Interview

ธัชนันท์ รัตนศิริวิไล

ธัชนันท์ รัตนศิริวิไล
กรรมการผู้จัดการ
บจก.ทวีพงษ์ขนส่ง

“เป็นเด็กเรียบร้อยค่ะ ขี้กังวล ชอบคิดไปเอง ขี้เกรงใจ แต่เมื่อทำอะไรต้องเต็มที่ ลุยให้เต็มร้อย แล้วถ้าจะล้มเหลวก็ไม่รู้สึกเสียดาย” คุณหลิว (ธัชนันท์ รัตนศิริวิไล) ตอบคำถามแรก เมื่อถามถึงตัวตน

คุณหลิวเกิดในครอบครัวคนจีน โตขึ้นมาย่านสำโรง สมุทรปราการ “คุณพ่อคุณแม่จะรักษาขนบธรรมเนียมแบบดั้งเดิม โดยเฉพาะเรื่องการดำเนินชีวิต ทุกอย่างต้องอยู่อยู่ในกรอบ มีเป้าหมาย อย่าออกนอกลู่นอกทาง ต้องอยู่ในสายตา” เธอเล่าต่อถึงครอบครัว

เธอโตขึ้นมากับธุรกิจด้านขนส่ง ที่คุณแม่ร่วมก่อตั้งมาตั้งแต่แรกเริ่ม เมื่อสี่สิบกว่าปีก่อน โดยเน้นภายในประเทศมีลูกค้าเป็นเจ้าประจำกับอุตสาหกรรม โรงงานใหญ่ ๆ ทำสัญญากันยาว ๆ

ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น กว่าจะถึงวันที่ธุรกิจอยู่ตัว “วันที่ลำบากที่สุดคือ เมื่อคุณแม่ต้องออกมาเริ่มธุรกิจเองแบบแทบจะเริ่มจากศูนย์ มีรถวิ่งแค่ไม่กี่คัน คุณพ่อก็ป่วยอีก ทุกอย่างลำบากมาก แต่คุณแม่ก็ต้องสู้ต่อ จน ณ วันนี้เรามีรถอยู่ราว 350 คัน” เธอกล่าวด้วยความภาคภูมิใจในตัวคุณแม่

และด้วยภาระหน้าที่ทางธุรกิจอันหนักหน่วง อีกทั้งยังต้องดูแลคุณพ่อที่ป่วยอีก จนคุณแม่แทบไม่มีเวลาให้ลูก ๆ เลย ต้องปล่อยให้ดูแลกันเอง แต่ทุกคนก็ยังทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างยอดเยี่ยม “อาจจะเป็นเพราะพวกเราได้อยู่ในสังคมที่ดี สิ่งแวดล้อมที่ดี มีเพื่อนดี เวลาโรงเรียนมีงาน อาจารย์จะเชิญคุณแม่ไปโรงเรียน ทั้งชม ทั้งถามว่าเลี้ยงลูกยังไงให้เป็นเด็กดี”

“พอกลับมา แม่เล่าให้ฟังว่า ตอบครูไม่ได้ เพราะไม่เคยมีเวลาเลี้ยงลูก ยังเก็บคำถามนั้นกลับมาถามเลยว่า พวกเราเป็นเด็กดีเพราะอะไรกัน” (หัวเราะ) แล้วคุณแม่ก็พูดอยู่เสมอว่า “ทุกคนดีได้ เพราะตัวของลูก ๆ เอง” เธออมยิ้มอย่างมีความสุข

คุณหลิว เคยตั้งเป้าอยากเป็นหมอฟัน ตั้งแต่ชั้นประถม ถึง ม.3 ทำเกรดได้เกือบ 4.00 มาตลอด จนอาจารย์ช่วยชี้นำว่า บุคลิกอ่อนน้อมถ่อมตน มีน้ำใจ มีเมตตา ผลการเรียนก็ดี แบบนี้น่าจะเป็นหมอฟันได้สบาย ๆ จนพอจบ ม.3 ที่สายปัญญา มีช่วงที่จะต้องยื่นเกรดเพื่อเรียนต่อ ม.ปลาย อาจารย์ที่โรงเรียนบอกว่าอยากให้เรียนที่นี่จนจบ ม.6 ก็เลยไม่ได้ไปยื่นเกรดที่ไหน พอตอน ม.4 ก็สอบได้ทุน AFS ไปออสเตรเลีย อยู่ที่เมืองบริสเบน รัฐควีนส์แลนด์ เป็นครั้งแรกที่ออกต่างประเทศ ไปอยู่ด้วยตัวคนเดียว

