Interview

ทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด – จุฑามาศ อินปริงกานันท์

จุฑามาศ อินปริงกานันท์
ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป
ฝ่ายวางแผนและพัฒนางานขาย/ธุรกิจเพื่อสังคม/
ศูนย์ฝึกอบรมด้านงานขายและเทคนิค
ส่วนงานการสื่อสารผู้จำหน่าย
บริษัท เอ.พี. ฮอนด้า จำกัด

เมื่อ “คุณจุ” เรียนจบจากเอแบค (มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ) ทางด้านบริหารงานโฆษณา ก็เข้ามาทำงานที่ฮอนด้าฝ่ายส่งเสริมการจำหน่าย ซึ่งเกี่ยวข้องกับการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ที่เธอเรียนมาโดยตรง แล้วก็ทำงานด้วยความเพลิดเพลิน รู้สึกตัวครั้งแรกก็ผ่านไปแล้วร่วม 7 ปี จากนั้นก็ฝากรากลงลึก สนุกกับการทำงานที่ท้าทายหลากหลายรูปแบบ จนถึงทุกวันนี้ก็ร่วม 25 ปี เข้าไปแล้ว ตั้งแต่ อยู่ในส่วนงาน Sale Promotion ชื่อเดิมในอดีต ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น Marketing Communication ในปัจจุบัน หรือที่ภาษาคนในวงการประชาสัมพันธ์มักจะเรียกติดปากกันว่า มาร์คอม นั่นเอง

“เป็นคนชอบของแปลกค่ะ.. เพื่อนๆ ที่เรียนด้วยกันส่วนใหญ่เลือกการตลาดกันทั้งนั้น เพราะที่มหาวิทยาลัยฯ มีชื่อเสียงทางสาขานี้ด้วย บังเอิญว่าปีนั้นมีเปิดสาขาใหม่ บริหารงานโฆษณา รู้สึกว่าน่าสนใจ น่าสนุกกว่า ด้วยความที่ไม่อยากเหมือนคนอื่น เลยสมัครเรียนทันที เป็นคนเดียวในกลุ่มชมรมที่เลือกสาขานี้ แล้วมารู้ทีหลังอีกว่า รุ่นที่เราเรียนนั้นยังไม่นับเป็นรุ่น 1 ด้วยซ้ำ เป็นรุ่นบุกเบิก ทุกอย่างใหม่หมด ทั้งอาจารย์ ทั้งวิชาที่สอน เรียนไปแล้วก็สนุกจริงๆ วิชาที่ชอบที่สุดคือ พฤติกรรมผู้บริโภค เป็นวิชาที่เรียนแล้วติดตัว สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้จริงๆ จนถึงทุกวันนี้”

เมื่อเรียนจบสายโฆษณา คุณจุ ก็มุ่งสมัครงานทางด้านเอเยนซี่ ระหว่างที่รอนั้น บริษัท เอ.พี.ฮอนด้า เปิดรับสมัครงานฝ่ายส่งเสริมการจำหน่าย เธอก็คิดว่าสิ่งที่เรียนมาก็เป็นแนวๆ นี้ น่าจะลองไปสมัคร ปรากฏว่าบริษัทฯ รับ แล้ว คุณจุ ก็อยู่กับ เอ.พี.ฮอนด้า มาตั้งแต่บัดนั้น

“ครั้งแรกไม่ได้คิดว่าจะอยู่ได้นานแค่ไหน แต่ก็สนุกกับงานที่นี่ตั้งแต่เริ่มเข้างานเลยค่ะ มอเตอร์ไซด์ คือผลิตภัณฑ์ที่รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่จับต้องได้ งานนี้น่าจะสนุก ไม่น่าเชื่อว่าจะเพลิดเพลินกับการทำงานมาก มีงานให้ทำตลอด รู้สึกตัวครั้งแรกก็ผ่านไปแล้ว 7 ปี เข้าไปใหม่ๆ ได้เป็นพิธีกรงานแถลงข่าว จากนั้นก็ค่อยๆ ขยับขึ้นไปเรื่อยๆ”

งานใหญ่งานแรกหลังที่เข้ามาอยู่ได้ราวปีกว่าๆ คุณจุก็ได้รับโอกาสจากผู้ใหญ่ เจ้านายปล่อยให้ได้แสดงฝีมือ เหมือนให้ได้แจ้งเกิด นั่นคืองานคาราวาน ที่น้ำพุร้อน สันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นการพาผู้ใช้มอเตอร์ไซด์ไปเที่ยวด้วยกัน งานนี้ได้ใช้ความคิด ความรู้ ความสามารถอย่างเต็มที่ ต้องจัดเตรียมทุกอย่างให้กับผู้เข้าร่วมงานทั้งหมด กิจกรรมความสนุก เต้นท์ที่พัก ลานโต๊ะจีน เวทีแสดงคอนเสิร์ท แม้กระทั่งห้องน้ำ เพื่อรองรับกับคน 3-4 พันคน ให้เข้ามาอยู่ในพื้นที่เดียวกัน หาวิธีสื่อสารกับคนหมู่มากให้เข้าใจได้ง่ายๆ ตั้งแต่ยุคที่อินเตอร์เน็ตยังไม่มีใครรู้จัก

