Interview

สราวุธ วิจิตรไกรสร

สราวุธ วิจิตรไกรสร
CGA
“อะไรเป็นสิ่งที่ควรทำ มันคือสิ่งที่ต้องทำ”…
“แต่อย่าไปทำด้วยความฝืนใจ พยายามทำให้สนุก อยู่กับมันให้ได้ด้วยความสุข”

ชอบเล่นโลดโผน ผจญภัย : ชอบเล่นทุกอย่าง แต่ไม่ได้เล่นอะไรเป็นเรื่องเป็นราว กีฬาเล่นอย่างละนิดละหน่อย แค่สนุก ไม่ถึงขั้นดี และชอบกิจกรรมแนวผจญภัย ใช้ชีวิตกลางแจ้ง ธรรมชาติ เข้าป่ากางเต็นท์ แค้มปิ้ง ตกปลา รถออฟโรด อาศัยเรียนรู้จากอ่านหนังสือเกี่ยวกับกีฬากลางแจ้ง จะได้ไปจริง ๆ บ้างช่วงปิดเทอม กับเพื่อนที่บ้านเขาอยู่ต่างจังหวัด

หัดเล่นกอล์ฟ : คุณพ่อหัดเล่นกอล์ฟ จะไปเล่นกับเพื่อน ผมก็ไปด้วย นั่งดูพ่อซ้อม ตอนนั้นเริ่มที่สุขุมวิท 24 แล้วก็ย้ายไปสนามงามดูพลี แรก ๆ ตามไปดูอย่างเดียว เห็นพ่อฝึกตีเอง โดยไม่มีใครสอน พอดูแล้วรู้สึกว่า ท่าทางของพ่อไม่ทะมัดทะแมง เก้ ๆ กัง ๆ ส่วนเราก็ลอกตาม แล้วพยายามปรับท่าของตัวเองที่คิดว่าดีกว่าของพ่อ ตรงไหนหรืออะไรที่เห็นว่าท่าทางไม่สวย ผมก็ปรับให้มาในจุดที่คิดว่าพอดี จนคิดว่าท่าทางของเราสวยดีละ แต่ผลลัพธ์ก็คือ ผมกลับตีลูกได้ไม่ดีเลย

พ่อจับเรียน : พ่อเห็นว่าหน่วยก้านเราพอไหว ก็เลยพาไปฝึก ฝากเรียนกับโปร ที่สนามไดร์ฟงามดูพลี, พ่อไม่ได้เรียนกอล์ฟด้วย แต่มีก๊วนเพื่อนอยู่ตรงนั้น ไปซ้อมกันตอนค่ำ ๆ พ่อไปเมื่อไหร่ผมก็ตามไปด้วย ไปเรียนอยู่ประมาณ 20 ครั้ง ตั้งแต่เริ่มพื้นฐานเลย จนพอเริ่มตีได้ รู้สึกว่าการซ้อมไดร์ฟสนุก ได้จัดตัวเอง ได้คิด ได้ตี ได้แก้ไข ตีอยู่สองปี จนตีได้ลูกลอยสวย ตีไกลจนชนป้ายด้านหลังสนาม แต่ยังไม่ได้ออกรอบจริง ๆ สมัยนั้นเพื่อน ๆ วัยเดียวกันไม่มีใครเล่นกอล์ฟ ตอนกลางวันผมก็ทำกิจกรรม เล่นตามปกติที่โรงเรียน แต่ช่วงค่ำ ก็มาสนามซ้อมกับพ่อ

ออกรอบครั้งแรก : คุณพ่อชวนออกรอบครั้งแรกที่สนามสามพราน ต้องตื่นตีห้า ตอนนั้นตื่นเต้นมาก แต่ก็มั่นใจว่าตัวเองพร้อม เราไปถึงก่อนสว่าง เพื่อเล่นก่อนก๊วนแรกที่จองเวลาไว้ มืดขนาดที่สตาร์ทเตอร์ ต้องเอามอเตอร์ไซค์มาเปิดไฟส่องลูกกอล์ฟให้ตอนเริ่มทีออฟ ผมก็ตีด้วยความตั้งใจมาก ซ้อมมาเยอะ ฟังมาเยอะ เข้าใจเรื่องกอล์ฟว่านับคะแนนยังไง คิดว่าทุกอย่างควรจะดี ความมั่นใจเต็มร้อย คิดว่ายังไงก็ต้องเล่นดีกว่าคุณพ่อแน่นอน แต่ปรากฏว่า จบรอบวันนั้น เละ พังไม่เป็นท่า

