Interview

พิรุณโรจน์ นาคดนตรี

พิรุณโรจน์ นาคดนตรี
นายอำเภอบ้านแพ้ว
“ความสุขของผม อยู่บนพื้นฐานความสุขของคนอื่น”

เด็กชุมพร : ผมเป็นเด็กนักเรียนระดับกลาง ๆ ที่ไม่อยู่หน้าห้องหรือหลังห้อง เพื่อนไม่ค่อยรู้จัก เพราะเป็นคนเงียบ ๆ ค่อนข้างเรียบร้อย แต่ดื้อใน เกิดที่พังงา แต่ย้ายตามพ่อแม่มาเรียนหนังสือที่ศรียาภัย จ.ชุมพร ชอบเล่นกีฬาทุกอย่าง ฟุตบอล ตะกร้อ วอลเลย์ นักกรีฑา กระโดดไกล เล่นจนบาดเจ็บ ต้องพักยาว

จุดประกาย : จากการชอบเล่นกีฬา ต้องไปสนามกีฬาของจังหวัดทุกวัน ช่วงเรียน ม.4 มีอยู่วันหนึ่งอยากเล่นฟุตบอลมาก วิ่งไปสนาม เจอฝนตกหนัก จนต้องไปหลบอยู่พักใหญ่ พอฝนหยุด ก็ออกมาดู พบว่าสภาพสนามดูไม่ได้เลย เละเทะ ขยะทุกสารทิศมากองเต็มสนาม วันนั้นจึงไม่ได้เล่น ประกอบกับช่วงนั้นฝนตก ผ่านไปได้ราวสัปดาห์ หมดมรสุม ผมกลับมาอีกครั้ง แต่สภาพสนามยังเหมือนเดิมกับเมื่อครั้งก่อน ไม่มีใครมาเก็บกวาด ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เลย จนผมมีความคิดว่า ใครมีอำนาจจัดการสิ่งเหล่านี้ได้ ก็ไปถามครู คำตอบก็คือ “ผู้ว่าฯ” จึงเกิดความคิดขึ้นมาว่า สักวันเราจะเป็นผู้ว่าฯ แล้วทำสนามกีฬาให้ดี ให้เจริญกว่านี้ เป็นความคิดเพ้อฝันแบบเด็ก ๆ ถือเป็นการจุดประกายความฝันในชีวิตเลยก็ว่าได้ (หัวเราะ)

สานต่อความฝัน : ผมไปถามครูว่า ถ้าจะเป็น ผู้ว่าฯ จะต้องทำยังไงถึงจะเป็นได้ ครูก็ให้คำแนะนำมา ว่าจะต้องเรียนทางสาขาไหน ผมเลยจริงจัง เริ่มมีเป้าหมายในชีวิตแล้ว ว่าอยากจะเป็นผู้ว่าฯ เพื่อมาทำสนามกีฬา ให้สวย ให้ดี (หัวเราะ) พอจบมัธยมปลาย ผมประเมินตัวเอง แล้วตั้งใจมาเรียนที่ คณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง โดยไม่เอ็นทรานส์เลย มาพร้อมกันกับเพื่อน ๆ ยิ่งเรียน ก็ยิ่งชอบ ตรงกับที่ใจอยากจะเป็น ทั้งการบ้าน การเมือง สังคม ยิ่งได้ทำงาน ยิ่งซึมซับเรื่องอุดมการณ์ในการช่วยเหลือผู้คน

ตบมือเลี้ยงตัวเอง : ระหว่างเรียนก็ทำงานไปด้วย เพราะเราไม่ได้มาจากครอบครัวที่มีฐานะดีเท่าไหร่ เคยรับจ้างไปนั่งตบมือในสตูดิโอ รู้สึกดีใจที่ได้เงินง่าย จนสนิทกับพนักงาน และได้ไปทำงานเบื้องหลัง หาคนมาทำหน้าที่อย่างที่เราเคยทำ คอยประสานงาน เวลามีกิจกรรมตามที่ต่าง ๆ ก็คอยไปช่วยเหลืองานด้านหลังเวที ทำให้มีประสบการณ์ในเรื่องการทำงานเบื้องหลัง

