ตีไกลได้เปรียบ?
ตีไกลได้เปรียบ?
คุยถึงเรื่องการตีไกลมาหลายฉบับแล้วครับ ที่ผ่านมาก็มีหลายรูปแบบ ทั้งตีไกลเพื่อชัยชนะเฉพาะประเภท คือ ตีไกลกว่าแล้วชนะเลย แบบโป้งเดียวจบ หรือการสร้างสถิติตีไกล ทั้งแบบตั้งใจและไม่ตั้งใจ ซึ่งอย่างหลัง มักจะมาพร้อมกับคะแนนที่เลยไปมากกว่าพาร์ ถึงได้รับการจดบันทึกไว้ว่า เป็นผู้ตีไกลแบบสุดกู่ แต่ก็ไม่แน่เหมือนกันว่า เจ้าตัวจะภูมิใจกับสถิติที่ได้มามากน้อยแค่ไหน
ลองมาดูเรื่องนี้กันต่ออีกนิดครับ เนื่องจากเกิดความสงสัยว่า แล้วพวกที่ตีไกลจริง ตีไกลจนเป็นนิจ พวกนี้จะมีความได้เปรียบมากน้อยแค่ไหน เมื่อลองเข้าไปค้นใน PGA ก็พบว่า สถิติต่าง ๆ ที่ฝรั่งเขาจดบันทึกไว้ ละเอียด และมีข้อปลีกย่อย ให้เลือกดูกันแบบตาแฉะไปเลย ผมจึงใคร่ขอเจาะเฉพาะในส่วนที่สนใจใคร่รู้เท่านั้น เนื่องจากบางเรื่องดูแล้วเข้าใจยาก (มั้ง) แค่นี้ก็รกสมองแล้ว แต่ก็สนุกดีครับ อย่างน้อยจะได้มีหลักฐาน เพื่อพิสูจน์กันชัด ๆ ว่า ถ้าในอนาคต เราจะสร้างเด็ก ให้ก้าวไปสู่สังเวียนกอล์ฟโลก ช็อตใด มีความสำคัญที่สุดตามสถิติ แล้วถ้าทำไม่ได้ล่ะ เราจะแก้ไขยังไงได้บ้าง เพื่อให้ผลลัพธ์ออกมาได้ใกล้เคียงกัน นั่นคือความสำเร็จ ที่จะได้เห็นนักกอล์ฟไทย ไปโลดแล่นในเวทีโลก โดยเราจะมาดูว่า ผู้ทำสถิติดีที่สุดในแต่ละหัวข้อนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับมือหนึ่งในทัวร์ เป็นอย่างไรกันบ้าง
วันนี้เรามาเจาะเฉพาะกลุ่มนักกอล์ฟใน PGA Tour ที่ตีได้ไกลเกิน 320 หลา เป็นนิจ จะเห็นได้ว่า Matthew Wolff นักกอล์ฟอันดับ 78 ของโลก มาเป็นอันดับหนึ่ง ด้วยสถิติตีไกลเกิน 320 หลา มากถึง 53.19 % จากจำนวน 50 รอบที่ลงเล่น ไดร์ฟไปทั้งหมด 94 ครั้ง มี 50 ครั้ง ที่ตีไกลเกิน 320 หลา ซึ่งนับว่าอยู่ในกลุ่มที่ตีไกลที่สุดแล้ว โดยมีสถิติเฉลี่ยว่า นักกอล์ฟในทัวร์ แต่ละคนไดร์ฟได้ไกลเกิน 320 หลา 17.27% นั่นหมายถึง ทุกคนมีความสามารถตีไกลได้แน่ ๆ แต่จะบ่อยแค่ไหน นั่นเป็นอีกเรื่อง (ระยะไดร์ฟเฉลี่ยในทัวร์คือ 298.1 หลา)แต่สิ่งที่น่าสนใจที่สุดก็คือ เมื่อตีไกลได้บ่อย ๆ แล้ว คะแนนจะตีตามไปด้วยหรือไม่นี่สิ่ เป็นสิ่งสำคัญกว่า กรณีของ Matthew เขาทำได้ -0.30 จากพาร์ นั่นแสดงว่า ตีไกลมีผลในทางที่ดีกับคะแนน และจากสิบอันดับแรกของตารางผู้มีระยะเฉลี่ยไกลเกิน 320 หลา ก็พบว่าส่งผลดีกับแต้มทั้งนั้น แต่ว่ามากน้อยแตกต่างกันไป อย่าง Brooks Koepka อยู่ในอันดับที่สิบของสถิตินี้ โดยทำได้สูงถึง 40.91% แต่กลับไม่ค่อยช่วยในเรื่องคะแนนมากนัก เพราะได้ตีไกลช่วยมาแค่เพียง -0.19 จากค่าพาร์ แต่นั่นก็พิสูจน์ให้เห็นว่า ไกลไว้ก่อน ดีแน่ (หมายถึงลูกต้องอยู่ด้วยนะ) โดยมือหนึ่งของโลก Scottie Shceffler อยู่ในอันดับ 25 ร่วม ที่ 29.41% แต่ช่วยในเรื่องแต้มได้ถึง -0.38 ซึ่งนับว่ามีประโยชน์ไม่น้อยเลย
