การพัฒนาคนอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง (ขั้นพื้นฐาน)
การพัฒนาคนอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง
ขั้นพื้นฐาน
จากฉบับที่แล้ว เราทราบถึงองค์ประกอบคร่าวๆที่จะทำให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง และโค้ชได้ช่วยพัฒนานักกีฬาตัวเองจนถึงจุดสูงสุดที่นักกีฬาจะทำได้ บนพื้นฐานของความแตกต่างของแต่ละคนในแต่ละช่วงของการฝึก วิธีการดังกล่าวก็เพื่อให้มั่นใจว่านักกีฬาจะสามารถแสดงศักยภาพได้เต็มที่ โดยเน้นตัวนักกีฬาเป็นหลัก การผลักดันโดยโค้ช และได้รับการสนับสนุนจากยผู้บริหารและวิทยาศาสตร์การกีฬา
อีกประเด็นหนึ่งตามหลักการของ LTAD คือเป็นหลักการที่รวมองค์ประกอบต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมนอกจากร่างกาย ทักษะกีฬาและจิตใจด้วย เรื่องของสังคมก็จะถูกนำมากล่าวถึงเพื่อให้พัฒนาการของคนเราสามารถถึงจุดสูงสุดของขีดความสามารถของตัวเองได้
ในฉบับนี้เรามาต่อกันในแต่ละขั้นตอนของกระบวนการพัฒนาดังกล่าว หลักการในแต่ละช่วงนี้สามารถประยุกต์ใช้กับนักกีฬาทุกชนิด และขอนำเสนอที่ให้เห็นอย่างชัดเจนทั้ง 7 ขั้น ตามแนวทางของ Athletics Canada ดังนี้
- ขั้นพื้นฐานการเคลื่อนไหว (Active Start)
- ขั้นสนุก ตื่นเต้น (Fundamentals)
- ขั้นการเรียนรู้การฝึก (Learning to Train)
- ขั้นการฝึกเพื่อการฝึก (Training to train)
- ขั้นการฝึกเพื่อแข่งขัน (Training to complete)
- ขั้นการเรียนรู้เพื่อชัยชนะ (Learning to Win)
- ขั้นการใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างกระฉับกระเฉง (Active for Life)
ตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน (Active Start)
ในขั้นแรกสุดของ LTAD เป็นขั้นของเด็กอายุ ระหว่าง 0-6 ปี (ทั้งเพศชายและหญิง)
การจะเป็นนักกีฬาเก่งหรือไม่เก่ง การจะเข้าสู่วงจรของการเป็นนักกีฬาในการแข่งขันในอีก 10-15 ปีข้างหน้า เริ่มต้นที่ว่าชีวิตวัยเด็กมีโอกาสเกี่ยวข้องกับการมีกิจกรรมทางกายมากน้อยแค่ไหน ตามหลักการ LTAD พูดถึงขั้นนี้ว่าเป็นช่วงแรกสุด โดยผู้ปกครองจะเป็นหลักในการให้โอกาสและให้การสนับสนุนกับลูกๆ เด็กๆมากที่สุด ขั้นนี้ได้รับการกำหนดว่าเป็นขั้นเริ่มต้นของเคลื่อนไหวขั้นพื้นฐาน
ขั้นนี้นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งที่ผู้ปกครองจะต้องเข้าใจและต้องทราบเกี่ยวกับเรื่องของอาหาร การกิน อะไรควรกิน มากน้อยแค่ไหน การพักผ่อน การนอนหลับ และการที่เด็กมีกิจกรรมทางกายเพื่อพัฒนาการของร่างกายและจิตใจที่สำคัญ
Athletics Canada ยังแนะนำให้กิจกรรมของเด็กช่วงนี้มีกิจกรรมทางกายที่มากกว่าวันละ 60 นาที โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เด็กๆได้เล่น สนุกกับการมีกิจกรรมทางกาย เคลื่อนไหวร่างกาย ไม่อยู่เฉย อย่างไรก็ตามการเจริญเติบโตและพัฒนาการทั้งกายและใจช่วงนี้ก็ต้องอยู่บนพื้นฐานของความเสี่ยงน้อยหรือมีความปลอดภัยสูงตลอดเวลา พ่อแม่ควรให้ความสนใจกับเรื่องของความปลอดภัยด้วยขณะที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างต่อเนื่อง
ในมุมของกีฬาเพื่อความเป็นเลิศหรือแข่งขันจึงไม่อยู่ในช่วงนี้ สิ่งที่เด็กสามารถเข้ามาเกี่ยวข้องจึงเป็นเรื่องของการเคลื่อนไหวร่างกายขั้นพื้นฐาน เช่น ได้วิ่ง เดิน กระโดด รวมทั้งการขว้าง การจับสิ่งของ การให้มีโอกาสในสภาพแวดล้อมที่กระตุ้นและสร้างความสนุกให้กับเด็กๆตลอดเวลา กฏกติการ การฝึกอย่างต่อเนื่องไม่จำเป็นต้องเอามาใช้ เด็กควรจะเล่นด้วยความชอบ สนุก ตื่นเต้นและอยากทำอย่างอิสระและเป็นธรรมชาติมากที่สุด
ระยะเวลา 6 ปีนี้ เป็นการปลูกฝังให้เกิดความคุ้นเคยกับการมีกิจกรรมทางกายอยู่ตลอดเวลา
ในฉบับหน้าเรามาทราบการขยับขั้นของการเคลื่อนไหวร่างกาย การสร้างจิตใจและสังคมที่เน้นความสนุกและตื่นเต้น ให้กับเด็กๆเป็นสำคัญ ติดตามได้ในฉบับหน้าครับ
ผศ. ดร. นฤพนธ์ วงศ์จตุรภัทร
คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยบูรพา
นายกสมาคมจิตวิทยาการกีฬาประยุกต์แห่งประเทศไทย