ชีวิตไม่เครียด ต้องเริ่มที่ใจ – ดร.สมเชาว์ ตันฑเทอดธรรม
ดร.สมเชาว์ ตันฑเทอดธรรม
กรรมการผู้จัดการ
บริษัท เอ็น.ซี.เฮ้าส์ซิ่ง จำกัด (มหาชน)
ธัญญะกอล์ฟคลับ
“ชีวิตไม่เครียด ต้องเริ่มที่ใจ”
ตั้งแต่เด็กจนถึง ม.ศ.3 ผมเรียนที่โรงเรียนพันธะศึกษา ซึ่งสิ่งแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยต่อการเล่นกีฬามากนัก ส่วนใหญ่จึงไปเน้นในเรื่องการเรียนหนังสือเพื่อมุ่งสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ครั้งแรกก็ไม่ได้ตั้งใจเรียนมากนัก แต่เพื่อนๆ ก็ค่อยๆ ชวนกันให้มาเรียน ในที่สุดก็มาแข่งกับเขา ผลการเรียนของผมก็ค่อยๆ ดีขึ้นๆ แล้วยังมีอาจารย์ท่านหนึ่งคอยกระตุ้นให้พวกเราตั้งเป้าเรียนหมอ จึงถือเป็นความใฝ่ฝันของเราว่าจะมุ่งสอบไปเรียนหมอตั้งแต่เรียนอยู่ชั้น ม.ศ.2 ทำให้เกิดการเตรียมตัวเป็นลำดับขั้นว่า มัธยมปลายจะต้องเข้าโรงเรียนเตรียมให้ได้ จากนั้นถึงจะเข้าไปเรียนหมอ
ผมมาเล่นกีฬาจริงๆ จังๆ เมื่อสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาได้แล้ว ความรู้สึกคือโล่งอก เลยเล่นกีฬาเต็มที่ เริ่มจากแบดมินตัน ไปถึงโรงเรียนตั้งแต่ 6 โมงเช้า ก็เล่นไปจนเกือบถึงเวลาเข้าเรียน เหงื่อท่วมตัวเปียกเข้าห้องเรียนทุกวัน พอเที่ยงก็รีบไปจองสนามเล่นอีก พอเย็นเลิกเรียนก็รีบไปเล่น หายใจเข้าออกเป็นแบดฯ ตอนนั้นรู้สึกสบายใจเพราะสอบติดห้องควีน คิดว่าเรื่องการเรียนคงสู้คนอื่นได้แน่นอน เลยเล่นแต่กีฬา กิจกรรมอื่นก็ทำด้วย ทั้งตีกลองในวงดุริยางค์ ช่วยงานในกิจกรรมห้องสังคมศึกษา เพื่อนชวนไปว่ายน้ำก็ไปอีก ใครชวนทำอะไรก็ทำ ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดที่ทำก็มีส่วนทำให้ร่างกายมีความแข็งแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด มีเพื่อนเยอะ รู้จักคนไปหมด แต่ผลที่ตามมาก็คือ ผลการเรียนแย่ลง สอบขึ้น ม.ศ.5 ผมหลุดไปอยู่ห้องรองแจ็ค ตกไปอยู่ห้องอันดับ 7 จนต้องหันมาดูหนังสือมากขึ้น ขณะที่ก็ยังสนุกกับการทำกิจกรรมอยู่แต่ก็ต้องลดลงไปบ้าง
ความกดดันของผมในการสอบเข้าเรียนต่อคณะแพทย์ก็คือ มีความท้าทายเกิดขึ้นระหว่างผมกับคุณพ่อ สมัยก่อนนั้นครอบครัวคนจีนจะไม่นิยมให้เรียนหนังสือเยอะ อยากให้ออกไปช่วยทำงาน ที่บ้านค้าขายวัสดุก่อสร้าง ซึ่งคุณพ่อบอกเลยว่า ถ้าสอบเข้าแพทย์ไม่ได้ ก็ไม่ให้เรียน สาขาอื่นไม่ต้องพูดถึง นั่นทำให้ผมต้องมุ่งมั่น พยายามอ่านหนังสือ ตอนสอบก็รู้สึกไม่ค่อยมั่นใจมากนัก แพทย์จุฬาฯ รับ 100 คน ผมก็สอบเข้าได้อันดับที่ 100 คาบเส้นพอดี ทำให้ผมได้เรียนต่อตามเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้ แล้วเพื่อนของคุณพ่อยังให้แรงสนับสนุนผมอีกว่า ถ้าลูกเรียนได้ก็ต้องให้เรียน ยิ่งได้เรียนหมอยิ่งดีใหญ่ ท่านถึงได้ยอม