ธุรกิจบันเทิง : จากลูกจ้างเบื้องต้น ผมขยับขึ้นไปเป็นหัวหน้างาน หน้าที่การงานก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ แต่ผมก็ไม่ทิ้งความฝัน คอยฟังข่าวว่าเมื่อไหร่จะเปิดรับสมัครสอบรับราชการเป็นปลัดฯ จัดสอบกันทุกห้าปี ปีที่ผมจบมีเปิดสอบพอดี แต่ผมเตรียมตัวเรื่องเอกสารไม่ทัน ทำให้ต้องรอไปอีกห้าปี ระหว่างนั้นก็ทำงานจนเกือบจะเปิดบริษัทให้เช่าเครื่องเสียง เครื่องไฟ อุปกรณ์ที่ใช้ในการจัดงาน จัดเวที โดยตำแหน่งสุดท้ายผมได้เป็นเจ้าของโครงการการจัดงานแล้ว

สานต่อความฝัน : ผมอยากทำงานตรงสายกับที่เรียนมา อุดมการณ์ที่ปลูกฝังไว้ตั้งแต่เมื่อครั้งยังเด็กยังอยู่เรื่อยมาไม่ได้หายไปไหน คิดตลอดว่า เมื่อไหร่จะเปิดสอบ ทำให้มีการเตรียมตัวอยู่เรื่อย ๆ ที่ไหนคิดว่าติวดีก็สมัครไปเรียนหมด ผมทำอะไรก็จะทุ่มเต็มที่ ทุ่มสุดตัว เพราะคิดว่า ถ้าทำเต็มที่แล้ว มันไม่ได้ ก็ต้องปล่อยมันไป เป็นครั้งแรกที่สอบเข้ารับราชการ ไม่เคยสอบมาก่อน ไม่มีมั่นใจ นอกจากอ่านหนังสือเตรียมตัวแล้ว ก็ยังต้องอาศัยที่พึ่งทางใจจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วย คนสอบทั้งประเทศหกหมื่นกว่า รับเข้าราวเก้าร้อยคน ผลออกมาสอบได้เป็นลำดับที่ 13 ได้เรียกบรรจุเป็นชุดแรก ผมต้องแก้บนหลายแห่ง จนบางที่จำไม่ได้ก็มี (หัวเราะ) ถึงกับต้องโกนหัวบวช จัดแสดงรำมโนราห์ ตอนที่สอบเข้ารับราชการได้ งานในบริษัทเอกชนค่อนข้างไปได้ดีแล้ว แต่ก็ตัดใจลาออก เพื่อมาเดินตามฝัน จากเงินเดือนหลายหมื่น มารับเงินเดือนครั้งแรก 7,260 บาท เมื่อปี 2548 แต่ผมก็มองไปที่ศักดิ์ศรีและอุดมการณ์ที่ฝันมาตลอดว่าจะทำสิ่งนี้ให้ได้

ชีวิตข้าราชการ : สมัยเรียน ได้ทำงานด้านจิตอาสา ไปสัมผัสชีวิตในชนบทห่างไกล ไปช่วยเหลือชาวเขาชาวดอย ทำให้ซึมซับในเรื่องการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส รับราชการครั้งแรก ไปอยู่ที่ อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี ก่อนจะได้ย้ายกลับมาที่ ชุมพร แล้วได้ติดตามท่านผู้ว่าฯ ในสมัยนั้น มาอยู่กระทรวงมหาดไทย, ผมเคยมาเป็นปลัดอำเภอ ที่ สมุทรสาคร มาก่อน นั่นคือครั้งแรกที่ได้มาอยู่ในพื้นที่แถบนี้จนมีความผูกพันยาวนาน จนกระทั่งขึ้นไปเป็นผู้บริหารระดับกลาง เป็นป้องกันจังหวัด ที่ จ.นครปฐม และไปเป็นนายอำเภอครั้งแรกที่ อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์

เดินเท้าเข้าพื้นที่ : สมัยอยู่ อ.นาคู ผมใช้เวลาในการเดินเท้าในแต่ละวันค่อนข้างมาก ชักชวนกำนันผู้ใหญ่บ้านเจ้าหน้าที่ เดินเข้าไปสำรวจพื้นที่ ซึ่งมีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาทั้งสี่มุมของ อ.นาคู โดยชีวิตปกติของคนที่นั่นคือการเลี้ยงสัตว์ พอถึงหน้าน้ำ จะนำวัวควายขึ้นภูเขา ทางขึ้นเขาสูงชัน แต่ด้านบนเป็นพื้นราบ พวกเราพากันไปสำรวจพื้นที่ บางจุดมีทัศนียภาพงดงาม สามารถประชาสัมพันธ์ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ และเมื่อผมได้ย้ายมาเป็นนายอำเภอที่บ้านแพ้ว ก็ยังได้นำแนวคิดเหล่านี้มาปรับใช้อย่างต่อเนื่องอีกด้วย

