รศ.อิราวัณณ์ ผาณิตวงศ์
รศ.อิราวัณณ์ ผาณิตวงศ์
Mother of Golf of South East Asia
“ป้าอยู่วงการกอล์ฟมา 27 ปี ตั้งแต่วันแรกที่ยังไม่มีเวทีให้เยาวชน มีแต่สำหรับนักกอล์ฟทีมชาติเท่านั้น ตอนเริ่ม ไม่ได้คิดถึงผลสำฤทธิ์ถึงวันนี้ เพราะถ้าคิดว่าจะต้องทำให้มาถึงจุดนี้คงเหนื่อย เราทำไปเรื่อย ๆ โดยมีสื่อมวลชนมาคอยช่วยเหลือกัน” ป้าอ้อย (รศ.อิราวัณณ์ ผาณิตวงศ์) ปูชนียบุคคลในวงการกอล์ฟเยาวชนของประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดใจให้สัมภาษณ์ หลังอำลาจากวงการกอล์ฟ เมื่อปลายปี 2563
ป้าอ้อย ทำชมรมส่งเสริมนักกอล์ฟเยาวชนไทยอยู่ 7 ปี พานักกีฬาไปแข่งต่างประเทศ โดยเฉพาะที่มาเลเซีย จนมีผู้แนะนำว่า ต้องเปลี่ยนจาก ชมรม ให้ สมาพันธ์ เพื่อจะได้ทำงานได้กว้างขึ้น พอกลับมา ก็เปลี่ยนชื่อเป็น สมาพันธ์นักกอล์ฟเยาวชนไทย “เรามีพันธมิตรมากมายในกลุ่มอาเชี่ยน โดยเราเป็นผู้พานักกีฬาไปแข่งที่บ้านเขา จนวันหนึ่งเขาก็บอกว่า คุณต้องจัดการแข่งขันรายการอินเตอร์บ้างแล้วนะ ตอนนั้นเป็นปี 2000 พอดี”
การจะทำให้องค์กรใหญ่ยอมรับเรา ไม่ใช่เรื่องง่าย ป้าต้องไปนำเสนอว่า กิจกรรมนี้ ทำเพื่ออะไร “จะมีใครกี่คนที่เชื่อว่า เราทำโดยไม่ได้หวังค่าตอบแทน แม้กระทั่งทีมงาน ก็เป็นอาสาสมัครทั้งนั้น ออฟฟิศไม่มี เพราะใช้ที่ เดอะไพน์ ตลอด หรือไม่ก็ทำที่บ้านใครบ้านมัน ไม่มีการคิดค่าใช้จ่าย นอกจากเวลาจัดแมทช์ ทางสมาพันธ์ถึงจะน้ำใจ มีเบี้ยเลี้ยงกันบ้าง และป้าก็ไม่เคยใช้เงินของสมาพันธ์ พานักกีฬาไปต่างประเทศ ค่าโรงแรม ค่าตั๋วเครื่องบิน จ่ายเองค่ะ”
นักกีฬาของเรามีคุณภาพสูงมาก มีผลงานให้ทุกคนเห็น จนมีการตั้งฉายาให้ป้าอ้อยว่าเป็น “Mother of Golf of South East Asia”… “นักกอล์ฟคุณภาพอยู่กับเราทั้งหมด เช่น อาร์ม โม เม แล้วเราก็พัฒนาง่าย เส้นทางตรงนี้ ถ้าองค์กรกีฬาใหญ่ เห็นว่าเราเป็นลูกน้อง ป้าว่าจะดีมาก ๆ เราอยากสร้างนักกีฬาเพื่อส่งต่อ อย่างการส่งนักกีฬาไปต่างประเทศในย่านนี้ ขอให้เราเป็นผู้ส่งเถอะ เพราะเราส่งไปเพื่อชนะ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเด็ก ๆ แล้วเขาก็จะเก่งขึ้นมาจริง ๆ หลังจากนั้นสมาคมฯ ค่อยรับช่วงไปส่งเสริม ต่อยอดให้นักกีฬาเหล่านี้อีกที อย่าถือว่าเป็นคู่แข่ง เพราะเราต้องช่วยเหลือ ทำงานประสานกัน”
