ดร.ศักดิ์ชาย ทัพสุวรรณ
ประธานสหพันธ์มวยไทยสมัครเล่นนานาชาติ
“ทำตัวให้เป็นแบบอย่างที่ดี ทั้งคุณธรรมและจริยธรรม”
เจอครูมวยที่โรงเรียน : ผมเล่นกีฬามาเรื่อยๆ จนกระทั่งเข้าโรงเรียนอำนวยศิลป์ เผอิญว่าครูพลศึกษาที่สอน เคยเป็นนักมวยอาชีพที่มีชื่อเสียงใช้ชื่อขึ้นชกว่า วรกิจ กล้าศึก ทุกชั่วโมงที่สอนก็จะมีเรื่องมวยมาเล่าให้ฟังอยู่เสมอ ท่านจะใช้ผมจัดประกบคู่ขึ้นชกกันตลอด เล่นกันอย่างสนุกสนานในชั้น เรื่องมวยจึงติดตัวกับผมมาตั้งแต่ตอนนั้นผมก็ขึ้นชกด้วยในโรงเรียน เป็นมวยสากล เพราะในโรงเรียนไม่ให้ใช้มวยไทย แต่ผมก็ไม่ได้มุ่งไปเล่นอาชีพ
เข้า ม.ธรรมศาสตร์ ก่อนมาวิทยาลัยพลศึกษา : จบ ม.8 จากอำนวยศิลป์ ก็มุ่งหน้าไปธรรมศาสตร์ แต่เรียนไปได้ไม่นาน มีโอกาสเข้ามาสนามกีฬาที่ปทุมวัน ซึ่งเป็นที่ตั้งวิทยาลัยพลศึกษาแห่งเดียวในประเทศไทย พอเห็นก็รู้สึกว่า ตรงกับนิสัยใจคอของเรา เลยตัดสินใจเลิกเรียนที่ธรรมศาสตร์แล้วย้ายมาเรียนที่วิทยาลัยพลศึกษา
ใช้ทักษะกีฬานำชีวิต : ผมมีความสามารถค่อนข้างสูง ในวิชามวยไทย มวยสากล และรักบี้ฟุตบอล และโชคดีที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาต้องการครูสอนรักบี้ เลยให้ทุนผ่านมาทางวิทยาลัย ผมก็ไปรับทุนนั้น เมื่อเรียนจบก็ไปเป็นอาจารย์พลศึกษา สอนที่โรงเรียนเตรียมฯ และที่เตรียมฯ สามพราน อยู่พักนึง ก่อนจะกลับเข้ามากรมพลศึกษาเป็นอาจารย์สอนที่วิทยาลัยฯ สอนมวยไทย มวยสากลรักบี้ ฯลฯ
ปริญญาโท จุฬา : สมัยนั้นยังไม่มีปริญญาโท ทางสาขาพลศึกษา ผมจึงเรียนต่อทางด้านโสตทัศนศึกษา เกี่ยวกับวิธีสอน ในคณะครุศาสตร์ ที่จุฬาฯ ระหว่างเรียนใกล้จะจบ ก็ได้รับทุนพระราชทานไปเรียนต่อที่ออสเตรเลีย อีก 2 ปี เป็นหลักสูตรของการเป็นผู้นำ ได้ใช้วิชาพลศึกษาที่ถนัดไปแสดงให้กับชาวต่างชาติได้ชมกัน เช่น มวยไทย และไปสอนวิชาต่างๆ กับนักเรียน เช่น ว่ายน้ำ ฟุตบอล รักบี้ ออสเตรเลีย ผมเรียนแบบ 1 ปี 4 เทอม ไปเรียนแบบใกล้ชิดประชาชน แต่ละเทอมจะส่งไปอยู่กับชุมชนต่างๆ ทำให้ได้เรียนรู้ ได้เดินทางไปทั่ว ไปดูสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนพื้นเมือง การขว้างบูมเมอแรง การขุดอาหารจากพื้นดิน