“เป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตเลยค่ะ” คุณหลิว เล่าถึงช่วงเวลาสำคัญ “จากที่เคยอยู่แต่ในกรอบ ขี้กลัว ก็ต้องกล้าแสดงออกมากขึ้น ก่อนหน้านี้ ตอนอยู่ในห้องเรียน เวลามีคำถาม ถึงเราจะรู้คำตอบ ก็ไม่กล้ายกมือ กลัวจะโดนมองว่าอวดเก่งรึเปล่า ซึ่งจริง ๆ ไม่ได้เป็นแบบนั้น ต้องใช้เวลาปรับตัวอยู่พักใหญ่ พอเริ่มยกมือตอบ อาจารย์ก็อยากฟังว่า คนเอเชียจะตอบคำถามยังไง” ความมั่นใจในชีวิตของเธอเพิ่มพูนขึ้นแล้ว…

“พอกลับจาก AFS มาเรียนต่อก็รู้สึกว่า ถ้าเรียนสายวิทย์อาจจะตามเพื่อนไม่ค่อยทัน พอดีช่วงนั้นสอบเทียบผ่านแล้ว และสอบติด บริหาร ม.มหิดล อินเตอร์ คุณแม่ก็สนับสนุนให้เรียน เพราะที่บ้านทำธุรกิจ ภาษาเราก็ได้”  

พอเริ่มเข้ามหาวิทยาลัย คุณหลิว ก็กลายเป็นเชียร์ลีดเดอร์ของคณะ! “ไม่มีใครเชื่อเลยค่ะ” เธอเล่าพร้อมหัวเราะ “ก่อนนี้ไม่กล้าแสดงออก แต่เพราะเรามีความคิดที่เปลี่ยนไป คนอื่นไม่ได้มีอะไรกับเราหรอก แต่เรานี่แหล่ะที่คิดไปเอง เมื่อเริ่มเปิดตัวเอง โลกก็เปลี่ยนเป็นใบใหญ่มากขึ้น ได้พบกับสังคมใหม่ ๆ”

ระหว่างเรียน คุณหลิว ก็ไม่เคยหยุดนิ่ง บ้านอยู่สมุทรปราการ แต่ไปเรียนที่มหิดล ศาลายา สองปีแรก อยู่หอพัก พอขึ้นปี 3 คุณแม่ให้รถมาใช้ “แค่ขับรถไปกลับก็เหนื่อยแล้วค่ะ” ไหนจะต้องบริหารค่าใช้จ่ายเรื่องค่าน้ำมันอีก ทำให้ถ้ามีเวลาว่าง หรือวันหยุด จะไปหางานพิเศษทำ สอนหนังสือ สอนดนตรี

“ไม่อยากเสียเวลาเปล่าค่ะ วันไหนเลิกเรียนเร็วก็รับสอนพิเศษภาษาอังกฤษ ส่วนวันเสาร์สอนดนตรีตั้งแต่ห้างเปิดจนโรงเรียนปิด พอสอนก็ไม่มีเวลาไปเที่ยว แล้วตัวเองก็ไม่ชอบด้วย เพื่อนชวนไปช้อปปิ้งก็ไม่ไป เสียเวลา เสียดายเงินด้วย ได้พักผ่อนแค่วันอาทิตย์วันเดียว”

ตั้งแต่เด็กๆ คุณแม่ของคุณหลิว จะพาลูก ๆ ไปเรียนดนตรี พี่น้องคนอื่นเรียนกันไม่นานก็เลิก แต่คุณหลิวเรียนอิเล็กโทนจนถึงเกรด 6 “ได้ฟังมาว่า ถ้าเรียนจบเกรด 6 จะไปเป็นครูสอนได้ เราเป็นคนมีเป้าหมาย รู้สึกว่ามีลู่ทางประกอบอาชีพ แล้วตัวเองก็รู้สึกชอบ สนุกกับการเล่นดนตรีด้วย” นั่นคือการมองการณ์ไกลของเธอ

