เมตตา (1)
พระนิรันตระ…“ในเบื้องต้นเราควรจะรู้ว่าคุณภาพของเมตตาในหัวใจของเราว่ามีมากมีน้อยเพียงไร เราไม่ควรมอบของขวัญด้อยค่าให้ผู้อื่น เช่นเดียวกันเราไม่ควรแผ่เมตตาที่ด้อยคุณภาพให้กับผู้อื่น เราควรจะแผ่เมตตาที่เปี่ยมไปด้วยคุณค่าออกไปเท่านั้น บทเมตตาทั้งสี่ประโยคนี้เป็นความปรารถนาที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของชีวิตทั้งหลายทั้งปวง ในการทำความเข้าใจทั้งสี่นี้เราอาจมองในแง่มุมที่ตรงกันข้ามก็ได้ เมื่อเราพิจารณาประโยคแรก เราต้องการความทุกข์กายทุกข์ใจไหม ไม่…ไม่เลย…ไม่มีสิ่งมีชีวิตใดที่ต้องการความทุกข์กายและทุกข์ใจ เมื่อพิจารณาประโยคที่สอง ไม่มีใครต้องการความหม่นหมองกระวนกระวายใจ หรือโกรธแค้น เมื่อพิจารณาประโยคที่สามก็ไม่มีใครต้องการมีสุขภาพที่ไม่แข็งแรง เจ็บป่วย หรืออ่อนแอ ประโยคที่สี่ ก็ไม่มีใครอยากให้ชีวิตดำเนินไปอย่างผิดพลาด ดังนั้นความปรารถนาความอยู่ดีมีสุข ย่อมเป็นความต้องการโดยธรรมชาติที่อันเกิดขึ้นในชีวิตของเราและครอบคลุมความปรารถนาตามธรรมชาติที่มีอยู่ในหัวใจของสรรพชีวิตทั้งหลายทั้งปวง เป็นความรู้สึกและความปรารถนาดีที่เกิดขึ้นเองเพื่อให้ชีวิตเหล่านั้น รวมไปถึงชีวิตอื่นๆ อยู่ดีมีสุขนะโยม”
“สาธุ”
“ สาธุๆ หลวงตาเจ้าค่ะ ความรักความเมตตาเหมือนกันไหมเจ้าคะ?” ราชาวดี เอ่ยถาม
ไม่เหมือนกันหรอกโยม ความรักมีความเห็นแก่ตัวระคนอยู่ด้วยไม่มากก็น้อย ความรักมีความผูกพันแฝงอยู่ ความรักของเราจึงมีเงื่อนไข เรารักคนอื่นตราบเท่าที่เขาดีต่อเรา เรารักคนอื่นต่อเมื่อเขารักเราตอบ แต่ถ้าเขาไม่รักเราหรือไม่ดีกับเราก็ยากยิ่งนักที่เราจะรักเขาได้ ดังนั้นความรักของเราจึงมักขึ้นอยู่กับเงื่อนไขแห่งความปรารถนาของเราเอง เช่นเดียวกับสัตว์หรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ หากเขาเหล่านั้นดีต่อเราเราก็รักตอบ หากเขาเหล่านั้นไม่ดีกับเรา เราก็ไม่อาจให้ความรักต่อไปได้ ดังนั้นย่อมหมายความในความรักนั้นมีเงื่อนไขประกอบอยู่ด้วย ความเมตตาจึงไม่ใช่ความรัก
“แล้วความเมตตาล่ะค่ะหลวงตา?”