“การเป็นน้องเล็กอยู่ในทีม เมื่อผู้ใหญ่ให้โอกาสเราได้แสดงความคิดเห็นออกมา แล้วความคิดเห็นนั้นเป็นที่ยอมรับ ทำให้รู้สึกถึงการให้ความสำคัญกับงาน ทุกคนทำงานกันเป็นทีม ทุกคนมีโอกาสเหมือนกันหมด ได้แสดงความคิดเห็นอย่างเท่าเทียมโดยไม่คำนึงถึงตำแหน่ง แต่จะคำนึงถึงว่าไอเดียของใครเป็นที่ยอมรับกันได้มากกว่า มีประโยชน์มากกว่า ก็จะยอมรับข้อเสนอแนะนั้นนำไปปฏิบัติ ทำให้ทุกคนสนุกในการกล้าที่จะคิด ไม่ต้องไปกังวลเรื่องอื่น คือที่นี่ให้ความสำคัญกับความคิดดีๆ มากที่สุด ไม่ว่าจะมาจากใครก็ตาม”

ยุคนั้นยังไม่มีโซเชี่ยลที่ล้ำยุคเหมือนในปัจจุบัน อินเตอร์เน็ต มือถือยังไม่มีด้วยซ้ำ เมื่อลูกสาวเก็บกระเป๋าออกจากบ้านไปไปทำงานทีก็ยาวเป็นอาทิตย์ จะเจอพ่อแม่กันอีกครั้งเมื่องานคาราวานจบ ทำให้เธอรู้สึกสนุก เพราะสมัยเรียนคุณจุก็สนุกกับการทำกิจกรรมของชมรมฯ ไปเข้าค่ายพาน้องไปเที่ยวบ้าง ออกไปช่วยงานส่วนรวมบ้าง งานที่ได้ทำก็นับว่าคล้ายๆ กัน แล้วในทีมอายุรุ่นราวก็ไม่ห่างกันมาก เลยยิ่งสนุกกันใหญ่

เสียงตอบรับของงานคาราวานออกมาดีมาก ดีลเลอร์เป็นกำลังสำคัญที่ช่วยทำให้งานนี้มีคนสนใจมาร่วมเป็นจำนวนมาก ทำให้บริษัทต้องตระเวนจัดงานทั่วทุกภูมิภาคตามกระแสความต้องการ แต่ละปีจัดกันถึง 5-6 ครั้ง แต่ละครั้งจะมีลูกค้าเข้ามาร่วมงานมากถึง 3-4 พันคน โดยได้กำหนดรัศมีการเดินทางไว้ว่าไม่ให้เกิน 200 กิโลเมตรจากจุดเริ่มต้น

“บริษัทฯ เคยจัดใหญ่ที่สุดถึงหมื่นคนที่พัทยาตอนเพิ่งเข้างานใหม่ๆ ไม่กี่เดือน พี่ๆ ก็ให้เรารอที่ออฟฟิศก่อนแล้วค่อยตามไป ปรากฏว่างานเลี้ยงกลางคืนมีการประกวดมิสคาราวาน แล้วไม่มีกางเกงขาสั้นให้กับผู้เข้าประกวด พี่ก็สั่งให้เราออกไปหากางเกงขาสั้นร้อยกว่าตัวโดยด่วน ก็ต้องออกไปตลาดควานหาว่าที่ไหนมีบ้าง จำได้เลยว่าปีนั้น สาวๆ มิสคาราวาน ใส่กางเกงสารพัดสี เหนื่อย แต่สนุก ได้แก้ปัญหาเฉพาะหน้า แล้วก็ผ่านไปได้ด้วยดีค่ะ” คุณจุ เล่าถึงความประทับใจแรกที่ช่วยกันวิ่งแก้ปัญหาในงานใหญ่เมื่อคราวเริ่มงานได้ใหม่ๆ