ปริญญาโท ใบที่ 2 และ ปริญญาเอก : กลับมาเรียนต่อปริญญาโทที่จุฬาฯ อีกครั้ง สาขาพลศึกษา ซึ่งเพิ่งเปิด พอจบก็กลับมาทำงานต่อ ตอนนั้นเปลี่ยนจากวิทยาลัยพลศึกษามาเป็น มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ แล้วก็ได้รับทุนให้ไปเรียนต่อปริญญาเอก อีก 4 ปี ณ มหาวิทยาลัย โอเรกอน สเตท สหรัฐอเมริกา ทางด้านพลศึกษา การบริหารพลศึกษาและกีฬา กลับมาก็ทำงานต่อจนได้เป็น คณบดีคณะพลศึกษา, รองอธิการฯ และก่อนจะเกษียณ ก็ได้รับเลือกให้มาเป็นผู้ว่าการกีฬาแห่งประเทศไทย จนเกษียณ
ใกล้ชิดกับมวย : ตั้งแต่ช่วงปริญญาตรี ปริญญาโท ชีวิตก็จะยุ่งกับเฉพาะเรื่องมวย เป็นเลขาธิการ คณะกรรมการของสมาคมมวยสากลสมัครเล่นแห่งประเทศไทย จนกระทั่งได้ขึ้นไปเป็นกรรมการบริหารของสหพันธ์โลก และอีกหลายตำแหน่ง รวมถึงเป็นประธานสหพันธ์มวยไทยสมัครเล่นนานาชาติอยู่ในวงการมวยนานร่วมสี่สิบปี ทำให้มีความรู้ในเรื่องโครงสร้างกีฬาเป็นอย่างดี ก่อนไปเรียนปริญญาเอก ก็ทำหน้าที่ห้ามมวย เวทีลุมพินี อยู่สิบกว่าปี ทำให้เข้าใจวงการมวยอย่างลึกซึ้ง
ความเป็นครู : สิ่งที่เราจะสอนนั้น จะต้องมีองค์ประกอบให้ครบทั้ง 1. ต้องถูกต้อง และ 2. ต้องทันสมัย ที่คือสิ่งที่อาจารย์ผู้สอนทางการกีฬา จะต้องจดจำไว้ให้ขึ้นใจ
อยากเล่นกอล์ฟ : เมื่อเกษียณอายุราชการ จากตำแหน่งผู้ว่าการกีฬาฯ ก็กะว่าจะไม่ทำอะไรแล้วจะไปเล่นกอล์ฟลูกเดียว พอดีมีเพื่อนร่วมรุ่นอำนวยศิลป์ ซึ่งท่านเป็นประธาน สหพันธ์มวยไทยสมัครเล่นนานาชาติ IFMA (InternationalFederationof Muaythai Amateur) ได้ฝากฝังให้มาทำหน้าที่แทน เป็นนายกสมาคมฯ และประธานผู้ตัดสิน นั่นก็ทำให้ผมต้องทำงานใหญ่อีกครั้ง ความตั้งใจจะเล่นกอล์ฟอย่างเดียวก็ต้องเก็บพักไว้ก่อน
ผูกพันและรับผิดชอบ : ทำให้ยังต้องมาทำงานอยู่จนถึงทุกวันนี้ ในฐานะที่เป็นนักมวย ชกมวย เป็นครูสอนมวย พอมาทำหน้าที่นี้รู้สึกว่าผิด จากความรู้สึกที่เคยเป็น ผมเป็นผู้ตัดสินฟีฟ่า รักบี้ นานาชาติ ฮ้อกกี้ และกีฬาอีกหลายชนิด เป็นผู้ฝึกสอนระดับโลก แต่กลับมีความผูกพันน้อย แต่กับมวยมีความผูกพันเยอะมาก รู้สึกว่านี่คือสมบัติของเราจะปล่อยให้เสียหายไม่ได้ อย่างจู่ๆ วันหนึ่ง มีคนบอกว่ามวยไทยไม่ต้องสวมมงคล ไม่ต้องไหว้ครู ไม่ต้องมีปี่กลอง เรารับไม่ได้
มวยไทยเป็นมรดกชาติ : มีการชุมนุมครูมวยไทย ทุกคนบอกว่ามวยไทยเป็นมรดกชาติแต่ที่จริงแล้วยังไม่มีการขึ้นทะเบียนเลย มรดกชาติที่กล่าว เป็นแค่เพียงคำพูด ยังไม่เป็นหลักฐานที่แท้จริงเราจึงริเริ่ม รวบรวม สนับสนุน ร่วมกันส่งเสริม ให้กระทรวงวัฒนธรรมให้ผลักดันมวยไทยให้เป็นมรดกชาติ และได้รับการขึ้นทะเบียน ให้เป็นมรดกชาติเมื่อปี 2553