หมูสนามจริง : การที่เรายืนซ้อมไดร์ฟอย่างเดียว กับการไปตีกอล์ฟในความเป็นจริง มันไม่เหมือนกัน มันมีอะไรนอกเหนือไปจากคำว่า วงสวิง ซ้อมไปดี แต่ทำไม่ไปตีจริงแล้วไม่ดี ระหว่างเล่น รู้สึกว่าไม่ได้ดั่งใจ คิดไว้เลยว่า กลับไปต้องทำการบ้านเรื่องนี้อย่างหนัก เพราะเป็นคนชอบคิด ชอบวิจัย วิเคราะห์ อยากหาคำตอบว่า เรื่องนี้เกิดได้อย่างไร ทำไม เพราะอะไร กลับมาก็เริ่มหาคำตอบ แก้ไขข้อผิดพลาดของตัวเองก่อนเลย อยู่สนามไดร์ฟตีดี แต่ทำไมไปสนามจริงแล้วทำไม่ได้ ทำไมเราถึงตีหลังลูก พื้นเอียงต่าง ๆ จะตียังไง พยายามศึกษาความเป็นกอล์ฟมากขึ้นว่ามันคืออะไร ยืนไดร์ฟดี ไม่ใช่บทสรุปของการไปเล่นดี เรียนรู้โลกของกอล์ฟให้กว้างขึ้น จนรู้แล้วว่าการซ้อมกับออกรอบมันไม่เหมือนกัน ความเข้าใจในวงสวิงของตัวเองเป็นแค่เพียงจุดเริ่มต้น แต่มันไม่ใช่สูตรสำเร็จว่า สวิงดีอย่างเดียว แล้วจะประสบความสำเร็จในกีฬานี้ หลังจากนั้น ผมไปทุกอาทิตย์ เพื่อจะพิสูจน์ในสิ่งที่ตัวเองคิด ถ้าชอบทำอะไรแล้ว จะทำจริง เอาจริง ออกรอบไม่กี่ครั้ง พอปรับตัวได้ ก็เริ่มทำคะแนนสู้กับคุณพ่อได้ หลังจากนั้นก็เริ่มออกเดินสาย ไปแข่งตามชมรมต่าง ๆ

ชีวิตที่เลือกเอง : คุณพ่อเป็นช่าง ทำอู่ซ่อมตัวถังรถ ช่วงกิจการไปได้ดี เคยมีช่างกว่า 60 คน แต่ผมเองไม่ค่อยได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับงานของท่านเลย เพราะคุณพ่อให้โอกาสลูก ๆ ให้เลือกชีวิตเองเต็มที่ อยากทำอะไร ทำเลย ไม่มีการบังคับ เลี้ยงลูกแบบฝรั่ง ซึ่งสมัยนั้นไม่มีใครเลี้ยงลูกแบบนี้ ผมเป็นพี่ชายคนโต แล้วโตขึ้นมาตอนคุณพ่อยังหนุ่ม ท่านก็ยังมีกำลังในการทำงานเต็มที่ ธุรกิจของที่บ้านก็เลยไม่มีใครสานต่อ จนถึงทุกวันนี้ท่านก็ยังทำอู่แบบเพื่อเป็นกิจกรรมไม่ให้ตัวเองว่าง ไม่ได้มุ่งเน้นในการทำธุรกิจ ส่วนผมเรื่องเรียนไม่ได้ซีเรียสมากนัก ครอบครัวก็ไม่ได้เป็นห่วงผม เพราะคุณพ่อรู้ว่า เราไม่ได้เกเร ไม่เหลวไหล การเรียนก็แค่ขอให้เรียน แต่อย่าไปยุ่งกับอบายมุข ยาเสพติด อะไรที่ไม่ดี ที่เหลือปล่อยให้เราตัดสินใจเลือกเองว่าอยากทำอะไร เพราะผมก็มุ่งมากอล์ฟอย่างเดียว พอได้จับกอล์ฟ ผมก็ไม่ได้คิดเรื่องอื่นเลย ตั้งเป้าไว้อย่างเดียวเลยว่า วันหนึ่งผมจะเป็นโปรให้ได้ ตั้งแต่เริ่มเข้าสนามไดร์ฟ

