โชคดีมากที่ได้เกิดในประเทศไทย – ดร.หญิงฤดี ภูมิศิริรัตนาวดี
ดร.หญิงฤดี ภูมิศิริรัตนาวดี
ผู้ก่อตั้งยุทธศาสตร์ ทุนคนไทย (Thainess Capital)
“…ชาติของเรานั้นมีผืนแผ่นดินและประชากร อันรวมกันอยู่เป็นส่วนร่างกาย มีศิลปวิทยา มีธรรมเนียมประเพณี มีความเชื่อถือและความคิดจิตใจ ที่จะสามัคคีกันอยู่เป็นปึกแผ่น ซึ่งรวมเรียกว่า “ความเป็นไทย” เป็นส่วนจิตใจ ชาติไทยเราดำรงมั่นคงอยู่ ก็เพราะยังมีบ้านเมืองและความเป็นไทยพร้อมบริบูรณ์ แต่ถ้าความเป็นไทยของเรา มีอันต้องเสื่อมสลายไปด้วยประการใดแล้ว ชาติก็ต้องสิ้นสูญ…”
พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
เมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2521
พระบรมราโชวาทองค์นี้ เป็นแรงบันดาลใจของผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่ง ที่นำมาใช้เป็นหลักคิดของชีวิต นับตั้งแต่ครั้งแรกที่เธอได้รับรู้ ได้อยู่ในความคิด ในจิตสำนึกและจิตวิญญาณมาโดยตลอด เธอได้น้อมนำเอาพระบรมราโชวาท โดยเฉพาะในการสืบสานจิตวิญญาณของความเป็นไทย ที่จะมุ่งมั่นให้คงอยู่ในชาติ
ดร.หญิงฤดี ภูมิศิริรัตนาวดี หรือที่หลายคนรู้จักเธอในนาม “ดร.นิว-ไทยเนส (Dr. New Thainess)” ได้เกริ่นนำถึงแรงบันดาลใจ ที่เป็นหลักคิด หลักใจ ในการเดินทางของชีวิต เธอเริ่มต้นการเดินทางของชีวิต ที่สั่งสม หลอมรวมจนเกิดเป็นยุทธศาสตร์ “ทุนคนไทย”
ย้อนไปช่วงยังเป็นเด็ก สิ่งที่เธอภาคภูมิใจมาโดยตลอด คือได้เกิดมาในครอบครัวข้าราชการ คุณพ่อคุณแม่เป็นผู้ให้หลักคิด หลักธรรม เป็นผู้จุดประกายให้เข้าใจถึงคุณค่าของความเป็นคนไทยและความเป็นไทย โดยได้รับการปลูกฝังว่า “ชีวิตเราทุกคน มีคุณค่า มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เราจึงต้องเคารพตนเองและเคารพผู้อื่น เราต้องมีความภูมิใจในความเป็นชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และต้องกตัญญู รู้คุณผู้มีพระคุณ และที่สำคัญ ต้องรู้คุณแผ่นดิน หากมีโอกาสต้องตอบแทนบุญคุณของแผ่นดิน…. ที่สำคัญในวิชาชีวิตที่ได้รับตั้งแต่วัยเด็กจำได้ว่า คุณพ่อ คุณแม่จะให้ข้อคิดเป็นประจำ นอกจากการเป็นแบบอย่างที่ดีแล้ว ท่านชี้ให้เข้าใจชีวิตว่า.. “คนเราทุกคนเมื่อเกิดมาก็ไม่ได้เอาอะไรมา ตายไปก็เอาอะไรไปไม่ได้ มีแต่ความดีที่ทำจะฝากไว้ได้ในชีวิตนี้ มากกว่านั้นคือ ความกตัญญูต่อแผ่นดิน คิดดีทำดี ทำความดีเพื่อความดี สิ่งที่ดีๆจะเกิดขึ้นมาเอง เราร่ำรวยได้ ด้วยหัวใจที่รู้จักคำว่าพอ”
เธอมีความรู้สึกมาโดยตลอดตั้งแต่วัยเด็กว่า เราโชคดีที่สุด มีคุณพ่อคุณแม่เป็นคนดีและมีความเมตตา แล้วยังโชคดีที่ได้มีโอกาสเกิดมาบนแผ่นดินไทยอันอุดมสมบูรณ์ ที่สำคัญ.. ประเทศไทยเปรียบเสมือนบ้านหลังใหญ่ในสายตาเธอ บ้านของเธอนั้น ชื่อ “บ้านประเทศไทย” มีลุง ป้า น้า อา เป็นพี่น้องร่วมบ้าน เสมือนเป็นครอบครัวใหญ่เดียวกัน
