เล่นกีฬา เพราะไม่อยากกลับบ้านเร็วค่ะ – ศศิกัญชณา วัฒนะรุ่ง
ศศิกัญชณา วัฒนะรุ่ง
GOLFLYER
“เล่นกีฬา เพราะไม่อยากกลับบ้านเร็วค่ะ”
คุณโอ๋ เกริ่นนำถึงคำตอบที่เราถามว่า เหตุใดเธอถึงได้กลายเป็นยอดหญิงนักกีฬาเมื่อสมัยเรียนมัธยม
“จริงๆ ก็อยากจะสวย อยากจะเป็นเชียร์ลีดเดอร์ ก็รักสวยๆ งามๆ เหมือนกันนะ แต่… ไม่มีใครเลือกให้ทำหน้าที่แนวนั้นเลย” เธอตอบพร้อมเสียงหัวเราะ
ที่บ้านอยากให้ลูกสาวกลับบ้านเร็วเพื่อไปดูแลน้อง หุงหาอาหารตระเตรียมมื้อค่ำ ทำหน้าที่เป็นแม่บ้านบ้าง แต่เธอก็หาทางเลี่ยงได้สำเร็จ ด้วยการอ้างว่า ติดซ้อมกีฬา ซึ่งเป็นเหตุผลที่คุณพ่อคุณแม่ต่อว่าอะไรไม่ได้ เนื่องด้วยเป็นกิจกรรมที่ดีมีประโยชน์ จนน้องชายต้องขยับมาทำหน้าที่แทนพี่สาว และกลายเป็นคนที่หุงข้าวได้เก่งที่สุดในบ้านไปโดยปริยาย
เมื่อได้ข้ออ้างแล้วก็ต้องฝึกซ้อมเล่นกีฬาให้หนัก สมกับที่ได้อยู่โรงเรียนจนเย็นได้ ทักษะที่เพิ่มพูนขึ้นมาก็เริ่มเด่นชัดจนขยับจากตัวสำรองขึ้นมาเป็นตัวจริงของทีมบาสเกตบอลโรงเรียนในตำแหน่งปีกขณะที่ยังอยู่แค่ชั้นมัธยมต้น ทั้งๆ ที่ตอนนั้นตัวเล็กและผอมมาก แต่ก็มีความปราดเปรียวว่องไว มาชดเชยเรือนร่างที่บอบบาง คล่องตัว จนหาตัวจับได้ยาก ถึงขนาดได้รับฉายาว่า ลิง แล้วชื่อนี้ยังมาตรงกับช่วงที่บทเพลง กุ้มใจ (ไม่มี ล ลิง) ของ อัสนี – วสันต์ กำลังดังพอดี ทำให้ทุกคนเรียกชื่อนี้กันจนติดปาก
“ตอนนั้นใช้กีฬานำทางชีวิตเลยค่ะ เป็นคนถนัดซ้าย เจอกีฬาอะไรก็เล่นหมด ทั้งบาสฯ ปิงปอง วอลเลย์บอล แชร์บอล.. อย่างปิงปองนี่ จับไม้ตีครั้งแรกก็เป็นการแข่งขันเลย เพราะวันนั้นแข่งกีฬาสี แล้วนักกีฬาสีเดียวกันเกิดอุบัติเหตุมาแข่งไม่ได้ โค้ชที่สอนบาสฯ เราอยู่ก็ให้ไปเล่นแทน บอกว่าให้จินตนาการมองลูกปิงปองเป็นลูกบาสฯ เล็กๆ พอฝั่งโน้นตีมา เราก็ตีโต้กลับไป เพราะโค้ชเขารู้อยู่แล้วว่าสายตาเราดี”
“แต่เซ็ตแรกก็แพ้แบบไม่เป็นท่าเพราะยังจับทางไม่ได้ พอขึ้นเซ็ตสองก็ตีตื้นไล่กลับมาเสมอแล้วพลิกกลับมาชนะ หลังจากนั้นก็เริ่มเป็นที่รู้จักกันว่าเราเล่นกีฬาได้ดีหลายประเภท เริ่มได้รับสิทธิพิเศษมากกว่าคนอื่นๆ บ้าง จนรู้สึกว่าเป็นนักกีฬานี่สวยกว่าเป็นเชียร์ลีดเดอร์ซะอีก หรือจะไปเรียนต่อที่ไหนก็ได้รับการต้อนรับ ได้ทุนการศึกษา