อุไรพร ปราณีนิจ
อุไรพร ปราณีนิจ
Rungsup Fine Jewelry
“คนเราเกิดมามีเงินในกระเป๋าเพียง 1 บาท ก็ไม่จำเป็นต้องไปบอกใครว่าเรามีแค่ไหน เพราะว่า ไม่มีใครจะมาล้วงในกระเป๋าของเราเพื่อดูว่า มีอยู่แค่บาทเดียว”… คุณหญิง (อุไรพร ปราณีนิจ) บอสใหญ่ของ Rungsup Fine Jewelry เริ่มคุยให้เราฟังถึงคำสอนเก่า ๆ จากคุณพ่อ, คุณอา และญาติผู้ใหญ่ ที่ช่วยปลูกฝัง หล่อหลอม ทำให้ชีวิตเจริญก้าวหน้า จนพบกับความสำเร็จมาถึงทุกวันนี้
“พ่อเคยพูดเป็นภาษาจีน แปลได้ใจความว่า ‘คบเพื่อนเราต้องใจกว้าง ต้องรู้จักยอมเสียเปรียบบ้าง ถ้าเราไม่ยอมเสียเปรียบ จ้องแต่จะเอาเปรียบ เราก็จะไม่มีเพื่อน’ ส่วนคุณอาสอนเสมอว่า การใช้ชีวิตอยู่ในโลกใบนี้ เราต้องมีมารยาททางสังคม, รู้จักเอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ และพี่สะใภ้ของคุณอา ก็ใจดี รักเรา ช่วยอบรม สอนมารยาทของผู้หญิงที่ควรมีให้อยู่เสมอ อย่างเช่น เวลาทานข้าว ไม่ให้ทำเสียงดัง เพราะจะบ่งบอกว่าเราเป็นคนแบบไหน เวลาไปบ้านอื่น ห้ามทานจนมากเกินไป ให้ทานพอรู้รสชาติก็พอ ไม่เช่นนั้น เขาอาจจะหาว่าเราไม่เคยกิน เราโตขึ้นมาพร้อมกับคำสอนของผู้ใหญ่” คุณหญิงเล่าถึงการหล่อหลอมตัวเธอจากผู้ใหญ่ พร้อมกับรอยยิ้มอย่างมีความสุข
“สมัยเป็นเด็ก อยู่กับ คุณปู่คุณย่า ตั้งแต่จำความได้ก็เห็นท่านอยู่ในร้านยา ชั่งยา เตรียมยา แล้วพูดกันด้วยภาษาจีนอย่างเดียว พูดคุยกับเราก็เป็นภาษาจีนอีก ทำให้ตอนเด็ก ๆ พูดไทยไม่ได้ จนมาเข้าเรียนหนังสือ ถึงเริ่มพูดภาษาไทยได้” พอโตขึ้นมาอีกหน่อย คุณหญิงก็เริ่มต้นชีวิตการทำงานเร็วกว่าเพื่อน ๆ ที่อายุใกล้เคียงกัน…
“ตั้งใจทำงานมาก เพราะมีความคิดอยู่อย่างเดียวว่า เราต้องก้าวหน้า ต้องทำอะไรให้ดี เพื่อให้พ่อแม่มีความสุขสบาย ไม่ทำให้ท่านต้องเป็นห่วง”
คุณหญิง ไปช่วยงานอยู่ที่โรงไม้ของคุณอา ทำหน้าที่ทุกอย่าง เปิดร้านตั้งแต่เช้า “สมัยนั้นยังไม่มีเครื่องคิดเลขเลยค่ะ ต้องจัดลูกคิดขนาดใหญ่ขนาดราวเมตรครึ่ง มาวางเรียงไว้ เพื่อใช้คิดเงิน คิดหน้าไม้ เวลามีรถไม้ลากสาลี่มาส่ง จะเป็นคนนับไม้เองทั้งคันรถ ใหม่ ๆ รู้สึกว่าเป็นเรื่องยากมาก ยืนงง ว่าจะต้องทำยังไง จนคุณอาเดินมาบอกวิธีนับไม้ว่าต้องทำยังไง วิธีคิดหน้าไม้ด้วยลูกคิดทำแบบไหน ก็จำเอาไว้ แล้วค่อย ๆ หัดไปเรื่อย ๆ จนทำได้คล่อง เริ่มจากแยกประเภทไม้ที่มีในรถ นับจำนวนมัด มีกระดาษในมือคอยจด แล้วคิดปริมาตร คิดจำนวนเงิน เมื่อก่อนดูลายไม้อยู่เป็นประจำจนรู้ว่า ไม้ชนิดนี้คือไม้อะไร แล้วเวลามีผู้รับเหมาก่อสร้างมาสั่งไม้ เราก็จดรายการแล้วก็คิดไม้ออกมาเป็นคิวบิกฟุต คำนวณราคา จัดของขึ้นรถ วาดแผนที่ให้คนขับรถ ไปส่งลูกค้า สินค้าในโรงงานไม่มีก็คอยสั่งให้ไปโป้วจากที่อื่นมาก่อน เป็นอย่างนี้ประจำ ทำหน้าที่เหมือนเป็นหลงจู๊ ทำบัญชีทุกบาท ทุกสตางค์ อย่างละเอียดไว้ให้คุณอา ทุกวันนี้ก็ยังจำเรื่องการทำงานทั้งหมดได้ จะให้กลับไปทำเรื่องวัสดุก่อสร้างอีก ก็ยังทำได้”
นอกจากทำงานในโรงไม้แล้ว คุณหญิง ยังต้องไปช่วยงานคุณอาหลายแห่ง อีกความสามารถที่เธอทำได้ตั้งแต่เด็ก คือการคิดคำนวณหาดอกเบี้ย โดยได้ฝึกฝนจากประสบการณ์ตรง “คุณอาปล่อยเงินกู้ที่ประตูน้ำ ช่วยท่านคิดดอกเบี้ยทุกวัน มีคนนำเช็คมาแลกเงินสด ในนั้นจะมีวันที่เขียนไว้ว่าขึ้นเงินได้เมื่อไหร่ เราต้องนับตั้งแต่วันที่รับมา จนถึงวันไปขึ้นเงิน ว่ารวมอัตราดอกเบี้ยร้อยละสอง แล้วเป็นเงินเท่าไหร่ เราคิดได้หมด”
ทำงานโรงไม้แล้ว คิดดอกเบี้ยแล้ว ก็ยังต้องไปช่วยงานที่โรงรับจำนำของคุณอาอีกด้วย “บางครั้งก็ไปช่วย เวลามีของหลุดจำนำ จะนำมากอง ๆ แล้วช่วยกันคัด ช่วยกันดู เพื่อจะให้คนมาซื้อรับของไปขาย ทำให้เรามีความรู้ตรงนั้นมาบ้าง มีการคัดแยกประเภท” และจากการช่วยงานในโรงรับจำนำ จึงได้ให้เธอได้มีโอกาสเห็นสิ่งที่ตัวเองมีความสนใจ…
“ชีวิตชอบเรื่องสวย ๆ งาม ๆ ชอบเครื่องประดับตั้งแต่สมัยเป็นเด็ก เวลาไปร้านขนม มีโหลหยอดเหรียญเพื่อไขของเล่นข้างใน จะได้แหวน ได้ลูกอม จะไปร้านหมุนเพื่อเอาแหวนอยู่บ่อยมาก พอตอนโต ไปช่วยงานคุณอา เวลามีของหลุดจำนำ คุณอาก็จะเอามาคัด มาเลือก โดยเฉพาะพวกเครื่องประดับอัญมณี พอเห็นแล้วก็รู้สึกว่าเราชอบ อยากได้ พอคุณอารู้ว่าชอบชิ้นไหน ก็ให้ชิ้นที่เราชอบมาบ้าง ทำให้คุ้นเคยกับเรื่องเครื่องประดับอัญมณีมาตั้งแต่เด็ก” และนี่ อาจจะเป็นความผูกพันที่เริ่มฝังลงในใจอย่างไม่รู้ตัว