ลองเปลี่ยนไปดูกลุ่มที่ ‘แม่น’ กันบ้าง Ryan Armour (อันดับโลก 346) มาเป็นอันดับแรกด้วยความแม่นแฟร์เวย์ ถึง 75.04% (เฉลี่ยทั้งทัวร์ 60%) แต่… เมื่อดูรายชื่อแล้ว สิบอันดับแรกของผู้ตีอยู่ในกรอบ กลับไม่ค่อยคุ้นหูเท่าไหร่นัก ขณะที่ Scottie Scheffler มือหนึ่งของโลก อยู่ในอันดับที่ 108 ร่วม มีความแม่นอยู่เพียง 59.85% เท่านั้น ต่ำกว่าของ โปรอาร์ม กีรเดช ที่อยู่ในอันดับ 42 (64.60%) แถมยังต่ำกว่ามาตรฐานของค่าเฉลี่ยทั้งทัวร์ด้วยซ้ำ แต่ด้วยองค์ประกอบอื่น ก็ทำให้เขาขึ้นเป็นมือหนึ่งได้ ไว้โอกาสต่อไปเราจะเจาะกันอีกทีว่าเขามีทีเด็ดส่วนไหนบ้าง
มาดูพวกที่ ‘ไกล’ จริง ว่ากลุ่มนี้ มีนัยสำคัญอย่างไร กับอันดับโลก ผู้ที่ยอมรับว่าไกลสุด คือ Cameron Champ (อันดับโลก 130) โดยทำได้เฉลี่ยที่ 320.2 หลา (ทั้งทัวร์อยู่ที่ 298.1 หลา) ตามมาติด ๆ โดย Matthew Wolff 318.4 หลา (อันดับโลก 78) ผู้ที่ทำระยะเกิน 320 หลา ได้บ่อยมากที่สุด คู่นี้สลับกันในเรื่องสถิติไกลมาก กับไกลบ่อย ถือว่าสูสีกันมาก โดยมือหนึ่งของโลก Scottie Scheffler อยู่ที่ 19 ร่วม ด้วยระยะ 310.9 หลา ก็ยังนับว่าอยู่ในกลุ่มตีไกล (มาก) เกินค่าเฉลี่ยของทั้งทัวร์ไปค่อนข้างเยอะ
จากตัวเลขสถิติต่าง ๆ ใน PGA Tour เท่าที่เห็น ๆ ในเรื่องการตีไกล จะพบได้ว่า ระยะทางเป็นสิ่งสำคัญ ที่มีผลกับการทำผลงานพอสมควร แต่ก็ไม่ถึงกับที่สุด เพียงขอให้ได้ระยะที่มากเกินกว่าค่าเฉลี่ย ก็จะมีโอกาสสร้างผลงานดี ๆ ได้มากอยู่ ทั้งนี้ จากตัวเลขที่ปรากฏ พบว่า ความแม่น ตีให้อยู่แฟร์เวย์ ยังไม่สำคัญเท่าความไกล (ไม่อยู่ในแฟร์เวย์ แต่ก็ต้องเล่นช็อตต่อไปได้ด้วยนะ) เพราะนั่นอาจจะทำให้ได้เปรียบในการเล่นช็อตต่อไปสั้นลง มีโอกาสส่งลูกให้ไปใกล้หลุมได้มากขึ้น บ่อยขึ้น
ดังนั้น หากคิดว่าจะเดินสาย ออกไปเล่นทัวร์ ก็คงต้องพิสูจน์ตัวเองให้ได้ก่อนจากระยะที่ทำได้ เพราะถ้าแม่นอย่างเดียว แต่ระยะไม่ถึง ก็คงสู้ลำบาก ส่วนพวกไกลไร้ทิศทาง หากปรับแก้ได้ ก็ยังมีโอกาส ซึ่งข้อคิดเห็นทั้งหมดนี้ ยึดเอาตัวเลขจาก PGA มาอ้างอิง ส่วนข้อเท็จจริงในชีวิตนั้น คงต้องว่ากันในอีกหลายมิติครับ
ข้อมูล / ภาพ : PGA Tour