สำหรับด้านชีวิตการศึกษา เธอเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) หลังจากนั้นต่อมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ในระดับอุดมศึกษา เธอได้ตัดสินใจเลือกเรียนที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เธอจบการศึกษาในระดับปริญญาตรีด้วย เกียรตินิยมอันดับ 1 ซึ่งในตลอดระยะเวลา 4 ปี ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เธอได้เรียนรู้ถึงความเป็นตัวตนที่ยิ่งใหญ่ของความเป็นธรรมศาสตร์ ที่ให้ความหมาย ให้คุณค่าในเรื่องความเป็นธรรม และสอนให้รักประชาชน ตลอดจนเทิดทูนสถาบัน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
ความเป็นนักเศรษฐศาสตร์ เป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางค้นหาคุณค่าความเป็นมนุษย์ ความเป็นสังคม และความเป็นชาติ ซึ่งภายหลังพบว่าเป็นพลังทุนทางปัญญา ที่มีอยู่แล้วในตัวคนไทยทุกคน โดยทุกอย่าง จะเริ่มต้นที่ตัวเรา ว่าจะใช้นำคุณค่าของความเป็นคนไทยที่เราภูมิใจ มาพัฒนาประเทศ เพราะด้วยความที่ประเทศของเราถูกจัดชั้นว่าเป็นประเทศกำลังพัฒนาอยู่ในประเทศโลกที่ 3 ดังนั้นจึงมีความตั้งใจและคิดอยู่เสมอว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสร้างประเทศไทยให้มีภูมิคุ้มกัน ให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง ทั้งทางกายภาพ และจิตใจไปด้วยกัน เพื่อให้ประชาชนคนไทยทุกคน หลุดพ้นจากกับดักความยากจนและความไม่รู้ เธอค้นหาวิธีการพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จากต้นทุนชีวิตที่มีอยู่แล้วในตนเอง ในความเป็นชุมชน ในความเป็นสังคม และในความเป็นชาติได้อย่างไร เพราะเธอมีความตั้งใจมาโดยตลอดว่าเธอจะเป็นอีกแรงหนึ่งที่จะนำพาตนเองไปช่วยเหลือประเทศให้ก้าวข้าม ให้หลุดพ้นจากความยากจนได้ในที่สุด
หลังจากจบปริญญาตรี ดร.นิวทำงานอยู่ไม่นานนัก ก็ตัดสินใจไปศึกษาต่อต่างประเทศ ตอนนั้นสามารถสอบผ่านข้อเขียนทุนรัฐบาลของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ตามความต้องการของกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ แต่ไม่ได้เข้าสอบสัมภาษณ์และตัดสินใจสละสิทธิ์ เพราะมีความรู้สึกว่าการทำงานเป็นข้าราชการนั้นมีกรอบและข้อจำกัดอยู่มาก ด้วยความอยากเป็นอิสระที่จะทำตามความฝันในแนวทางที่วางไว้ด้วยตนเอง จึงคิดว่าควรให้โอกาสคนอื่นที่ต้องการทำงานรับราชการจริงๆ จะเป็นประโยชน์สูงสุดมากกว่า และต่อมาก็ได้สอบผ่านทุนไปเรียนต่อทางด้านการเงินระหว่างประเทศของธนาคารกรุงเทพอีกทุนหนึ่ง แต่ในที่สุดก็ตัดสินใจสละสิทธิ์อีกเช่นกัน