พอเข้าคณะแพทย์ได้ผมยิ่งสนุกใหญ่ คราวนี้ลุยด้านกิจกรรมเต็มที่ กีฬาน้องใหม่ก็เล่น ไปวิ่ง 1,500 เมตร ไปตีกลอง ไปขึ้นสแตนเชียร์ ช่วยกันทำป้ายแปรอักษร กลับบ้านตี 1 ตี 2 เหมือนกับคนเรียนหนังสือหนัก ชมรมต่างๆ ก็ไปเข้าร่วม ทั้งพุทธ ทั้งชาวเขา แล้ววันๆ ก็นั่งที่โต๊ะกรีฑาไม่ไปไหน ตกเย็นก็ไปวิ่ง ตั้งแต่สมัยหน้าเสาธงยังเป็นสนามฟุตบอล ซ้อมทุกวัน พยายามจะวิ่งระยะสั้นแต่ไม่ไหว แล้วก็มาเดินทน ว่ายน้ำ ส่วนแบดฯ หายไปเพราะไม่มีสนาม การเรียนก็ตกลงตามคาด แต่ยังรู้สึกสบายๆ เพราะ ปี 1 ปี 2 ยังไม่หนักมากนัก ก็พยายามใส่ใจเรื่องเรียนให้มากขึ้น ตอนหลังมาทำชมรมค่ายฯ ไปช่วยที่อื่นด้วย ชาวเขาก็ไปเยี่ยม ไปถือศีลปฏิบัติธรรมที่สวนโมข์
พอขึ้นปี 3 ต้องข้ามฝาก เรียนหนักขึ้น แต่ก็ยังรักที่จะทำกิจกรรม เลยตั้งชมรมค่ายฯ ของคณะแพทย์เลย แล้วก็ไปชวนพยาบาลให้มาร่วมช่วยทำกิจกรรม ชวนมาเล่นกีฬาสี เพราะสมัยก่อนนั้นสองคณะนี้ว่ากันว่าเคยเป็นไม้เบื่อไม้เมากันมา ทะเลาะกันประจำ พอมีกิจกรรมเหล่านี้ก็ทำให้เกิดความสนิทสนมกันมากขึ้น เกิดความสามัคคี รักใคร่กลมเกลียวกัน
เพราะความรักในการทำกิจกรรม แต่ก็ต้องเรียนให้ได้ด้วย ดังนั้นเวลาเรียนผมจึงต้องตั้งใจเป็นพิเศษ เข้าห้องเรียนให้สม่ำเสมอ ทำความเข้าใจให้ได้ตั้งแต่อยู่ในห้องเรียน แล้วนอกห้องก็จะทำกิจกรรมอย่างอื่นได้ แล้วเวลาใกล้สอบก็ต้องอ่านหนังสือให้เต็มที่ เพื่อนๆ ที่ชอบเหมือนกับเราก็มีอยู่เยอะพอสมควร เวลาทำกิจกรรมก็ช่วยกัน เวลาเรียนก็ต้องช่วยกันถึงจะไปรอด
ชีวิตการเรียนแพทย์หนักที่สุดก็เมื่อขึ้น ปี 5-ปี 6 เพราะจะเรียนกันเข้มข้นมาก แต่ละเรื่องเรียนแค่สองอาทิตย์หรือสี่อาทิตย์แล้วสอบเลย สอบเสร็จทิ้งเรื่องนี้ไปเรียนเรื่องใหม่ ไม่เอาของเก่ามาสอบอีก เรียนเป็นบล็อคๆ ไป แต่ละเรื่องต้องเรียนให้จบ สอบให้ได้ ภายในเวลาที่กำหนด แล้วก็ไม่มีวันหยุด ไม่มีปิดเทอมใหญ่ เวลาที่เหลือจะมาทำกิจกรรมก็น้อยลงไปอีก แต่ก็ไปเยี่ยมค่าย ไปช่วยงานของคนอื่นบ้าง เราไม่ได้ไปทำสิ่งปลูกสร้างแบบเขา แต่จะไปดูแลในเรื่องสุขภาพ ให้คำแนะนำด้านสุขอนามัย เชิญอาจารย์ไปช่วยตรวจร่างกายให้ชาวบ้าน เพราะเรายังเรียนอยู่ทำกันเองไม่ได้ ถึงจะมีเวลากันน้อยแต่ก็เต็มใจที่จะช่วยเหลือเต็มที่..
