ใคร… คือ แคดดี้ ที่รวยที่สุด?
ใคร… คือ แคดดี้ ที่รวยที่สุด?
ปฏิเสธกันไม่ได้เลยว่า ในกีฬากอล์ฟ “แคดดี้” คือองค์ประกอบสำคัญ ที่จำเป็นที่สุดอีกหนึ่งตัวแปร, ในระดับสมัครเล่น พวกเราอาจจะเล่นกันแบบเพื่อพักผ่อน สนแค่ความสนุก แต่จะสนุกหรือไม่สนุก ส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับเหล่าบรรดาแคดดี้ด้วย ว่าจะเออออห่อหมก มีความคิดความอ่านทันกันแค่ไหน นอกจากตลกใส่กันเองแล้ว ถ้านักกอล์ฟยิงมุกไป แคดดี้ยิงสวนกลับมาบ้างแบบพองาม บรรยากาศในก๊วนจะเฮฮา บรรลุวัตถุประสงค์ของการพักผ่อน เสียตังค์ แต่ได้รับความสุขกลับมาเต็มเปี่ยม
แต่ในระดับอาชีพ เล่นกอล์ฟกันเพื่อทำเงินล้วน ๆ จะมัวมาเล่นตลกให้ดูอย่างเดียวคงเป็นไปไม่ได้ เพราะหน้าที่ของแคดดี้ ที่จะต้องนำพานาย ให้ไปถึงดวงดาวนั้น มันแสนจะหนักอึ้ง นอกจากการดูแลนักกอล์ฟตั้งแต่ระดับพื้นฐาน ตรวจเช็คอุปกรณ์ บอกข้อมูลในการเล่น ไปจนถึงขั้นสุด คือการให้กำลังใจ ทำให้ผู้เล่นสามารถไปต่อได้ ทั้งในช่วงภาวะตกต่ำถึงขีดสุด จวนเจียนจะตกรอบ หรือกำลังเข้าด้ายเข้าเข็ม เตรียมตัวจะรับแชมป์ คว้าเงินก้อนโต… ใครไม่แน่จริง คงพากันก้าวผ่านไปได้ยาก
ด้วยเหตุนี้ เหล่าบรรดาแคดดี้ชั้นหัวกะทิ จึงมีราคาค่าตัวที่สูงลิบลิ่วตามผลงาน อีกทั้งยังต้องรอคิวที่ไม่รู้ว่า จะโคจรมาเจอกันวันไหน วาสนาไม่บรรจบกันจริงก็ยากที่จะได้ร่วมงาน แล้วก็ใช่ว่า เคยมีผลงานดีกับคนนี้ ไปอยู่กับคนนั้นแล้วจะดีเหมือนเดิม ก็หาเป็นเช่นนั้นไม่ ของแบบนี้ไม่มีสูตรตายตัว แต่จะขึ้นอยู่กับสิ่งใดนั้น คงไม่มีใครตอบได้ชัดเจน
รายได้ของแคดดี้ระดับโลกนั้น นอกจากเงินเดือนประจำที่ ‘นาย’ ต้องควักกระเป๋าจ่ายแล้ว ก็ยังขึ้นอยู่กับการทำเงินของ ‘นาย’ ในการแข่งขัน เรียกว่า ถ้า ‘นาย’ รวยแคดดี้ก็ได้อานิสงส์ โดยมีสูตรว่า ถ้าชนะเลิศ รับไปเลย 10%, ติดท้อปเทน รับ 7% หากตำแหน่งไม่ถึงก็รับแค่ 5% แล้วค่าใช้จ่าย ๆ ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ค่ากิน ค่าอยู่ ระหว่างแข่งขัน นาย ก็ต้องรับผิดชอบให้ด้วย
นอกจากตัวผู้เล่นแล้ว แคดดี้ มีผลเป็นอย่างสูงมาก สามารถชี้เป็นชี้ตายให้กับผู้เล่นได้ ซึ่งตัวนักกอล์ฟเองก็เข้าใจในเรื่องนี้ จึงพยายามเสาะหาเพื่อนคู่ใจ เพื่อไล่ล่าหาความสำเร็จ แน่นอนว่า ของดีไม่มีถูก แต่ถ้าบรรลุวัตถุประสงค์ ไปถึงดวงดาวกันได้ ราคาที่จ่ายย่อมคุ้มเกินคุ้ม
ลองมาดูกันสัก 5 อันดับ ครับว่า ใคร คือแคดดี้ ที่รวยที่สุด ได้กันคนละเท่าไหร่ (เป็นเหรียญสหรัฐ) และถือให้ใครบ้าง เป็นสถิติข้อมูลของปี 2020 นะครับ
1.จิมมี่ จอห์นสัน (จัสติน โธมัส) 502,851
