ณญาดา อมตวณิชย์
ครัวอัปสร
ชมรมสานใจ สายใยผ้าซิ่น
“ชินกับการทำงานตั้งแต่ 6 ขวบแล้วค่ะ ไม่เคยมีวันไหนเลยที่ไม่ต้องทำงาน เพราะนั่นคือชีวิตของเรา ถ้าให้คนอื่นมาทำงานชนิดเดียวกัน เรามักจะทำได้เร็วกว่า ถึงจะผิดบ้าง ถูกบ้าง แต่ก็เรียนรู้กันได้ และสมองมีความคิดสร้างสรรค์อยู่ตลอดเวลา สนุกกับการทำงาน แต่จุดอ่อนของเราก็คือ เมื่อคิดแล้ว ต้องมีคนมาตามทำให้ทันด้วย เพราะถ้าคิดแล้วไม่ได้ทำ มันก็จะอยู่แค่ในหัว”
คุณแดง (ณญาดา อมตวณิชย์) ผู้หญิงเก่งและแกร่ง แขกรับเชิญของเราในฉบับนี้ เอ่ยสรุปนิยามความเป็นตัวตนของเธอ ก่อนจะเริ่มบทสนทนา
“พอกระดิ่งพักปุ๊บ ไม่เคยได้เล่นกับเพื่อน คุณแม่ทำโรงอาหารในโรงเรียนโรจน์เสรีอนุสรณ์ของคุณป้า ลูกๆ ทุกคนต้องรีบวิ่งมาช่วยแม่ขายของ เราอายุแค่ 6 ขวบตัวยังเล็กก็ต้องยืนบนปี๊บเพื่อขายขนม นักเรียนเกือบสามพันคน ต้องขายให้ทัน ทอนเงินให้เร็ว โดยไม่ต้องใช้เครื่องคิดเลข ทุกอย่างต้องจบภายใน 15 นาที ถ้าช้าเพื่อนจะไม่ได้กินขนม บางคนซื้อไม่ทันแอบหยิบไปเฉยๆ เลยก็มี เพิ่งมาสารภาพเมื่อเจอกันในงานเลี้ยงรุ่นตอนอายุ 60 นี่เอง”…. คุณแดงเล่าไปขำไป
“สิ่งสำคัญที่สุดที่แม่สร้างให้เราก็คือ ความรวดเร็วในการทำงาน”
อายุ 13 คุณแดงต้องนั่งรถไปจ่ายตลาดตั้งแต่ ตี 3 ทำหน้าที่คอยจ่ายตังค์ให้กับคนมาส่งของ กว่าจะเสร็จกลับมาถึงบ้านก็ 6 โมงเช้า แล้วรีบแต่งตัวไปโรงเรียน พออายุ 15 เริ่มขับรถไปตลาดเอง บ้านกับโรงเรียนอยู่กล้วยน้ำไท ต้องไปคลองเตย ไปมหานาค แล้ววนกลับมาโรงเรียน
“จริงๆ ก็ไม่ค่อยอยากตื่น แต่เห็นแม่ทำงานทุกวัน ถ้าไม่ไปช่วย ปล่อยให้ท่านต้องเหนื่อยคนเดียวเราคงไม่สบายใจ”…
“ส่วนเพื่อนจะไม่สนิทตอนเรียน เพราะไม่เคยมีเวลาทำกิจกรรมอะไรกับเขาเลย”
เพราะนอกจากช่วยแม่ขายของ เรียนพิเศษคุณแดงก็ยังไม่เคย แถมยังเป็นเด็กเรียนเก่งอีกด้วย ตอนเข้าเรียนตั้งใจเรียนหนังสือเต็มที่ ตอนพักก็ต้องรีบวิ่งไปขายของ “เหมือนคนหยิ่งมาก” คุณแดงเล่าลากเสียงยาว พร้อมหัวเราะ “เพื่อนๆ นี่ มาสนิทกันเมื่อเรียนจบแล้วทั้งนั้น”
“ครั้งแรกอยากเป็นหมอมาก” นี่คือความคิดดั้งเดิมของคุณแดง แต่เมื่อคิดแล้วว่า ที่โรงเรียนโดดเด่นในเรื่องภาษาอังกฤษ ถ้าเลือกเรียนสายศิลป์ โอกาสที่จะเข้ามหาวิทยาลัยจะมีมากกว่า…
“เราถนัดวิชาคำนวณทั้งหมด แล้วก็ภาษา ไม่ชอบวิชาที่ใช้เวลาทำการบ้านนานๆ เช่นศิลปะ หรือต้องท่องจำ ประวัติศาสตร์ อยากเรียนนิเทศ อยากเป็นนักข่าว หรือไม่ก็รัฐศาสตร์ จะได้ไปประเทศต่างๆ แต่ก็เลือกอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เป็นอันดับแรก แล้วก็ติด เลือกเรียนสาขา อังกฤษ ฝรั่งเศส”
