ธนัท อุยสกุล
โปรก้อง ธนัท อุยสกุล
นักกอล์ฟในโครงการ ไทยเบฟ ไทยทาเล้นท์
เมื่อความสนุกเปลี่ยนเป็นอาชีพในฝัน
เด็กชายก้อง แม้จะเกิดที่กรุงเทพฯ แต่ใช้ชีวิตในวัยเด็กอยู่ที่ จ.ลพบุรี ตามพื้นเพของคุณพ่อ ที่มีธุรกิจเกี่ยวกับอะไหล่เครื่องจักรการเกษตรอยู่ที่นั่น ด้วยความที่หนุ่มๆ ในบ้านเล่นกอล์ฟกันทุกคน ทั้งคุณพ่อ คุณอา คุณลุง ดังนั้นหนุ่มน้อยที่สุดในบ้านอย่างก้อง ก็ได้รู้จักกับกอล์ฟมาตั้งแต่เด็กๆ
แม้ว่าจะไม่มีสนามกอล์ฟอยู่ในระแวกบ้านพัก แต่ก็ยังโชคดีที่มีสนามฝึกซ้อมอยู่ใกล้ๆ ซึ่งคุณพ่อแวะไปเกือบทุกวัน และแน่นอนว่า ก้องจะต้องตามไปด้วยแน่นอน ในช่วงแรกๆ คุณพ่อจะมีก้านเเปล่าๆ ที่ไม่มีใบเหล็กมาให้ลองเหวี่ยงเล่น เพียงแค่นั้น ก้องก็สามารถตีลูกปืนอัดลมเล็กๆ เล่นได้ และมีหลายครั้งที่คุณพ่อพาเด็กชายก้องในวัย 5 ขวบ ไปสนามกอล์ฟด้วย ตอนแรกๆ ก็แค่นั่งรถเล่น แต่พอเห็นคุณพ่อตีบ่อยเข้า ก็อดใจไม่ไหวที่จะขอลองตีบ้าง ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ก้องได้เล่นกีฬาชนิดนี้ และพอได้โอกาสลองตีในสนามหลายครั้ง คุณพ่อเห็นว่าตีได้หลังจากนั้นก็เลยพาไปเรียนกอล์ฟอย่างเป็นเรื่องเป็นราวที่กรุงเทพฯ เป็นบางอาทิตย์ บางอาทิตย์ก็ไปออกรอบกับคุณพ่อ
“บ้านที่ลพบุรี อยู่นอกเมืองครับ อยู่ระหว่างทาง จาก จ.ลพบุรี ไป จ.เพชรบูรณ์ ถ้าจะออกรอบก็มี 2 ทางเลือก คือ ขับรถเข้าตัวเมือง จ.ลพบรี มาตีที่ สนามกอล์ฟมลฑลทหารบกที่ 13 (สนามกอล์ฟ จอมฟล ป. พิบูลสงคราม) ซึ่งระยะทางพอๆ กับเดินทางไป อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ซึ่งก็แล้วแต่จังหวะและโอกาส ว่าจะไปทิศทางไหน ไม่แน่ไม่นอน ทำให้ในช่วงแรกจะเป็น วีคเอนด์-กอล์ฟเฟอร์เสียมากกว่า วันธรรมดาเรียนหนังสือ เสาร์-อาทิตย์ ถึงได้ไปออกรอบบ้าง
มาเริ่มจริงจังเมื่ออายุราวๆ 7 ขวบครับ จำได้ว่า คุณพ่อพาไปเข้าแคมป์กอล์ฟของ ป้าอ้อย (รศ.อิราวัณณ์ ผาณิตวงศ์) ที่ สนามเอเวอร์กรีน จ.กาญจนบุรี แล้วก็เริ่มเข้าแข่งขันกับรายการของป้าอ้อยบ้าง แต่ก็ไม่ได้ไปทุกรายการ ประมาณเดือนสองเดือนคุณพ่อจะพามาแข่งสักครั้งหนึ่ง ถือเป็นกิจกรรมเสริมอย่างหนึ่ง”