“ความเมตตา เป็นสิ่งปราศจากเงื่อนไข ซึ่งหมายความว่าเมตตาเป็นเพียงความปรารถนาดี ปรารถนาความดีงาม ความอยู่ดีมีสุขให้เกิดขึ้นกับตัวเรา และสิ่งมีชีวิตอื่นๆโดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน แม้เราจะตั้งความปรารถนาให้สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นกับตัวเราและความปรารถนานั้นอาจเป็นจริงหรือไม่เป็นจริงในปัจจุบันหรืออนาคต แต่เราก็ตั้งความปรารถนาให้สิ่งที่ดีเหล่านั้นเป็นความจริงอยู่ดี โดยปราศจากความคาดหวังหมายมั่น แต่ด้วยจิตใจที่ยอมรับทุกสิ่งอย่างเบิกบาน ซึ่งจริงๆแล้วอาจเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เราจึงต้องเริ่มต้นที่ด้วยการเมตตาตัวเราก่อน หากเราสามารถให้ความเมตตากับตนเองได้อย่างแท้จริงแล้ว เราก็จะสามารถมีความเมตตาให้กับคนอื่น สิ่งมีชีวิตอื่นๆอย่างแท้จริงได้ หากเราเมตตาตนเองอย่างแท้จริงแล้วเราก็จะไม่ทำร้ายชีวิตอื่น ประเด็นที่สำคัญมากที่สุดคือ เมตตาต่อตนเองนั้นเป็นเมตตาเดียวที่แน่แท้”
“เมตตาต่อตัวเองเป็นเมตตาเดียวที่แน่แท้ หลวงตาช่วยให้ความกระจ่างกับวดีด้วยเจ้าค่ะ”
ยายเอมพยักหน้า พร้อมๆคำพูดของหลานสาว
“คือ ถ้าหากเราแผ่เมตตาชีวิตคนอื่นๆเราไม่อาจจะเชื่อมั่นได้เต็มร้อยว่าชีวิตเหล่านั้นจะได้รับความเมตตาจากเราเต็มร้อยหรือไม่ อย่างไรก็ตามหากเราเจริญเมตตาให้ตัวเราเอง เราจะเชื่อมั่นได้เต็มที่ว่าเราจะได้รับเมตตาในหัวใจของเราเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์”
“คุณค่าของเมตตาล่ะเจ้าค่ะหลวงตา?” ราชาวดีถามต่อ
“เมื่อเรารู้ซึ้งถึงเมตตาในหัวใจของเราแล้ว เราจะเข้าใจคุณค่าที่แท้ของเมตตา เมื่อเราตระหนักชัดถึงถึงคุณค่าที่แท้ของเมตตาแล้วเราก็จะสามารถที่จะเผื่อแผ่เมตตานั้นให้กับผู้อื่นได้ การเจริญเมตตาให้ตัวเราเองสามารถพึ่งพาและวางใจในเมตตานั้นได้ เมตตาซึ่งให้กับตัวเราเองนั้นเป็นเมตตาเดียวที่เราจะวางใจพึ่งพาได้อย่างแท้จริงในจักรวาลนี้ เอ้าล่ะ โยมทั้งสองลองจำประโยคแรก ดังนี้นะ”
“ขอให้ข้าพเจ้าจงปลอดภัยจากทุกข์ทั้งทางใจและทางกาย”
ลองบริกรรมประโยคแรกนี้เพียงประโยคเดียวซ้ำไปซ้ำมา เป็นเวลาหนึ่งนาทีก่อน แล้วค่อยๆเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จะยาวนานแค่ไหนก็ได้จนกว่าเราจะรู้สึกถึงเมตตานั้นจริงๆ สำหรับประโยคอื่นๆก็เช่นเดียวกัน เมื่อเราเกิดความรู้สึกเมตตาในหัวใจจากการบริกรรมประโยคแรกแล้ว เราก็จะสร้างความรู้สึกตามคำบริกรรมเมตตาประโยคสองให้เกิดขึ้นและซึมซับอยู่ในหัวใจไม่ว่าจะต้องใช้เวลานานเท่าใดก็ตาม จากนั้นก็ตามด้วยประโยคสามประโยคสี่ โดยไม่บริกรรมประโยคใหม่จนกว่าประโยคแรกจะหยั่งลึกลงสู่ความรู้สึกในหัวใจของเราจริงๆ อาตมารับรองว่าโยมทั้งสองควรแก่เมตตา ทำไปเลยโดยไม่ต้องลังเล ว่าตามอาตมาก่อนแล้วค่อยๆจำให้ได้นะโยม เอ้าลองทำดู”
“ขอให้ข้าพเจ้า จงปลอดภัย จากทุกข์ทั้งทางใจและทางกาย
ขอให้ข้าพเจ้า จงปลอดภัย จากทุกข์ทั้งทางใจและทางกาย”
มณีจันทร์ฉาย