การส่งนักกีฬาไปต่างประเทศ สมาพันธ์ฯ จะมีจำนวนมากที่สุด เพราะ …“เราไม่ได้หวังผลกำไร 27 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยมีปัญหาเรื่องเงิน สปอนเซอร์ก็สนับสนุนเราเต็มที่ แล้วนำไปจัดสรรปันส่วนให้กับการจัดการแข่งขัน และยังหมุนเวียนกลับมาให้กับเด็ก ๆ อีก สรุปก็คือ พวกเราเป็นกลุ่มที่มีความรักในนักกอล์ฟเยาวชนอย่างเต็มเปี่ยม”
ในการแข่งขัน ภาพที่ชินตากันก็คือ ป้าอ้อย จะคอยปล่อยตัวนักกีฬาเอง ดูความสะอาดเรียบร้อย ตรวจเล็บ หู การแต่งกาย ผมเฝ้าต้องเรียบร้อย ไหว้คุณพ่อคุณแม่ ในก๊วนไหว้กันเอง เช็คแฮนด์กันรึยัง ป้าดูให้หมด เพราะเป็นพื้นฐานของการเป็นนักกอล์ฟที่ดี ส่วน ลูกกอล์ฟ ก็ต้องทำการมาร์ค ทำเครื่องหมายให้ชัดเจนสวยงาม “เรียนศิลปะมาตั้งเยอะตั้งแยะ ทำให้มันสวย ๆ หน่อยสิ” หรือบางครั้ง ระหว่างปล่อยตัว… “ป้าก็เทศนานักกอล์ฟ แถมเทศนาผู้ปกครองด้วย พอเสร็จก็จะมีเสียงปรบมือ” ป้าอ้อย เล่าไปหัวเราะไป
ด้วยการดูแลเอาใจใส่แบบนี้ สมาพันธ์ฯ จึงเป็นทีมแรกที่เดินทางไปแข่งขันกันเป็นยูนิฟอร์ม “เราเป็นต้นแบบทุกอย่าง ตอนหลังประเทศอื่น ๆ ก็ทำตาม”
ความเมตตาเป็นสิ่งสำคัญ… “บางครั้งครอบครัวต้องเดินทางกันไกล ๆ จากสารพัดทิศ เพื่อมาแข่งขัน เขากลัวมาไม่ทัน ก็พยายามทำเวลา โทรแจ้งมาตลอดว่าถึงไหนแล้ว เราก็ต้องอดทนรอ เปลี่ยนเวลาทีไทม์ให้ เราให้เวทีกับเด็ก ๆ เสมอ ป้ารู้จักไม่ใช่เฉพาะแค่เด็ก แต่รู้จักกันทั้งบ้าน บางครอบครัวถึงกับยกให้ป้าเป็น God Mother ของบ้านเลย บอกว่าลูกเขามาเล่นกอล์ฟ ห่างไกลยาเสพติดแน่นอน เด็กบางคน พอเรียน ม.ปลาย จบ จะไม่ยอมเรียนต่อ ป้าก็ต้องโทรไปคุยด้วยทุกวัน ครอบครัวเขาทะเลาะกัน ป้ายังต้องไปสอบถามเลย จนมีคำถามเล่น ๆ กันว่า ป้าอ้อยเป็นญาติฝ่ายไหน?” นี่คืออีกหนึ่งความเอาใจใส่ทุกคนของป้า…