“ตอนเรียนจุฬาฯ เช้าก็ต้องขับรถตู้ไปจ่ายตลาด ส่งของเสร็จแต่งตัว ขับรถตู้คันที่ใช้จ่ายตลาดไปเรียน กลางวันก็ขนเพื่อนๆ ไปดูหนังแถวสยาม ตระเวนดูกันทุกโรงเลย”
ก่อนจบ คุณแดงไปสอบการบินไทย “อยากเป็นแอร์ฯ อยากไปเที่ยว อยากพูด ติดต่อสื่อสารกับคนที่หลากหลาย” ผลสอบออกมาเธอก็ได้ตามที่ตั้งใจ แต่ยังเข้างานไม่ได้เพราะยังเรียนไม่จบ “คิดว่าเข้าได้เพราะภาษาอังกฤษเราแข็ง สมัยก่อนสำคัญมาก และกรรมการเขาก็ดูว่า เรามีสัญชาติญาณในการให้บริการหรือเปล่า โชคดีที่เราทำงานบริการคนอื่นมาตั้งแต่ 6 ขวบ ทำให้ชินและเป็นธรรมชาติ โดยไม่ต้องฝืน”
พอจบเธอก็ไปฝึกเป็นแอร์ แต่ช่วงนั้นมีข่าวร้ายเกี่ยวกับเครื่องบิน คุณแม่จึงเป็นห่วง จนไปทำเรื่องให้ออก โดยที่เจ้าตัวก็ไม่รู้…
แล้วคุณแม่ก็เปิดร้านอาหารครัวอัปสร เมื่อปี 2520 โดยใช้ชื่อของคุณยายมาตั้ง ในโรงพยาบาลเพชรบุรีตัดใหม่ บอกว่า “ถ้าอยากเสิร์ฟ อยากแต่งชุดไทย ไม่ต้องไปบิน มาทำที่ร้านก็ได้ ปลอดภัยแน่นอน สรุปว่า เราต้องออกมาทำงานที่ร้านแม่ตั้งแต่ยังไม่ทันได้บิน เพิ่งฝึกเสร็จ”
ครัวอัปสรได้การตอบรับดีมาก จนลูกค้าเข้าคิวเป็นแถวยาวออกมาถึงนอกถนน “อาหารเป็นสูตรของคุณแม่ทั้งหมด ท่านทำอาหารเป็นตั้งแต่ 7 ขวบ เพราะคุณชวด พาไปทานอาหารไทยตำหรับโบราณที่ปาร์คนายเลิศ บ้านคุณหญิงสิน ภักดีนรเศรษฐ ทุกอาทิตย์ แล้วท่านจะไปถามแม่ครัวว่า อาหารจานนี้ใส่อะไรบ้าง แล้วก็กลับมาหัดทำจนรสชาติเหมือนที่ชิม”
เพราะชิมอาหารรสมือแม่มาตั้งแต่เด็ก ทำให้คุณแดงมีทักษะการชิมโดยไม่รู้ตัว และถนัดทำอาหารจำนวนมากๆ เพราะคุ้นชินกับการทำแกงหม้อใหญ่ๆ ตอนเด็กต้องช่วยผสมเครื่องดื่ม เช่นโอเลี้ยง น้ำลำไย ย้ำเฉาก๊วย ทุกวันที่โรงเรียน ต้องช่วยทำขนมรวมมิตรครั้งละเยอะๆ แต่ถ้าให้ทำครั้งละจานจะกะประมาณไม่ถูก
ถึงแม้กิจการของร้านจะไปได้ดี แต่ก็มาถึงจุดเปลี่ยนของชีวิตครั้งใหญ่ เมื่อ 3 คนพี่น้องต้องไปอเมริกา น้องชายคนเล็กจะไปเรียนต่อ คุณแดงกับน้องชายคนกลาง ก็อยากจะไปบ้าง อยากเดินทาง จะไปดูว่าเรียนต่ออะไรดี ขณะที่คุณแม่ก็ทำร้านต่ออีกระยะ แต่ก็เริ่มจะทำไม่ไหวแล้ว ประกอบกับสัญญาเช่าหมดพอดี ครัวอัปสร จึงต้องปิดตัวลง…
“ครั้งแรกก็คิดจะไปเรียน น้องชายจบสถาปัตย์ ไปเท็กซัส แต่เราไปแอลเอ พอไปถึงก็พบว่า ทำงานสนุกกว่าเรียน ได้เงินดีด้วย และยังได้ใช้ภาษา แล้วที่เมืองนอก เรียนไปเพื่อใบปริญญาก็ไม่ได้ใช้อะไร”