แม้ว่าจะยังไม่ได้ตั้งเป้าที่จะเป็นนักกีฬาอย่างจริงจังอะไรในตอนนั้น แต่เด็กหนุ่มจากลพบุรีคนนี้ ก็ไม่ได้ทิ้งการตีกอล์ฟ ยังคงเล่นกอล์ฟมาเรื่อย “ปกติคุณพ่อจะไปซ้อมที่สนามไดร์ฟใกล้บ้านทุกเย็น ผมก็ตามไปทุกเย็น คุณพ่อก็ซ้อมของคุณพ่อ ผมก็เล่นบ้างซ้อมบ้างของผม ก็ถือว่าได้ตี ได้ซ้อมเกือบทุกวัน ในเรื่องของการแข่งขัน ก็ไม่ได้ถึงกับรบเร้าให้พาเข้าแข่งขันกอล์ฟ แต่ตอนไหนที่คุณพ่อชวนมาแข่งขัน ก็มาไม่ได้อิดออด โดยเฉพาะในช่วงอายุ 12-13 ปี เราดูแลตัวเองได้ในระดับหนึ่ง คุณพ่อก็เริ่มวางแผนที่จะให้เล่นจริงจังมากขึ้น พาไปแข่งขันถี่ขึ้น จากที่ 2-3 เดือนแข่ง 1 ครั้ง ก็ถี่ขึ้นเป็นเดือนละครั้งเป็นอย่างน้อย เรียกว่าแข่งเกือบทุกรายการที่มีโอกาส จนมาถึงในช่วงเรียน ม.ปลาย จำได้ว่าอยู่ในช่วง คลาส บี. ก็แข่งถี่มาก ทั้งรายการของ สมาคมฯ ส่วนกลาง, ทรูวิชั่น, เบนซ์ แข่งหมด ผลงานก็มีดีบ้างไม่ดีบ้าง ตีเกินบ้างตีอันเดอร์บ้าง ถึงขนานนั้น ก็ยังมองว่า การเล่นกอล์ฟเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งที่สนุกสนาน ได้เจอเพื่อน ไม่ได้ว่าเป็นเรื่องจริงจังมากขนาดไหน”
ความคิดที่จะจริงจังกับการเล่นกอล์ฟ เกิดขึ้นในช่วงก่อนเข้ามหาวิทยาลัย “มีคุณครูหลายคนบอกว่าผมเป็นเด็กหัวดีแต่ดื้อ ผมเป็นเด็กที่ไม่ได้เรียนดีมาก แต่ก็ไม่ได้แย่มาก ถือว่าอยู่ในระดับปานกลาง ไม่ชอบอ่านหนังสือ แต่ก็สอบผ่านตลอด ไม่เคยสอบตก เอาตัวรอดได้ อาจจะด้วยเหตุนี้ก็ได้ ทำให้ก่อนเข้ามหาวิทยาลัย เริ่มมีความคิดที่ว่า จะตีกอล์ฟจริงจัง ตีกอล์ฟเป็นอาชีพ เพราะเรารู้สึกว่า สนุกกับการแข่ง มีความสุขกับซ้อมที่หนัก มากกว่าการอ่านหนังสือ จึงเข้าไปคุยกับคุณพ่อว่า เราอยากตีกอล์ฟเป็ออาชีพ ไม่เรียนต่อมหาวิทยาลัยแล้ว และแน่นอนว่าคำตอบคือ ไม่ได้ (ฮ่าๆๆ)
คุณพ่อให้เหตุผลว่า ไม่ว่าอย่างไร เราก็ควรมีวิชาความรู้ติดตัวไว้ ส่วนถ้าเรียนจบแล้ว จะไปทำงานตามสายที่เรียน จะกลับมาทำงานกับที่บ้าน หรือจะเล่นกอล์ฟอย่างเดียว ก็แล้วแต่เรา และเพื่อให้เราไม่วอกแวก คุณพ่อเลยตั้งเป้าไว้ให้คร่าวๆ ว่า ถ้าไม่ได้เข้า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ม.ธรรมศาสตร์, ม.เกษตร หรือ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ ที่ใดที่หนึ่งใน 4 แห่งนี้ คุณพ่อจะให้ไปเรียนต่อต่างประเทศ ซึ่งตอนนั้นยอมรับว่าเราติดเพื่อนๆ มาก ก็เลยตั้งใจเรียน ไปกวดวิชาเพื่อเข้าให้ได้ที่ใดที่หนึ่ง”
