Interview

มัญชุสา อุดมวิทย์

มัญชุสา อุดมวิทย์
กรรมการบริหาร
ณ.สยาม แกลเลอรี่

“ชอบเก็บค่ะ”… “อะไรๆ ก็เก็บ” คุณชุ (มัญชุสา อุดมวิทย์) เอ่ยแนะนำตัวเอง ปนเสียงหัวเราะพร้อมรอยยิ้ม ก่อนจะเล่าถึงที่มาที่ไปของ ณ.สยาม แกลเลอรี่
“ไม่รู้เหมือนกันค่ะ ว่าตัวเองเริ่มต้นเป็นนักเก็บ เป็นนักสะสมมาตั้งแต่เมื่อไหร่ เพราะเก็บโน่นเก็บนี่มาตลอด เก็บจนโดนดุ กลายเป็นรกบ้านไปหมด เหรียญ ธนบัตร การ์ดโทรศัพท์ ของแถมแฮ้ปปี้มีล โมเดลตุ๊กตา อย่างอื่นอีกจิปาถะ เห็นอะไรที่ชอบก็จะเก็บ แล้วของที่ชอบก็มีไม่น้อยซะด้วย มีกำลังแค่ไหนก็ตามเก็บตามสะสม พอโตขึ้น มีกำลังมากขึ้น ก็ยิ่งเก็บยิ่งสะสม มากตามไปด้วย”

“จุดเริ่มที่เป็นเรื่องเป็นราวก็คงเป็นการ์ดโทรศัพท์ ตั้งแต่สมัยที่ยังไม่มีมือถือ ต้องซื้อการ์ดมาใช้ แต่พอใช้จนหมดมูลค่าเห็นว่าการ์ดสวย ทิ้งไม่ลง ก็เริ่มเก็บ ไม่เฉพาะแค่ของไทย ไปที่ประเทศไหนก็จะเก็บกลับมา น้ำหอมขวดเล็กๆ ก็ชอบ มองว่าขวดสวย ก็เก็บอีก”

แต่ผู้ที่จุดประกายให้คุณชุ เริ่มมองการสะสมของใหญ่ๆ จะทำให้เป็นเรื่องเป็นราวก็คือ… “คุณสามี (สุนทร งามเกิดศิริ) เคยพูดกับว่า เห็นเธอชอบเก็บโน่นเก็บนี่ แต่เขาเองกลับนึกไม่ออกว่าชอบสะสมอะไร เราก็มานึกได้ว่าเขาชอบอ่าน ไปไหนก็จะชอบเข้าร้านหนังสือ ซื้อกลับมาอ่าน จนมีเยอะแยะมากมาย เลยบอกว่า นี่แหล่ะสิ่งที่เขาชอบ” คุณชุ เล่าถึงจุดเริ่มความเป็นครอบครัวนักสะสม

“สิ่งสำคัญที่คุณสุนทรชอบเก็บโดยไม่รู้ตัว คือพระบูชา คุณสุนทรชอบศึกษางานในเชิงพุทธศิลป์ อ่านหนังสือและศึกษาเกี่ยวกับประวัติพระต่างๆ อยู่มาก ทำให้มีความรู้ ความเข้าใจ ที่มาที่ไป โดยเฉพาะพระพุทธรูปที่ในหลวง ร.9 เสด็จเททอง ก็จะมีอยู่ค่อนข้างเยอะ เพราะเมื่ออยู่ในห้องพระ เรามองว่านี่คือวัตถุมงคลไว้กราบไหว้บูชา ไม่เคยว่าเป็นสิ่งสะสม”

และเมื่อประกอบกับ คุณชุ เองก็ชอบอยู่แล้ว ทำให้ไม่ขัดกัน เวลาที่จะไปเช่าหรือค้นหา จะส่งเสริมซึ่งกันและกัน พอนานๆ ไป ก็รู้จักผู้คน รู้จักศิลปิน จนเห็นว่า งานศิลปะทางด้านพุทธศาสนา เมื่อมารวมกับศิลปะอันอ่อนช้อย งานพุทธศิลป์ แล้วเกิดเป็นพระอันงดงามขึ้นอีกแบบหนึ่ง ทำให้หันมาเก็บงานพุทธศิลป์เพิ่มมากขึ้น

“ส่วนตัวจะชอบงาน 360 องศา งานที่เป็นมิติ ชอบงานประติมากรรม มากกว่าจิตรกรรม” คุณชุ บอกถึงรสนิยมในการสะสม