เรียนไปเล่นกอล์ฟไป : ปีแรกเอ็นทรานซ์ไม่ได้ ไปลงเรียนที่ ม.รามฯ ระหว่างที่จะรอบเอ็นฯ อีกครั้งในปีหน้า ทำให้ได้เล่นกอล์ฟเยอะมาก พ่อเป็นเมมเบอร์ที่ปัญญาปาร์ค (วินเซอร์) ผมก็ได้สิทธิ์ไปเล่นด้วย พ่อให้รถมาใช้ ทำให้ไปซ้อมบ่อยมาก แต่กิจกรรมที่นักศึกษาในรามฯ ที่ควรจะทำ ผมก็ได้ทำด้วย ไปเรียน ไปสอบ มีเพื่อน โดยรวมก็คือ ชีวิตมีแต่ เรียนกับกอล์ฟ ปีต่อมาสอบติดที่ ม.เอแบค การตลาดคณะบริหารธุรกิจ เรียนหนักกว่าเดิม แต่ชีวิตก็ยังมีอยู่สองฝากเหมือนเดิม คือ เรียนกับกอล์ฟ เรียนก็จริงจัง พยายามตามเพื่อนให้ทัน เอาตัวรอดได้ ด้วยความเป็นคนชอบอ่านหนังสือ แต่ในใจยังไงก็ตั้งเป้าเป็นโปรกอล์ฟอย่างเดียวเลย ชัดเจนมาก ตอนนั้นแข่งกับชมรมกอล์ฟไทม์บ่อยมาก ได้ถ้วยมาเยอะมาก อยู่แบบนั้นจนเรียนจบ

เริ่มเข้าวงการ : ตอนใกล้เรียนจบ ผมไปซ้อมที่สนามไดร์ฟเอกสปอร์ต จนได้เริ่มมารู้จักกับ อ.เชาว์ (เชาวรัตน์ เขมรัตน์) ท่านคงเห็นหน่วยก้าน เลยสอบถามว่าทำอะไรอยู่ที่ไหน ผมก็ตอบว่ากำลังจะเรียนจบ แล้วก็เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความชอบกอล์ฟให้ อ.เชาว์ แล้วท่านก็ทราบว่าผมถนัดภาษาอังกฤษด้วย ก็ชักชวนให้เข้ามาช่วยแปลหนังสือ เขียนหนังสือ พอเรียนจบ ก็คิดวางเป้าหมายจะไปสอบโปร จะทำอย่างไรถึงจะไปเป็นนักกอล์ฟอาชีพได้ พอดี อ.เชาว์ ติดต่อมาอีกรอบ ถามว่า อยากเป็นโปรสอนกอล์ฟมั้ย? ผมก็ตอบตกลงทันที ทั้ง ๆ ที่ครั้งแรกอยากเป็นโปรเดินสายแข่ง แต่เมื่อคิดอีกที ก็รู้สึกว่าดีเหมือนกัน อย่างน้อยก็ได้เข้ามาสัมผัสกับวงการกอล์ฟให้มากขึ้นก่อน แล้วก็เข้ามาเป็นผู้ช่วย อ.เชาว์ ประมาณปีนึง ได้สังเกตการณ์เวลาสอน เป็นผู้ช่วยสอนบ้าง ได้เขียนหนังสือ เหมือนได้ฝึกงาน และได้ซ้อมกอล์ฟของตัวเองไปด้วย