ครั้งแรกตั้งใจไว้ว่าจะมุ่งมั่นเป็นนักกีฬาทีมชาติ ได้เล่นให้กับโรงเรียนนครสวรรค์ จนถึงได้เป็นนักกีฬาเขต 6 จังหวัดนครสวรรค์ เคยได้รางวัลนักกีฬาดีเด่นประจำจังหวัด ยังเคยได้มาเล่นกีฬาเยาวชนแห่งชาติที่จังหวัดสุพรรณบุรี มีโอกาสได้ทุนเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัย แต่ในที่สุดชีวิตก็เกิดการหักเหจนต้องเลิกเล่นกีฬา เลิกฝันจะเอาดีในเส้นทางสายนี้” คุณโอ๋เล่าอย่างเสียดายที่ต้องปิดฉากชีวิตนักกีฬาทั้งๆ ที่ใจยังรัก
เมื่อไปต่อในเส้นทางนักกีฬาทีมชาติไม่ได้ ชีวิตก็ต้องเบนเข็มเพื่อไปต่อจนเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ก็ยังไม่ทิ้งการเล่นกีฬา ได้เล่นบาสฯ ให้กับคณะอีกครั้ง และยังได้เล่นเทนนิสจนถึงมีฝีมือพอเข้าแข่งขัน แต่ก็รู้ดีว่ายังไงคงไม่สามารถจะพัฒนาให้ยึดเป็นอาชีพจริงจังได้ แล้วในขณะนั้นอีกหนึ่งอาชีพยอดนิยมในฝันของสาวๆ ก็คือ แอร์โฮสเตท
“ลุยสมัครไปเกือบทุกแห่งเลยค่ะ จนกระทั่งได้มาทำงานที่แอร์เอเชีย เมื่อไม่ได้เป็นแอร์ฯ ก็ทำหน้าที่อื่นๆ ไล่เรียงมาหลายตำแหน่ง เลยทำให้เข้าใจลึกซึ้งในเรื่องธุรกิจการบิน อย่างตอนทำหน้าที่รับจองตั๋วก็ได้ทราบว่า กลุ่มลูกค้าที่ขายได้ง่าย ไม่ค่อยต่อรอง จ่ายเงินเร็วสุด เป็นกลุ่มนักกอล์ฟ ซึ่งจองตั๋วไปออกรอบต่างประเทศ และเมื่อเรียนรู้ต่อไปอีกก็ทำให้ทราบว่า กลุ่มนี้เป็นนักธุรกิจที่มีกำลังการซื้อสูง และการขายของระดับหรูหรานั้น ถ้าเราขายถูกที่ ถูกกลุ่ม การซื้อขายก็ไม่ได้ยากเย็นอะไร”
เมื่อได้ข้อมูลที่ชัดเจนเช่นนี้ กอล์ฟ จึงเป็นเป้าหมายให้คุณโอ๋ไปทำความรู้จัก เพื่อจะได้เข้าใจในกีฬากอล์ฟและคนที่เล่นกอล์ฟได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการเข้าไปเรียนรู้กอล์ฟ
หลังจากค้นหาข้อมูลเรื่องการเรียนกอล์ฟอยู่สักพักจนเริ่มสับสน ก็พอดีได้ทราบว่าที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงเปิดหลักสูตร การบริหารการจัดการกอล์ฟ จึงตัดสินใจทันทีว่าจะลาออกจากงานไปเรียนต่อ ซึ่งแน่นอนว่าทุกคนในครอบครัวไม่มีใครเห็นด้วยเลย
วันแรกเธอไปเรียนด้วยความไม่รู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับกอล์ฟเลย อาศัยว่าใจรักกีฬา เมื่อเรียนไปเรื่อยๆ ก็เข้าใจกอล์ฟมากขึ้น จนถึงขนาดตั้งใจว่าจะไปเป็นโปร