เมื่อเรียนจบไฟอุดมการณ์ยังเต็มเปี่ยม อยากออกไปต่างจังหวัด ไปประจำที่ภาคอีสาน เลยเลือกไปที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งอาชีพหมอนั้นประสบการณ์สำคัญมาก ถ้าไปอยู่โรงพยาบาลต่างจังหวัดจะได้ทำงานเยอะ มีโอกาสได้เจอคนไข้มากกว่าในกรุงเทพฯ ต่างจังหวัดโรงพยาบาลมี 10 เตียง แต่มีหมอคนเดียว จำเป็นต้องรู้รอบด้าน ทำได้ทุกอย่าง แล้วงานก็หนักมาก มีคนไข้ตลอด บางคืนแทบไม่ได้นอน ผมไปอยู่อินเทิร์น 1 ปี ใช้ทุนอีก 2 ปี พอครบ 3 ปี ก็กลับมาเรียนต่อเฉพาะทางด้านอายุรกรรม ที่โรงพยาบาลรามา อีก 3 ปี
ที่เลือกเรียนอายุรกรรมก็เพราะอยากสู้ อยากเอาชนะ แผนกนี้อ่านหนังสือหนักที่สุด สอบยากที่สุด เป็นการรักษาด้วยยาทุกอย่างที่ไม่ใช่การผ่าตัด รวมไปถึงมะเร็งด้วย ต้องศึกษากว้างมาก ระหว่างเรียนต้องอ่านหนังสือทุกวัน ไม่มีโอกาสได้ทำกิจกรรมอื่นเลย แต่ตอนอยู่ขอนแก่น ยังพอได้เล่นเทนนิสบ้าง เพราะไม่มีสนามอย่างอื่นให้เล่น ไปฝึกใหม่ตั้งแต่ต้น จนเล่นตอบโต้ได้ ถ้าไม่สะดวกจริงๆ ก็วิ่งจ้อกกิ้งรอบโรงพยาบาล แล้วพอเรียนเฉพาะทางจบก็กลับไปทำงานใช้ทุนที่ของแก่นอีก 6 ปี ก็รู้สึกว่างานของเรานั้นแก้ปัญหาไม่จบไม่สิ้น ส่วนใหญ่คนที่มาโรงพยาบาลจะมีอาการหนักแล้วทั้งนั้น ทำให้เราช่วยเขาไม่ทัน แล้วก็มาหาเราด้วยอาการสารพัดโรค บางโรคไม่เคยเห็นในกรุงเทพฯ เช่น วัณโรค แต่อยู่ที่นั่นได้เห็นคนไข้ไอเป็นเลือดทุกวัน
พอคุณพ่ออายุมากขึ้นผมก็อยากกลับมาดูแลท่าน เลยคิดจะย้ายกลับเข้ามาทำงานที่กรุงเทพฯ แต่ทำยังไงก็ยังไม่เห็นช่องทาง คุณพ่อก็เร่งให้กลับมาช่วยงาน ในที่สุดก็ตัดสินใจลาออก ซึ่งท่านได้เอ่ยปากชวนมาตั้งแต่จบ ป 6, ม.ศ.3, ม.ศ.5 แม้กระทั่งตอนจบแพทย์ ผมเองกว่าจะลาออกก็คิดหนัก เพราะทำอาชีพแพทย์มา 13 ปี แล้วอยู่ดีๆ เปลี่ยนมาทำธุรกิจด้านอสังหาฯ คิดอยู่นานมากว่าจะไหวรึเปล่า จนเจออาจารย์ท่านหนึ่งได้แนะว่า จริงๆ แล้วการเรียนจบปริญญาไม่จำเป็นต้องทำงานในสาขาที่เรียนเสมอไป เพียงแต่เราต้องรู้ถึงการเรียนรู้เพื่อประยุกต์นำทฤษฎีมาใช้ ถ้าทำได้ อยู่ตรงไหน ทำอาชีพอะไร ก็ทำได้ทั้งนั้น ตอนผมลาออกหลายๆ คนยังคิดว่าจะย้ายเข้ามาเป็นหมอที่กรุงเทพฯ ไม่คิดว่าจะมาทำงานด้านอสังหาฯ