เป้าหมาย : ที่เราทำสำเร็จมาแล้ว คือ การให้คณะกรรมการโอลิมปิกสากล รับรองให้กีฬามวยไทย เข้าโอลิมปิกในปี 2024 ที่ปารีส
มวยไทย ต้องมีศูนย์รวมจิตใจ : เราคิดต่อว่า ทำอย่างไรจะให้คนทั้งโลก มีจิตยึดมั่น อยู่จุดใดจุดหนึ่ง จึงยกเรื่องวันมวยไทยขึ้นมา เริ่มคิดว่าจะใช้วันไหนดี จนในที่สุดเราได้พบว่า พระเจ้าเสือมีความผูกพันในเรื่องมวยไทยมากที่สุด เป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงปรีชาสามารถในเรื่องมวยไทยและยังได้ใช้มวยไทยเพื่อการปกป้องบ้านเมือง เคยปลอมพระองค์ไปชกมวยกับชาวบ้านสามัญชน บ้านตลาดกรวด อ.วิเศษไชยชาญ จ.สิงห์บุรี ได้ขึ้นชกกับนักมวยถึงสามคน ตามที่ได้บันทึกไว้ นายกลาง หมัดตาย, นายใหญ่ หมัดเหล็ก, นายเล็ก หมัดหนัก แล้ววันที่จะจัดงานบุญฉลองของคนไทย ก็จะเป็นหน้าแล้ง ไม่อยู่ในช่วงทำนา
วันมวยไทย : การจะเสนอวันสำคัญให้ทางการรับรอง ต้องมีหลักฐานที่พิสูจน์ได้ชัดเจน และจากการค้นคว้าของราชบัณฑิต ได้เสนอวันขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าเสือ ซึ่งตรงกับวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2245 และนำเสนอกระทรวงวัฒนธรรม ขอสถาปนาเป็นวันมวยไทย ผมเสนอไปเป็น วันมวยไทยแห่งชาติ (National Muaythai Day) แต่สภาวัฒนธรรม ให้ตัดคำว่า แห่งชาติ (National) ออกเหลือแค่ Muaythai Day ครั้งแรกก็รู้สึกข้องใจว่าทำไมต้องตัดคำนี้ออกด้วย แต่พอได้รับคำอธิบายก็ได้รับความกระจ่างว่า ต้องการให้ มวยไทย เป็นของทั้งโลก ถ้าใส่คำว่าแห่งชาติ ก็จะแคบไป
นำเสนอ 5 ข้อ : 1. ต้องมีการบวงสรวงดวงวิญญาณ พระเจ้าเสือ 2. สร้างคุณค่า ส่งเสริมคุณค่ามวยไทย โดยการประชุมทางวิชาการ 3. มีการแข่งขันระดับ นานาชาติ ไม่ใช่เฉพาะแค่มวยไทย รวมถึง ไหว้ครู, ปี่ กลอง หรือ มวยโบราณ ฯลฯ 4. ยกย่องเชิดชูเกียรติ บุคคลในวงการมวยไทยดีเด่น และ 5. ประชาสัมพันธ์ออกไปสู่ทั่วโลก โดยร่วมมือกับสหพันธ์มวยไทยสมัครเล่นนานาชาติ หรือ อื่นๆ
6 กุมภาพันธ์ วันมวยไทย : เป็นการประกาศให้ทั่วโลกได้รู้ ไม่ว่าใครจะอยู่ที่ไหนก็ตาม ต้องส่งใจไปถึง เป้าหมายอย่างหนึ่งของผมคือ อยากเห็นคนไทยแสดงพลัง อย่างการใส่เสื้อยืด วันมวยไทยกันทั้งประเทศ เพราะผมเคยเห็นมาแล้ว อย่างที่ประเทศการ์ตาร์ ในวัน Sport Day เขาใส่เสื้อแสดงสัญลักษณ์เดียวกันทั้งประเทศ เราก็น่าจะทำแบบนี้ได้บ้าง