เพื่อตามหาความฝัน ดังปณิธานที่เธอตั้งใจไว้ เธอจึงตัดสินใจทำงานเพื่อส่งตนเองเรียนในระดับปริญญาโท ด้านสหวิทยาการการสื่อสารการตลาด ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา จบการศึกษาด้วยเกียรตินิยมสูงสุดและนอกจากนี้ ขณะเธอศึกษาอยู่ก็ยังได้รับทุนการศึกษาจาก Direct Marketing Association of Chicago เพื่อศึกษาด้านการตลาดและการขาย ภายหลังจบการศึกษาประเทศไทยยังอยู่ในช่วงประสบปัญหาวิกฤติทางด้านเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ในปี พ.ศ.2540 แม้ว่าเธอได้รับข้อเสนอให้เข้าทำงานจากบริษัทการเงินชั้นนำในประเทศสหรัฐอเมริกา แต่เธอเลือกที่จะเดินทางกลับประเทศไทย ก่อนที่จะทำสัญญา เพื่อสานต่อปณิธานเพื่อบ้านประเทศไทย เพราะมีความมุ่งมั่นที่จะนำความรู้และประสบการณ์ ที่ได้เรียนรู้ กลับมาแบ่งปันแก่พี่น้องคนไทย เพื่อยกระดับการตลาดและการขาย การสร้างเครือข่าย สู่พัฒนาเพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่พี่น้องคนไทย
เมื่อกลับจากประเทศสหรัฐอเมริกา ดร.นิวได้เป็นผู้จัดการด้านการตลาดและการขายผลิตภัณฑ์เครื่องประดับ ยี่ห้อ สกาเวีย ที่ได้รับการขนานนามว่า เป็นหนึ่งในงานออกแบบสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่งดงามที่สุดในโลก และอาจจะมีราคาที่แพงที่สุดเช่นกัน จากประสบการณ์นั้น เธอได้เรียนรู้ว่า ที่มา, รากเหง้า, เอกลักษณ์, แบรนด์ และเรื่องราว มีความสำคัญยิ่งต่อการสร้างสรรค์มูลค่าจากคุณค่าของทุกสรรพสิ่งที่ต้องการจุดขาย
หลังจากนั้น เธอได้รับประสบการณ์ ด้านการโฆษณาและเรียนรู้ต้นแบบแนวทางการสื่อสารสู่การสร้างแบรนด์ประเทศไทย ในขณะนั้นลูกค้าหลักที่ ดร.นิวดูแลคือการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ระหว่างทำงานก็ได้พบประสบการณ์ต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะในด้านการออกแบบ ผลิต และสร้างสรรค์สื่อประชาสัมพันธ์
หลังจากเก็บเกี่ยวประสบการณ์มาพอสมควร จึงได้ตัดสินใจทำงานในด้านการเป็นที่ปรึกษาโครงการสร้างจิตสำนึกและภาพลักษณ์องค์กร โดยใช้แนวทางการสื่อสารการตลาดอย่างบูรณาการ โดยงานส่วนใหญ่จะเป็นการรณรงค์ในมิติต่างๆ ให้แก่ทั้งภาครัฐและเอกชน
หากย้อนกลับไปประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา ที่สังคมเริ่มมองเห็นความขัดแย้งของคนไทย ได้อย่างชัดเจน เธอมองว่าเป็นเพราะความยากจน ความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในการจัดสรรทรัพยากร เป็นที่มาของปัญหาชาติ
แต่อย่างไรก็ดี เธอมองว่าในวิกฤติชาติครั้งนี้เป็นโอกาสให้เธอได้ค้นหาเครื่องมือทางความคิดที่จะเป็นอาวุธทางปัญญาในการต่อสู้กับศัตรูของชาติ นั่นคือความยากจน ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาชาติในมิติต่างๆในสังคมไทยอย่างมากมาย
