Interview

ผศ.ดร.เชาวรีย์ อรรถลังรอง

ผศ.ดร.เชาวรีย์ อรรถลังรอง
รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ
มหาวิทยาลัยศิลปากร

“พื้นฐานธรรมชาติเป็นคนละเอียด อยากจะรู้เรื่องอะไรที่เล็กๆ น้อยๆ อยากเห็นโลกที่คนอื่นไม่ค่อยได้เห็น เลยสนใจในเรื่อง จุลชีววิทยา อย่างพวกจุลินทรีย์ สิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่มีผลกับชีวิตของเราได้เยอะแยะมากมายทุกด้านค่ะ” อาจารย์เชาว์ (ผศ.ดร.เชาวรีย์ อรรถลังรอง) เริ่มบอกกล่าวถึงการก้าวเข้ามาสู่โลกของ จุลชีววิทยา…

อ.เชาว์ มีผลการเรียนดีมาตลอด แต่เธอก็บอกว่าเคล็ดไม่ลับในการเรียนเก่งนี้ ใครๆ ก็ทำได้… “ต้องสนใจในสิ่งที่เรียนค่ะ เด็กๆ อาจจะไม่รู้ว่าตัวเองสนใจอะไร อาจจะเรียนในสิ่งที่พ่อแม่อยากให้เรียน นั่นอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ลำบาก แต่ถ้าค้นพบว่าตัวเองสนใจอะไร และเรียนสิ่งนั้น เท่ากับมีชัยไปกว่าครึ่งแล้ว เพราะจะมีความสุขกับสิ่งที่เรียน  อยากค้นคว้า อยากเรียน อยากรู้ จนประสบความสำเร็จได้ และหากมีปัญหา ถ้าไม่เข้าใจ อย่าเก็บไว้ ทำความเข้าใจโดยเร็ว พูดคุยสอบถาม หาข้อมูลเพิ่มเติม หาใครมาช่วยก็ได้ ถ้าเก็บไว้จะสะสม และต่อยอดขึ้นไปได้ลำบากมาก”

 “ชอบวิทยาศาสตร์ เป็นนักเรียนสายวิทย์ฯ มัธยมต้นเรียนที่ราชินีบูรณะ โรงเรียนสตรีประจำจังหวัดนครปฐม พอสอบเข้า พสวท. (โครงการ พัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) ก็ย้ายไปเรียนที่ ศรีบุญยานนท์ จังหวัดนนทบุรี คิดว่ามาถูกทางค่ะ เพราะสนุกมาก เรียนไปด้วย ได้ทำโครงงานทางวิทยาศาสตร์ไปด้วย ได้เข้าค่าย ได้รู้จักเพื่อน พสวท.ทั่วประเทศ และได้เข้าคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตามที่ศูนย์กำหนด”

พอเข้าไปเรียนระดับมหาวิทยาลัยแล้วจึงค้นพบว่า ตัวเธอเองสนใจในเรื่อง จุลชีววิทยา เป็นพิเศษ เพราะถึงแม้มองไม่เห็น แต่ก็เป็นเรื่องใกล้ตัว อยู่ใกล้ชิดกับชีวิตประจำวันในทุกๆ เรื่อง ทั้งในอาหาร เครื่องดื่ม ยารักษาโรค ทำให้สามารถโยงให้กลายเป็นเรื่องน่าสนใจได้โดยไม่ยาก หยิบสิ่งที่รู้จักอยู่แล้วมาขยายความต่อให้น่าสนุก…

“พอส่องกล้องดูโลกจุลินทรีย์ ได้เห็นความสวยงามแปลกๆ จนบางครั้งลืมโลกปัจจุบันไปเลย ยิ่งเรียน ยิ่งรู้สึกชอบ เป็นผู้สอนก็ยังสนุก รู้สึกว่าตัดสินใจถูกต้อง ที่เลือกเรียนสาขานี้”