เพราะทำงานตั้งแต่แผนกมีคอมพิวเตอร์แค่ตัวเดียว พวกพี่ๆ จะเขียนข่าวด้วยปากกาแล้วก็ส่งต่อให้ คุณจุ ซึ่งเป็นน้องเล็กไปพิมพ์ เมื่อทำหน้าที่นี้เลยเกิดการ”ครูพักลักจำ” ทำให้คุ้นเคยกับงานการเขียนประชาสัมพันธ์ไปเรื่อยๆ รวมไปถึงนโยบาย แผนงาน สคริปการแนะนำรถใหม่ เจ้านายเขียนมา เธอก็พิมพ์ไปอ่านไป ช่วยตรวจคำสะกดไปด้วย เลยยิ่งทำให้รู้จักกับ ฮอนด้า มากยิ่งๆ ขึ้นไปอีก

“ชีวิตการทำงาน สังคมของที่นี่ดีมาก นั่นเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ทำให้การทำงานแล้วสบายใจ รุ่นพี่รุ่นน้องอยู่กันเหมือนครอบครัว พวกเราจะเรียก  เฮีย เรียก เจ๊ กับพี่ๆ ที่อาวุโส หรือเจ้านาย ทำให้เมื่ออายุงานเริ่มจะมากขึ้นถึงจุดที่จะต้องตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรกับชีวิต ซึ่งคำตอบที่ใคร่ครวญแล้วก็คือ เมื่องานนี้ทำให้เราเกิดความสุขได้ ก็ขอลุยต่อไปให้ถึงที่สุดไม่ไปไหนแล้ว และเมื่อปี 1999 ได้ย้ายไปแผนกฝ่ายขายในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการ ซึ่งเป็นผู้ช่วยคนแรกของบริษัท เป็นงานที่เต็มไปด้วยข้อมูล ตัวเลข แล้วตลาดในช่วงนั้นยังเป็นขาลง การขายทำได้ยากขึ้น เกิดจุดเปลี่ยนเพราะสภาวะเศรษฐกิจ ต้องมีแคมเปญต่างๆ มากมาย ออกไปกับดีลเลอร์ หน้าที่เราคือคอยสนับสนุนความคิดต่างๆ ให้บรรลุผล ซึ่งต้องไปเรียนรู้สิ่งต่างๆ เพิ่มเติมอีกมากมายเพื่อพัฒนาศักยภาพของตัวเราเอง แม้กระทั่งการลองผิดลองถูกตามตำรา เพื่อที่จะรวบรวมข้อมูลต่างๆ จนภายหลังมีเทคโนโลยีที่สะดวกสบายขึ้น มองดูแล้วฝ่ายขายเป็นงานที่ไม่มีวันจบ ต้องทำไปเรื่อยๆ ต่างจากงานเดิมที่มีกำหนดวันจบชัดเจน”

“จนได้ย้ายกลับมาเป็นผู้จัดการดูแลฝ่ายส่งเสริมการจำหน่าย ครั้งแรกก็หวั่นใจว่าตัวเองจะรับงานนี้ไหวรึเปล่า เพราะในแผนกส่วนใหญ่จะอาวุโสกว่า แต่ทุกคนก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เป็นงานที่หนักที่เหนื่อย เป็นจังหวะที่บริษัทต้องการจะประชาสัมพันธ์ให้กับลูกค้า เป็นยุคที่ฮอนด้านผลักดันการขายรถมอเตอร์ไซด์ 4 จังหวะ เราก็ต้องไปเรียนรู้ ไปทำความเข้าใจว่าข้อดีคืออะไร เช่นความประหยัด การลดมลพิษ และนำสิ่งเหล่าให้กลับไปบอกตลาด ทำให้เรามียอดขายขึ้นมาเป็นผู้นำ”

