Interview

องอาจ วงศ์ข้าหลวง

องอาจ วงศ์ข้าหลวง
W. K. L. INTERNATIONAL SUPPLIES LTD.
“ซื่อสัตย์กับตัวเอง กับครอบครัว กับอาชีพ กับลูกค้า”

ครอบครัว : ผมค่อนข้างโชคดี เกิดมาในครอบครัวที่อบอุ่น มีคุณพ่อคุณแม่คอยให้ความรัก พี่น้องมีกัน 10 คน ผมเป็นคนสุดท้อง เมื่อเด็ก ๆ เคยรู้สึกบ้างว่า เราได้ความรักน้อยกว่า ด้อยกว่าคนอื่น แต่จริง ๆ แล้ว พ่อแม่มีวิธีการเลี้ยงลูก ทำให้เราเป็นคนดี รู้จักแบ่งบันให้กับพี่น้อง ให้กับสังคม เป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้ตั้งใจเรียนมากขึ้น

การศึกษา : ผมตั้งใจจะเรียนเตรียมทหาร แล้วมารู้ว่าตัวเองสายตาสั้นตอน ม.ศ. 2 ซึ่งเราไม่ทราบข้อเท็จจริงในการผ่อนผันเรื่องใส่แว่นตาได้ในบางโอกาส จนทำให้หมดสิทธิ์ไป เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ผลการเรียนตกลง แต่ก็ยังมุ่งมั่นเรียนสายวิทย์อยู่ จนจบ ม.ศ.5 เอ็นทรานซ์ อาจารย์ที่โรงเรียนก็มาแสดงความยินดี ที่พวกเราสอบเข้ามหาวิทยาลัยของรัฐได้ยกชั้น ความรู้สึกของเราคือดีใจมาก แต่พอผลออกมาจริง ๆ หลุดอยู่ 5 คน ซึ่งผมเป็น 1 ในนั้นด้วย การพลาดเข้ามหาวิทยาลัย ทำให้ผมเสียความมั่นใจอีกครั้ง

กำลังใจ : การเรียน ปี 1 ที่ ม.รามคำแหง ผลการเรียนเลวร้ายมาก ทั้งปีได้แค่ 13 หน่วย จนกลับมานั่งคิดทบทวนว่าจะทำอย่างไร คุณพ่อ คุณแม่และพี่ ๆ คอยให้กำลังใจ ทุกคนบอกว่า เรียนที่ไหนก็ได้ ขอให้ตั้งใจ บอกให้เริ่มกันใหม่ ปีต่อมาผมเก็บได้เต็ม 60 หน่วยกิต ทำให้ผมรู้สึกภูมิใจในตัวเองเป็นครั้งแรก เริ่มตีตื้นกับเพื่อน ๆ ในรุ่นเดียวกัน ครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญจริง ๆ ถ้าไม่ได้กำลังใจ จากทุกคน ก็คงเสียเซลฟ์ไปเลย เพราะตอนนั้น ผมห่างจากเพื่อน ๆ ที่เรียนมัธยมด้วยกันมา เก็บตัวเรียนหนังสืออย่างเดียว จนกระทั่งเรียนจบและได้ทำงานแล้ว ถึงได้กลับมาติดต่อกันอีก