ถึงแม้จะได้ทำงานมานานปี แต่เมื่อต้องเริ่มครอบครัวของตัวเอง หลังจากแต่งงาน ชีวิตก็ต้องเจอกับอุปสรรครอให้ฝ่าฟัน ด้วยความที่ประสบการณ์น้อย ทำธุรกิจหลายอย่าง ดีบ้าง ล้มเหลวบ้าง… “เคยผิดหวังมากอยู่ครั้งนึง เราเปิดโรงงานผลิตเสื้อผ้าให้กับบริษัทใหญ่ แล้วต้องประสบปัญหาเกี่ยวกับลูกน้อง ขาดแรงงานอย่างหนักในช่วงที่ต้องส่งงาน บอกได้เลยว่าคนงานส่วนใหญ่ เมื่อถึงเดือนเมษายนเขาจะไม่อยากทำงาน อะไรก็ยั้งไว้ไม่อยู่ แม้กระทั่งค่าตอบแทนเป็นเงินทอง เขาต้องหยุดกลับไปบ้านให้ได้ แต่ความเสียหายทั้งหมดนั้น เกิดขึ้นกับเราต่อเนื่องกันหลายต่อ มีทั้งอุทกภัย น้ำท่วมจนต้องใช้เรือ แล้วยังขาดคนงานอีก ประสบปัญหาจนถึงขั้นหมดตัว”
“เราล้มลุกคลุกคลาน จนแทบไม่มีเหลือ แต่ก็ไม่ยอมแพ้ สามี (คุณสุวิทย์ ปราณีนิจ) มีพื้นเพอยู่ภาคอีสาน ก็พาไปค้าขาย ทั้ง ๆ ที่ไม่คุ้นเคยมากันก่อน เราไปขายของทะเลแห้ง กิจการไปได้ดีมาก จนกระทั่งผู้ค้ารายใหญ่ที่อยู่ด้วยกันในตลาดซึ่งอยู่มาก่อน ขณะที่เราเป็นผู้ค้าต่างถิ่น พอรู้ว่าเราไปสั่งของที่ไหน เขาก็ไปสั่งตัดหน้า จนเราไม่มีของให้ขาย และยังเจอปัญหาอื่น ๆ อีกสารพัด จนคิดว่า ไม่อยากทำ ทั้ง ๆ ที่ขายดีมาก แอบคิดในใจว่า เมื่อไหร่จะเจ๊ง ๆ ไปซะที อยากกลับบ้านแล้ว” คุณหญิง เล่าพร้อมเสียงหัวเราะ ที่เคยแช่งธุรกิจของตัวเอง เพราะอยากเลิกเต็มที
“หลังจากเซ้งแผงขายของทะเลแห้งได้ มีเงินมาก้อนหนึ่ง ก็กลับมากรุงเทพฯ ซื้อแท้กซี่ให้คุณสุวิทย์ขับ ส่วนตัวเอง ก็ไปขายของทะเลสดในตลาดบางกะปิ ทั้ง ๆ ที่ขายดี แต่ก็คิดอยู่เสมอว่า นี่มันไม่ใช่งานของเรา ที่อยากจะทำ เลยยกร้านให้น้อง แล้วไปทำดอกไม้แห้ง เหนื่อยมาก”
แล้วก็ถึงจุดหักเห ที่ทำให้ชีวิตเปลี่ยนไป อย่างไม่คาดฝัน… “คุณน้าของคุณสุวิทย์ มาบอกว่า จะมีคนมาขอน้องสาว เป็นร้านทองที่แม่สอด ด้วยความที่อยากรู้ว่า ผู้ชายที่จะมาเป็นน้องเขย เป็นคนยังไง ก็เลยไปสังเกตการณ์ที่นั่น จนไปพบตลาดค้าขายพลอย จนเกิดความสนใจ อยากค้าขายบ้าง จึงสอบถามข้อมูล คุณน้าก็แนะนำให้รู้จักกับคนที่ค้าขายพลอยที่แม่สอด ตั้งแต่นั้นมา เราก็ข้ามไปฝั่งพม่าไปดูพลอย แล้วกลับมาเอาเงินกับน้อง ซื้อด้วยความระมัดระวังที่สุด คอยมองดูกันว่า ที่นั่นเขาค้าขายกันยังไง”
“จนกระทั่ง เราเห็นว่ามีนักท่องเที่ยวเข้ามาแม่สอดเยอะ ค้าขายดีมาก คิดว่า อย่าเพิ่งกลับกรุงเทพฯ เลย เราควรจะลองขายดูบ้าง เพราะขนาดคนจากอีกฝั่งข้ามมาขาย เขายังขายได้ เราเป็นคนไทยแท้ ๆ ทำไมจะขายไม่ได้บ้าง”
