้ อยู่ที่เชียงรายหนึ่งปี พอปีที่สองออกต่างอำเภอ แต่ยังอยู่ในจังหวัดเชียงราย ก็นัดกันไปเที่ยว เหมือนเดิมเลย อยู่โรงพยาบาลเล็ก เสาร์ อาทิตย์ ต้องอยู่เวร เป็นหมอคนเดียวในอำเภอ ดูคนไข้ทั้งหมด แต่พออีกสัปดาห์ที่ไม่ต้องอยู่เวร ก็พากันไปเที่ยวภาคเหนือแล้วแต่ว่าจะไปไหน ทำงานว่าเหนื่อยแล้ว เที่ยวเหนื่อยกว่าอีก (หัวเราะ) อยู่เชียงรายสองปี เที่ยวทุกจังหวัดในภาคเหนือ ก่อนย้ายกลับมาภาคกลางเพื่อมาเรียนต่อ

หมอผิวหนัง : เริ่มมีการวางแผนว่าชีวิตจะไปในแบบไหน ขึ้นอยู่กับคนรอบข้างด้วย ตอนแรกอยากเป็นหมอกายภาพบำบัด คิดว่าเป็นสายอุปกรณ์ สายกีฬา ไม่น่าจะยากเกินไป น่าจะสนุก แต่พอมีโอกาส หมอผิวหนังก็ไม่น่าจะหนักเกินไป และยังอยู่ในแวดวงอายุรกรรม ซึ่งยังดูได้ทั่วทั้งร่าง อีกทั้งยังคิดว่า หากต่อไปมีครอบครัว เราก็ต้องมีเวลาให้ครอบครัวเป็นหลัก, เป็นหมอผิวหนังที่ไม่ค่อยรักสวยรักงาม ก็กลัวว่าอธิบายคนไข้แล้วเขาจะไม่อิน หรือเห็นหน้าเราแล้วไม่เชื่อ (หัวเราะ) แต่ก็คิดว่า เรามีหน้าที่ทำให้เขาสวย ไม่ใช่ทำให้ตัวเองสวย (หัวเราะ) ก็น่าจะได้นะ หลังจากใช้ทุนไปสามปี ก็กลับมาเรียนด้านผิวหนังอีกสี่ปี ที่จุฬาฯ ตอนนั้นแต่งงานและมีลูกคนแรก เรียนจบไปใช้ทุนที่สุรินทร์ อยู่ในระบบราชการอีกหกปี ก่อนจะลาออก ไปเรียนต่อบริหาร เพื่อจะได้เป็นผู้บริหารที่ดี แต่ก็ยังเป็นหมอผิวหนังตามปกติ อยากจะมาช่วยครอบครัวสามี ซึ่งมีโรงพยาบาลเอกชน น่าจะเหมาะกับสายบริหาร ทำงานแล้วมีความสุข เอาความสนุกเป็นตัวตั้งเลยค่ะ (หัวเราะ)

งานบริหาร : คนละเรื่องเลยค่ะ งานหมอเป็นงานบริการ แต่งานบริหารเป็นงานจัดการออแกไนซ์ จัดอะไรให้เข้ารูปเข้ารอย แก้ปัญหาเฉพาะหน้า ตอนแรกเครียดนิดนึง เพราะเรียนบริหารหลักสูตรการบริหารโรงพยาบาล ของโรงพยาบาลรามาธิบดี โดยที่พื้นฐานเราเป็นหมอสายปฏิบัติงาน ยังไม่มีพื้นฐานในการบริหารมากนัก มาเรียนตอนเป็นรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลเลย ยังไม่มีประสบการณ์ในการเจอปัญหา แก้ไขปัญหา แล้วเราต้องทำงานกับ ซีอีโอ (นพ.อนันต์ อริยะชัยพาณิชย์) ท่านเป็นอดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นสมาชิกวุฒิสภา จ.สุรินทร์ ซึ่งเป็นคุณพ่อสามี ท่านเป็นผู้บริหารที่เก่งมาก ๆ เจอปัญหามาทุกรูปแบบ ทำให้มีช่องว่างในวิธีคิด ในหลาย ๆ อย่าง เวลาปรึกษาปัญหาอะไร ต้องเตรียมทางออกให้ตัวเองด้วย 2 – 3 ทางเลือก เป็นการขอคำแนะนำมากกว่า, คุณพ่อ เป็นผู้นำที่สร้างผู้นำ ท่านจะมีวิธีคิดอีกแบบ ที่ทำให้เรารู้สึกว้าวทุกครั้งที่ถาม, เพราะการสร้างผู้นำ การสร้างผู้บริหารขึ้นมาคนนึง มันยากมาก ผู้ใหญ่ที่สร้างเรา เขาก็ต้องจัดการเราให้เก่งขึ้น ทำให้ได้เรียนรู้แบบที่โรงเรียนไหนก็สอนไม่ได้ การได้อยู่กับคนเก่ง ผู้บริหารเก่ง ๆ หรืออยู่กับเพื่อนร่วมงานเก่ง เป็นเรื่องโชคดี ได้เรียนรู้แบบติดสปีด