สะสมรถ : ผมโตมาคุ้นเคยกับรถ รู้ว่าคันไหนดี คันไหนแพง มีความรู้เรื่องรถ แต่ยุคนั้นยังเด็ก ไม่มีกำลังซื้อ จนกระทั่งทำงาน เริ่มมีกำลังบ้าง ก็สะสมรถยุค 90 ซึ่งเป็นสมัยที่เราได้แค่มองว่าเป็นรถในฝัน เช่น โตโยต้า ซูปร้า, โตโยต้า เอ็ม อาร์ 2, มิตซูบิชิ อีโว, ซูบารุ อิมเพรสซ่า ฯลฯ ช่วงแรก ๆ ซื้อเก็บอย่างเดียว เคยมีเกือบสิบคัน ซื้อจนดูแลไม่ไหว งานยุ่ง จอดจนพังไปหลายคัน สุดท้ายก็ขายออกไปบ้าง แต่ที่ขายออกไปก็ไม่ขาดทุน ได้กำไรบ้าง ทำให้ไม่ซีเรียส เพราะผมซื้อมาในยุคที่รถปี 90 ยังไม่บูม แต่ในปัจจุบัน ได้รับความนิยม ราคาพุ่งสูงไปมาก แล้วเรื่องขับรถผมก็ไม่ได้ไปแข่ง หรือใช้ความเร็วอะไรมาก เป็นเรื่องของความชอบในมุมของสะสมมากกว่า

ชอบตกปลา : สมัยเด็กบ้านอยู่ติดคลอง จุดเริ่มคือมีญาติสนิท ที่ตกปลาเก่งมาก เขาได้ลงหนังสือ มีชื่อเสียงพอสมควรในวงการฯ ที่บ้านก็เลยหันมาตกปลากัน และเป็นกิจกรรมที่ผมชอบและทำมาตลอด เพราะได้อยู่กับธรรมชาติ ตกปลาจะได้หรือไม่ ไม่ใช่เรื่องซีเรียส บรรยากาศสำคัญกว่า ผมมีเพื่อนในวงการตกปลาเยอะมาก เวลามีประกาศทริป ถ้าเวลาเราว่างพอดี ก็ไปด้วย ผมตั้งใจออกทริปเพื่อตกปลาโดยเฉพาะปีละ 2 ครั้ง เพราะตลอดทั้งปี ผมไม่หยุดงานเลย แต่เวลาพักก็ลายาว ๆ มันง่ายสำหรับการทำงานด้วย ดีกว่าลาแบบย่อย ๆ บ่อย ๆ ทั้งเราและนักเรียน จะได้วางแผนการเรียนกันได้ ผมลางานล่วงหน้าข้ามปี เพราะทริปตกปลา จองปีนี้ กว่าจะได้ไปอาจจะถึงสองปีกว่าจะได้ไป ถ้าไปพม่าก็ราว 7 วัน บางครั้งไปไกลถึงอินเดีย ก็สิบกว่าวัน นั่งเรือลำใหญ่ที่ออกแบบมาสำหรับทริปตกปลาโดยเฉพาะ ออกจากประเทศไทยวิ่งยาว ๆ ไป แวะขึ้นฝั่งก็แค่ทำเรื่องเอกสาร ที่เหลืออยู่บนเรือตลอด มองไปรอบ ๆ มีแต่ท้องฟ้ากับน้ำทะเล เงียบ สงบ

หัวเลี้ยวหัวต่อ : เมื่อถึงเวลาที่ต้องทำอะไรเป็นอาชีพ ไม่ว่าจะเป็น รถ ตกปลา หรือ กอล์ฟ ทั้ง 3 อย่างนี้ ผมชอบทั้งหมด แต่มองทรงแล้วการสอนกอล์ฟน่าจะเข้าทางที่จะมาเป็นอาชีพให้กับผมมากที่สุด เคยคิดจะแข่งกอล์ฟ แต่รู้ดีว่า ต้องฝึก ต้องใช้ระยะเวลา บวกกับความสามารถของตัวเองที่ต้องเต็มที่ ทั้งสมรรถภาพร่างกาย จิตใจ กับการสอนกอล์ฟซึ่งเป็นอีกแนวนึง แต่ใช้ระยะเวลาน้อยกว่า ซึ่งผมมีทุนตรงนี้อยู่แล้ว เพราะชอบศึกษา ชอบอ่าน หาความรู้ เข้าใจในทฤษฎีกอล์ฟ เป็นเรื่องคุ้นเคยอยู่แล้ว ตรงกับตัวเองมากกว่า