เอกสถิติ โทคอมพิวเตอร์ : ผมชอบเคมี แต่มาคิดแล้วว่า ถ้าจบต้องเรียนต่อปริญญาโทให้ได้ทันที ทำงานเป็นนักวิจัย เป็นนักผสมสารเคมี ซึ่งรู้สึกว่าตัวเองไม่ชอบ แล้วคนก็เรียนเยอะมาก เพื่อนเรียนในห้องวันนี้กับวันพรุ่งนี้ เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ไม่ใช่คนเดิม แล้วแบบนี้เราจะไปผูกมิตรกับใคร เพราะการเรียนเคมีต้องมีการจับคู่ในการทำวิจัย พอดีมีรุ่นพี่มาแนะนำ ให้ลองไปเข้าชมรมสถิติ เพื่อทดสอบตัวเองก่อนว่าชอบหรือไม่ ไปเรียนด้วยกัน มาช่วยกันติว ดูแล้วรู้สึกอบอุ่น เหมือนเป็นครอบครัว ผมก็ลองลงเรียนวิชาสถิติเพิ่ม พออีกระยะหนึ่งก็ไปทำเรื่องขอย้ายจาก วิทยาศาสตร์ สาขาเคมี มาเป็น สาขาสถิติ แล้วเมื่อเจอกับอาจารย์ที่ปรึกษา ท่านก็ให้คำแนะนำว่า ควรจะเรียนสาขาไหนเพื่อเป็นวิชาโท ซึ่ง คอมพิวเตอร์ เพิ่งเปิดใหม่ รู้สึกว่าน่าสนใจ คุณแม่ยังถามเลยว่า คอมพิวเตอร์คืออะไร ตอนนั้นผมเองก็อธิบายไม่ถูก เพราะตอนเรียนในมหาวิทยาลัย ก็ไม่เคยเห็นเครื่องคอมพิวเตอร์เลย

ทำงาน : เรียนจบไม่ถึงเดือนก็ได้งานทำ เป็นโปรแกรมเมอร์ ที่ ดาต้าแมท บริษัทขายคอมพิวเตอร์เจ้าใหญ่ในสมัยนั้น ทำงานวันแรกก็งงเลย เพราะทุกคนมีคอมพิวเตอร์กันคนละเครื่อง ซึ่งผมไม่เคยใช้มาก่อน ไม่กล้าเปิด ต้องให้เพื่อนร่วมงานมาแนะนำ และต้องใช้ภาษาเบสิคสำหรับเครื่องพีซี ไม่เหมือนกับภาษาสำหรับเครื่องมินิที่เรียนมาเลย ต้องอาศัยศึกษาจากคู่มือที่ให้มา และอบรม ลงเรียนเพิ่มเติมกับ อ.ยืน ภู่วรวรรณ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แล้วผมยังต้องทำหลากหลายหน้าที่ ตั้งแต่ 1. การเขียนโปรแกรม 2. เป็นพนักงานขายด้วย 3. ติดตั้งเครื่อง และ 4. ให้บริการหลังการขาย งานหนักมากจนจนเริ่มรู้สึกว่าถึงทางตันแล้ว

จุดเปลี่ยนชีวิต : หลัง ๆ เริ่มเห็นว่า ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตาม โอกาสที่จะก้าวขึ้นไปสูงกว่านี้มันยากมาก เพราะจะมีคนที่เรียนสูงกว่า จบจากต่างประเทศ ได้รับโอกาสก่อน ถึงแม้ว่าประสบการณ์การทำงานเราจะมีมากกว่าก็ตาม เราเสียเปรียบตรงนี้ ก็คิดว่าแบบนี้ไม่ใช่แล้ว จนได้คุยกับพี่ชาย (สุรศักดิ์ วงศ์ข้าหลวง) ที่อยู่อเมริกาว่า อยากไปเรียนต่อ โชคดีที่พี่ชายดูแลเรื่องคอมพิวเตอร์ของธนาคาร เขาส่งพนักงานไปเรียนที่ ยูซีแอลเอ เอ็กเทนชั่น เรียนเจาะลึกเรื่องฮาร์ดแวร์ ผมก็ไปเรียนหลักสูตรนี้ด้วย พอเรียนจบ เขาก็ชวนให้อยู่ที่อเมริกา มีธุรกิจให้ทำ แต่ผมไม่ชอบทำงานในออฟฟิศ เลยขอกลับ