พอตกลงปลงใจ ด้วยความคิดเร็วทำเร็ว “เช่าห้องพักที่แม่สอดเลยค่ะ” ตัดสินใจเร็ว “เช่าตู้ขายที่ตลาดพลอย แล้วก็ซื้อพลอยตรงนั้น ขายตรงนั้น บางวันเช้า ๆ มีทัวร์มาลง ก็ได้หลักหมื่นแล้ว รู้สึกว่าเราแฮ้ปปี้ มีความสุข”…
แต่ก็ใช่ว่า เมื่อมีรายรับเยอะ ๆ แล้ว จะมีความสุขกันทุกคน… “พอกลับมาบ้าน ก็สงสารลูก เขาถามตลอดว่า ทำไมแม่ไปทีนานจัง ไม่กลับมาซะที เขาคิดถึง” ประโยคนี้ทำให้คุณหญิงถึงกับอึ้งไป แต่ก็ยังพยายามหาทางออกได้สำเร็จ… “ตอนนั้นแม็คโคร บางกะปิ เพิ่งเปิดใหม่ ๆ ก็เลยลองเดินเข้าไปขอพื้นที่เพื่อขายพลอย ทั้ง ๆ ที่ยังไม่รู้ว่า เขาจะให้หรือเปล่า หรือมีเงื่อนไขยังไงบ้าง โชคดีก็ได้มา พอได้ที่ขายก็ให้น้องสาวเฝ้า แล้วตัวเองก็ขายข้างนอกควบคู่ไปด้วย เช่นแถว มเหศักดิ์, ดิ โอล์สยาม” กิจการก็รุดหน้าไปได้ด้วยดี จนกระทั่งถึงเวลาที่จะต้องเลือกว่า จะ
อยู่อย่างเดิมต่อไป หรือจะเสี่ยงโตแบบก้าวกระโดด… “อยู่มาวันหนึ่ง เดอะมอลล์ บางกะปิ เริ่มก่อสร้าง รู้สึกว่าน่าสนใจ เลยเข้ามาจองพื้นที่ ตั้งแต่ยังสร้างไม่เสร็จเลย แต่กว่าจะลงตัวก็ไม่ใช่ง่าย ๆ มีเงื่อนไข มีอุปสรรคเยอะ ต้องคิดหนัก เพราะเราไม่ค่อยมีทุน ขายอะไรได้ก็ต้องเป็นของขึ้นมา สะสมขึ้นมาเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบัน” คุณหญิงเล่าพร้อมกับยิ้มด้วยความภาคภูมิใจ…
การเปิดร้านว่ายากแล้ว แต่การทำให้มีลูกค้าประจำเป็นสิ่งยากยิ่งกว่า แต่ที่นี่ก็ทำได้สำเร็จ ด้วยเคล็ดลับง่าย ๆ คือความจริงใจ และไม่คิดแค่เรื่องปิดการขาย แต่ยังคอยเป็นเพื่อน ช่วยให้ความรู้ ดูความเหมาะสม… “เราชี้แจงบอกลูกค้า ช่วยให้คำแนะนำ อย่างเช่น เกิดเดือนไหน เกิดวันอะไร ควรใส่อัญมณีชนิดใด ถึงจะช่วยเสริมราศีให้ตามตำรา เช่น เกิดวันพุธ หากไม่ชอบสีเขียว ก็ขยับไปดูเดือนเกิด เช่น ถ้าเป็นกุมภาพันธ์ ใช้อเมทิสต์ ซึ่งมีสีม่วงแทนก็ได้ ช่วยเสริมดวง ทำให้มีเสน่ห์” การที่คุณหญิงคอยให้การปรึกษาด้วยข้อมูลตรงไปตรงมา ลูกค้าก็ชอบ มั่นใจ และเข้ามาหากันอยู่สม่ำเสมอ บางครั้งก็มาขอคำแนะนำเรื่องอัญมณีให้คนอื่น คนรู้จัก จนเกิดความสนิทสนม กลายเป็นลูกค้าประจำกันเรื่อยมา… “การต้อนรับลูกค้าก็เป็นสิ่งสำคัญ เราต้องให้เกียรติ เหมือนเป็นลูกค้าคนสำคัญอยู่เสมอค่ะ” คุณหญิงเสริมให้อีกหนึ่งเคล็ดลับเอาใจลูกค้า…