พอเรียนจบ ก็อยากจะหาประสบการณ์ในการทำงานตั้งแต่ขั้นฐานราก ด้วยการเริ่มเป็นลูกจ้างคนอื่นก่อน จึงไปสมัครเป็นพนักงานขายของโรงแรม ทำให้ได้เจอผู้คน ได้มีคอนเน็คชั่นดี ๆ ได้ฝึกอะไรหลาย ๆ อย่าง อยู่พักใหญ่ ก็กลับมาช่วยงานคุณแม่

“ช่วยงานคุณแม่ทั้งหมดเลยค่ะ ทำบัญชี ขาย ดูแลการทำงาน ทุกอย่างต้องเรียนรู้ใหม่หมดเลย ไม่รู้อะไรก็ถาม เพราะคุณแม่ไม่ได้สอนแบบทีละสเต็ป ต้องคอยสังเกตคุณแม่อีกทีว่า ท่านแก้ปัญหายังไง”

“แต่การทำธุรกิจไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเมื่อโลกเปลี่ยนไป ความต้องการต่าง ๆ ก็ปรับเปลี่ยนตามไปด้วย ข้อบังคับ ข้อกำหนดต่าง ๆ ที่ต้องปฏิบัติตามความต้องการของลูกค้า เช่น มาตรฐานการให้บริการ ต้องได้การรับรอง ISO ต้องปรับบุคลิกคนขับรถ อุปกรณ์ความปลอดภัย ณ วันนี้ชัดเจนว่าพี่น้องแต่ละคนทำอะไรกันบ้าง เราดูเรื่องเซฟตี้ พี่สาวดูบัญชี พี่อีกคนก็ดูการขาย คุณแม่ก็ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา”

“หลักการทำงานของเราก็คือ ฟังให้เยอะ ฟังให้รู้ว่าปัญหาเขาคืออะไร คนขับรถเขาเหนื่อยมาเยอะแล้ว ต้องแบกของ รอสินค้า สู้กับความร้อน บางทีกินข้าวไม่ตรงเวลา ถ้าเขาแรงมา เราก็ต้องฟัง ไม่เถียงอะไรทั้งสิ้น นี่คือหลักที่คุณแม่สอนมา แล้วเราก็ค่อย ๆ จับประเด็น ช่วยเขาแก้ปัญหา จะเรียกเขาว่าพี่ว่าลุงทุกคน ให้เกียรติเขา แล้วเวลาเราไปหาลูกค้าก็อ่อนน้อมถ่อมตน แม่ยังเคยสอนแบบติดตลกเลยว่า อย่าขับรถแพง ๆ ไปหาลูกค้าล่ะ อย่าไปทำตัวอวดหรือไปข่มเขา”

ย้อนไปช่วงเริ่มธุรกิจ เมื่อทุกอย่างยังไม่พร้อม ทุกคน็ต้องช่วยกันเต็มที่ “พวกเราพี่น้องยังเคยต้องขับรถกระบะออกไปรับของ ขนของไปส่งกันเองเลย ก็ไม่เคยคิดมาก่อนว่า จากเด็กอินเตอร์ จะต้องมายกของ (หัวเราะ) ขนของโดยใช้ลิฟท์ด้านหลัง โดนคนพูดไม่ดีใส่ ทำให้เราเข้าใจคนขับรถว่า เขาต้องเจออะไรมาบ้าง เจอคำพูดแย่ ๆ การกระทำที่ไม่เป็นมิตร ทำให้เราเห็นใจพี่ ๆ คนขับรถ พวกเขาก็รักเรา คนขับรถที่อยู่กับเรามาตั้งแต่เริ่มจนถึงทุกวันนี้ก็ยังอยู่ เวลาเราพูดอะไรเขาก็ฟังและยอมรับ เพราะเรามีความจริงใจให้กัน” แววตาความมุ่งมั่นของคุณหลิวฉายออกมาให้เห็นได้ชัด

คุณหลิว ยังได้เล่าถึงกิจกรรมที่ชอบทำตั้งแต่สมัยเรียน และต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

“ตอนเรียนประถมที่ทุ่งมหาเมฆ วิชาพุทธศาสนา มีพระเข้ามาสอน บางครั้งก็เล่าเป็นนิทานเกี่ยวกับเรื่องความกตัญญู อบรมจิตใจ ให้ทำความดี รู้จักกฎแห่งกรรม อย่าทำให้พ่อแม่เสียใจ พอฟังแล้วรู้สึกซึมซับ รู้สึกซาบซึ้งไปกับสิ่งที่พระสอน ทำให้โตขึ้นมาชอบเข้าวัด”