งานวันมวยไทย : ที่ผ่านมานั้น จัดงานแค่วันเดียว คือวันที่ 6 กุมภาพันธ์ แต่เรารู้สึกว่า ยังขาดความประทับใจ ต่างชาติที่สนใจมวยไทย จะเข้ามาร่วมงานแค่วันเดียวก็คงไม่อยากมา เราต้องจัดติดต่อกันหลายวัน มีกิจกรรม ทำให้เป็นช่วงเวลาที่คุ้มค่าเราจึงคิดจัดเป็นสัปดาห์วันมวยไทย และพยายามขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่อยู่ภายใต้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้เข้ามาช่วยกัน จนได้รับผลสำเร็จมากในระดับหนึ่ง ถึงแม้จะมีข้อบกพร่องอยู่บ้าง แต่ก็ทำให้เราได้รับบทเรียนที่ต้องนำไปปรับปรุงแก้ไข
ต่างชาติประทับใจ : เราได้นำคณะกรรมการบริหาร ของ IFMA จาก 36 ชาติ ขึ้นไปทำพิธีไหว้ครู รับมงคล จากทางราชสำนัก มีพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ ได้สัมผัสกับบรรยากาศ ทำให้เกิดความซาบซึ้ง ชาวฝรั่งต่างชาติ เขาอยากสัมผัสกับวัฒนธรรมที่เป็นรากเหง้า ที่สามารถจับต้องได้ อย่างมาฝึกมวยไทย ก็อยากจะฝึกมวยโบราณ ศึกษาประวัติศาสตร์แบบลึกลงไป ทำให้ชาวต่างชาติเกิดความเข้าใจ ว่าทำไมถึงต้องมีพิธีกรรมต่างๆ, หมู่บ้านมวยไทยย้อนยุค 316 ปี กิจกรรมของคนไทยโบราณการแสดงบนเวที พิธีเปิด พิธีเปิด ยิ่งใหญ่ ซึ่งเราก็ได้ทำกันไปแล้ว และประสบความสำเร็จกันในระดับหนึ่งในครั้งต่อๆ ไปก็จะจัดให้ยิ่งใหญ่ขึ้นไปอีก จะเชิญเข้ามาให้ได้ 135 ชาติ
World Cup : เราจะจัด ที่นี่ ในช่วงวันมวยไทย จะมีชาติต่างๆ มาร่วมกับเราอย่างน้อยเป็นร้อยประเทศ ใช้เวลาแข่งขันตลอดสัปดาห์
มรดกของทุกคน : คำว่า มรดก พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ท่านมี ท่านก็ให้เรา ถ้าไม่มี หรือเราทำตัวไม่ดี เราก็อาจจะไม่ได้ แต่มวยไทย เป็นสมบัติของทุกคน ตั้งแต่เกิดมาเราก็ได้มรดกนี้แล้ว ทำให้เกิดความผูกพัน ความเป็นมวยไทย ไม่ใช่ของคนหนึ่งคนใด แต่เป็นมรดกของทุกคน เราต้องช่วยกันรับผิดชอบ มวยไทยเคยเป็นอย่างไร ก็ต้องรักษาให้คงไว้ต่อไปในอนาคต โดยเฉพาะวัฒนธรรมมวยไทยรูปแบบอาจจะเปลี่ยนแปลงให้เข้ายุคสมัย แต่รูปแบบเบสิกจะต้องคงไว้เหมือนเดิม
โตเร็ว : มวยไทยมีการเติบโตที่เร็วมาก เพราะมีมิติมากมาย ไม่ใช่แค่ที่เห็นบนเวทีเท่านั้น การแสดง สันทนาการ ฯลฯ
Sporting Spirit : เป็นสิ่งที่นักกีฬาต้องมี ซึ่งเราจะต้องสร้างด้วยตัวเองเท่านั้น จะอาศัยการอ่านจากหนังสือไม่ได้ ต้องได้จากการฝึกหัด จึงอยากให้นักเรียนเล่นกีฬา จะสร้างความมีน้ำใจนักกีฬาสร้างความคล่องตัว มีความสมบูรณ์ของร่างกาย