ถึงแม้งานทุกวันจะยุ่งแค่ไหน แต่คุณหญิงต้องทำกิจวัตร ที่ปฏิบัติต่อเนื่องเป็นประจำมาตั้งแต่เด็ก นั่นคือ การสวดมนต์ ไหว้พระ… “ช่วงอายุ 13 มีวันหนึ่งเดินผ่านไปห้องพักคุณอา ได้ยินเสียงสวดมนต์ ก็เข้าไปดู ในห้องนั้นมีรูปหลวงพ่อสด คุณอาจุดเทียนอยู่ในถาด เราก็คิดว่า คุณอาสวดมนต์ทุกวัน ต้องมีความหมายที่ดีแน่ ๆ ตั้งแต่ตอนนั้นก็ตั้งใจเริ่มฝึกสวดมนต์ ไหว้พระ ถามคุณอาว่า จะสวดบทไหน ท่านก็แนะนำว่า ชิณบัญชร พอสวดได้ ก็หัดบทสวดมนต์อื่น ๆ ตามมา และหมั่นปฏิบัติมาตลอด และยังให้ความเคารพ กราบไหว้ พระคลังมหาสมบัติ คิดว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์จะเมตตาเรา ให้มีสมบัติ มีคลังเงิน คลังทอง และแม่พระธรณี เราค้าขายหยก อัญมณีต่าง ๆ ก็เป็นทรัพย์สินของพระแม่ธรณี ต้องระลึกถึงพระคุณ”
“ถ้าเรายังมีพ่อแม่ เราต้องดูแลท่านให้ดียิ่งกว่าตัวเราเอง พ่อแม่ต้องการอะไร เราต้องจัดหาให้เต็มที่ ท่านคงจะอยู่กับเราไปไม่ได้ตลอด แต่เรายังต้องต่อสู้ชีวิตไปอีกนาน จึงควรดูแลท่านให้ดีที่สุด” นี่คืออีกสิ่งสำคัญ ที่คุณหญิงเน้นย้ำว่า พวกเราทุกคนต้องใส่ใจปฏิบัติก่อนที่จะสายเกินไป…
ดูแลใจแล้ว ก็ต้องดูแลตัวเองด้วย… “ถ้ามีเวลาว่าง ทำงานแล้วเหนื่อยมาก พอกลับบ้าน ขึ้นรถปุ๊ป ก็จะเปิดเพลงที่ชอบ ฟังแล้วรู้สึกสบายใจ เพราะเนื้อเพลงจะบรรยายถึงสิ่งที่ดี ๆ ฟังแล้วมีจิตใจที่ดี ได้ผ่อนคลาย ส่วนตอนเช้าก่อนที่จะทำอะไร ก็ออกกำลังกาย เพื่อทำให้ร่างกายมีความพร้อม แข็งแรงอยู่เสมอ”
คุณหญิงยังเสริมอีกด้วยว่า “เวลาเรามีอะไรที่รู้สึกแย่ มีเรื่องไม่ดีเกิดขึ้นกับเรา แล้วไม่มีใครมาคอยปลอบใจ มาช่วยเหลือเราได้ ก็ต้องคิดว่า ‘วันนั้น ยังแย่กว่าวันนี้’ คิดถึงเรื่องที่เคยแย่ยิ่งกว่า แล้วเราก็จะดีขึ้น เป็นกำลังใจให้กับตัวเองว่า วันนี้ ยังไม่แย่เท่าวันนั้นเลย”
“คนเราจะทำดีทำชั่ว ก็เหมือน ‘สวรรค์ในอก นรกในใจ’ จึงสอนลูกเสมอว่า ต้องคิดดี ทำดี แล้วชีวิตจะไม่มีจบ เป็นไปด้วยชอบ ประกอบด้วยธรรม แล้วเราจะมีแต่ความสุข สบายใจ ไม่มีความทุกข์ ส่วนเรื่อง ‘เวลา’ เราใช้ก็หมด ไม่ใช้ก็หมด เพราะฉะนั้น ทุกคนต้องรักเวลาที่สุด เห็นเวลาให้สำคัญที่สุดในชีวิต การที่เราปล่อยเวลาไป โดยไม่ทำได้อะไรเลย ถือว่าเป็นความสูญเสียอย่างยิ่งเลยค่ะ”