ชอบการสอน : เมื่อได้สอนกอล์ฟ ผมจะสนุกทุกครั้ง ไม่ว่าจะสอนวัยไหน เด็ก ผู้ใหญ่ สูงวัย มือใหม่ ไปจนถึงนักกีฬา ผมเริ่มสอนกอล์ฟจริงจังเมื่ออายุยี่สิบปลาย ๆ เมื่อได้มาอยู่กับ อ.เชาว์ แล้ว และตอนอายุ 29 ก็สอบโปรผ่าน, การสอนกอล์ฟมีความแตกต่างในเรื่องของไอเดีย วิธีการสอน แต่ในเรื่องของแก่นกอล์ฟ มันไม่แตกต่างกัน เมื่อสอนมาได้ระยะหนึ่ง จนทำให้เข้าใจว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การถ่ายทอด เราสามารถสอนกอล์ฟได้ เท่าที่คนเรียนจะสามารถรับรู้ได้ เพราะต่อให้เราสอนในเรื่องที่สำคัญมากแค่ไหนก็ตาม แต่ถ้าผู้เรียนไม่เข้าใจ รับไม่ได้ หรือไม่มีสมาธิมากพอที่จะเรียนรู้ มันก็ไม่มีประโยชน์ ความยากที่สุดของการเป็นครูสอนกอล์ฟก็คือ ทำอย่างไร ให้นักเรียนขยายความรับรู้ของเขา เพื่อจะรับองค์ความรู้ที่จะเกิดขึ้น ถ้าทำให้เขาเข้าใจได้ ก็จบ

ความอดทน : เป็นบททดสอบแรกของกีฬานี้ เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณมีความอดทน ไม่ท้อกับมัน วันนึงคุณต้องทำสำเร็จแน่นอน ไม่มีอะไรที่คุณทำไม่ได้เลย ถ้ายังอดทนที่จะทำมันต่อไป อยากเก่งเท่าไหร่ก็ได้เท่านั้น เมื่อสมัยผมเริ่มสอนใหม่ ๆ ผมชอบมองคนที่มาซ้อมอยู่ข้าง ๆ ในสนามไดร์ฟ เพราะผมชอบคิด วิเคราะห์ แล้วจินตนาการภาพเอาเองว่า คนนี้น่าจะไม่รุ่ง คนนี้ท่าไม่ไหว หรือคนนี้น่าจะเก่ง จนกระทั่งวันนึง คนที่ผมเคยมองภาพไว้ว่าจะไม่รุ่งในเรื่องกอล์ฟ กลับกลายไปเป็นโปรทัวร์ ฝีมือดี ซึ่งมันต่างที่ผมเคยคาดการณ์ไว้ หลังจากนั้นทำให้ผมเปลี่ยนความคิด เปลี่ยนไอเดียการทำงาน สำหรับการฝึกกอล์ฟ ไม่มีคำว่าเป็นไปไม่ได้ ไม่ว่าคุณจะมีลักษณะใดมาก็ตาม ไม่มีสมาธิ ไม่มีทักษะ ถ้าคุณอดทนที่จะทำ คุณเก่งได้

ทำงานเป็นทีม : ที่ CGA เราสอนกันเป็นทีม ตลาดส่วนใหญ่คือคนที่เพิ่งเริ่มหัดเล่นกอล์ฟ อีกส่วนคืออยากพัฒนาฝีมือ และอีกกลุ่มที่ผมทำอยู่ คือเพื่อความเป็นเลิศ เป็นกลุ่มนักกีฬาเด็ก เล่นเพื่อการแข่งขัน มีเป้าหมายชัดเจน มีความอดทน ผ่านขั้นของการเป็นมือใหม่ ของเป็นผู้พัฒนามาแล้ว จนมาถึงขั้นมีความตั้งใจอยากจะเล่นให้ดี ซึ่งไม่ได้มีแค่ตัวนักกีฬาเองเท่านั้นที่ต้องมีความอดทน ยังมีผู้ปกครอง รวมถึงผู้สอนอีกด้วย ที่ต้องมีความอดทนร่วมกัน เพื่อช่วยกันสร้างความสำเร็จของเขา

