จิตวิทยาการกีฬา

เอายังไงดีกับการแพร่ระบาดของ COVID-19

เอายังไงดีกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 และการเล่นกีฬาเพื่อการดำรงชีวิต

ตั้งแต่เรารู้จักคำว่าไวรัสโคโรน่า สายพันใหม่ 2019 และได้มีรายงานการค้นพบในครั้งแรกที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน ในเดือนธันวาคม ปี พ.ศ. 2562 (Thai PBS news, 28 มีนาคม 2563) การดำรงชีวิตของคนบนโลกนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมาย ในทุกแง่ทุกมุม การใช้ชีวิตในสังคมร่วมกัน การที่ต้องพกหน้ากากอนามัยและต้องสวมใส่ตลอดเวลา การทำความสะอาดมือด้วยน้ำและสบู่เป็นระยะๆ หรือการล้างด้วยเจลแอลกอฮอลล์ การวัดระดับอุณหภูมิของร่างกาย สิ่งเหล่านี้นับว่าเป็นมาตรการพื้นฐานของการป้องกันตัวเอง อย่างไรก็ตามก็มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อเหตุการณ์นี้ในการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกัน มีคนจำนวนหนึ่งที่เชื่อว่าเรื่องนี้ไม่เป็นความจริง มีการต่อต้านในหลายๆรูปแบบ ดังที่ปรากฎให้เห็นในประเทศสหรัฐอเมริกา

ผลกระทบนี้ได้ขยับมาถึงโรงเรียน สถาบันการศึกษา โรงพยาบาล มีวิธีการจำกัดจำนวนคนในการทำกิจกรรม การจัดการเรียนการสอน การสอบ การประชุม และการทำงาน ที่ต้องปรับมาเป็นการเรียนผ่านระบบอินเทอเน็ต เกิดการพัฒนาเรื่องของโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อการรองรับสิ่งเหล่านี้ สุดท้ายคือการหาทางป้องกันและลดความรุนแรงของเชื้อไวรัสดังกล่าว โดยการเร่งพัฒนาวัคซีนขึ้นมา จากหลายบริษัท หลายองค์กรทางการยา แม้จะมีการพัฒนาได้สำเร็จรวดเร็วก็ยังมีประเด็นความขัดแย้งในเรื่องของความน่าเชื่อถือของวัคซีน จำนวนและความต้องการของการได้รับวัคซีนไม่ไปด้วยกัน รวมทั้งความขัดแย้งทางสังคมและการเมืองจากกรณีของโรคระบาดนี้

จะเห็นได้ว่าผลกระทบเกี่ยวกับสุขภาพนี้มาถึงวงการกีฬาและการออกกำลังกายในชีวิตประจำวัน และการจัดกิจกรรมทางการกีฬา ข้อมูลจากการวิจัย ของ Wedig และคณะ ที่เผยแพร่ใน British Journal of Sport Medicine พบว่า COVID-19 ทำให้คนต้องแยกตัวจากสังคม และดูแลตัวเองที่บ้าน ส่งผลให้กิจกรรมทางกาย ลดลง 30% (จากเฉลี่ย 108 นาที เป็น 72 นาทีต่อสัปดาห์) และเวลาของการนั่งเพิ่มขึ้น 28% (เฉลี่ยจาก 5 ชั่วโมง เป็น 8 ชั่วโมงต่อวัน) ดังนั้นเพื่อรักษาสภาพของร่างกายที่สมบูรณ์ท่ามกลางข้อจำกัดต่างๆที่เกิดขึ้น และยังไม่มีแนวโน้มของการหยุดหรือหายขาดไปจากคน เราจึงควรเตรียมร่างกายของเราให้พร้อมควบคู่ไปกับการได้รับวัคซันป้องกันที่ค่อยๆทะยอยได้รับ เพื่อลดความรุนแรงของโรค

รูปแบบของการทำกิจกรรมทางกายในสภาวะนี้จึงควรดำเนินการทั้งที่มีรูปแบบชัดเจน หรือจากการดำเนินชีวิตปกติ เช่น ถ้าเป็นแบบที่ทำกันอย่างเป็นรูปแบบชัดเจนก็คือ การฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและกระดูกด้วยการฝึกโยคะ การฝึกร่างกายด้วยน้ำหนัก หรือการสร้างความทนทานของหัวใจและปอดด้วยการ เดิน วิ่งหรือถีบจักรยาน ขณะที่การทำกิจกรรมทางกายในวิถีชีวิตปกติที่บ้าน ก็ช่วยได้และน่าจะมีโอกาสมากขึ้น เช่น การทำความสะอาดบ้าน กวาดบ้าน ถูบ้าน หรือการรดน้ำต้นไม้ ล้างรถ ตัดหญ้า นอกจากความสะดาอและความเป็นระเบียบเรียบร้อยจะมากขึ้นแล้ว สิ่งต่างๆเหล่านี้จะทำให้เรามีความพร้อมทางด้านของร่างกายจากภายในมากขึ้นด้วย จะสังเกตได้ว่า คนที่มีความแข็งแรง เช่น ผู้ใหญ่ วัยรุ่น หรือวัยทำงาน จะเป็นกลุ่มคนที่ได้รับวัคซีนป้องกันเป็นกลุ่มท้ายๆ เมื่อเทียบกับผู้สูงวัยหรือคนที่ป่วยเรื้อรัง เพราะเป็นกลุ่มคนที่มีความแข็งแรงมากกว่า

การออกกำลังกายด้วยกีฬากอล์ฟ ที่จริงแล้วมีระยะที่ห่างกันมากกว่า 1 หรือ 2 เมตรอยู่แล้ว และในหลายๆโอกาส ถ้าเราพยายามรักษาระยะห่างนั้นไว้ได้ตลอดเวลา ตั้งแต่เมื่อถึงบริเวณสนามหรือคลับเฮ้าส์ กีฬากอล์ฟจึงน่าจะเป็นการเล่นกีฬาที่มีความปลอดภัยสูงชนิดหนึ่งทีเดียว

จากเหตุการณ์วิกฤตนี้หากเราเข้าใจสถานการณ์ ร่วมมือในการป้องกันตามมาตรการที่เหมาะสม ช่วยเหลือและดูแลสุขภาพของตัวเองอย่างต่อเนื่องเหมาะสม ก็น่าจะทำให้เราฟันฝ่าไปได้ ส่วนของผลกระทบที่เกิดจากการขาดรายได้ ก็น่าจะมีการปรับตัวและหาทางแก้ปัญหานี้ได้ในที่สุด ในขณะที่การแก้ปัญหาระยะสั้นของรัฐก็คงจะช่วยได้ระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามการจัดการดูและช่วยเหลือตัวเองและการแบ่งปันที่เราเห็นตั้งแต่ต้นๆของเหตุการณ์นี้ก็น่าจะช่วยให้เราสามารถมีชีวิตอยู่ได้ มีสุขภาพกายและกายที่ดีต่อไป

ผศ. ดร. นฤพนธ์ วงศ์จตุรภัทร
คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยบูรพา
นายกสมาคมจิตวิทยาการกีฬาประยุกต์แห่งประเทศไทย