“โอ๋ ถนัดซ้าย เลยตีกอล์ฟขวาแต่พัตต์ซ้ายค่ะ จริงๆ ก็มีโปรแนะนำให้ลองรื้อวงใหม่หมดเหมือนกัน ให้เริ่มใหม่โดยตีมือซ้ายไปเลย นี่ก็กำลังคิดๆ อยู่ว่า ถ้าภาระหน้าที่เบาๆ ลงไปบ้างก็จะหันมาฟิตซ้อม ลองเอาจริงเอาจังอีกครั้ง ไม่แน่เหมือนกันนะคะ โอ๋อาจจะได้เป็นโปรหญิงที่ตีด้วยมือซ้ายคนแรกของประเทศไทยก็ได้”
แต่เมื่อยังเป็นโปรไม่ได้ทางบ้านก็อยากให้กลับไปทำงานด้านสายการบินเหมือนเดิม เผอิญว่ามีผู้ใหญ่แนะนำให้ไปเรียนที่ MCOT Academyของช่อง 9 เพื่อเป็นผู้ประกาศข่าวกีฬา พอดีว่าเราก็เคยมีพื้นทางด้านนี้มาก่อนเมื่อเรียนคณะนิเทศน์ฯ ที่มหาวิทยาลัยรังสิต สามารถเทียบโอนมาเรียนที่ระดับ 3 ได้เลย แต่ด้วยความอยากรู้ให้ลึกซึ้งจริงๆ ก็ขอเริ่มเรียนตั้งแต่ขั้นที่ 1 ซึ่งก็เป็นความโชคดี เพราะได้เรียนกฎหมายเกี่ยวกับสื่อฯ มีทั้งเรื่อง ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร ฯลฯ ทำให้ได้แนวความคิดเพื่อมาเริ่มทำรายการทีวี แล้วก็ยังทำให้รู้ตัวเองด้วยว่าไม่เหมาะกับการเป็นพิธีกรอ่านข่าว เพราะการออกเสียงตัวควบกล้ำเป็นเรื่องยาก บุคลิกภาพก็ต้องนิ่ง ขณะที่เราเองติดภาพนักกีฬา อยู่นิ่งๆ ไม่ค่อยได้ สิ่งที่น่าจะเหมาะกว่าคือการเป็นพิธีกรกีฬา”
การเป็นพิธีกรเป็นเรื่องถนัดและเข้าทางคุณโอ๋ เพราะเมื่อสมัยเรียนมหาวิทยาลัยรังสิต เธอจะอยู่ในกลุ่มเพื่อนๆ สาวสวยระดับดาวมหา’ลัย ทั้งนั้น
“เราไม่สวย ไม่มีอะไรเป็นจุดเด่นแบบคนอื่น อาศัยเกาะกลุ่มเพื่อนๆ ไปด้วย คนอื่นไปเป็นพริตตี้เพราะความสวย แต่เราได้งานพิธีกรมาตลอด เพราะถนัดในเรื่องพูดคุย แล้วการทำหน้าที่นี้ต้องมีทั้งความอดทน และการใช้ไหวพริบแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งทักษะนี้ได้มาจากการเป็นนักกีฬาทั้งนั้น”
รายการ Bio Golfer ได้ความคิดมาจากเมื่อครั้งได้เรียนบริหารจัดการกอล์ฟที่ มหาวิทยาลัยรามคำแหง แล้วมีวิชาที่เกี่ยวกับประวัติกีฬากอล์ฟ ซึ่งเป็นเรื่องของนักกอล์ฟต่างประเทศทั้งนั้น จนเกิดความคิดว่า ทำไมไม่มีเรื่องของนักกอล์ฟไทยบ้าง คำตอบที่ได้รับก็ออกในแนวว่าคนไทยเรายังไม่ประสบความสำเร็จมากมายในกีฬานี้ แต่คุณโอ๋เองกลับคิดในมุมตรงข้ามว่า พวกเราน่าจะหันมาใส่ใจ ให้ความสำคัญ สนับสนุนคนไทยด้วยกันเอง