บ้านแพ้ว : ผู้คนมักจะรู้จักว่า มะพร้าว น้ำตาลสด เป็นผลผลิตที่มีชื่อเสียงของที่นี่ เพราะเห็นวางขายตามข้างทาง แต่ถ้าเป็นผลไม้หรือสินค้าชนิดอื่น ก็ไม่ทราบว่ามีอะไรอีกบ้าง หรือจะไปซื้อที่ไหน ทั้ง ๆ ที่ บ้านแพ้ว ยังมีผลไม้และสินค้าเกษตรอีกหลากหลายชนิด ที่มีคุณภาพดีมาก ๆ แต่อาจจะไม่ค่อยทราบกัน เช่น ลำไย หรือแม้กระทั่ง ปลาสลิด ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นของดีมีคุณภาพ แต่ผลผลิตส่วนใหญ่ ที่ได้มานั้น มักจะถูกส่งเข้าโรงงานแปรรูป หรือส่งออก ทำให้สินค้าที่เราผลิตได้ ไม่มีจัดจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยว แล้วทำอย่างไรเราถึงจะถึงรายได้เพิ่มขึ้น นักท่องเที่ยว มาเที่ยวแล้ว ก็อยากจะซื้อของฝากติดไม้ติดมือกลับไป เกษตรกร สามารถนำผลผลิตออกมาขายโดยตรง ได้ราคาดีกว่า มีตลาดผลไม้

ตลาดกลาง : เราจะนำผลผลิตทุกอย่างมารวมกัน แล้วนำไปขายที่ ตลาดกลางสหกรณ์เกษตรบ้านแพ้ว ตั้งอยู่ในตัวอำเภอ เป็นโครงการที่ปรึกษากับท่านผู้ว่าฯ เตรียมจะจัดทำหลังจากภาครัฐได้ประกาศให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว นักท่องเที่ยวที่เข้ามา เขามีกำลังซื้อ เราก็ต้องจัดเตรียมสินค้า อันเป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่น เพื่อสร้างรายได้ เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนให้กับชุมชน ถ้ากลุ่มวิสาหกิจผูกกันได้ คนในพื้นที่ก็จะมีอำนาจต่อรอง

ศักยภาพ : เราทำได้แค่ไหน มีจุดขายยังไง มีโอกาสที่จะต่อยอดได้ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง โดยไม่คิดจะไปเป็นคู่แข่ง หรือเปรียบเทียบกับใคร โดยมองเรื่องศักยภาพของพื้นที่เป็นหลัก จะเอาเอกลักษณ์ของเรา ซึ่งเป็นเมืองแห่งผลไม้ ยกขึ้นมาให้โดดเด่น แม้กระทั่งคำขวัญเดิม ณ ปัจจุบันก็ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงแล้ว ก็อาจจะมีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น

กิจกรรมเปิดเมือง : ในช่วงวิกฤติโควิด พวกเราก็มุ่งทำอยู่กับเรื่องการรักษาชีวิตให้ปลอดภัย แต่เมื่อวิกฤติพ้นผ่านไปแล้ว ก็ต้องหันกลับมาดูแลในเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจ อยากให้คนรู้ว่า บ้านแพ้วเรามีดีอะไรบ้าง อยากให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ อยากจะเชื่อมโยงร้านกาแฟ คาเฟ่ต่าง ๆ ที่มีอยู่ราวสามสิบกว่าแห่ง เคยได้ชื่อว่าเป็น แลนด์ ออฟ คอฟฟี่ มาแล้ว หลังจากที่เราเปิดเมืองได้ ก็คาดว่าหลังจากนั้นไม่นาน ก็จะมีกิจกรรมเพื่อส่งเสริมแนวคิดนี้เกิดขึ้นตามมา อันดับแรกเลยคงมีการจัดงานบริเวณที่ว่าการอำเภอ นำสินค้าโอทอป ของดีของเรามาโชว์ อย่างน้อยเป็นการเริ่มนับหนึ่ง เพื่อจุดประกาย เราเคยจัดมาแล้วเมื่อครั้งเริ่มผ่อนคลาย ในช่วงวันหยุดเดือนธันวาคม ปี 2564 กลางวันมีเรือวิ่งพาไปไหว้พระวัดหลักสี่ เที่ยวตลาดน้ำหลักห้า ซึ่งเป็นจุดเชื่อมโยงกับราชบุรี ในแต่ละสัปดาห์จะมีสโลแกนของงานต่างกันไป เช่น แลนด์ ออฟ โคโคนัท เน้นผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับมะพร้าว, แลนด์ ออฟ ลำไย เน้นเรื่องลำไย, แลนด์ ออฟ ออร์คิด เน้นในเรื่องกล้วยไม้, แลนด์ ออฟ ปลาสลิด และ กุ้ง, ช่วงบ่าย ๆ เย็น ๆ มาเดินเล่น บรรยากาศริมน้ำ อากาศกำลังเย็นสบาย มีสินค้ามากมายมาจำหน่าย มีดนตรีสด ได้รับความร่วมมือจากกลุ่มวัฒนธรรมต่าง ๆ มาช่วยเหลือ ให้ความร่วมมือ จัดการแสดงต่าง ๆ ทำให้ได้เสียงตอบรับที่ดีมาก ๆ เราให้ผู้เข้ามาค้าขายได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย มีแต่ได้กับได้ ใช้ทุนในการจัดงานราวห้าแสนบาท แต่เงินสะพัดกลับมาถึงราวสิบล้านบาท

ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต : ปัญหาคือ คนเก่าแก่ที่อาศัยอยู่ที่นี่มานาน มักจะไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ชอบใช้วิถีชีวิตแบบดั้งเดิม ไม่ได้มองถึงวิธีการใหม่ ๆ เพราะชีวิตไม่ได้มีความเดือนร้อน แต่เราอยากจะเปลี่ยนวิธีคิดด้วยมุมมองใหม่ ๆ เพื่อต่อยอดไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน ซึ่งอาจจะมีแนวคิดใหม่ ๆ มาสรรค์สร้างผลิตภัณฑ์แปรรูป เพื่อเพิ่มมูลค่าให้ได้ เช่น มะพร้าว จากเดิมที่ขายเป็นลูกอย่างเดียว ก็สามารถทำเป็นขนม เครื่องดื่ม ชนิดต่าง ๆ ให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น แต่ยากตรงที่การเปลี่ยนวิธีคิดของคน จึงต้องทำแบบค่อย ๆ เป็น ค่อย ๆ ไป

พหุภาคี : บ้านแพ้ว เป็นอำเภอเดียวของประเทศไทย ที่มีการประชุมแบบ พหุภาคี มีทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ร่วมกับการปกครองส่วนท้องถิ่น บุคลากรทางการศึกษา ครู ผู้อำนวยการโรงเรียน ไวยาวัจกร เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล เจ้าอาวาสวัด ฯลฯ มานั่งประชุมร่วมกันทั้งหมดที่วัดหลักสี่ จัดแบบนี้ทุก ๆ สามเดือน เพื่อชี้แจงข้อราชการ ปรึกษาหารือ โดยใช้หลัก บวร (บ้าน วัด โรงเรียน) ทั้งนี้ ทุกฝ่าย ต่างรับฟังปัญหาซึ่งกันและกัน การประสานเชื่อมโยงก็ทำได้ง่ายขึ้น

กีฬาไม่เคยห่าง : ช่วงโควิด อาศัยการวิ่งรอบ ๆ ที่ว่าการอำเภอ เพราะไม่มีความแออัด พอมาอยู่บ้านแพ้ว หลังจากโควิดเริ่มเบาบางลง เราก็อึดอัดจากการไม่ได้ออกกำลังกาย เชิญชวนทีมงานทุกคนที่ชอบออกกำลังกาย ให้มาจัดแข่งฟุตบอล ประชาสัมพันธ์ให้วันพุธเป็นวันแห่งการออกกำลังกาย ทุกเย็นก็เล่นกีฬา มีความคิดที่จะให้แต่ละชุมชน จัดแอโรบิคของตำบล อยู่ในแผนที่จะจัดทำหลังโควิด และช่วยเหลือบุคคลที่ตกเกณฑ์ด้านสุขภาพ ให้ทำโครงการ แอโรบิคแดนซ์ เป้าหมายอยู่ที่ 500 คน ในพื้นที่ที่กว้างขวางพอสมควร แล้วจะต่อยอดให้ รพ.สต. (โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล) แต่ละตำบล จัดสถานที่ เพื่อจัดแอโรบิค ทุกวันพุธ หรือจะมากกว่านั้นก็ยิ่งดี และยังเตรียมจัดวิ่ง มินิมาราธอน ที่ พุทธมณฑล อำแพง บ้านแพ้ว ตั้งเป้าในเดือนแห่งวันแม่ “วิ่งบอกรักแม่”

