วางแผนการซ้อมกอล์ฟอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ
วางแผนการซ้อมกอล์ฟอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ
สวัสดีครับ คุยกับ ดร. อมร ในสัปดาห์นี้ อยากจะมาคุยในเรื่อง การวางแผนการฝึกซ้อมอย่างมีประสิทธิภาพให้แก่เยาวชน ในแต่ละครั้ง ที่ผู้ปกครองพาลูกไปซ้อมกอล์ฟ ได้มีการวางแผนการซ้อมอย่างจริงจังแล้วหรือไม่?
สำหรับผม ลูกสาวเล่นกอล์ฟมาแล้วเกือบ 4 ปี ยังไม่เคยได้เขียนแผนการฝึกซ้อมอย่างเป็นจริงเป็นจังเลย แต่หลังจากได้เรียนรู้และศึกษา ผมได้เข้าใจเลยว่า การวางแผนการซ้อมนั้น มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะการไปซ้อมกอล์ฟแต่ละครั้ง ต้องใช้ทั้งเงินค่าลูกกอล์ฟ และเวลาอันแสนมีค่า จึงควรจะรู้ว่าสิ่งไหนที่ลูกเรายังต้องฝึกฝน เรียนรู้ และพัฒนาต่อ อย่างให้มีประสิทธิภาพได้มากขึ้น
มาดูเลยดีกว่าครับ ว่าเวลาจะไปซ้อมที่สนามไดร์ฟ เราเคยมีการวางแผนการซ้อมหรือไม่? ผมมี 3 สิ่ง ที่ต้องมีเสมอ สำหรับ การวางแผนการซ้อม อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้
1. ต้องมีเป้าหมายในการฝึกซ้อมที่แน่ชัด ในการฝึกซ้อมทุก ๆ ครั้ง เราจะต้องมีการกำหนดเป้าหมายในการฝึกซ้อมอย่างชัดเจน เช่น วันนี้อยากจะพัฒนาการฝึกสอนลูกสั้น ลูกชิพ และ พัตต์ เราก็ควรไปหาสนามที่มีกรีนซ้อมชิพและพัตต์
2. การวางแผนการฝึกซ้อม หลังจากได้ตั้งเป้าหมายในการฝึกซ้อมแล้ว จะมีรูปแบบในการวางแผนซ้อมอยู่ 3 วิธี 2.1 Block Practice คือ การฝึกซ้อมแบบมีข้อจำกัด เพื่อจะได้รู้ว่า จะแก้ไขจุดบกพร่อง มุ่งพัฒนาในเรื่องหนึ่งเรื่องใด เราจะโฟกัสไปที่ร่างกายและไม้กอล์ฟ มากกว่าผลลัพธ์ที่ลูกต้องออกไป เช่น เวลาซ้อมที่สนามไดร์ฟ จะไม่ดูว่าผลงานเป็นอย่างไร แต่จะรู้ว่าท่าทางถูกต้องหรือไม่ จะดูเป็นบล็อก ๆ ไปทีละจุด ลูกจะลอยไปทางซ้ายหรือขวา อย่าเพิ่งไปสนใจ ค่อย ๆ ฝึกซ้อมไปจนท่าทางถูกก่อน แล้วค่อยกลับมาดูที่ผลลัพธ์ต่อไป
2.2 Random Practice การฝึกซ้อมแบบสุ่ม และการฝึกซ้อมโดยเน้นโฟกัสไปที่ลูกกอล์ฟกับเป้าหมายเป็นหลัก เราจะเลือกเป้าหมายในการซ้อม และตำแหน่งที่ไม่เหมือนกัน ตัวอย่างเช่น ในสนามไดร์ฟเราจะซ้อมไปที่ป้ายบอกระยะหรือธงสีต่าง ๆ ในระยะที่แตกต่างกัน 50 หลา บ้าง 100 หลา บ้าง แล้วแต่เลือก และจดบันทึก สรุปผลลัพธ์ โดยวิธีการฝึกซ้อมแบบนี้ เราจะไม่เน้นที่สวิงมากนัก เราจะให้ตีตามความรู้สึกของเขาเองเลย และการฝึกซ้อมแบบนี้ จะเน้นในช่วงระยะก่อนการแข่งขัน ในการแข่งขันเราจะไม่ใช้สิ่งที่ไม่ได้ซ้อม ไม่ได้ฝึกฝน ลงไปใช้ในสนามแข่งขันเป็นอันขาด การซ้อมพัตต์ อาจจะสุ่มระยะต่าง ๆ ขึ้นมาซ้อม ทำเป็นเกมส์ ให้สนุกสนาน ในระยะ 5,10,20 ฟุต แล้วแต่อยากฝึกซ้อม
2.3 Pressure Practice การฝึกซ้อมแบบมีความกดดัน การฝึกซ้อมแบบนี้ พยายามให้นักกอล์ฟเล่นด้วยความกดดัน อาจจะเป็นความท้าทาย มีรางวัลให้ถ้าชนะ หรืออาจจะโดนค่าปรับถ้าแพ้ เช่น ตอนไปซ้อมออกรอบ 18 หลุม ผมกดดันลูกสาวโดยบอกว่าถ้าได้เบอร์ดี้จะมีรางวัลให้ คือของเล่น แต่ถ้าออกโบกี้ จะต้องจ่ายเงิน 10 บาท แค่นี้ลูกสาวผมก็เริ่มกดดันด้วยแล้ว เพราะไม่อยากเสียเงิน แต่อยากได้ของเล่น 555 โดยการซ้อมปกติ ถ้าซ้อม 4 วัน อาจจะแบ่ง 2 วัน เป็นแบบ Block Practice อีก 1 วันแบบ Random Practice และ 1 วันแบบ Pressure Practice สลับกันไป
3. การทบทวนหลังการซ้อม จะกลับมาดูว่า สิ่งที่ต้องการทำในข้อหนึ่ง ทำได้ทำเท่าไหร่ ให้คะแนนตนเอง เราพัฒนาดีขึ้นไหม เพื่อที่จะได้ไม่หลงทางเสียเวลา จะได้การซ้อมที่เราอยากได้ตามเป้าหมาย
สรุปว่า การซ้อมที่จะมีประสิทธิภาพได้นั้น จะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน มีการวางแผนการซ้อมทั้ง 3 รูปแบบ และเมื่อซ้อมเสร็จ ก็ต้องมีการสรุปแผนการฝึกซ้อม กลับไปพัฒนาวางแผนในการซ้อมครั้งต่อ ๆ ไป ขอให้ทุกคนโชคดีในการฝึกซ้อม พบกันใหม่ฉบับหน้านะครับ
ดร.อมร นันทวะกุล
Parent Sport Coach
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา สาขา Sport Management