Interview

ดร.เกรียงศักดิ์ มั่นมะโนธรรมะ

นักยุทธศาสตร์และการจัดการภาคประชาชน
“ต้องมองจริงจากจุดที่เรายืน”

อยากเป็นนักกีฬา : ผมเรียนที่กรรณสูตศึกษาลัย จ.สุพรรณบุรี ชอบเล่นกีฬาเป็นพื้นฐาน เป็นนักกรีฑา วอลเลย์บอล ตะกร้อ แต่เป็นคนโครงสร้างร่างกายไม่ได้ใหญ่โต ก็ไม่ได้มุ่งเอาดีเพื่อความเป็นเลิศ อาจด้วยบุญวาสนาคงยังไม่ถึง แต่ก็มีทักษะทางกีฬาพอสมควร เป็นนักกีฬาโดยธรรมชาติ ชอบเล่น แต่ทักษะสูงสุดยังไม่ถึง อย่างปิงปอง ไม่ได้เล่นนานมากแล้ว พอจับไม้ก็เล่นได้เลยสบายๆ เป็นธรรมชาติ มีความคล่องแคล่วในการเคลื่อนไหว ทุกวันนี้ก็ยังทำได้อยู่ ถึงแม้จะไม่เก่งมาก ก็สนุกและรักที่จะเล่น ชื่นชอบกีฬา เพราะช่วยชีวิตได้หลายเรื่อง ทั้งจิตใจ และการดำเนินชีวิต

ชอบทำกิจกรรม : มีนิสัยเป็นผู้นำ ได้เป็นประธานชมรม ประธานนักเรียน ประธานนักศึกษา ประธานรุ่น และเมื่อต่อมาได้ทำงานหลายภาคส่วน ประสบการณ์เหล่านี้ก็มีส่วนช่วยในการทำงานเป็นอย่างยิ่ง

เด็กเรียนดีที่ชีวิตหักเห : ผมอยู่ในกลุ่มเด็กเรียนดีของโรงเรียน แต่ขณะที่เพื่อนสอบติดคณะดีๆ ตัวเองกลับสอบไม่ติด เป้าหมายของผมคือการเรียนวิศวะ เมื่อสอบไม่ได้ เสียใจมาก เหมือนคนอกหัก ปิดการสื่อสาร ไม่ติดต่อเพื่อนฝูงทุกคน ตัดสินใจใช้วิถีชีวิตสู้แบบซุ่มเงียบ กลายเป็นแรงบันดาลใจที่ทำอะไรต้องทำให้สำเร็จ เป็นแรงผลักดัน ให้ต่อมาได้ทำงานใหญ่ๆ ในระดับประเทศ

มีอะไรเรียนได้ก็เรียน : ไปเรียนวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มีความรู้สึกว่าต้องเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย ครั้งแรกจบแล้วจะไปเป็นพัฒนากรที่ อุดรธานี แต่กลับไปเป็นครูสอนหนังสือ เพราะอยากจะได้ความรู้ภาษาอังกฤษ อยากเป็นไกด์

งานเสริมรายได้ดีกว่า : ผมมีใบอนุญาตถูกต้องเรียบร้อย กลางวันสอนหนังสือ ตอนเย็นทุกวันจะขับรถออกไปรับฝรั่งตามเป้าหมาย ปกติเราไม่มีเวที ไม่ได้เป็นนักเรียนนอก ไม่ได้ไปอยู่ต่างประเทศ ทักษะก็ไม่มี พอได้พบกับฝรั่ง พูดคุยกันซ้ำๆ สม่ำเสมอ ก็คุ้นเคย และยังมีรายได้มากกว่างานประจำอีกหลายเท่า ทำงานตั้งแต่เย็นจนถึงดึก จนเริ่มตั้งตัวได้

ทักษะชีวิต : จะเป็นตัวกำหนดคุณภาพ และคุณค่าของคน มากกว่าใบประกาศไหนๆ ทั้งนั้น การเรียนภาษาไม่จำเป็นต้องไปต่างประเทศ หากสถานศึกษาสร้างเวทีให้พูดกันเป็นปกติ ประเทศไทยไม่ค่อยได้ใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารในชีวิตประจำวัน แต่ไปใช้เพื่อการเรียนรู้ตามโครงสร้างหลักสูตร ทำให้ภาษาอังกฤษของเราล้มเหลว ผมเคยได้รับรางวัลข้าราชการดีเด่นของกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อปี 2529 มาแล้ว แต่เมื่อมองซ้ายมองขวาแล้วไร้ทิศทาง ไม่มีอนาคต จึงตัดสินใจเรียนต่อ ปริญญาโท ม.เกษตรศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมผังเมือง

ชีวิตต้องไปต่อ : ผมลาออกจากครู ย้ายมาทำงานทางด้านอสังหาริมทรัพย์ ช่วยอาจารย์ที่ปรึกษาบริหารจัดการงานด้านโครงการขนาดใหญ่ จนกระทั่งมากลายเป็นผู้ประกอบการ งานชิ้นเอกก็คือ มีส่วนเกี่ยวข้องในการก่อสร้าง ตลาดไท รังสิต เป็นผู้บริหารการก่อสร้าง โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ กลายเป็นงานที่ต้องเข้าไปมีประสบการณ์อยู่อีกสังคมไปเลย จนกระทั่งถึงยุคช่วงเศรษฐกิจฟองสบู่ ธุรกิจไปต่อไม่ได้ ก็ขายเครื่องจักรทั้งหมด แล้วผันตัวเองมาทำชีวิตเรียบง่าย

เปิดร้านสังฆภัณฑ์ : มีครูบาอาจารย์บอกว่า เศรษฐกิจแบบนี้ให้เปิดร้านสังฆภัณฑ์ ครอบครัวเราก็ชอบทำบุญอยู่แล้ว ก็เลยเปิดร้าน แล้วผมก็ทำตัวเหมือนคนส่งของ

กลับมาทำงานสังคม : พอทำไปสักระยะ จนกระทั่งวงจรเริ่มเปลี่ยน มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้อำนวยการเขต ที่เราเคยให้การอบรมรู้จักกันมาก่อนมาทักทาย และชักชวนให้เข้าไปช่วยงานสาธารณะ ทำให้ต้องเปลี่ยนตัวเอง จากเก็บตัวอยู่ที่ร้าน ไปอบรมอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน เมื่อมีการเลือกตั้ง ก็ได้เป็นประธานรุ่น เลยต้องทำงานเชิงสาธารณะ เป็นเหตุให้ต้องสัมพันธ์กันระหว่างมวลชนเต็มตัว แล้วก็ยังได้รับเลือกให้เป็นผู้อำนวยการเลือกตั้ง ทำให้ต้องเข้าไปช่วยงานการเมือง ถึงแม้จะไม่ชอบ แต่ก็ต้องเรียนรู้อย่างเต็มที่ เพื่อการทำงาน ทำหน้าที่ให้ถูกต้องครบถ้วน

ทำงานระดับประเทศ : เมื่อเสร็จงาน ผู้ใหญ่ได้ให้ไปช่วยงานกระทรวงพาณิชย์ ดูเรื่องการขนส่ง องค์การคลังสินค้า, กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นบอร์ด เอสเอ็มอี, เป็นกรรมมาธิการอยู่สภาฯ ทางกระทรวงศึกษา ต้องการเปิดหน่วยงานสวัสดิภาพ สวัสดิการครู ต้องการหาคนที่เข้าใจเรื่องครูและธุรกิจด้วย บังเอิญว่ามาเจอกัน ทำให้มีโอกาสได้เข้าไปเป็นผู้บริหาร ได้ทำโครงการที่ประทับใจมากๆ เราอยากให้ครูบาอาจารย์ มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง ในอัตราที่ยุติธรรม, ทำ E Education Platfrom เป็นโครงการ NOE Plaza ในสมัยนั้น การเข้าถึงแห่งองค์ความรู้ ต้องมีรูปแบบเดียวกัน ถึงจะเชื่อมกันได้ แต่ทุกวันนี้ประเทศไทยเรายังเป็นแบบ Stand Alone ของใครของมัน, และตำแหน่งสุดท้ายคือ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการลงทุน บริหารสินทรัพย์ ซึ่งเรามองว่า สินทรัพย์ของกระทรวงศึกษาธิการมีเยอะมาก แต่ถูกจำกัดด้วยกฎระเบียบ จึงไม่สามารถนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มได้ สวัสดิภาพ ไม่ได้มองแค่ตัวเงิน หรืองบประมาณ ต้องนำสินทรัพย์ไปสร้างมูลค่าก่อนจากนั้นก็เปลี่ยนกลับมาเป็นตัวเงิน เป็นสวัสดิการได้ ทำให้โรงเรียนขนาดเล็ก มีศักยภาพ เป็นการใช้จ่ายน้อยแต่ได้มาก แต่ต้องสร้างกลไก เพื่อสามารถสร้างสินทรัพย์ให้มีมูลค่า แล้วจะแปลงกลับมาเป็นเงินเอง