แล้วก็เป็นผลสำเร็จ ผมสอบได้ที่ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ได้โควต้าช้างเผือก(กีฬา) ของ ม.ธรรมศาสตร์ด้วย ด้วยลักษณะที่ไม่ค่อยสันทัดในเรื่องเรียนเรื่องอ่านหนังสือ แต่ถนัดที่จะทุ่มเทในเรื่องของการฝึกซ้อมมากกว่า ก็เลยเลือกที่จะเรียนทางด้านกีฬาอย่างจริงจัง สุดท้ายก็เลือกที่ ม.ธรรมศาสตร์ เพราะคิดว่าเป็นตัวเรามากกว่า ผมเข้าเรียนที่ คณะสหเวชศาสตร์ สาขาวิชาการจัดการกีฬา เป็นรุ่นแรกของมหาวิทยาลัย พอเข้าเรียนได้ตามที่ตกลงกับคุณพ่อไว้ ก็ไม่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ”
เข้ามหาวิทยาลัยด้วยโควต้ากีฬา แต่กลับต้องห่างจากกอล์ฟกว่าเดิม “อาจจะฟังดูแปลก แต่ก็มีส่วน คงเป็นเพราะจังหวะของเราเอง ด้วยความที่แต่เดิมผมเป็นคนไม่ค่อยชอบเรียน พอมาเรียนหนังสือ บวกกับการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย ความคิดในตอนนั้นคือ ต้องการให้เรียนให้จบเร็วๆ จะได้ออกมาเเล่นกอล์ฟอย่างเต็มตัว คือเราไม่อยากทำสองอย่างพร้อมกัน ก็ทำให้ห่างจากกอล์ฟไปพอสมควร
ช่วงปี 1 ก็ยังได้เล่นกอล์ฟบ้าง ได้เป็นนักกีฬาของมหาวิทยาลัย ได้อยู่ร่วมทีมกับพี่เจมส์ เนติพงษ์ ศรีทอง แต่ปีนั้นพี่เจมส์ บาดเจ็บก็เลยไม่ได้มีโอกาสเล่นด้วยกัน พอขึ้นชั้นปีที่ 2 น่าจะเป็นช่วงที่ห่างจากกอล์ฟมากที่สุด เพราะกีฬามหาวิทยาลัยไม่ได้จัดแข่งขันกอล์ฟ ทำให้การซ้อมเบาบางลง ก็เป็นจังหวะเดียวกันกับที่มีวิชาเรียนที่เป็นวิชาบังคับ ต้องลงเวลาเรียนให้ครบ และเป็นวิชาที่ต้องออกไปทำกิจกรรมนอกมหาวิทยาลัย ซึ่งตามตารางก็จะเป็นวันเสาร์เสียส่วนใหญ่ แล้วการจัดการแข่งขันกอล์ฟเกือบทุกรายการต้องคาบเกี่ยววันเสาร์ ทำให้การจะลาไปแข่งขันรายการอื่นก็เป็นเรื่องยาก ก็เลยแทบไม่ได้ไปแข่งขันรายการข้างนอกเลย ก็เลยห่างการซ้อมหนักไประยะหนึ่ง
พอขึ้นปี 3 ก็เริ่มกลับมาซ้อมจริงจังขึ้น เพราะยังคงเป็นนักกีฬาตัวแทนมหาวิทยาลัยอยู่ เข้าแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัย รวมถึงมีการจัดการแข่งขันยูลีคขึ้นเป็นปีแรกอีกด้วย พอขึ้นปี 4 ตารางเรียนเริ่มน้อยลง เริ่มกลับมาซ้อมทุกวัน เริ่มไปแข่ง คลาส เอส. ของเยาวชนบ้าง แมตช์อาชีพบ้าง เพื่อเรียกความรู้สึกเดิมๆ กลับมา”