งานแรกของคุณแดง คือการขายประกัน… “ถูกฝึกมาตั้งแต่เด็ก ทำให้ทำงานได้หนักกว่าคนอื่นหลายเท่าในเวลาเดียวกัน หาลูกค้าตั้งแต่เช้าถึงดึก ขายสนุกมากค่ะ” ด้วยบุคลิกไม่เป็นคนกะล่อน มีความน่าเชื่อถือ เจรจากับลูกค้าด้วยความซื่อตรง มีความจริงใจ ไม่บังคับซื้อ อะไรดีไม่ดี หรือเหมาะไม่เหมาะ ก็ให้คำแนะนำตรงๆ ทำให้คุณแดงทำยอดทะลุเป้าจนติดอันดับท้อปเซลส์ ลำดับที่ 439 จากพนักงาน กว่า 23,000 คนของทั้งประเทศ!
“เตรียมพร้อมที่จะได้รับการปฏิเสธ ไปเสนอ 100 คน อาจจะถูกปฏิเสธถึง 99 คน เราต้องรับให้ได้ แต่คนส่วนใหญ่ก็ให้การตอบรับเราเป็นอย่างดี” นี่คือคติประจำใจของความสำเร็จ
คุณแดงเปิดบริษัทนายหน้าขายประกันภัยรถ ชื่อ เอส เค อินชัวร์รัน อยู่ตรงข้ามวัดไทยที่ แอล เอ เป็นการพยายามหาบริษัทประกันภัยให้เข้ามาร่วมเยอะๆ เพื่อหาดีลดีที่สุด ถูกที่สุด ให้ลูกค้า เราเองก็ไม่หยุดนิ่ง กระตือรือร้น จนสามารถหาราคาถูกให้กับลูกค้าได้ ทำให้ขายดีมาก ทำอยู่นานหลายปี จนเมื่อจำเป็นต้องกลับประเทศไทยเพื่อพาลูกมาเรียนหนังสือ ก็ขายบริษัทให้กับลูกน้องไป
“พาลูกกลับมาเรียนหนังสือ เข้าตั้งแต่ ป.1 เลย เรียนนานาชาติก่อนเพื่อให้ปรับตัว ต้องการให้เขาอ่านเขียนภาษาไทยได้ เพราะถ้าอยู่อเมริกา ไปเรียนภาษาไทยที่วัดไทยแค่อาทิตย์ละวันมันน้อยไป”
พอลูกเรียนจนใช้ภาษาไทยคล่อง อ่านออก เขียนได้ ลายมือสวย ก็กลับไปอเมริกาอีกรอบ “คราวนี้เปลี่ยนมาขายบ้าน หาบ้านเก่ามาซ่อมแล้วขาย ทำอยู่ราว 15 ปี สนุก รายได้ดี วันๆ ขับรถดูแต่บ้าน จนหลับตาก็รู้หมดเลยว่า บ้านหลังนี้อยู่ตรงไหน ใครอยากได้ทำเลไหน อยู่ในหัวหมด หลังไหนสวยลูกค้ายังไม่มีก็ซื้อเก็บไว้ ทำมาเรื่อยๆ มาหยุดเมื่อถึงยุคเศรษฐกิจตกต่ำ ราคาอสังหาฯ ตกต่ำเกินกว่าครึ่ง ระบบการเงินมีปัญหาไปทั่วโลก”…
คุณแดง ย้ายกลับมาประเทศไทยจริงๆ เมื่ออายุ 60 หลังจากอยู่ที่อเมริกาทั้งหมด 37 ปี “อยากจะพักบ้าง อยากเกษียณ” แต่เธอยังไปๆ มาๆ เพราะยังมีธุรกิจร้านอาหารอยู่ที่โน่น หุ้นส่วนบริหารอยู่
“กลับมากรุงเทพฯ ก็หากิจกรรมทำ ไม่อยากอยู่ว่างๆ เลยเริ่มเข้าป่า ไปถ่ายรูปนก อาศัยความชอบมาตั้งแต่สมัยเรียนจุฬาฯ ได้ถ่ายรูป ล้างฟิล์ม อัดรูป จะไปถ่ายคน ก็ไม่ค่อยมีใครมาให้เป็นแบบ เลยเลือกถ่ายนก ถ่ายอยู่ได้ราว 5-6 ปี จนรู้สึกว่าชักเหนื่อย ต้องแบกอุปกรณ์เดินป่า กล้องหนักๆ แล้วเข้าป่าดวงเจอแต่งูมีพิษร้าย รู้สึกว่าชีวิตเต็มไปด้วยความเสี่ยง จนเริ่มหันมาถ่ายรูปคน หันมาทำชมรมสานใจ สายใยผ้าซิ่น”