เรียนเพื่อพิสูจน์ : คนไทยมักจะอิงค่านิยมในเรื่อง วุฒิ ผมอยากพิสูจน์ให้เห็นว่า มันไม่มีความจำเป็นหรอก แต่ก็ต้องทำ เพราะถ้าอยู่ดีๆ ไปบอก ก็คงไม่มีใครเชื่อ ผมจึงต้องไปเรียนให้จบก่อน จะได้พูดเต็มปากเต็มคำว่า ผลลัพธ์มันเป็นอย่างไร สิ่งที่ทำมามากมายนั้น ยังไม่ได้ใช้สิ่งที่เรียนมาเลย แต่มันเป็นกระบวนการ เพราะฉะนั้นการยึดติด ถือมั่น ในสังคมจึงแตกแยก เพราะทุกคนต่างมีหลักการ แต่ไม่มีหลักจริง การที่เรามาติดเรื่องวุฒิการศึกษา สถาบัน คือความล้มเหลว การศึกษา คือการส่งเสริมเรื่องภาพลักษณ์ แต่ไม่ได้ส่งเสริมเรื่องแก่น เรียนเพื่อให้วุฒิ แต่ทักษะชีวิตไม่พอ จะนำพาประเทศชาติได้ยาก เรื่องจิตใจก็ปล่อยปละละเลย

ปริญญาเอกที่อินเดีย : สภาพแวดล้อมไม่เหมือนบ้านเรา ผู้คนไม่ได้นอบน้อม ทุกคนมีจุดยืน ประเทศเขาสอนให้เด็กมีความเชื่อมั่น เป็นตัวของตัวเองสูง เปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงออก แต่ยังเป็นประเทศที่มีความขาดแคลนอยู่ เพราะคนเขาเยอะ มีการแบ่งแยกชนชั้น เราก็ได้เห็นตั้งแต่ล่างสุดจนถึงบนสุด จนสุดๆ รวยสุดๆ การแก่งแย่งชิงดี คุยโตโอ้อวด มีให้เห็นเป็นเรื่องปกติ ซึ่งต่างจากประเทศไทยของเรามาก

ชอบไอที : อยากจบทางด้านนี้ มีพื้นฐานความรู้ทางด้านนวัตกรรม ถึงแม้อายุเยอะแต่ยังชอบสิ่งใหม่ๆ ชอบการเปลี่ยนแปลง มีการทำเทคโนโลยี นวัตกรรม มาใช้กับการงานทำงานตลอด ไม่ยอมให้ตัวเองตกยุค

งานวิจัย : ผมเริ่มตั้งแต่เมื่อปี 2549 และทำเมื่อปี 2553 เป็นเรื่องเกี่ยวกับ วิธีการหาเครื่องมือเพื่อเก็บศักยภาพ ซึ่งบ้านเราไม่มี จึงคิดเรื่องนี้ขึ้นมา

เก็บข้อมูลให้เด็ก : การเรียน การเข้าถึงองค์ความรู้ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเขาเข้าถึงจริง แล้วผลที่ได้เก็บไว้ที่ไหน เก็บของใครไป ในการเชื่อมโยงองค์ความรู้ฐานข้อมูลของเด็กแต่ละคน ทั้งภายใน ภายนอก และสิ่งที่ทำ ควรจะมีการเก็บข้อมูลไว้ที่ใดที่หนึ่งให้ชัดเจน ต้องมีผู้บริหารจัดการข้อมูลนั้น เพื่อสามารถดึงข้อมูลไปใช้งานได้

ทุกคนต้องมีประวัติ : เป็นเรื่องที่เราคิดว่า จะทำอย่างไรดี ให้เด็กทุกคนมีโปรไฟล์ มีประวัติการศึกษา กิจกรรม โดยแบ่งเป็น 1. องค์ความรู้ของเด็กแค่ 30% ก็พอแล้ว 2. ทักษะการทำงาน ที่ไปฝึกตามที่ต่างๆ ควรจะเยอะหน่อย และ 3. ลักษณะที่พึงประสงค์ คุณธรรม จริยธรรม ซึ่งทั้งหมดนี้ เรายังเก็บได้แค่องค์ความรู้ จากการสอบเท่านั้น แต่เราอยากรู้อีกว่าเขามีทักษะอะไร คุณธรรมล่ะ คุณมีหรือเปล่า

Single Platfrom : นั่นคือเราต้องสร้างรูปแบบการเก็บข้อมูลแบบเดียวกัน เชื่อมต่อกันให้ได้หมด เพื่อให้ระบบสารสนเทศสามารถดึงข้อมูล ประวัติ รายละเอียดเหล่านี้มาดูได้ แล้วถึงจบด้วยเรื่องการศึกษา เพื่อจะได้เลือกให้ถูกทาง ผลลัพธ์ของการใช้ข้อมูลให้เกิดประโยชน์อย่างนี้เรียกว่า ศักยภาพ