เปิดบริษัท : พอกลับมาผมกลายเป็นคนตกงาน ช่วงนั้นว่างก็เลยเล่นหุ้น โชคดีพอได้ทุนมาก้อนหนึ่ง เมื่อปรึกษากับครอบครัวแล้ว พี่สาวคนโตก็แนะนำว่า ให้เราคิดเองทำเอง ตัดสินใจเองดีกว่า ผมก็เปิดบริษัท W. K. L. INTERNATIONAL SUPPLIES LTD. ซึ่งได้จดทะเบียนไว้นานแล้ว แต่มาใช้งานจริงเมื่อปี 2531 ดำเนินกิจการตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา เริ่มจากขายหมึกพิมพ์ ขายคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ต่าง ๆ และขยายกิจการมาเรื่อย ๆ จน ปี 2540 ฟองสบู่แตก เก็บหนี้ไม่ได้ โชคดีที่ยังได้กำลังใจจากคุณพ่อคุณแม่ พี่ ๆ ภรรยาและลูก ๆ สู้ฝ่าฟัน จนกลับขึ้นมาได้อีก

โลกาภิวัตน์ : การค้าขายคอมพิวเตอร์ ปัญหาที่ผ่านมาก็คือ ลูกคนรวยจบใหม่ ๆ เมื่อมีทุนเยอะ ก็สั่งคอมพิวเตอร์มาขาย ตัดราคา สักพักพออยู่ไม่ได้ก็ปิดร้านไป แต่ลูกค้าอยากได้ราคาเดิม ก็มาขอกับเรา ซึ่งทำไม่ได้ เพราะต้นทุนเราสูงกว่า เนื่องจากมีบริการหลังการขาย ทำให้เรายังเหลือลูกค้าเฉพาะกลุ่มที่เข้าใจว่า คอมพิวเตอร์ต้องการเซอร์วิส ไม่เหมือนกับสินค้าอื่นทั่วไปที่ขายแล้วจบ ยิ่งปัจจุบัน ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปหมด ทุกคนต้องปรับตัว ตามเทคโนโลยี ตามกระแสสังคม สิ่งที่ทำให้เรายังอยู่ได้ก็คือเรื่อง บริการหลังการขาย ผมบอกเสมอว่า อย่าไปหยิ่งคิดว่าสินค้าเราดี ต้องทำให้เห็นว่า เมื่อเราขายสินค้าให้คุณแล้ว เราเป็นที่พึ่งของเขาได้ ถ้าทำให้เขามั่นใจได้ ถึงแม้เศรษฐกิจจะไม่ดี ลูกค้าก็ไม่ไปไหน

คำสอนพ่อ : โชคดีที่ผมมีคุณพ่อแบบอย่าง ท่านสอนเสมอว่า ซื่อสัตย์กับตัวเอง กับครอบครัว กับอาชีพ กับลูกค้า ทำให้เรายืนอยู่ได้มาตลอด พอเจอวิกฤติทุกครั้ง คุณพ่อ คุณแม่ พี่ ๆ จะคอยให้กำลังใจ ว่ายังไงก็ต้องสู้ ช่วยอะไรกันได้ก็คอยช่วย และสิ่งสำคัญ คือลูกทั้งสามคน เราก็ต้องเลี้ยงให้รอด เลี้ยงให้ดี ที่ทำได้ก็เพราะ มีครอบครัวที่ดี ภรรยาที่ดี คอยประคับประคองกันมา ช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ นอนจับมือกันร้องไห้ก็เคยมาแล้ว แต่ผมไม่มีปัญหากับชีวิตครอบครัว เพราะหยุดทุกอย่างหลังจากแต่งงาน เคยดื่ม เคยสูบบุหรี่ พอลูกมาขอให้เลิก ก็หยุดบุหรี่ได้ทันที จะมีดื่มอยู่บ้างก็นาน ๆ ครั้ง และไม่ไปเที่ยวที่ไหนเลย ทำงานเสร็จแล้วอยากรีบกลับบ้าน ได้เห็นลูก ครอบครัวอยู่ด้วยกัน ก็เป็นกำลังใจให้เราสู้ต่อเราต้องอยู่ได้ อาจจะไม่ร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐี แต่เราไม่เดือดร้อน แล้วก็สอนสิ่งเหล่านี้ต่อไปให้กับลูก ๆ อีกที โดยเฉพาะในเรื่องความซื่อสัตย์ ขยัน อดทน ทำงานให้ดีที่สุด รู้จักเก็บออม