อาชีพทางด้านอสังหาริมทรัพย์กลับข้างกันกับหมอเลย เพราะอาชีพหมอ ถ้าไม่เรียนคุณทำงานไม่ได้เลย แต่การที่เรามาเป็นนักบริหารไม่เรียนก็ทำงานได้ถ้ามีความเข้าใจ ส่วนหนึ่งคือผมเกิดและโตขึ้นมาในแวดวงธุรกิจอสังหาฯ ทำให้ปรับตัวได้ไม่ยากนัก ตอนเด็กๆ เล็กๆ อยู่กับลุงที่ขายวัสดุก่อสร้าง ผมก็รู้วิธีการนำปูน ทราย มาผสมปั้นเล่น ตอนพ่อมาตั้งร้าน ก็ไปช่วยปั้นโอ่ง ตอนท่านทำบ้านจัดสรรก็เคยมาช่วยขาย ชีวิตจึงคุ้นเคยกับงานในสายนี้แต่ไม่รู้วิธีการบริหาร ยังทำไม่เป็น แต่เมื่อได้รู้ขั้นตอนต่างๆ เช่นการสร้างบ้าน ก็สามารถประยุกต์ความรู้เพื่อมาใช้ทำงานได้ แม้แต่อาชีพแพทย์ก็ใช้หลักการเดียวกัน เมื่องานเดินไปจะแก้ปัญหายังไง รู้สาเหตุ และวิธีการในการแก้ไข หมุนเวียนอยู่แค่นี้
ผมต้องไปเรียนรู้ทางด้านเทคนิคการก่อสร้าง อาศัยขยันไปดูงานมากๆ ไปหาวิธีแก้ปัญหา คอยฟังคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ หลายๆ เรื่องต้องอาศัยห้องเรียน เช่นวิธีทางการเงิน การบัญชี ผมจึงกลับไปเรียนที่ธรรมศาสตร์ การบริหารอสังหาริมทรัพย์ ทำให้รู้เรื่องมากขึ้นในเรื่องของที่ดิน วัดขนาดกันยังไง วิธีการคำนวณภาษี ระบบการจัดสรร บางส่วนที่ไม่เคยรู้ เช่น เรื่องหุ้น หุ้นกู้ เป็นยังไง เลยไปเรียน เอ็มบีเอ ที่ธรรมศาสตร์อีกเช่นกัน เวลา 3-4 ปีที่ใช้เรียนนี้เป็นทางลัด ทำให้เรารู้ได้เร็วขึ้นโดยไม่รอประสบการณ์ โชคดีอีกเรื่องที่ผมกลับมา คือคุณพ่อบ่นว่ารู้สึกเหนื่อย ผมจึงพาท่านไปตรวจ พบว่าท่านมีเส้นเลือดหัวใจตีบถึงสามเส้น ทำให้ผ่าตัดรักษาทันเวลา
ช่วงปี 2534 ที่ผมกลับมารับงานนั้น ธุรกิจอสังหาฯ ที่ฟุบไปแล้วกำลังจะกลับขึ้นมาใหม่ แต่ก็มาเกิดวิกฤติซัดดัมพอดี งานที่ทำเป็นการสานต่อจากคุณพ่อ งานใหญ่ที่ทำให้รู้สึกภาคภูมิใจคือการก่อตั้งบริษัท เอ็น.ซี. เมื่อปี 2537 เริ่มทำโครงการใหม่ๆ แล้วยืนหยัดจนผ่านวิกฤติปี 2540 มาได้ จนสามารถนำบริษัทฯ เข้าตลาดหลักทรัพย์สำเร็จ เมื่อปี 2546 และความภูมิใจอันที่สามคือ ได้รับเกียรติให้เป็นนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นสายตรงมาตั้งแต่ต้น
โครงการที่ใหญ่ที่สุดของ เอ็น.