และในกิจกรรมเพื่อสังคม คุณจุ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมดังนี้.. “กิจกรรมเพื่อสังคมเรามี 5 เรื่องหลัก ได้แก่ วิ่ง 31 ขา, เรดแชมเปี้ยน, ฮอนด้าประหยัดเชื้อเพลิง, มาร์เก็ตติ้งแพลน คอนเทสต์ และ การบริจาคเลือด ไล่เลียงเพื่อครอบคลุมทุกระดับอายุ เริ่มจาก วิ่ง 31 ขา กิจกรรมของเด็ก ป.5-ป.6 อายุราว 8-9 ขวบ เป็นการส่งเสริมให้เรียนรู้เรื่องความสามัคคี ซึ่งกิจกรรมนี้เริ่มเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2538 โดยเป็นรายการของทีวี อาซาฮี จากประเทศญี่ปุ่น และเมื่อปี 2548 กลุ่มบริษัทฮอนด้าในประเทศไทยได้สนับสนุนเริ่มจัด “ฮอนด้า วิ่ง 31 ขาสามัคคี” แล้วก็จัดต่อเนื่องมาตลอด โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ) อีกด้วย เป็นการรวมตัวของคนกลุ่มเล็กๆ เพื่อมาสร้างพลังสามัคคีที่ยิ่งใหญ่ร่วมกัน, เรดแชมเปี้ยน สำหรับเด็กโตขึ้นมาอีกนิดระดับชั้นมัธยม อายุไม่เกิน 18 ปี เป็นการแข่งขันทักษะฟุตบอล เดาะ เลี้ยง ส่ง โหม่ง ยิง จัดขึ้นเป็นปีที่ 5 ซึ่งตลอด 4 ปีที่ผ่านมามีผู้เข้าร่วมกิจกรรมแล้วมากถึง 33,000 คน, การแข่งขัน Honda Eco Mileage Challenge หรือ ฮอนด้าประหยัดเชื้อเพลิง ขึ้นสู่ปีที่ 18 มีทั้งรถจักรยานยนต์ที่ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ และรถจักรยานยนต์ฮอนด้าที่มีอยู่ในตลาด เปิดให้มีผู้เข้าแข่งขันจากหลากหลายระดับตั้งแต่นักเรียนจนถึงประชาชนทั่วไป, มาร์เก็ตติ้งแพลน สำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาบริหารธุรกิจ การตลาด หรือที่เกี่ยวข้อง ความคิดสร้างสรรค์ในการทำตลาดสินค้าสำหรับคนรุ่นใหม่ และจะนำไปปฏิบัติจริงอีกด้วย และการรับบริจาคโลหิต ที่เราได้รวบรวมพลังเครือข่ายร้านผู้จำหน่ายฯ ทั่วประเทศ ติดต่อกันมาเป็นปีที่ 12 แล้ว”

“ผลิตภัณฑ์ของเราอยู่ในประเทศไทยมาแล้ว 51 ปี และเป็น เอพี ฮอนด้า เกือบสามสิบปี มียอดขายสูงสุดถึง 26 ปี ตัวเลขพวกนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีลูกค้า ไม่มีผู้อุปการะคุณ ทั้งผู้ใช้ ผู้แทนจำหน่าย ให้ความไว้วางใจ เราได้พัฒนาเทคโนโลยีที่เหนือความคาดหมายเพื่อมาช่วยให้คนใช้รถได้ง่ายขึ้น ปลอดภัยขึ้น รักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เราก็ยังมีเรื่องของกิจกรรม ณ วันนี้เราจึงต้อง “คืน” ให้กับสังคม ทำประโยชน์ให้กับส่วนรวมให้มากที่สุด สายตรงของเราคือ การรณรงค์ ขับขี่ปลอดภัย ในฐานะที่เราเป็นพาหนะหนึ่งบนท้องถนน ก็อยากให้ผู้ร่วมใช้ถนนกับเราขับสนุกและปลอดภัย ส่วนกิจกรรมเพื่อสังคมอื่นๆ ที่ดำเนินการอยู่นั้น เราได้ร่วมกับร้านเครือข่ายผู้จำหน่าย ช่วยกันส่งมอบความสุขให้กับสังคมไทยในหลายรูปแบบ โดยเฉพาะกับเยาวชนที่จะเติบโตขึ้นไปเป็นผู้ใหญ่คุณภาพในอนาคต เรามีกิจกรรมต่างๆ รองรับทุกช่วงอายุ ทั้งนี้เพื่อเป็นการขอบคุณสังคมไทยซึ่งเป็นผู้มีอุปการะคุณเรามาตลอดค่ะ

คุณจุ ยังเสริมอีกว่า สาระสำคัญในการทำงานจริงๆ ก็คือ การได้ “คิด” ไม่ใช่เพียงแค่คิดในปัจจุบันเท่านั้น แต่เป็นการ “คิดไปข้างหน้า” คิดว่าถ้าทำแบบนี้แล้ว คนจะคิดกับเรายังไง จะคิดตามไปกับเราไหม เขาจะเข้าใจเราหรือไม่ อนาคตจะเป็นอย่างไร จะต่อยอดออกไปอย่างไร ซึ่ง การคิดไปข้างหน้า นี่คือคอนเซปต์หลักของบริษัทเลยก็ว่าได้ และ เวลาทำงานจะต้องยึดถือเสมอว่า

“ทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ “ดีที่สุด” และจง “สนุก” กับสิ่งนั้น.. คำว่า “สนุก” เป็นแรงบันดาลใจ มีอะไรหลายๆ อย่างอยู่ในนั้น ถ้าทำแล้ว “ไม่” สนุก เราจะไปต่อไม่ได้ ดังนั้น เราจึงต้อง “หา” ความสนุก จากสิ่งที่ทำอยู่นั้นให้เจอ เราจะถึงต่อยอดในสิ่งที่ทำได้ แล้วจงตั้งใจทำให้ “ดีที่สุด” ผลลัพธ์สุดท้ายที่ออกมาก็คือ “ความสำเร็จ” ค่ะ!

1201 col Working Jutamas 2

1201 col Working Jutamas 3