คำถามเปลี่ยนชีวิต : ตอนที่จะลาออกจากราชการ ตอนนั้นก็คิดว่า หากเราออกมาทำเอกชน ส่วนสามียังอยู่ในระบบราชการ น่าจะดีแล้ว เมื่อไปเรียนคุณพ่อ ท่านบอกว่า มีสองคำถาม ที่เราต้องตอบให้ได้ก่อน ยังจำได้แม่นมาถึงทุกวันนี้ นั่นคือหนึ่ง ‘อยากเป็นผู้บริหารของกระทรวงสาธารณสุข ที่ดูระบบของประเทศรึเปล่า?’ ข้อแรกก็ทำเอาอึ้งไปพักใหญ่ ท่านบอกว่า ถ้าอยากเป็นแบบนั้น ก็อย่าลาออก เพราะมันมีเส้นทางสายนี้ให้ประสบความสำเร็จได้, แต่ก็คิดว่าน่าจะเป็นเส้นทางของสามี เขาน่าจะอยู่ฝั่งรัฐบาลได้ดีกว่า เพราะเราน่าจะมีชีวิตที่หลากหลาย เหมาะกับการบริหารงานเอกชน น่าจะสนุกกว่า, ส่วนคำถามที่สอง ท่านถามว่า ‘ที่รับราชการมา ใช้เงินภาษีราษฎรเรียนหนังสือ ได้ตอบแทนสิ่งเหล่านั้นให้กับรัฐบาล ให้กับประชาชน เรียบร้อยแล้วหรือยัง?’ ซึ่งเราได้ใช้หนี้ทุน ทำงานตอบแทนตรงนั้นครบถ้วนแล้ว และยังมองว่า ไม่ว่าจะอยู่รัฐหรือเอกชน ขอให้ทำหน้าที่ในมุมของเราให้ดีที่สุด ก็น่าจะสร้างความภาคภูมิใจให้เรา ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน

โรงพยาบาลรวมแพทย์ (หมออนันต์) : จดทะเบียนไว้ 210 เตียง เป็นโรงพยาบาลที่ Compatible With Local People โดยหลักการคือ ทำให้ทุกคนเข้าถึงบริการทางการแพทย์แบบเลือกได้ ที่ไม่ใช่ของรัฐบาล ถึงจะเป็นธุรกิจ แต่หลักสำคัญคือ ช่วยแบ่งเบาภาระหมอของโรงพยาบาลรัฐบาล เราตอบโจทย์ที่ว่า รักษาแล้วหายเร็ว กลับไปใช้ชีวิตได้ แบบที่ไม่ต้องจ่ายเยอะ สบายใจทุกฝ่าย ตามนโยบาย ‘แบ่งเบา เข้าถึง’

ต้องรู้ตัวเอง : อายุมีส่วนสำคัญในเรื่องสุขภาพ ถ้าเรารู้สมรรถภาพร่างกายตัวเอง รู้ข้อจำกัด และจัดการกับมันได้ เราจะใช้ชีวิตได้อย่างเหมาะสม ไม่เสียดายของ, คิดย้อนกลับไปว่า ถ้าตอนอายุยังน้อย แล้วไม่ได้ทำอะไรสุดเหวี่ยงแบบนั้น ‘ขาดทุน เสียชาติเกิด’ (หัวเราะ) แต่ถ้าปัจจุบัน ให้ไปใช้ชีวิตขนาดนั้น ร่างอาจจะโทรม ตรงนี้เป็นทักษะที่ทุกคนต้องประเมินร่างกายตัวเองว่า ควรทำอะไร และไม่ควรทำอะไร ตอนนี้ยิ่งเห็นชัด เพราะคนอายุยืนยาวขึ้น อย่างนักกอล์ฟ พออายุ 60 ยังแข็งแรงอยู่ ทุกคนภูมิใจที่เกษียณแล้ว ยังดูหนุ่มกว่าเพื่อน ๆ ที่อายุรุ่นเดียวกัน แต่พอเข้าไปดูเนื้อแท้แล้ว ผิวตกกระ หน้าเริ่มมีกระเนื้อเต็มไปหมด ยิ่งพออายุใกล้ 70 เริ่มมีปัญหาเรื่องกระดูกสันหลัง เริ่มปวดเอว บิดเอวเล่นกอล์ฟไม่ค่อยได้ หรือหมอที่ต้องก้มผ่าตัดก็เช่นเดียวกัน จะมีปัญหาเรื่องกระดูกต้นคอ เพราะฉะนั้นเรารู้แล้วว่า อย่าไปทำอะไรให้ร่างกายเกิดความเสี่ยงที่จะบาดเจ็บ อย่างถ้าเล่นโยคะ ก็ต้องไม่เล่นท่าที่ศรีษะต้องรับน้ำหนักตัว เราจะรับความเสี่ยงนั้นไม่ไหว หรือ กอล์ฟ จะต้องผ่อนคลายยังไง มีท่าคูลดาวน์ เพื่อให้ร่างไม่พัง เพื่อจะได้ทำในสิ่งที่รักด้วย เราต้องเริ่มมองวิธีการดูแลตัวเอง