ถึงแม้จะเรียนหนัก แต่เธอก็ทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนๆ มาตลอด ทั้งในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย “เพื่อนๆ รักเรา เราก็รักเพื่อนๆ อยู่โรงเรียนก็เล่นกีฬา เล่นไม่เก่งแต่ก็สนุก พอเข้ามหาวิทยาลัย ด้วยความที่เรียนเกี่ยวกับจุลชีววิทยา กิจกรรมอย่างหนึ่งที่นำความรู้มาใช้โดยตรง คือ หมักไวน์ผลไม้ เพื่อขายในงานเกษตรแฟร์ ทั้งรุ่นพี่รุ่นน้องก็จะเข้ามาช่วยกัน ถ่ายทอดวิชาความรู้และประสบการณ์ว่า ทำอย่างไร ไวน์ถึงจะมีคุณภาพดี รสชาติถูกต้องตามที่ควร แล้วยังต้องนำไปขายเพื่อหารายได้ไว้ทำกิจกรรม ได้เรียนรู้ทั้งการผลิตและขาย เป็นกิจกรรมที่สนุก ได้ประสบการณ์ตรง และยังมีการออกค่ายต่างๆ บ้าง เคยอยู่ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติ ไปออกค่ายที่อุบลฯ เป็นการไปให้ความรู้กับน้องๆ นักเรียนต่างจังหวัดไกลๆ เกี่ยวกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม หลังจากกลับมาแล้ว ก็ยังมีการเขียนจดหมายติดต่อกัน รู้สึกดีที่เป็นกิจกรรมที่ได้ผล เขาไม่ลืมเรา”

เมื่อเรียนระดับปริญญาโท ที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย… “งานวิจัยเยอะขึ้น ไม่ค่อยมีเวลาทำกิจกรรมอื่นๆ มากนัก แต่ก็ได้ประสบการณ์การใช้ชีวิต รุ่นพี่รุ่นน้องดูแลกัน ทำแล็ปต้องอยู่กันจนดึกดื่น บางครั้งไม่ใช่งานของเขาหรือเราโดยตรง แต่ก็ต้องมาช่วยกัน อยู่เป็นเพื่อนกัน ตอนเรียน ทำวิจัยเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ทางการหมักกรดซิตริก โดยใช้ยีสต์ Candida oleophila รู้สึกว่าน่าสนใจ ถ้าเรียนปริญญาเอกคงจะเลือกแนวทางนี้ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น”…

เมื่อเรียนจบ พอดีมหาวิทยาลัยศิลปากรเปิดรับตำแหน่ง ที่ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ เธอจึงไปสมัครแล้วก็ทำงานที่นั่นเลย อยู่ได้ระยะหนึ่ง มีทุนของทบวงฯ เปิดให้ไปสมัครสอบ แล้วก็สอบได้อีก แต่ตรงกับช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ ทำให้ต้องทำงานรอไปก่อน ทั้งสอน ทั้งทำวิจัย เพื่อเตรียมตัวล่วงหน้าให้พร้อมสำหรับการไปเรียนต่อ ทั้งด้านภาษา และวิชาการ

อ.เชาว์ พยายามหาว่า สาขาที่สนใจเปิดสอนที่ไหนบ้าง จนตัดสินใจว่าจะไปที่อเมริกา เพราะเคยได้พบศาสตราจารย์ Daniel Fung ผู้เชี่ยวชาญทาง Food Microbiology เข้ามาบรรยายในไทย ทำให้เกิดความประทับใจ อยากไปเรียนกับท่าน จนได้ไปเรียนปริญญาเอก ทางด้าน Food Science ที่ Kansas State University เมืองแมนฮัตตัน รัฐแคนซัส สหรัฐอเมริกา เนื่องจากมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในสาขาวิชานี้

งานวิจัยที่ทำในระดับปริญญาเอก คือหาวิธีการ การทำอาหารปลอดภัยจากเชื้อโรคที่เป็นเชื้อก่อโรคในอาหาร โดยสนใจในวิธีการควบคุม ลด หรือยับยั้ง ด้วยวิธีธรรมชาติ เช่น การยับยั้งเชื้อ ซาลโมเนลลา (Salmonella), อี โคไล (E. coli O157:H7) ลิสเตอเรีย โมโนไซโตจิเนส (Listeria monocytogenes) จนได้ออกมาหลากหลาย ทั้งวิธีทางกายภาพ และใช้สารเคมีที่ปลอดภัย หรือสมุนไพร ผลงานเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เนื่องจากสามารถนำวิธีการเหล่านี้ไปใช้ได้จริง…