ซี. คือ บ้านฟ้าปิยะรมย์ ลำลูกกา คลอง 6 เรามีที่ดินตอนเริ่มต้น 1,200 ไร่ มีการแบ่งจัดสรรพื้นที่ด้านหน้าสำหรับกิจกรรมบริหาร ห้างสรรพสินค้าต่างๆ โครงการแรกสามร้อยกว่ายูนิตขายแค่เพียงเดือนเดียวก็หมด ปัจจุบันทำไปแล้ว 14 โครงการ ถือเป็นชุมชนที่ใหญ่มาก และอีกโครงการคือ ธัญญะกอล์ฟคลับ พื้นที่รอบๆ จะจัดสร้างบ้านระดับพรีเมี่ยมสำหรับการอยู่อาศัย ช่วงน้ำท่วมใหญ่สนามได้รับความเสียหายอย่างหนัก เราก็รับช่วงการบริหารต่อ พยายามกู้ให้คืนสภาพกลับมา ปรับปรุงให้พร้อมใช้งานทั้ง 27 หลุม เราพยายามพัฒนาตัวสนามให้แต่ละหลุมท้าทายมากขึ้น ดูแลสภาพให้สมบูรณ์ สนามในตอนนี้ดีกว่าเมื่อก่อนน้ำท่วม ทั้งความหนา ความเนียนของหญ้า ส่วนคลับเฮ้าส์ก็ทำงานไปพัฒนาไป พยายามใส่ฟังก์ชั่นต่างๆ เข้าไปให้มากขึ้น รวมถึงสระว่ายน้ำและสิ่งอื่นๆ อีกด้วย
กอล์ฟ เป็นกีฬาที่ทำให้ผมมีโอกาสได้ผ่อนคลาย ได้ออกกำลังกายบ้าง ถ้าเดินครบ 18 หลุม ได้ระยะทาง ได้ใช้กำลังพอสมควร อาชีพนักบริหาร ถ้าไม่ได้ออกกำลังกายเลยจะมีความเสี่ยงสูงกับโรคต่างๆ มากขึ้น ทั้งเบาหวาน ความดัน ฯลฯ ถ้าได้เล่นกอล์ฟบ้างก็จะช่วยให้ลดความเสี่ยงในด้านสุขภาพ ผมเล่นกอล์ฟมาแล้วร่วมยี่สิบปีแต่ก็ไม่ค่อยได้เล่นมากนัก เคยเล่นเยอะที่สุดก็ช่วงไปเรียน วปอ. เพราะมีเพื่อนร่วมก๊วนเล่นกันบ่อย กอล์ฟจะสนุกหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับเพื่อนร่วมก๊วน
การได้เข้าไปร่วมในโครงการ “หลักสูตรนักบริหารระดับสูง กอล์ฟ ธรรมศาสตร์” ของคณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำให้ผมได้รู้คนที่รักกอล์ฟด้วยกันมากขึ้น การได้รู้จักคนเยอะๆ มีเพื่อนๆ เยอะๆ คือสิ่งจรรโลงใจ ไปไหนมาไหนมีคนรู้จักมันทำให้อุ่นใจ นั่นทำให้ผมชอบไปเรียนหรืออบรมในหลักสูตรต่างๆ และในโครงการ นกธ. นี้ เป็นการรวบรวมผู้บริหารที่มีใจรักกอล์ฟ ให้มาร่วมศึกษากีฬานี้ด้วยกัน ทำให้ทราบถึงกลไกและวิธีที่จะทำให้เราเล่นกอล์ฟได้ดีขึ้น ผมเล่นกอล์ฟมานานแต่สกอร์ก็ยังสูงอยู่ เพราะยังมีจุดบอดในการเล่นอีกมาก พอไปเรียนก็ได้เทคนิคดีๆ ที่ไม่เคยทราบมาก่อน พอมีผู้รู้มาแนะนำบางเรื่องที่ทำง่ายๆ แต่ได้ผลชัดเจน ทำให้เล่นกอล์ฟได้มีความสุขมากขึ้น
ในการทำงานมีสิ่งที่คิดไว้เสมออย่างหนึ่งก็คือ จะทำอย่างไรให้ผู้มารับบริการของเราได้รับสิ่งที่ดีที่สุด ถ้าเราคิดถึงคนอื่นก่อนเป็นอันดับแรก งานจะออกมาดีกว่า ถ้าไปเทียบกับคิดว่าจะทำอย่างไรถึงจะได้กำไรเยอะๆ เพราะเราจะมัวแต่ไปมุ่งแสวงหารายได้โดยไม่คำนึงถึงการบริการ การคิดถึงเรื่องบริการ คือการคิดถึงคนอื่นก่อน จะทำอย่างไรเขาถึงจะพอใจ แล้วงานจะออกมาดี ลูกค้าก็ชอบในการบริการของเรา