Thailand International Jazz Conference 2019
สำหรับคนที่ชื่นชอบดนตรีแจ๊ส เมื่อปลายเดือนที่แล้วคงจะไม่พลาดเข้าร่วมงาน “เทศกาลดนตรีแจ๊สนานาชาติเพื่อการเรียนรู้ หรือ Thailand International Jazz Conference (TIJC) 2019” ที่จัดขึ้นที่ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ส่วนใครที่ไม่ได้ไปร่วมงาน แต่สนใจ สงสัย ว่าเทศกาลนี้มีอะไรยังไง ถึงได้จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 11 แล้ว เราจะพาไปเดินเดี่ยวในงานกันตอมคอนเซ็ปต์ “Chill Out Around Jazz”
“เทศกาลดนตรีแจ๊สนานาชาติเพื่อการเรียนรู้ หรือ Thailand International Jazz Conference (TIJC)” เป็นเทศกาลดนตรีที่มีทั้งความเหมือน และความแตกต่างที่โดดเด่นจากเทศกาลดนตรีทั่วไป ความเหมือนก็คือ เป็นงานที่นำพาเอาศิลปินและนักฟังเพลงในแนวแจ๊สมาเจอกัน มีเวทีแสดงที่หลากหลาย มีเวทีเล็ก เวทีใหญ่ เวทีย่อย มีศิลปินสลับสับเปลี่ยนกันขึ้นเวทีสร้างความสุขสนุกสนานกันแทบไม่เว้นว่าง ทั้งนักดนตรีมืออาชีพระดับโลก ไปจนถึงน้องๆ นักเรียน ม.ปลาย ที่เพิ่งเริ่มเส้นทางในสายแจ๊ส ส่วนความแตกต่าง ที่ทำให้ TIJC มีความโดดเด่นกว่าเทศกาลดนตรีอื่นๆ ก็คือ มีพาร์ทที่เป็นการให้ความรู้จากคณาจารย์ด้านดนตรีหลายท่าน การทำเวิร์คช็อปกับศิลปินมืออาชีพ รวมถึงเวทีประกวดฝีมือที่มีเงินรางวัลหลักแสนอีกด้วย
ในแต่ละวัน หลังจากที่โซนอื่นๆ เสร็จสิ้นกิจกรรมประจำวันแล้ว ก็จะถึงคิวเปิด Main Stage ของงาน ซึ่งในปีนี้ก็มีศิลปินตัวจริงแห่งวงการแจ๊สมารวมตัวกันเพียบ แต่ละคนฝีมือระดับท็อปของโลกทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น Alex Sipiagin นักทรัมเปต ที่ทักษะครบรสชาติ ทั้งนุ่มนวลชวนฝัน ร้อนแรง และ ซับซ้อน จัดว่ามาแรงที่สุดคนหนึ่งในโลกตอนนี้ มาพร้อมกับวงห้าชิ้น (Quintet) มีทั้ง David Gilmore นักกีต้าร์แจ๊สร็อกสุดเก๋าอย่าง, Scott Colley มือเบสที่เป็นที่ต้องการสูงสุดในวงการ, Ari Hoenig มือกลองเจ้าแห่งการเล่นในแบบ Metric Modulation และ John Escreet สุดยอดนักเปียโนของวงการแจ๊สอีกคน ส่วนอีกกลุ่มเป็นนักดนตรีแจ๊สจากประเทศอิสราเอล นำทีมโดย Omer Avital สุดยอดมือเบสแจ๊ส ที่มาพร้อมกับ Eden Ladin นักเปียโน, มือแซ็กโซโฟนที่มากันเป็นคู่ Asaf Yuria – Alexander Levin และ Ofri Nehemya มือกลอง ก็สร้างความร้อนแรงให้กับเมนสเตจได้ไม่แพ้กัน
ยังไม่หมด ยังมีกลุ่มศิลปินแจ๊สจากประเทศเยอรมนี Trionauts ที่โดดเด่นด้วยการใช้ซาวด์ดนตรีแปลกๆ ใหม่ๆ ให้ผู้ฟังได้ตื่นเต้นอยู่เสมอ นำทีมโดยนักดนตรีแจ๊สหัวก้าวหน้า Emanuel Hauptmann (กลอง), Tino Derado (เปียโน, คีย์บอร์ด) และ Bjorn Werra (เบส) ส่วน Abdon Alcaraz Trio ก็เป็นอีกวงหนึ่งที่สร้างความสุขให้กับผู้ชมอย่างมาก กับยอดนักเปียโนแจ๊สชาวสเปน