บริหารจัดการ : เราเชิญชวนให้กลุ่มนักวิ่งเข้ามาบริหารจัดการ โดยเราเป็นผู้คอยให้การสนับสนุน เพื่อจะไม่ต้องใช้งบจากภาครัฐ เพราะผมทำงานอยู่กับทั้งภาคเอกชนและภาครัฐมานาน ทำให้ทราบถึงเงื่อนไขต่าง ๆ บางเรื่องเอกชนได้เปรียบ เช่น ความรวดเร็ว ส่วนทางรัฐทำได้มากกว่าในเรื่องความละเอียด ข้อกฎหมายต่าง ๆ ก็ต้องมาปรับเข้าหากัน พยายามจูงใจให้คนเข้าใจในระบอบของรัฐมากขึ้น เพราะมีทั้งกรอบ กฎหมาย ขั้นตอน ระยะเวลา เราจึงต้องพยายามตื่นตัว ทำงานให้รวดเร็วขึ้น และต้องพยายามออกไปพบปะกับทุกชุมชน กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มเด็กนักเรียน

คุณภาพชีวิต : เศรษฐกิจ ในอำเภอบ้านแพ้ว มีจุดแข็งหลายด้าน เรามีธรรมชาติเป็นตัวชูโรง สถานที่เหมาะกับการพักผ่อนหย่อนใจ ยุทธศาสตร์ในอนาคตอันใกล้ คือเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของผู้คนมากขึ้น ราชการที่เกษียณอายุก็มาหาซื้อที่เพื่อปลูกบ้านพักอาศัย บ้านจัดสรรก็เริ่มเข้ามาสร้างโครงการ บ้านแพ้ว เป็นพื้นที่สีเขียว ที่เปิดโอกาสให้เฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมที่ไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อม ไม่สร้างมลภาวะ ส่วนใหญ่เป็นการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเท่านั้นที่จะอยู่ได้ บ้านแพ้วเป็นเมืองผลไม้ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยสำคัญ ของชานเมืองหลวง ซึ่งในที่อื่น ๆ นั้นหนาแน่นไปหมดแล้ว ทำให้ราคาที่ดินในปัจจุบันขยับสูงขึ้นไปกว่าเดิมมาก เราจึงต้องเตรียมรองรับกับความเจริญในอนาคต สร้างความแข็งแกร่งของพื้นที่ให้ดี ทำเศรษฐกิจเชิงนิเวศน์ เชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ รักษาอัตลักษณ์ของบ้านแพ้ว ให้คงอยู่ให้ได้ เน้นการท่องเที่ยวชุมชม ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ เชิงนิเวศน์ ผสมผสานไปกับ ร้านอาหาร การท่องเที่ยวริมน้ำ การไหว้พระ ต่อยอดไปสู่การเที่ยวชมสวนของเกษตรกร สามารถมาศึกษาดูงาน เรามีครบ เพียงแต่ต้องเชื่อมโยง จูงใจ ให้ทุกคนร่วมมือกันทำสิ่งนี้ เราได้รับแรงสนับสนุนค่อนข้างดี หลายฝ่ายให้ความสนใจ และภาคเอกชนก็พร้อมจะเกื้อกูล

ความสุขของชีวิต : ความสุขของผม อยู่บนพื้นฐานความสุขของคนอื่น ผมให้ความสำคัญกับความสุขของประชาชน พูดไปแล้วเหมือนจะเป็นอุดมการณ์ค่อนข้างมาก แต่เรื่องนี้อยู่ในใจของผมมาตั้งแต่เด็กแล้ว การทำให้ผู้ที่ด้อยโอกาส ได้รับโอกาส การทำให้คนอื่นมีรอยยิ้ม มีสีหน้าเบิกบาน เมื่อได้เห็นรอยยิ้มคนอื่น เห็นเขามีความสุข ก็พลอยเบิกบาน อิ่มใจไปด้วย ชีวิตเราอยู่แบบพอเพียง พออยู่พอกิน ไม่มีหนี้สิน ไม่เดือดร้อน ดูแลพ่อแม่ได้ ว่างเมื่อไหร่ ก็ออกกำลังกาย นั่นคือความสุขที่แท้จริงครับ