“วิกฤติชาติในครั้งนี้ เป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตนิวเช่นกันค่ะ นับว่าเป็นจุดเริ่มในการค้นหาแนวทางการสร้างอาวุธทางปัญญาเพื่อต่อสู้กับความยากจน เพื่อนำพาประเทศให้พ้นวิกฤตด้วยกันในวันหนึ่ง”…เมื่อเห็นปัญหาบ้านเมืองมีความขัดแย้ง ก็ถามตนเองว่า เราในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่ง จะทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยบรรเทาวิกฤตชาติที่เกิดขึ้น.. และนึกได้ถึงพระบรมราโชวาทข้างต้น จึงได้น้อมนำจิตวิญญาณความเป็นไทยมาหาทางว่าทำอย่างไรที่จะมาพัฒนา เป็นเครื่องมือทางปัญญา ที่จะเป็นพลังทางสังคม ที่ขับเคลื่อนจากทุนมนุษย์สู่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างสร้างสรรค์ได้ พร้อมกันนั้นเพื่อพัฒนาศักยภาพของตนเอง นิวจึงได้ตัดสินใจเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก ด้านการจัดการความรู้การพัฒนาทุนทางปัญญาโดยใช้ความเป็นไทยสร้างสรรค์ ณ วิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากการศึกษาได้ค้นพบว่าทุนทางปัญญาความเป็นไทย หรือที่เรียกว่าทุนคนไทย สามารถนำมาสร้างสรรค์และต่อยอดเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจแบบเสรี ที่ช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม แก้ปัญหาการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ สร้างเสริมความมั่นคงของชาติได้ในที่สุด ดังเนื้อเพลงที่เธอแต่งตอนหนึ่งว่า
“เราภูมิใจเกิดเป็นคนไทย
บ้านเรางดงามและยิ่งใหญ่
พี่น้องเราคือคนไทย
ขอมอบชีวิต ขอมอบจิตใจ
ทุ่มเท เพื่อเธอประเทศไทย
ให้มั่นคง ให้มั่งคั่ง ให้ยั่งยืน…”
ดร.นิว เป็นผู้หญิงไทยอีกคนหนึ่ง ที่มีความรู้สึกห่วงบ้านหลังใหญ่ของเธอ ที่ชื่อว่า บ้าน “ประเทศไทย” ถึงแม้เธอจะเป็นเพียงผู้หญิงคนหนึ่ง แต่ก็เปรียบเสมือนจุดเล็กๆ ที่คอยเติมเต็มให้บ้านหลังนี้น่าอยู่ เพราะผู้หญิงมีความอ่อนโยนเหมือนสายน้ำที่ไหลผ่านพัดพาชโลมใจให้สดชื่น แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องเข้มแข็ง สายน้ำที่เคยอ่อนไหวไหลเอื่อยๆ ก็จะกลายเป็นน้ำที่เชี่ยวกราก ที่พร้อมจะพัดพาเอาทุกๆสิ่งที่ไม่ดีออกไปจากสิ่งแวดล้อมของบ้าน เปรียบได้กับปราการที่คอยปกป้องมิให้ใครมาทำลายบ้านอันเป็นที่รักของเราทุกคน
ดร.หญิงฤดี กล่าวย้ำอย่างมั่นใจ และภาคภูมิใจอย่างที่สุด ก่อนจะจบบทสนทนาว่า… “รู้สึกโชคดีมากที่ได้เกิดในประเทศไทย และเป็นคนไทยค่ะ”
และเธอคือหนึ่งใน”ผู้นำทุนทางปัญญาพัฒนาไทย” ที่เป็นดาวดวงเล็ก คอยส่องนำทางในคืนวันที่ท้องฟ้ามืดมิด