พอเรียนจบก็เดินตามความฝันเดิมทันที “หลังจากเรียนจบ ก็เดินสายแข่งขันอย่างจริงจังเลยครับ แล้วก็เทิร์นโปรช่วงปลายปีหลังจากเรียนจบ แล้วก็ได้เดินสายแข่งต่อเนื่อง ในช่วงแรกผลงานยังไม่ค่อยดีนัก แต่หลังจากเดินสายแข่งขันมาได้ระยะหนึ่ง ผลงานเริ่มเข้าที่เข้าทาง แต่ก็ยังไม่ดีพอได้แค่ผ่านเข้ารอบ ช่วงนั้นผมรู้สึกว่า ผมตีได้ดีแล้ว แต่การตีดีของผมทำไมถึงไปทะลุเป้าที่วางไว้สักที ซึ่งเป้าหมายในตอนนั้นก็คือ การตีดีสม่ำเสมอ บางวัน 5-6 อันเดอร์ ขณะที่อีกวัน เกิน 1 เกิน 2 จากความสนุกสนานในวัยเด็กกลายมาเป็นอาชีพ ทุกอย่างมันจริงจังไปหมด ทุกช็อตมันมีผลกับเงินกับคะแนน เวลาตีไม่ดีต้องกลับไปซ้อม ดูข้อผิดพลาด ว่าเราจะแก้ไขอย่างไร หาโค้ช ออกกำลังกาย
จนมีอยู่วันหนึ่ง เพื่อนของคุณพ่อแนะนำให้ส่งโปรไฟล์มาที่ โครงการ ไทยเบฟ ไทยทาเล้นท์ ของช้าง เพื่อเป็นแรงสนับสนุนอีกทาง ทีแรกก็ไม่มันใจว่าจะสำเร็จหรือไม่ เพราะตัวเองก็ยังไม่มีผลงานที่โดดเด่น ยังไม่ได้แชมป์รายการไหน แต่หลังจากยื่นเรื่องไม่นานก็ได้รับการติดต่อกลับจากพี่เอ๋ย (คุณภัทริศร์ ถนอมสิงห์) ว่าเราผ่านได้เข้าร่วมเป็นครอบครัวของ ไทยเบฟ ไทยทาเล้นท์ ก็ดีใจนะ นอกจากจะได้รับการสนับสนุนจากช้าง ได้ด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เสื้อผ้า ลูกกอล์ฟ สนามซ้อม รวมถึงอะไรหลายๆ อย่างที่มีความจำเป็นในการฝึกซ้อมช่วงนี้ ยังมีโอกาสที่จะไปร่วมแคมป์กอล์ฟด้วย ซึ่งจากการพูดคุยกับ พี่วุฒิ (โปรวุฒิพงศ์ สีหพันธ์) พี่จากลพบุรีเหมือนกัน เล่นกอล์ฟด้วยกันมาตั้งแต่เด็ก ก็ทำให้รู้สึกมั่นใจกับการตัดสินใจในครั้งนี้ยิ่งขึ้นไปอีก และมีความสนใจแคมป์กอล์ฟมาก รอวันที่แคมป์จะกลับมาจัดได้ตามปกติ และต้องหาโอกาสไปร่วมให้ได้ ซึ่งน่าจะช่วยพัฒนาศักยภาพของเราได้อีกมากทีเดียว”
ชื่อ สกุล : ธนัท อุยสกุล (ก้อง)
อายุ 25ปี
วันเดือนปีเกิด : 1/11/2538
ส่วนสูง :175
น้ำหนัก : 65
ภูมิลำเนา :ลพบุรี
จุดเริ่มต้นของกีฬากอล์ฟ : เริ่มด้วยการไปนั่งรถดูคุณพ่อตีกอล์ฟเลยอยากลองเล่นบ้างตอนอายุ5ขวบ
จุดเด่นในเกมส์กอล์ฟ :น่าจะเป็นเรื่องกล้าตัดสินใจเล่นช๊อตต่างๆ
ระยะไดร์ฟเฉลี่ย : 280
เทิร์นโปรปีไหน : 2018
ผลงานเด่นในระดับอาชีพ : ได้ที่4
SINGHA-SAT TDT KANCHANABURI #2 2020
Evergreen Hills Golf Club