นี่คือจุดหนึ่งที่คิดว่าสำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจใดก็ตาม ถ้าสามารถทำให้ลูกค้าพึงพอใจได้ ธุรกิจย่อมไปรอด ผมถึงบอกกับพนักงานอยู่เสมอว่า ถ้ามีลูกค้ามาร้องเรียนไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม เราต้องยินดีรับฟังปัญหานั้น และพยายามปรับปรุงแก้ไข เมื่อเขาพึงพอใจ ก็จะกลับมาหาเราอีก
เมื่อสูงวัยขึ้น เป็นธรรมดาที่จะมีโรคต่างๆ เข้ามาเบียดเบียน ไม่มีใครหนีพ้น เพียงแต่ว่าโรคบางอย่างสามารถป้องกันได้ด้วยการทำให้ร่างกายแข็งแรงอยู่ตลอดเวลา นั่นคือการออกกำลังกาย ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะทำให้กล้ามเนื้อต่างๆ มีความแข็งแรงแค่เพียงอย่างเดียว เพราะทุกส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ประโยชน์พร้อมกันไปทั้งหมดทุกส่วน โดยเฉพาะหัวใจ แต่เมื่อออกกำลังกายแล้วก็ต้องดูแลสุขภาพด้วยวิธีอื่นควบคู่ไปด้วย อาหารต้องพอเหมาะ ถ้าปล่อยให้อ้วนโอกาสที่เบาหวานจะตามมาสูงมาก ดังนั้นเรื่องอาหารต้องคุมให้พอเหมาะ รู้สึกว่าอ้วนไปก็ต้องลดบ้าง แล้วการพักผ่อนก็ต้องเพียงพอ นอนให้เต็มอิ่ม และยังต้องหมั่นตรวจสุขภาพ เพราะโรคบางอย่างนั้นได้รับการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ไม่ว่าเราจะดูแลสุขภาพดีแค่ไหนก็อาจจะเป็นได้
ความเครียดต่างๆ นั้นเกิดจากใจเราทั้งสิ้น ถ้าจะไม่เครียดก็ต้องเริ่มที่ใจ ต้องพยายามทำตัวสบายๆ สนุกสนานไปกับทุกๆ เรื่อง ถึงแม้จะเป็นงาน ผมก็จะทำเหมือนกับเล่นเกมส์ สนุกไปกับงาน เมื่อทำใจให้สนุกอยู่กับงานได้ จะไม่รู้สึกเครียด เหมือนกับเด็กที่เล่นเกมส์ถึงแม้เขาจะเล่นหนักแค่ไหนก็ยังสนุกอยู่ ผมถึงได้พยายามสอนลูกน้องเสมอว่า เวลาทำงานถึงแม้จะหนักก็จริง แต่ต้องสนุกไปด้วย ทำแล้วไม่สำเร็จ ก็ทำใหม่ได้ เหมือนกับเล่นเกมส์แพ้ก็กลับมาเริ่มต้นกันใหม่ แต่ก็เข้าใจได้ว่าเวลาปฏิบัติจริงๆ นั้นมันก็ไม่ได้ง่าย ถ้าทำได้ถือว่าเป็นความประเสริฐอย่างยิ่ง แล้วการทำตัวสบายๆ คือไม่ไปกดดันว่าจะต้องทำงานให้มาก หาเงินให้เยอะ ต้องทำให้ดีกว่าจนมากเกินไป ขอแค่ทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทุ่มชีวิตให้เต็มที่ จนไม่สามารถจะทำดีกว่านี้ได้อีกแล้ว ผลที่ออกมาคนอื่นจะตำหนิหรือสรรเสริญก็เป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องยอมรับครับ