ท้อได้ แต่ห้ามถอย : เพราะถอยเมื่อไหร่จะไม่มีทางไป เจออุปสรรคอะไรก็อย่าท้ออะไรง่าย ๆ ต้องสู้ก่อน ถ้าสู้แล้วไม่ไหวจริง ๆ ก็ลองเปลี่ยนแนวทาง แต่อย่าหยุด ถ้าชีวิตยังอยู่ก็ต้องสู้กันไป ปัญหาทุกอย่างมีทางแก้ ถ้าไม่หนีปัญหา หาทางแก้โดยสุจริต ถ้าทุจริตเราไม่ทำ นี่คือสิ่งที่ตั้งมั่นในชีวิตเราก็สู้ด้วยความอดทน จนกระทั่งชีวิตดีขึ้น ถึงจะมีวิกฤติเกิดขึ้นอีก เราก็ใช้วิธีการเดิมสู้อีก โดยมีคุณแม่ และพี่ ๆ คอยให้กำลังใจ คอยช่วยเหลือ โดยเฉพาะเรื่องการเรียนของลูก ๆ จนทุกคนเรียนจบ ได้รับการศึกษาที่ดี ก็ถือว่าเราหมดห่วง

ชีวิตปัจจุบัน : ถือว่าพอใจในสิ่งที่เรามีแล้ว สมัยก่อนไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย ปัจจุบันมีโรคประจำตัว คือไขมันสูง ซึ่งต้องดูแลโดยใช้วิธีทั้งยา อาหาร และการออกกำลังกาย อาศัยการเดินรอบหมู่บ้าน มาช่วงหลังที่ออกไปไหนไม่ได้ ก็ใช้วิธีเดินในบ้านให้ได้มากที่สุด ผมเป็นคนชอบกินอาหาร ชอบทำอาหาร ลูก ๆ ก็ชอบให้ทำ ถ้ากินเยอะ ก็ต้องหาวิธีเผาผลาญทางอื่น มื้อเย็นก็กินข้าวให้น้อย ทานผักให้มาก นอนให้ได้ 7 ชั่วโมง ทุกเช้ากับก่อนนอน สวดชิณบัญชร กับเจ้าแม่กวนอิม พยายามผ่อนคลายไม่ให้เครียด

กิจกรรมเพื่อสังคม : พี่ชายของผมทำงานช่วยเหลือด้านสังคม ทำงานการกุศลเยอะมาก ท่านเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้บุกเบิกสร้างวัดไทยในลอสแองเจลลิส ช่วยตั้งแต่แบกปูนกันเอง เป็นวัดไทยใหญ่ที่สุดในอเมริกา คนไทยอยู่ที่นั่นกันเยอะ เลยตั้งเป็นสมาคมไทยแคลิฟอร์เนียร์ภาคใต้ ให้ถูกต้องตามกฎหมายของอเมริกา ตอนผมไปเรียน พี่ชายเป็นอุปนายกฯ ผมก็ได้เข้าไปช่วยงานทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ ซึ่งทุกเรื่องของคนไทย ไม่ว่าจะเล็กใหญ่แค่ไหน ตั้งแต่เด็กนักเรียนจนถึงสังคมส่วนรวม สมาคมฯ ก็ให้ความช่วยเหลือกันเต็มที่