ชีวิตในต่างแดน มีหลากหลายมิติ ต้องฝ่าฟัน… “บางทีรู้สึกว่าอยู่เมืองไทยสะดวกสบาย ไม่จำเป็นต้องดิ้นรนพยายามอะไรมากมาย แต่พอไปที่โน่น ทุกอย่างต้องช่วยเหลือตัวเองมากขึ้น ทั้งขับรถไกลๆ เติมน้ำมันเอง หลายๆ อย่างไม่เคยทำก็ได้ทำ บางอย่างไม่เคยคิดว่าจะทำเองได้ เช่น งานช่างเล็กๆ น้อยๆ ในที่สุดเราก็ทำได้ ส่วนถ้ามีเวลาว่างเมื่อไหร่ก็จะไปเที่ยวบ้าง ไปกับเพื่อนๆ ที่เรียนด้วยกัน ซึ่งมาจากหลายเชื้อชาติ ทำให้ได้เรียนรู้วัฒนธรรมของเขา ก็เป็นความภูมิใจ ที่เราอยู่มาได้ ทำมาได้ สรุปคือ ต้องดูแลตัวเองทุกเรื่อง”

“ที่แมนฮัตตัน มีคนไทยเรียนและอาศัยอยู่บ้าง เรามีสมาคมนักเรียนไทย เวลาจัดงาน ก็จะเชิญแม่บ้านคนไทย อาจารย์ผู้สอนชาวต่างชาติ ที่สนใจวัฒนธรรมไทย ให้มาร่วมงาน ทานอาหารไทย กิจกรรมไทยๆ ของเราบ้าง”

อยู่เมืองไทยไม่ค่อยได้ทำกับข้าว แต่ไปอยู่ที่นั่นต้องทำเอง “เกี๊ยวห่อไส้หมูสับทอด ข้าวเหนียวสังขยา ปกติเราเคยแต่ซื้อกิน แต่ที่โน่นเราก็หาสูตรทำออกมาจนได้ หน้าตาออกมาไม่ขี้เหร่ รสชาติใช้ได้ คนได้ชิมก็ชมว่าอร่อย” แม่ครัวจำเป็นเล่าถึงเมนูเด็ด ที่ได้มาโดยไม่รู้ตัว พร้อมเสียงหัวเราะ

“ประทับใจ รู้สึกว่าตัดสินใจถูกต้องมากๆ ที่เลือกเรียนที่นี่ ทั้งวิชาการและชีวิตความเป็นอยู่ สังคมมีความจริงใจ ทุกคนให้ความช่วยเหลือกัน มีปัญหาอะไร หาความช่วยเหลือได้ไม่ยากเลย ไม่ว่าจะจากคนไทยหรือต่างชาติ ทุกคนมีน้ำใจกัน เมื่อเขาให้เรา เราก็ให้ตอบ ต้องขอบคุณรัฐบาลไทยและมหาวิทยาลัยศิลปากรที่สนับสนุนการเรียนในครั้งนี้ค่ะ”

เรียนจบ กลับมาทำงานต่อ ได้นำความรู้กลับมาใช้ในการเรียนการสอน ต่อยอดในงานวิจัย “เราต้องทำวิจัยร่วมกับนักศึกษาอยู่แล้ว จึงเป็นการสร้างคนสำหรับงานวิจัยมากกว่า โดยเพิ่มศักยภาพให้เข้มแข็งขึ้น เช่น ด้านการวิจัย เครือข่าย สามารถดูแลรายวิชาที่ซับซ้อนได้มากขึ้น มีนักศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา มีการขอทุนวิจัย เช่น การผลิตกรดแลคติกจากหางนม โดยแลคติกแอซิดแบคทีเรีย”

การเปลี่ยนแปลงในหน้าที่ครั้งสำคัญ เมื่อทำงานผ่านไปได้ราวห้าปี ก็ได้รับความเมตตาจากผู้ใหญ่ คือท่าน ผศ.ดร.จรุงแสง ลักษณบุญส่ง ท่านคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ในสมัยนั้น ท่านได้กรุณามอบหมายให้ทำหน้าที่รองคณบดีฝ่ายวิชาการ ดูแลด้านหลักสูตรและวิชาการของคณะฯ ถือเป็นโอกาสอันดียิ่งในชีวิต “คิดว่าน่าสนใจที่จะได้เข้ามาเรียนรู้ในแง่มุมของการบริหารทางวิชาการของคณะฯ จึงตอบตกลง” ซึ่งหลังจากนั้นท่านอาจารย์จรุงแสงก็ได้กรุณาให้คำแนะนำมาโดยตลอด ทั้งในเรื่องการทำงาน การใช้ชีวิต “เหมือนเป็นญาติผู้ใหญ่เลยค่ะ”