นักกีฬากับการศึกษา : ไปด้วยกันได้เพียงแต่ฝ่ายวิชาการต้องอะลุ้มอล่วย ขณะเด็กของเราก็ต้องพยายามใส่ใจเรื่องการเรียนด้วย ถ้าไม่เรียนเลยแล้วจะสอบผ่าน คงเป็นไปไม่ได้ เพราะเวลาอยู่ในสถาบันการศึกษา จะมีค่ามาตรฐานอยู่ 3 อย่าง ได้แก่1. Admission Standard เกณฑ์การสอบเข้า ซึ่งนักกีฬาไม่ได้ผ่านเกณฑ์การสอบ แต่ใช้สิทธิ์ด้านความสามารถ, พอเข้ามาแล้วก็มี 2. Teaching Standard ครูอาจารย์ก็ต้องมีมาตรฐานในการสอน เด็กพวกนี้อาจจะไม่ได้เข้าไปเรียน ครูก็ต้องอะลุ้มอล่วย และ 3. Graduation Standard คือการสำเร็จการศึกษาต้องได้มาตรฐาน สถาบันต้องช่วยเหลือ ทุ่มเทให้กับเด็กด้วย ไม่ใช่ให้เรียนจบออกไปโดยไม่ได้อะไรเลยอย่างนี้ก็ไม่ได้ ต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน
กอล์ฟ : พวกเราเป็นนักพลศึกษา มักจะคิดว่าเราเล่นกีฬาเก่ง เล่นกีฬาอะไรก็ได้ แต่จริงๆแล้วไม่ใช่ กอล์ฟต้องมีการฝึก เราอาจจะตีกอล์ฟได้ แต่ตีแบบผิดวิธี ท่าไม่สวยไม่งาม และยังฝึกเรื่องฝึก การตรงต่อเวลา นัดกันเวลาไหนก็เวลานั้น มีงานมีธุระอะไรก็ต้องเคลียร์ให้หมด เวลาเล่นก็แข่งกับตัวเราไม่ต้องไม่แข่งกับคนอื่น กอล์ฟให้อะไรมากมาย ช่วยสร้างบุคลิกให้กับคน ซื่อสัตย์ ยุติธรรม เป็นคนตรงไปตรงมา ผมเล่นกอล์ฟเมื่ออายุมากแล้ว คิดว่าเป็นกีฬาที่เหมาะ เล่นแล้วก็เหมือนสิ่งเสพติด แต่เป็นสิ่งที่ติดแล้วดี มีประโยชน์ เหมาะสมกับวัย
สู้ด้วยใจ : กีฬาที่หนักๆ ถึงแม้อายุจะมากแล้ว แต่ก็ยังอยากเล่นอยู่ ทำให้ต้องรู้จักระวัง อย่างรักบี้ประเพณี เคยลงไปเล่นตอนอายุ 70 เขาเชิญให้ลงไปเป็นเกียรติ แต่เราก็วิ่งจนลืมวัย ส่วนเทนนิสนี่ต้องไม่เล่นเลย เพราะเวลาที่ไม้อยู่ในมือแล้วมันลืมตัวจะเล่นจนลืมสภาพร่างกาย ซึ่งอาจจะเกิดอันตรายต่อสุขภาพได้
ต้องออกกำลังกาย : อาหารการกินก็ต้องคอยดูแลให้เหมาะสม กินแบบทั่วๆ ไป แต่ถ้ากินอะไรตามใจปาก ก็ต้องรู้จักว่ากินแล้วจะต้องเว้นไปอีกนานแค่ไหน และวิธีที่จะรักษาความคล่องแคล่วไว้ต้องหมั่นฝึกชกลม เพื่อความกระฉับกระเฉง
ยึดมั่นความเป็นครู : คุณธรรม คือ สิ่งดีงามที่เราคิด แต่อยู่ในใจ ถ้าเราไม่แสดงออกก็ไม่มีใครเห็น แต่ถ้าเราแสดงออกมา ก็จะเรียกว่าจริยธรรม เราต้องทำตัวให้เป็นแบบอย่างที่ดี ทั้งคุณธรรมและจริยธรรม จิตใจต้องคิดช่วยเหลือลูกศิษย์ และต้องช่วยอย่างถูกวิธีด้วยเป็นการช่วยเหลือ แนะนำ ชี้นำ แล้วให้เขาทำด้วยตัวเอง ที่สำคัญต้องรู้จักคิดดี ทำดี มีความพอเพียง ทำได้แบบนี้ชีวิตก็จะสุขอย่างแท้จริงแล้วครับ