ป้าอ้อยบอกเสมอว่า…”เด็กควรเรียนหนังสือ ถึงแม้ว่าจะเล่นกีฬาเก่ง… เพราะ 4 ปี ที่เรียนในมหาวิทยาลัย คุณได้ทุนแล้วมูลค่า 4 ล้าน และการที่มหาวิทยาลัยพาไปตระเวนแข่งตามสนามต่าง ๆ คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่าอีก 3 ล้าน รวมแล้วแน่ ๆ 7 ล้าน แต่ถ้าคุณเทิร์นโปร จะมีอะไรรับประกันว่า ภายใน 4 ปี คุณจะมีรายได้ 7 ถึงล้าน?” เหตุผลสำคัญของป้าอ้อย ที่อยากให้เด็กได้รับการศึกษาก่อนเป็นอันดับแรก
ป้าอ้อย ลงลึกกับเด็กและผู้ปกครองด้วยความเป็นห่วงตลอดเวลา… บางครั้งเห็นพ่อแม่มาเฝ้าลูกแข่ง ป้าจะเดินไปตบหลังเลย แล้วบอกว่า… “แบบนี้ไม่ถูกนะ ให้กลับไปทำงาน ไปทำมาหากินกันบ้าง อยู่ดูลูกคนเดียวก็พอแล้ว” หรือบางคนเรียนดี แต่อยากจะเทิร์นโปร ป้าถึงกับต้องขับรถไปหา เพื่อคุยกันก่อน ถามว่า… “ทำไมไม่เรียนลูก? เดี๋ยวป้าหามหาวิทยาลัยให้” เด็กบางคนเรียนเก่ง แต่ทำไมไม่ยอมไปเรียนต่อ ทั้ง ๆ ที่ติดต่อมหาวิทยาลัยให้เรียบร้อยแล้ว ความจริงในบางครั้งก็คือ เขาขาดการสนับสนุนอีกแค่นิดเดียว เพื่อให้ลูกไปเรียน G mat , Tofel ซึ่งนั่นจะทำให้เขาพลาดโอกาสดี ๆ ไป ป้าบอกว่า… “ป้ายินดีสนับสนุน ควักทุนส่วนตัวให้เอง ช่วยเหลือได้เต็มที่ แต่กว่าจะทราบเหตุผลได้ ป้าต้องไปนั่งเค้น ถามเพื่อให้รู้ปัญหา หลายคนเกิดปัญหานี้ แต่ไม่ยอมบอก”
ป้ายังฝากแง่คิดไว้ให้กับทุก ๆ คนด้วยว่า… “ดาวมีหลายดวง ถ้าคุณเก่งจริง ๆ จะเลือกไปเป็นแบบรุ่นพี่ ๆ ที่ประสบความสำเร็จก็ย่อมได้… แต่ ถ้าหากไม่เลือกทางนั้น คุณก็ยังทำงานได้สารพัด บริษัทต่าง ๆ ในวงการกอล์ฟ เป็นเด็กของสมาพันธ์ฯ แทบทั้งนั้น โปร, นักพากษ์, นางแบบ, พิธีกร, นักร้อง สารพัด ที่จะทำได้ ชนิดกีฬาอื่น ๆ ก็ทำได้เหมือนกัน เผอิญเราอยู่ในวงการกอล์ฟ จึงเห็นมุมนี้ได้ชัด
“ป้าไม่ได้มองไกลเลย อยู่ที่ปัจจุบัน ทำกันไป รักกันไป คิดแค่ว่า ทำอย่างไรให้มันดีขึ้น สู้กับปัญหาสารพัด แค่ทำงานตรงหน้าให้มันดีที่สุด เพราะผู้ปกครองรู้ว่า เราตั้งใจทำให้ด้วยความรัก เพราะฉะนั้นเขาก็รักเรา วันที่เราปิดการแข่งขัน ป้าไม่เคยนึกเลยว่าเด็กและผู้ปกครองจะรักป้าขนาดนี้ค่ะ” ป้าอ้อย ปิดท้ายบทสนทนา ด้วยแววตาและรอยยิ้มอย่างมีความสุข