“มหาวิทยาลัยศิลปากรให้โอกาสในการทำงานมากๆ ท่านผู้ใหญ่หลายท่านมอบความไว้วางใจ สมัยนั้นท่านรองอธิการบดี (ภก.ผศ.ดร.วันชัย สุทธะนันท์) ชวนให้ไปช่วยงานด้านวิชาการ เป็นผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ก็ช่วยงานอยู่ระยะหนึ่ง จนท่านอธิการบดี (ผศ.ชัยชาญ ถาวรเวช) ได้เสนอต่อสภามหาวิทยาลัย ให้แต่งตั้งเป็นรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ”

หลังจากนั้น ในสมัยท่านอธิการบดีวันชัย สุทธะนันท์ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นรองอธิการบดีฝ่ายประกันคุณภาพการศึกษา “นับเป็นโอกาสอันดีที่ได้ช่วยงานในตำแหน่ง รองอธิการบดีฝ่ายประกันคุณภาพการศึกษา ช่วงนั้นต้องเรียนรู้อย่างมาก เพราะต้องมีการปรับระบบงานครั้งใหญ่ ในเรื่องงานประกันคุณภาพ ในระดับหลักสูตร ใช้ระบบเครือข่ายการประกันคุณภาพมหาวิทยาลัยอาเชียน (AUN-QA) ที่ยอมรับกันในระดับสากล ส่วนระดับคณะหรือมหาวิทยาลัย ก็จะใช้ เกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ (EdPEx) เป็นการเตรียมการที่ค่อนข้างท้าทาย ทั้งการที่จะทำอย่างไรเพื่อให้คณาจารย์และคณะต่างๆ เห็นด้วยกับการปรับเปลี่ยน”

“ถือว่าดีมากๆ ที่ทุกฝ่ายให้การตอบรับ และเห็นด้วยที่มหาวิทยาลัยจะต้องก้าวไปข้างหน้า ในการใช้เกณฑ์มาตรฐานสากลนี้” อ.เชาวรีย์ กล่าวถึงการร่วมมือครั้งสำคัญ

สำหรับในปัจจุบัน  ท่านอธิการบดี (ผศ.ชัยชาญ ถาวรเวช) ได้กรุณาอย่างยิ่งในการเสนอต่อสภามหาวิทยาลัย ให้แต่งตั้งเป็นรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการอีกครั้งหนึ่ง

และเมื่อถามถึงการทำงานในสไตล์ของตัวเอง…         

“เมื่อได้รับโอกาส ต้องทำให้ดีที่สุด  เวลาที่เราบริหารงาน ต้องทุ่มเท ใส่ใจ ศึกษาค้นคว้า และต้องได้รับความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ จากผู้บริหารและผู้เกี่ยวข้อง เราไม่สามารถทำงานคนเดียวได้ จึงต้องให้ความสำคัญกับบุคลากรทุกฝ่าย ไม่ละเลยใคร”

ส่วนวิธีดูแลทางจิตใจและกายนั้น…

“เรื่องเครียดมีเข้ามาตลอดเวลา เก็บไว้ก็บั่นทอน ต้องเข้าใจว่า ทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะมีสาเหตุ และท้ายที่สุดก็จะผ่านไป ยิ่งเข้าใจธรรมชาติตรงนี้ได้เร็วเท่าไหร่ ตัดได้เร็วเท่าไหร่ ก็จะทำให้เราเครียดในระยะเวลาสั้นลง ต้องพยายามไม่เครียด แต่จะทำได้แค่ไหนขึ้นอยู่กับประสบการณ์และการฝึกฝน ต้องมองว่าทุกอย่างคือธรรมะ คือธรรมชาติ  การแก้ปัญหาบางเรื่องอาจจะต้องใช้เวลา หรือการสนับสนุนจากผู้อื่น เราไม่จำเป็นต้องคิดคนเดียวทำคนเดียวทุกเรื่อง เรามีผู้ใหญ่ที่รักเคารพหลายท่านที่พร้อมจะให้คำแนะนำและช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา ตรงนี้ถือเป็นโชคดีมากๆ ส่วนการดูแลร่างกายนั้น ง่ายๆ เลย แค่พักผ่อนให้เพียงพอ แล้วจะดีทุกเรื่องค่ะ”