ที่มาพร้อมกับความสนุกสุดเหวี่ยงจากการผสมผสานแจ๊ส เข้ากับดนตรีฟลาเมงโก้ของสเปน และตอกย้ำความสนุกด้วย Veronica Sobrinos นักร้องสาวที่การันตีความมันด้วยรางวัล best flamenco singer จาก “Strings and Metals” contest of Cartagena ในปี 2014” แถมบนเวทีนี้ก็มีศิลปินคุณภาพของไทยขึ้นโชว์ด้วย นั่นก็คือ Polycat ป็อปกรุ๊ปที่รับเอาอิทธิพของดนตรีแจ๊สและอิเล็กโทรนิกส์ป็อปจากยุค 80s ไปผสมผสานกันอย่างกลมกลืน และ เมย์ พัชรพงศ์ เรืองหิรัญวงศ์ สุดยอดมือเบสฟิวชั่นแจ๊สของไทย ที่ฝีมือไปไกลในระดับอินเตอร์
แต่ก่อนที่เวทีใหญ่จะเปิดในช่วงค่ำ 2 เวทีย่อย ในงานนี้ ก็คือ Oval Stage และ Jam Session Stage ก็อุ่นเครื่องให้กับคอแจ๊สได้อย่างสนุกสนาน โดยใน Oval Stage นั้นจะเป็นเวทีแสดงของกลุ่มนักดนตรีแจ๊ส มีทั้งวงของหน่วยงานราชการ, สถาบันการศึกษาต่างๆ, ศิลปินมืออาชีพเป็นวงอยู่แล้ว หรือแม้กระทั่งมารวมกันเฉพาะกิจเพื่องานนี้โดยเฉพาะก็มี รวมทั้งเทศกาลร่วมๆ 50 วง ซึ่งจะสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันขึ้นมาเล่นตั้งแต่เปิดงาน ไปจนเย็นย่ำก่อนเมนสเตจจะเปิดกันเลยทีเดียว ส่วน Jam Session Stage นั้น เป็นเวทีที่น้องๆ นักเรียน Pre-College ของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล มาเปิดการแสดงพร้อมกับเชิญผู้ชม หรือใครที่เดินผ่านไปผ่านมา ร่วมเล่นร่วมแจมกันได้เต็มที่
นอกจากนั้น ในอาคารภูมิพลสังคิต ซึ่งเป็นหอแสดงดนตรีของ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ก็จะเป็นเวทีประกวด TIJC Solo Compettition ทั้งรุ่นเยาวชนและทั่วไปที่มีเงินรางวัลหลักแสน โดยมีศิลปินที่มาร่วมงานนั่งเป็นคณะกรรมการตัดสิน แถมศิลปินที่มาร่วมงานหลายคน ยังขึ้นเวทีมาแสดงแบบ Solo Performance และ WorkShop ไปพร้อมๆ กัน ในแต่ละเครื่องดนตรีอีกด้วย
พาร์ทที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งของเทศกาลนี้ ก็คือ TIJC Jazz Camp ซึ่งเป็ดโอกาสให้น้องๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรม ได้พบปะพูดคุยกับศิลปินที่มาร่วมงานอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็น Alex Sipiagin, David Gilmore, Scott Colley และศิลปินที่มาร่วมงานอีกหลายคน ได้ฟังประสบการณ์ทางด้านดนตรีอย่างเต็มอิ่ม แถมยังได้เรียนรู้เทคนิคต่างๆ แบบ เอ็กคลูซีฟ สุดๆ เรียกว่าถึงจะไปชมคอนเสิร์ตของศิลปินที่ไหนก็ไม่ได้รับการถ่ายทอดวิชาได้ใกล้ชิดแบบนี้
ทั้งหมดทั้งมวลที่ว่ามา ก็น่าจะช่วยเป็น Intro ให้หลายๆ คน อยากไปร่วมงาน TIJC ครั้งต่อไปแล้ว แน่นอนว่า ดนตรี คงจะเล่าผ่านรูปและตัวหนังสือไม่ได้อรรถรสเท่ากับไปสัมผัสด้วยตัวเอง โดยเฉพาะดนตรี Jazz กับใครหลายคนที่อาจจะไม่ค่อยคุ้นหู แต่ถ้าได้ลองเปิดใจฟังไม่นาน รับรองว่าคุณจะต้องหลงรัก ดนตรีแจ๊ส อย่างแน่นอน