ตอนไปอยู่เมืองนอกคุณแดงชอบแต่งชุดไทย ใช้ผ้าซิ่นอยู่แล้ว “มันเท่ มันไม่เหมือนใคร ราคาก็ไม่แพง แต่เราแต่งโดยไม่รู้ประวัติของผ้าซิ่น จนพอมาเมืองไทย เริ่มศึกษา ก็พบว่าผ้าซิ่นมีความน่าสนใจมาก ทุกท้องถิ่นมีผ้าซิ่นเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ราคาก็มีตั้งแต่หลักร้อย จนถึงหลักหมื่นหลักแสน กลายเป็นของที่มีประวัติศาสตร์ เรียนเท่าไหร่ก็ไม่จบ จำเท่าไหร่ก็ไม่หมด นั่นทำให้หันมานุ่งผ้าซิ่นอย่างจริงจัง เพื่อนก็ชวนเข้าชมรมฯ จนมานั่งคิดว่า เราน่าจะรวมตัวกันทำอะไรเพื่อประโยชน์กับสังคมได้บ้าง ในเพจก็มีแต่การโชว์ภาพสวยๆ ของผ้าซิ่น ไม่มีการขายของ และเราเองก็ไม่ได้อยากเป็นแม่ค้า แต่อยากให้คนที่เขาทอผ้า ได้มีโอกาส มีสถานที่ ได้ทำมาค้าขาย งั้นเราก็มาตั้งชมรมกันเถอะ” นี่คือจุดเริ่มต้น
ชมรมสานใจ สายใยผ้าซิ่น ได้เชิญผู้ที่มีใจรักในผ้าซิ่นให้มาช่วยกันบริหาร รวมทั้งหมดเป็น 9 คน กิจกรรมจึงเยอะมาก เพราะช่วยกันคิด ช่วยกันทำ เริ่มกันมาตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2561 สมาชิกก็เริ่มเยอะขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันมีกว่า 16000 คน
“กิจกรรมเราก็คือ ชักชวนให้คนมานุ่งผ้าซิ่น โพสต์ลงในเพจ ร่วมกิจกรรมตามจังหวัดต่างๆ เพื่อให้คนเข้ามาเห็นความสวยงาม แล้วอยากมานุ่งบ้าง เผื่อใครชอบก็แนะนำคนขายให้ แต่เราไม่ได้ขายเอง แล้วก็จัดงาน ที่ เดอะ สตรีท รัชดา รายได้ยกให้กับกองทุนเพื่อการกุศล งานประสบความสำเร็จมาก จัดมาแล้ว 4 ครั้ง เรายังจัดให้คนซื้อกับคนขาย ได้ติดต่อกันโดยตรงในเพจ แต่เฉพาะวันอาทิตย์วันเดียวเท่านั้น เราทำงานนี้เพื่อการอนุรักษ์ผ้าไทย ตามรอยพระปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ”
“ในฐานะแม่ค้า เรารู้ใจแม่ค้า รู้ใจคนซื้อ ทำให้ถูกช่อง งานเราจึงมีการซื้อขายได้มาก
เมื่อเราไม่มีผลประโยชน์ ผู้ค้าก็ชอบ ผู้ซื้อก็ชอบ สิ่งที่ได้คือความภาคภูมิใจ นั่นคือความสุขที่ได้กลับมาอย่างมากมายมหาศาลเลยค่ะ”
“พวกเรากลุ่มคนที่รักผ้าไทย ตั้งปณิธานไว้ว่าจะเผยแพร่ผ้าไทย อยากให้ต่างชาติได้รู้จัก อย่างเช่นงานสงกรานต์ที่ถนนฮอลลีวูด เมืองลอสแองเจลลิส สหรัฐอเมริกา เป็นการจัดงานแสดงวัฒนธรรมไทยที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่จัดนอกประเทศไทย อยู่ในปฏิทินของเมือง มีคนกว่าสี่แสนมาร่วมงาน ชมรมสานใจ สายใยผ้าซิ่น และร้านพระนาง ของคุณแจ๋ว (สุชาภา ผลชีวิน) ก็ได้รับเกียรติเชิญเข้าร่วมจัดแฟชั่นโชว์ชุดไทยในงาน”…….