“ส่วน ชื่อ GOLFLYER ได้มาเมื่อสมัยทำทัวร์ ตอนนั้นยังเล่นกอล์ฟไม่เป็นเลย มีอยู่วันหนึ่งลูกชายได้วาดรูปนกมาให้ในวันแม่ เห็นแล้วก็ได้ไอเดียจนนำปีกคล้ายของนางฟ้ามารวมกับลูกกอล์ฟ แล้วดัดแปลงอีกนิดหน่อยจนลงตัวกลายเป็นโลโก้ แรกๆ ก็ทำสินค้าออกขาย ทั้งเสื้อผ้า กระเป๋า และโดยเฉพาะครีมกันแดด ที่ขายดีจนถึงขนาดออกรถได้เลย เพราะไปเล่นกอล์ฟที่ไหน แค้ดดี้ก็จะถามว่าเราใช้ครีมอะไร แล้วก็ขอซื้อบ้าง จากความตั้งใจที่จะขายให้กับนักกอล์ฟ ก็กลายเป็นว่าลูกค้าหลักคือแค้ดดี้ แต่พอยอดขายดีขึ้นก็ต้องเจอกับปัญหาการลอกเลียนแบบและปัญหาจุกจิกจนต้องเลิกทำไป”
ชีวิตในการทำงานย่อมต้องมีอุปสรรคให้ได้ล้มลุกคลุกคลานอยู่เสมอ ไม่มีความสำเร็จใดที่จะมาได้โดยง่าย จนบางครั้งบางช่วงคุณโอ๋ถึงขนาดอยากจะหยุดดิ้นรนทุกอย่าง
“เคยเหนื่อย เคยท้อ ร้องไห้คนเดียว จนต้องหันมาบอกกับตัวเองว่า เราต้องหยุดเปลี่ยนโน่นเปลี่ยนนี่ไปเรื่อยเปื่อยเหมือนคบเด็กสร้างบ้านได้แล้ว ชีวิตแหวกว่ายมาไกลถึงขนาดนี้ ต่อให้เส้นชัยจะอยู่อีกไกลแค่ไหนก็ต้องสู้ต่อไปถึงจะประสบความสำเร็จ เพียงแค่รู้จักปรับความคิดให้ฉลาดขึ้น จะไม่ทำอะไรหรือต่อสู้เพียงลำพังเหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว ต้องหันมาให้ความสำคัญกับทีมเวิร์ค เหมือนกับบุกเบิกเดี่ยวมาครึ่งทาง เหลืออีกครึ่งจะถึงเส้นชัย เราก็สามารถจะแบ่งปันร่วมกับคนอื่นๆ ที่มีทัศนคติในทิศทางเดียวกัน เล่นกีฬาหรือทำงานเป็นทีม ถ้ารวมใจกันได้ การก้าวไปสู่จุดหมายก็ไม่ใช่เรื่องไกลเกินฝัน”
ก่อนจบบทสนทนา คุณโอ๋ ได้ให้ข้อคิดของชีวิตที่ผูกพันกับความเป็นนักกีฬาทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจว่า… “การเป็นนักกีฬาอาจจะมีวันสิ้นสุด ไม่ว่าจะเกิดจากสังขารที่ร่วงโรยหรือเหตุสุดวิสัยโดยไม่คาดฝัน แต่ความมีหัวใจเป็นนักกีฬานั้นไม่มีวันสิ้นสุด จะติดตัวเราไปตลอดชีวิต ในสนามแข่งขันเราจะแพ้หรือจะชนะ ต้องอยู่ภายใต้กฎกติกาที่ชัดเจนยุติธรรม ชีวิตก็เช่นกัน เมื่อทุกคนอยู่ภายใต้กฎกติกาเดียวกันหมด อะไรที่เกิดขึ้นแล้วก็ต้องยอมรับ การหาผลประโยชน์ที่ไม่อยู่ภายใต้กฎกติกา ถึงแม้จะได้มา ก็ต้องนับเป็นความพ่ายแพ้ เพราะเป็นสิ่งที่ไม่สร้างความภาคภูมิใจให้กับชีวิตเลยค่ะ”