ลองอย่างถูกวิธี : อย่างเราเป็นหมอผิวหนัง แล้วไปเล่นกอล์ฟ ต้องตากแดด มีหลายคนทักว่าจะไปเล่นทำไม เดี๋ยวผิวเสีย แต่เรามองว่า ลองดูก่อนมั้ย ถ้าไม่ลองจะรู้ได้อย่างไรว่า ร่างเราทนได้แค่ไหน แต่ไม่ได้ลองแบบบ้าระห่ำนะ รู้ว่าควรใส่เสื้อผ้าแบบไหน ทาครีมกันแดดอย่างไร เพราะแค่ช่องว่างเล็ก ๆ ระหว่างถุงมือกับเสื้อ แสงแดดก็ทำให้ผิวเป็นรอยคล้ำได้แล้ว ทำให้ได้ใช้สมอง ได้ทดลองของจริงว่า เล่นกอล์ฟมาแล้วเป็นปี ฝ้ายังไม่มี เพราะทากันแดดประมาณนี้ ได้ความรู้ไปบอกคนอื่นอีก ถึงแม้ตอนนี้จะยังไม่มีผลิตภัณฑ์ของตัวเอง แต่ก็มีองค์ความรู้ที่จะไปปรับใช้ได้

ธรรมะ ป.6 : ไม่ค่อยได้เข้าวัด ไม่ค่อยได้ศึกษาธรรม เพราะจำไม่ค่อยได้ แต่เรื่อง ’อิทธิบาทสี่’ และ ‘พรหมวิหารสี่’ สองอย่างนี้ จำได้ตั้งแต่ตอนเรียนพุทธศาสนา ป.6 (หัวเราะ) จำได้แม่น เพราะคิดว่ามันจริง แล้วก็ใช้ได้จริง ‘ขอให้เริ่มให้ถูก’ แล้วทุกอย่างจะตามมาเอง อย่างการเล่นกอล์ฟ เมื่อมี ‘ฉันทะ’ ความพอใจรักใคร่สิ่งนั้น เมื่อไหร่ก็ตามที่เรารัก เริ่มทุกอย่างจากความสนุก การฝึกซ้อมคือ ‘วิริยะ’ ความพากเพียรในสิ่งนั้น, ‘จิตตะ’ เอาใจใส่ฝักใฝ่ในสิ่งนั้น ‘วิมังสา’ ความหมั่นสอดส่องในเหตุผลของสิ่งนั้น ในชีวิตก็เช่นกัน ไม่ว่าจะเรื่องอะไร ต้องเริ่มจากความรักความชอบ ความสนุก แล้วทุกอย่างจะตามมาเองจะตามมาเอง อีกสิ่งที่ใช้คู่กันคือ ‘พรหมวิหารสี่’ เมื่อโตถึงระดับนึงแล้ว ให้มองอะไรด้วยความ ‘เมตตา’ แล้ว ‘กรุณา’, ‘มุทิตา’ ‘อุเบกขา’ ก็จะตามมาเป็นกระบวนการเอง แค่มีสองหลักธรรมนี้ เป็นเครื่องชี้นำในการดำรงชีพ ก็จะรู้แล้วว่า ควร หรือไม่ควร ทำอะไรในชีวิต กอล์ฟ : ก่อนหน้านี้เคยมีความสงสัยว่า ทำไมคนไปเล่น ถึงพูดว่า ‘กอล์ฟ’ เป็นการพูดคุยธุรกิจ เป็นการเรียนรู้คน แค่ไม่กี่ชั่วโมงในสนาม ก็สามารถเลือกคบหรือไม่คบใครได้เลย จึงตั้งสมมติฐานว่า กีฬานี้คืออะไร ทำไมถึงให้การยอมรับนับถือกันขนาดนี้ อะไรคือคำว่าโฟกัสที่ตัวเอง แต่ได้สังคมด้วยนะ, พอมาเล่นแล้วก็หายสงสัย ทำให้รู้ว่า เวลาที่เราอยู่ในสถานที่ที่เหมาะสม กับคนที่ใช่ ยังไงก็สนุก บรรยากาศในสนาม เล่นดีหรือไม่ดียังไงก็ทำให้เรามีความสุข เพราะ ‘เวลาเป็นสิ่งมีค่า ก็ควรใช้กับคนที่มีค่า’ ด้วยเช่นกันค่ะ