ใช้จิตใจพัฒนาประเทศ : เป็นเรื่องสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ วันนี้จึงต้องทำกันซ้ำๆ ทำบ่อยๆ ทุกวันนี้การเข้าถึงศาสนา อยู่ในรูปของการประกอบพิธีกรรมกันเกือบทั้งหมด ไปวัดถวายสังฆทาน ทำบุญ เสร็จก็กลับบ้าน แล้วท่านก็เชื่อว่าทำพิธีกรรมเหล่านี้แล้วเป็นบุญเพราะจิตเป็นสุข แต่นั่นปัญญาไม่เกิด ปัญญาไม่ได้กลับบ้านไปด้วย เราไปเน้นพิธีกรรมกันจนขาดปัญญา ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่พระพุทธเจ้าสรรเสริญ

อยากพักเรื่องงาน : เคยอยากพักเงียบๆ พอดีคณะสร้างวัดถวายพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.4 ได้เชิญให้ไปร่วมสร้างวัด ผมก็ช่วยระดมทุน เกิดความร่วมมือ จนสามารถสร้างเสร็จที่ ลาดกระบัง แล้วผมยังเป็นอาจารย์สอนพิเศษที่ลาดกระบัง และได้ประชุมร่วมกันกับ อาจารย์ ดร.ศักดิ์ชาย ทัพสุวรรณ นายกสมาคมมวยไทยสมัครเล่น ท่านพูดเรื่องมวยไทย ผมก็เห็นว่ามันมีเรื่องที่น่าสนใจ มวยไทยสู่โอลิมปิก มหกรรมวันมวยไทย ผมก็มองเห็นโอกาสของมวยไทย อาจารย์ก็ชักชวนให้มาช่วยกัน ท่านก็นำ ผมก็วางยุทธศาสตร์ วางกรอบการทำงานแบบลงลึก

วันมวยไทยเทิดไท้องค์ราชันย์ : เราไม่ได้มองอะไรที่พิสดารไปกว่าปกติ แต่เรากำลังมองว่าจริงๆ มันคืออะไร แล้วนำความจริงเหล่านั้นมากำหนดเป็นยุทธศาสตร์ การปฏิบัติ ไม่ใช่ยุทธศาสตร์เชิงแนวคิด ซึ่งความฝันอาจคิดไปได้เยอะแยะ แต่ต้องปฏิบัติได้จริง อดทนได้ การทำงานเหมือนการบำเพ็ญบารมี ความเพียรต้องเป็นเลิศ สติต้องเข้มแข็ง เพราะแรงกระทบจากสิ่งที่เข้ามาเบียดเสียดนั้น เยอะแยะมากมาย

ต้องมองจริงจากจุดที่เรายืน : คนมักจะบอกว่าไม่สำเร็จหรอก เพราะติดโน่นติดนี่ไปหมด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ไม่ผิด เพราะผู้มองเห็นในมุมของเขา และเห็นจริงมาตลอดว่าไม่สำเร็จ แต่เราไม่ได้ยืนอยู่ในจุดเดียวกับเขา กำลังทำจากจุดที่เรายืน ไม่ว่าจะทำเรื่องอะไร ก็ต้องมองจริงจากจุดที่เรายืน

บทสรุป : การศึกษาคือตัวชี้วัดแห่งความสำเร็จจริงหรือไม่ เราต้องพิสูจน์ให้เห็นว่า ทักษะชีวิต คือการทำงานที่มีความหลากหลาย ในมิติต่างๆ และที่สำคัญที่สุด ใช้เป็นอาวุธยุทโธปกรณ์ในการดำเนินชีวิต นั่นคือ หลักของพระพุทธศาสนา วันนี้จึงกลายเป็นรูปแบบ หรือ แพลทฟอร์ม ของงานทุกชนิด เมื่อเราพิจารณาด้วยหลักของตถาคต มองเห็นด้วยปัญญาจริงก่อน ความจริงเป็นหลักธรรมะ เพื่อเห็นจริง หาเหตุหาผล จึงค่อยกำหนดทิศทาง ถ้ารู้ทิศทางชัดเจนที่แท้จริง หาจุดอ่อนแข็ง เราจึงกำหนดจุดยุทธศาสตร์ เป็นวิธีการปฏิบัติ พิสูจน์ให้เห็นว่า วันนี้ งานอะไรก็ได้ที่เราต้องทำ หรือรับผิดชอบ แต่ต้องมาจากพื้นฐานจริงก่อน มีทิศทางในการศึกษาละเอียดระดับหนึ่ง ค่อยกำหนดยุทธศาสตร์

ยอมรับความจริง : อยู่กับปัจจุบันให้ได้ ตามที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ ก็จะเห็นความเป็นจริง เมื่อสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป การติดยึดอดีตก็ทำอะไรไม่ได้ การมองอนาคตจนไกลสุดโต่งก็เกินฝัน ต้องมองปัจจุบัน อยู่กับปัจจุบัน แล้วกำหนดยุทธศาสตร์จะเป็นเรื่องง่าย เช่นเดียวกับการใช้ชีวิตครับ