แคดดี้ระดับตำนานท่านนี้ เติบโตขึ้นมาที่ ดัสลาส เท็กซัส เคยเล่นกอล์ฟให้กับ มหาวิทยาลัย นอร์ธ เท็กซัส, ก่อนจะมาเป็นแคดดี้ เคยเป็นผู้เล่นในทัวร์เล็ก ๆ มาก่อน ก่อนจะหันมาเป็นแคดดี้อาชีพ จนประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียงมายาวนาน เขาเคยถือให้กับมือระดับโลกอย่าง ชาร์ล ฮาวล์, สตีฟ สตริคเกอร์, นิด ไพร์ซ และ อดัม สก็อต ถ้าไม่มีของดีจริงคงไม่มีชื่อผู้ใช้บริการยาวเหยียดแน่นอน และเขายังบอกด้วยว่า ชอบเป็นแคดดี้ในรายการไรเดอร์คัพเป็นที่สุด
2.โจนาธาน จาโคแวค (คอลลิน โมริกาวา) 486,825
หลังจากจบมหาวิทยาลัย โจนาธาน พยายามสอบเข้าทัวร์ แม้จะไม่ผ่าน แต่เขาก็ยังได้อยู่ในแวดวงกอล์ฟอาชีพต่อไป ด้วยการเป็นแคดดี้ให้กับ ไรอัน มัวร์ ถึง 7 ปี, ปัจจุบันเขาถือถุงให้กับ คอลลิน โมริกาวา และคอยดูแลให้ทั้งเขาและนาย ได้ไปต่ออีกเรื่อย ๆ
3.ออสติน จอห์นสัน (ดัสติน จอห์นสัน) 472,600
แค่นามสกุลก็คงรู้เป็นเลา ๆ แล้วว่า นี่คือน้องชายแท้ ๆ ของนักกอล์ฟมือวาง ดัสติน จอห์นสัน พี่น้องคู่นี้นับว่า ซี้ย่ำปึ๊ก กันสุด ๆ ทำให้ทั้งคู่สามารถสร้างผลงานได้อย่างโดดเด่นมาโดยตลอด
4.พอล เทซอรี (เว็บบ์ ซิมสัน) 417,595
ก่อนจะมาถือถุง ก็เคยเป็นผู้เล่นเช่นกัน ก่อนหน้านี้เขาเคยถือให้กับ วีเจย์ ซิงค์, เจอรี่ เคลลี่ และ ฌอน โอแฮร์ โดยปัจจุบันทำงานร่วมกับ เว็บบ์ ซิมสัน จนพากันคว้าแชมป์ เดอะ เพลเยอร์ แชมเปี้ยนชิพ เมื่อปี 2018
5.อดัม ฮาเยส (จอน ราห์ม) 374,625
ก่อนหน้ามาเจอกับ จอน ราห์ม, อดัม เคยถือถุงให้กับ เจสัน ดัฟเนอร์, รัสเซล เฮนเลย์, วอจ์ฮาน เทยเลอร์ และ เบน เครน, อดัม ฮาเยส อยู่ในแถวหน้าของวงการแคดดี้มาหลายปี และคาดว่าคงจะรับทรัพย์ได้อีกโข หากยังร่วมงานกับ จอน ราห์ม ต่อไปอีก
ลองมาดูกันว่า อันดับถัด ๆ ไป เป็นอย่างไรกันบ้าง
6.Tim Tucker (Bryson DeChambeau) $353,801
7.Kessler Karain (Patrick Reed) $346,500
8.Josh Cassell (Daniel Berger) $343,470
9.Marc Kelly (Marc Leishman) $330,100
10.Albin Choi (I’m Sung-jae) $278,085
11.Mark Crane (Tyrrell Hatton) $287,400
12.John Limanti (Adam Scott) $287,400
13.Terry ‘T’ Walker (Andrew Landry) $245,500
14.Sam Pinfold (Cameron Smith) $240,000
15.Damien Lopez (Michael Thompson) $238,800
เป็นอย่างไรบ้างครับ รายได้ที่เห็น จัดว่าไม่ธรรมดาเลย ยิ่งคูณเป็นเงินบาท ด้วย 35 – 36 ตามค่าเงินปัจจุบัน ยิ่งจะทำให้ทราบว่า อาชีพแคดดี้ ก็เป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้ที่มีจิตใจรักกอล์ฟ อยากมุ่งเอาจริงเอาจังกับกีฬากอล์ฟ แต่ก็ใช่ว่าหนทางสู่ดวงดาว จะมีแค่เส้นทางเดียวเท่านั้น เมื่อเป็นผู้เล่นเองไม่ได้ ก็ลองหันมาเปลี่ยนเป้าหมาย มาเป็นผู้ช่วยก็ยังได้ ไม่ว่าจะอยู่ตำแหน่งไหน ทำหน้าที่ไหน ก็ประสบความสำเร็จในสายอาชีพได้เหมือนกันนะครับ
กองบรรณาธิการ
ข้อมูล / ภาพ : southamptongolfclub.com