“เข้าวัด ไม่ใช่เพราะมีความทุกข์ แต่เราอยากภาวนา อยากหาความสงบ ตอนเป็นเด็กนักเรียนเวลามีค่ายธรรมะก็จะไปร่วมด้วย แล้วโรงเรียนก็จะคัดเราให้ไปเป็นตัวแทนเข้าค่ายต่าง ๆ เช่น เอเชียแปซิฟิก ยุวกาชาด ทำให้เราได้เข้าใจอะไรในชีวิตได้มากขึ้น พอช่วงเรียนมหาวิทยาลัย เวลาว่าง ๆ จะไปวัด ไปคนเดียว ไม่มีใครรู้ ไม่กล้าบอกเพื่อนด้วย กลัวโดนเรียกแม่ชี (หัวเราะ) ไปไหว้พระ นั่งสมาธิ ชอบเข้าวัด เป็นความสุขที่บอกไม่ถูก เข้าไปสักพักเดียวเอง ไม่นานมาก พอรู้สึกว่าสบายใจ มีสมาธิ อิ่มก็ออก ตอนหลัง ๆ ก็มาเข้าวัดวันเสาร์ – อาทิตย์”

อีกสิ่งที่คุณหลิวปฏิบัติมาตลอดคือ “ทำให้ดู อยู่ให้เห็น” โดยไม่ต้องอาศัยคำพูด “ตอนลูกเล็ก ๆ ก็เคยพาไปนอนเต้นท์ ไปปฏิบัติธรรมด้วยกัน เราสอนเขาไม่เก่ง ก็ให้เขาได้เห็นบรรยากาศ ให้เขาคิดเอง โดยแม่ทำให้ดู” ส่วนกับคู่ชีวิตนั้น เธอก็ใช้เคล็ดลับนี้ด้วยเช่นกัน “พยายามสื่อสารกันในเชิงคู่คิด เราให้เกียรติเขา แล้วเขาก็จะเกรงใจเราเอง เรามีหน้าที่เป็นภรรยา ก็ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด คอยให้อภัย คอยให้กำลังใจกัน คอยเตือนกัน ไม่พูดจาให้รู้สึกแย่ แต่เขาจะทำหรือไม่ ก็แล้วแต่เขา ถ้าใจเขามา เดี๋ยวพฤติกรรมก็ตามมาเองค่ะ”

ส่วนการดูแลสุขภาพ… “เล่นโยคะบ้างค่ะ เรื่องกินก็เป็นมื้อ ๆ แล้วจบ ไม่จุบจิบ การได้ดูแลลูก ๆ วิ่งเล่นกับเขา ก็เหมือนกับได้ออกกำลังกาย แล้วตอนนี้เริ่มจะมาเรียนกอล์ฟ อยากเล่นกอล์ฟกับลูก เพราะยิ่งพอเขาเล่นเก่งขึ้น ฝีมือไปไกลแล้ว เขาจะไม่ค่อยฟังเรา เริ่มพูดกันคนละภาษา” (หัวเราะ)

คุณหลิว ทุ่มเทกับการเล่นกอล์ฟของลูกมาก ๆ แบกถุงกอล์ฟพาลูกไปแข่ง ที่ไหน ๆ ก็ขับรถไปเอง ผ่านมาหลายปีแล้ว จนคุณพ่อยอมรับว่างานนี้ คุณแม่เอาจริง และเริ่มเข้ามาช่วยอย่างเต็มที่ “คงเห็นความอดทนของเรา” คุณหลิวหัวเราะทิ้งท้าย

และก่อนจบบทสัมภาษณ์ คุณหลิวยังให้เคล็ดลับของเธอที่ทำให้มีชีวิตอยู่ดี มีความสุข “ความสงบ มีสติ รู้ทันกับทุกเรื่อง ไม่ว่าเรื่องจะดี หรือไม่ดี ก็ต้องรู้จักเดินสายกลาง พอเราเป็นกลางเมื่อไหร่ นั่นแหล่ะคือความสุขค่ะ และหลิวยังเชื่อเรื่อง การสร้างบุญกุศล เพราะ… ถ้าคุณไม่ดีในชาตินี้ ชาติหน้าเราคงไม่ได้เจอกันค่ะ”