และเมื่อย้อนไปถึง ครัวอัปสร ร้านอาหารระดับตำนาน ที่ได้กลับมาเป็นที่รู้จักกันอีกครั้ง… “กลับเมืองไทยมาหลายรอบ น้องชายก็พยายามจะดึงให้อยู่เมืองไทย แต่เราก็ปรับตัวอยู่ไม่ได้ จนน้องบอกว่า จะต้องหาอะไรให้ทำ เพื่อจะได้กลับมาอยู่อย่างถาวร จนได้เปิดร้านขายราดหน้าเล็กๆ ใช้ชื่อครัวอัปสรดั้งเดิม โดยใช้ชื่อคุณยายอัปสรตามเดิม ในเสรีมาร์เก็ต เนื่องจากเจ้าของเสรีมาร์เก็ต อยากได้ราดหน้า เพราะรู้ว่าคุณแม่ทำอร่อยอยู่แล้ว แต่ไม่เคยทำขาย ขอให้คุณแม่ทำให้ทาน หลังจากนั้นก็ชักชวนให้ไปเปิดร้านให้ได้ คืออาหารอย่างอื่นถึงจะอร่อย แต่ก็ไม่โดดเด่นเหมือนกับราดหน้า นักชิมชั้นนำ สื่อต่างๆ ของเมืองไทย ก็ชมว่าอร่อยไม่เหมือนใคร เลยยิ่งทำให้ขายดีเกิดคาด คนก็มาตามไปเปิดที่โน่นที่นี่ จนเราขยายร้านในฟู๊ดคอร์ทไปถึงสิบกว่าสาขา และยังมีภัตตาคารอาหารไทยเต็มรูปแบบที่ เดอะ สตรีท, เกตเวย์, นวมินทร์, สวนนงนุช และเร็วๆ นี้จะเปิดที่โกลเด้นเพลส นวมินทร์”
“ราดหน้าของเรามีเอกลักษณ์โดดเด่นชัดเจน เราทำเส้นใหญ่เอง ไม่มีสารกันบูด เส้นต้องไม่ติดกันเป็นก้อน ทุกเส้นต้องโดนความหอมของควันในกะทะ น้ำซ้อสสูตรพิเศษที่คุณแม่คิดค้นเอง ใช้ก้านผักคะน้าฮ่องกง กรอบหวาน และยังมี ผัดซีอิ๊ว คั่วไก่ โกยซีหมี่ ขนมผักกาด ผัดไทย”
ก่อนจบบทสนทนา คุณแดง ยังได้บอกกล่าวถึงเคล็ดลับความสุข อันเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่มีใครเหมือน และไม่เหมือนใคร สามารถสร้างได้ด้วยตัวของเธอเอง…
“เมื่อก่อนเวลาเครียดๆ จะแบกกล้องเข้าป่า ไปตามประเทศต่างๆ ถ่ายรูปนก พออายุมากขึ้น จะเข้าไปบุกไปลุยเหมือนเดิมคงไม่ไหว ก็หันมาหัดถ่ายรูปคน โดยเฉพาะสมาชิกที่นุ่งซิ่นสวยๆ เราในฐานะผู้ดูแลชมรมฯ ก็ไปช่วยถ่ายให้”…
“ทุกวันนี้ แค่เอาผ้าซิ่นมาแขวนดูก็สร้างความสุขอย่างมากมาย หรือถ้าเครียดมากๆ ก็ลุยซื้อผ้าซิ่นไปเลยค่ะ!”
จะเข้าไปบุกไปลุยเหมือนเดิมคงไม่ไหว ก็หันมาหัดถ่ายรูปคน โดยเฉพาะสมาชิกที่นุ่งซิ่นสวยๆ เราในฐานะผู้ดูแลชมรมฯ ก็ไปช่วยถ่ายให้”…
“ทุกวันนี้ แค่เอาผ้าซิ่นมาแขวนดูก็สร้างความสุขอย่างมากมาย หรือถ้าเครียดมากๆ ก็ลุยซื้อผ้าซิ่นไปเลยค่ะ!”