ไม่ลืมรากเหง้า : เราต้องการให้ลูกหลานของคนไทยไม่ว่าจะเกิดที่ไหน ได้เรียนภาษาไทย ไม่ลืมวัฒนธรรมไทย มีการตั้งคณะนาฏศิลป์ เพื่อสืบสาน จนเกิดโครงการวัฒนธรรมไทยคืนถิ่น เมื่อปี 2533 โดยมีวัดไทยแอลเอเป็นศูนย์กลาง คุณสุรศักดิ์ วงศ์ข้าหลวง เป็นประธาน และได้รับความช่วยเหลือจาก คุณโกวิท สีตลายัน, คุณกาญจนา สายสิริพร (มหากายี), คุณดำฤทธิ์ วิริยะกุล ช่วยกันประสานงาน จัดหาทุน นำเยาวชนนาฏศิลป์ไทยจากอเมริกา มาแสดงที่ประเทศไทย ณ โรงละครแห่งชาติ และได้รับความสนใจเป็นอย่างดียิ่ง และครั้งที่ 2 คุณสุรศักดิ์ ก็เริ่มให้ผมเข้าไปช่วยบ้าง พอครั้งที่ 3 ก็เข้ามาช่วยเต็มตัวมากขึ้น ทำจนโครงการเป็นที่รู้จัก และชื่นชอบของคนไทยที่นั่น และนักการเมืองของอเมริกา เมื่อเห็นว่าโครงการนี้มีความเข้มแข็งแล้ว คุณสุรศักดิ์ ก็อยากให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าไปทำกันบ้าง โดยจะคอยเป็นที่ปรึกษาอยู่เบื้องหลัง

เยือนแผ่นดินแม่ : มีผู้ปกครองเด็ก ได้รวมตัวกันมาหา บอกว่าลูกเขาเรียนภาษาไทย แต่ไม่ได้เรียนนาฏศิลป์ ถามว่าจะมีโอกาสมาเยือนประเทศไทย ดูความเป็นอยู่ของคนไทยบ้างไหม หลังจากปรึกษากัน ก็คิดว่าจะทำ โครงการเยาวชนไทยในสหรัฐอเมริกาเยือนแผ่นดินแม่ เพิ่มขึ้นอีก โดยเบื้องต้นเปิดโอกาสให้เฉพาะเด็กที่มีพ่อแม่เป็นคนไทยร่วมโครงการ จัดสลับกันกับโครงการวัฒนธรรมไทยคืนถิ่น ซึ่งได้รับความสำเร็จอย่างสูง และจัดต่อเนื่องมาตลอด โดยฝั่งไทย คุณกาญจนา สิริพร เป็นประธานฯ คุณดำฤทธิ์ วิริยะกุล เป็นเลขานุการฯ และผมทำหน้าที่ เป็นรองเลขานุการฯ ส่วนฝั่งอเมริกา คุณสุรศักดิ์ วงศ์ข้าหลวง เป็นประธานฯ โดยเราได้รับความร่วมมือจากทั้งเอกชนและรัฐบาล ได้พาเด็ก ๆ ไปเยี่ยมคารวะท่านนายกรัฐมนตรีหลายท่านแล้ว และพาไปทัศนะศึกษา หมุนเวียนไปตามภูมิภาคต่าง ๆ ให้เขาเจอในสิ่งที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน ต้องการให้เขาเห็นว่า ชีวิตของคนไทยที่แท้จริงเป็นอย่างไร เมื่อเด็กเหล่านี้โตแล้ว ก็ควรจะกลับมาสร้างประโยชน์ให้ประเทศไทย และเรายังมีการรวบรวมทุนมาช่วยการกุศลอีกหลายแห่ง เช่น เด็กพิการบ้านปากเกร็ด โรงพยาบาลทหารผ่านศึก ฯลฯ ซึ่งทุกคนก็พร้อมจะช่วยเหลือ