ปัจจุบันคืออนาคต : ผมไม่มองภาพในอนาคตว่าจะเป็นอย่างไร แต่จะมองเป็นวันต่อวัน, ณ ปัจจุบัน ทำสิ่งที่รับผิดชอบอยู่ในมือให้ดีที่สุด มองเฉพาะภาพที่อยู่ตรงหน้า ซึ่งเป็นไอเดียของผมมาตลอด เพราะในโครงสร้างขององค์กร มีเป้าหมายที่ดีอยู่แล้ว สิ่งที่เราทำก็คือ เป็นอีกเส้นทางที่จะทำให้องค์กรบรรลุเป้าหมาย ฉะนั้นการที่ผมทำในสิ่งที่รับผิดชอบขณะนี้ให้ดีที่สุด ก็คือการดำเนินการไปสู่ความสำเร็จทั้งขององค์กรและตัวเราเองด้วย

ปัญหาคือความท้าทาย : การรับฟังปัญหาของคนอื่น เพื่อช่วยแก้ปัญหา เป็นธรรมชาติของผมเลย ผมเกิดมาเป็นอย่างนี้ การเป็นครูสอนกอล์ฟ คือผู้รับปัญหามาจากนักเรียน อยากเรียน อยากพัฒนา อยากเก่ง นั่นคือปัญหาของเขา ที่เราจะต้องรับมา แต่นั่นเป็นความชอบของผม ผมจึงไม่เครียดกับมัน ความสนุกเกิดตรงที่เราจะแก้ปัญหาให้เขาได้อย่างไร ความสุขของเรา คือการได้เห็นคนอื่นมีความสุข สิ่งที่เป็นปัญหาของเขา คือกิจกรรมของเราที่ต้องหาทางแก้ไขปัญหาให้ได้ ก็ไม่ใช่ว่าจะสำเร็จทุกกรณีไป บางครั้งมีผิดหวัง แอบเสียใจบ้าง เป็นเรื่องปกติ แต่กรณีที่ทำให้เกิดความสุขนั้น มันเกิดขึ้นเยอะกว่ามาก

มีคนคอยช่วย : ในการทำงาน ผมมีคนคอยจัดการให้ทุกอย่าง มีเจ้าหน้าที่คอยนัดหมายให้ หน้าที่ของผมคือฟังว่า ตารางชีวิตต้องทำอะไรบ้าง แล้วไปปฏิบัติให้เป้าหมายสำเร็จ ผมกับทีมงานต้องมีความเข้าใจ รู้ใจกัน อย่างเช่น การรับสอน ก่อนนักเรียนมาถึงผม จะมีการซักถามให้ทราบข้อมูลเบื้องต้นว่า ความต้องการของเขาคืออะไร ข้อมูลต้องละเอียดในระดับหนึ่งเลย แล้วเราก็ไปหาวิธีการเองว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้ได้รับผลลัพธ์ในสิ่งที่เขาต้องการ สำหรับชีวิตส่วนตัว ผมโชคดีที่คู่ชีวิตคอยดูแลให้หมดทุกเรื่อง ทั้งอาหารการกินที่มีประโยชน์ เสื้อผ้าที่เหมาะสม เพราะผมเป็นคนไม่เลือกอะไรเลย ทุกอย่างแล้วแต่ที่ภรรยาคัดสรรมาให้ ทำด้วยความสุข ความสนุก : ผมบอกเด็กเวลาไม่ตั้งใจเรียนในกีฬากอล์ฟอยู่เสมอว่า ไม่ว่าจะตีดีหรือไม่ดี เขาก็ยังต้องตีอยู่ ถ้าตีมั่ว ๆ โดนไม่ดี เจ็บทั้งมือ เหนื่อย อารมณ์เสียอีก แล้วถามว่ายังต้องตีต่อมั้ย? คุณพ่อคุณแม่ก็ยังให้ตีต่อ ไม่ใช่ว่าจะให้หยุดแค่นั้น ฉะนั้น เราตั้งใจตีให้ดี พยายามตีให้ดี ตีให้มีความสุข ดีกว่ามั้ย ไม่เหนื่อย ไม่เจ็บมือด้วย และยังได้พัฒนาตัวเองให้เร็วได้อีก อะไรเป็นสิ่งที่ต้องทำ มันคือสิ่งที่ควรทำ, อะไรเป็นสิ่งที่ควรทำ มันคือสิ่งที่ต้องทำ แต่อย่าไปทำด้วยความฝืนใจ พยายามทำให้สนุก อยู่กับมันให้ได้ด้วยความสุข แล้วมันก็จะดีไปเอง ชีวิตก็จะเหมือนไม่ถูกอะไรบังคับเลยครับ