สงกรานต์ : โครงการ Thai New Year (Songkran) Festival เกิดขึ้นเพราะทุกคนเห็นว่า เรามีวัฒนธรรมน่าสนใจ อยากจะจัดบ้าง ตอนนั้น ท่านอดีตกงศุลใหญ่ อิสินธร สอนไว ร่วมกับคณะกรรมการฯ ให้การสนับสนุนกันอย่างเต็มที่ โดยได้จัดตั้ง Thai New Year (Songkran) Festival Corp. โดยมีคุณศรีวงศ์ อาญาสิทธิ์ เป็นประธาน คุณสุรศักดิ์ วงศ์ข้าหลวง เป็นเลขาธิการบอร์ด ปิดถนนฮอลลิวูด ด้านหน้าไทยทาวน์ ยาวกว่า 2 กม. จัดงานวันอาทิตย์ทั้งวัน แรก ๆ ก็ลุ้นเหมือนกันว่าจะเป็นอย่างไร เราจึงไปชวนพี่น้องชาวลาว ชาวกัมพูชา มาร่วมงานด้วย เชิญศิลปินดาราไทยที่มีชื่อเสียงที่เขารู้จักชื่นชอบให้ไปร่วมงาน อีกสิ่งที่คนชอบมากที่สุดคือ เวทีมวยไทย ประมาณการว่ามีคนเข้าออกในงานกว่าสามแสนคน แล้วก็จัดต่อเนื่องมีความยิ่งใหญ่เพิ่มขึ้นมาโดยตลอด

กำไรเกินคุ้ม : ทุกครั้งที่คณะฯ มาประเทศไทย ผมต้องหยุดงานไปช่วยกว่าครึ่งเดือน ปล่อยให้พนักงานทำงานกันเอง แรก ๆ ก็งงพี่ชายว่า ทำงานสังคมไปเพื่ออะไร คุณเองต้องมีหน้าที่เลี้ยงลูก ค่าใช้จ่ายก็สูงอยู่แล้ว ยังจะมาเสียเงิน มาเหนื่อยอีกทำไม จนกระทั่งได้ฟังเรื่องราวของเด็กไทยที่อเมริกา ซึ่งพี่ชายเป็นประธานของ Asian American Youth Heritage Center แล้วมีการสอนเด็ก ๆ ที่นั่นด้วย ครั้งหนึ่งเมื่อมีการถามเด็กที่นั่นว่าเป็นคนชาติอะไรกันบ้าง เขาก็จะตอบแบบขึ้นต้นด้วย American นำหน้าก่อน แล้วตามด้วยเชื้อชาติ แต่พอถึงเด็กไทย เขาตอบว่าเป็น Thai – American ทำให้ทุกคนตกใจ งง กันทั้งชั้นว่าทำไมตอบแบบนี้ คิดไม่เหมือนคนอื่นเลย เด็กก็อธิบายว่า ประเทศไทยมี ประเพณี วัฒนธรรม เป็นของตัวเอง เชิดหน้าชูตาได้ เขามีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย ทำให้ได้รับเสียงปรบมือทั้งห้อง กลายเป็นว่า หลังจากนั้น เด็กคนอื่น ๆ ก็เริ่มเปลี่ยนมุมมองในเรื่องความภาคภูมิใจในเชื้อชาติของตัวเองกันมากขึ้น หรือครั้งหนึ่ง ผมได้มีโอกาสเข้าไปโรงเรียนในวังหญิง มีเด็กผู้หญิง แม่เป็นคนไทย พ่อเป็นฝรั่ง พูดไทยไม่ได้ ไปนั่งดูนักเรียนคนไทยอธิบายการทำงานฝีมือ แล้วพูดกับแม่ว่า กลับไปขอเรียนภาษาไทยนะ อยากฟังออก อยากพูดได้ อยากทำงานฝีมือแบบนี้บ้าง ได้ยินได้ฟังแค่นี้ ผมก็รู้สึกแล้วว่า ที่เราเหนื่อยยากกันมานั้น ไม่สูญเปล่า อย่างน้อยก็ทำให้เด็กไทยมีความภูมิใจในประเทศไทยของเราครับ