ช่วงแรกๆ ทั้งคู่ต้องตระเวนทั่วประเทศไทย ไปถึงที่ เพราะศิลปินอยู่กระจัดกระจายทั่วทุกภาค ถ้าอยากได้ผลงานของท่านไหนก็ต้องบุกไปถึงถิ่น เพื่อไปชื่นชม และอ้อนวอนเพื่อขอแบ่งปันผลงานบ้าง

ความแตกต่างของพระบูชาเก่าๆ กับงานของศิลปินนั้น พระเก่า จะได้ในแง่จิตใจ เพราะส่วนมากแต่ละชิ้นมีประวัติน่าสนใจ หาไม่ได้ในท้องตลาด เพราะเป็นงานเก่า และยังมีพุทธคุณ เนื่องจากผ่านการปลุกเสก ทำพิธีมาแล้ว ถ้าได้มาบูชาก็นับว่าเป็นสิริมงคลกับชีวิต

ส่วนพระบูชาจากศิลปิน มีเสน่ห์ในความผสมผสาน ระหว่างศิลปะ ยุคสมัย กับพุทธศาสนา เมื่อประกอบรวมกัน จะเกิดเป็นชิ้นงานแปลกๆ ใหม่ และยังเป็นงานที่สร้างขึ้นมาแบบ จำกัด ทำให้จำนวนผู้ที่อยากสะสมนั้นมีมากกว่างาน ถ้าได้เป็นหนึ่งในผู้ครอบครอง นั่นคือความภาคภูมิใจ นี่คือเสน่ห์การได้เก็บงานของศิลปิน

“เวลาชอบงานประติมากรรม ก็ไม่ได้มีความตายตัวว่าจะต้องเป็นแบบไหน อะไรที่ชอบ เห็นแล้วถูกใจ ก็เก็บ ทำให้มีงานจากหลากหลายศิลปินมาสะสมรวมอยู่ที่นี่ค่ะ”

“และยังอาจจะมองข้ามไปถึงว่าบางชิ้นงาน เป็นสินทรัพย์ เป็นการลงทุนชนิดหนึ่ง หรือบางชิ้นงาน คือความชอบ ถือว่าเป็นทรัพย์สมบัติให้กับลูกๆ ในอนาคตอีกด้วย เพราะงานศิลปะยิ่งเก็บไว้ ยิ่งนาน ยิ่งเพิ่มมูลค่า ไม่เหมือนกับบางสิ่งที่ยิ่งเก็บนาน มูลค่ายิ่งลด”

“เมื่อก่อนเราเก็บเองที่บ้าน ที่จะจัดแสดงไม่ได้มีเยอะขนาดนี้ ต้องเก็บในกล่อง ในลัง ซึ่งผิดวัตถุประสงค์ เพราะเวลาอยากจะชื่นชม ต้องมานึกว่าเก็บไว้ตรงไหน ไปรื้อ ไปค้น จนต้องมาคิดว่าจะทำอย่างไร เราถึงจะชมได้ทุกชิ้น ประกอบกับ พื้นที่บริเวณสำนักงานพอมีให้จัดแสดงได้ ครั้งแรกก็ไม่คิดว่าจะใช้พื้นที่เยอะขนาดนี้ จนหลังๆ ต้องให้พนักงานหลบขึ้นไปชั้นบน เพื่อแปลงสภาพข้างล่างให้เป็นแกลเลอรี่ เพื่อที่จะชมเองในครั้งแรก บางครั้งอาจจะมีเพื่อนหรือลูกค้ามาชมบ้าง จนหลายๆ ท่านเริ่มพูดว่า น่าจะเปิดให้คนภายนอกได้เข้ามาชมบ้าง ผลงานก็สวยๆ ทั้งนั้น”

“เราก็คิดกันว่าใช่ เราไม่ได้หวง และยังเป็นโอกาสได้เผยแผ่ผลงานของศิลปินคนไทยให้เป็นที่รู้จัก และยังเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นตัวกลางให้ผลงานของศิลปินได้รู้จักกันกว้างขวาง เมื่อตัดสินใจทำแล้วก็ต้องการให้คนรู้จัก พอมาคิดชื่อ ก็สรุปได้ว่า ณ.สยามแกลเลอรี่ เหมาะสมเพราะผลงานที่โชว์อยู่ที่เป็นของศิลปินคนไทยเกือบทั้งหมด พอเปิดตัวผ่านโลกโซเชี่ยลออกไป ก็ได้รับกระแสตอบรับกลับมาดีมาก เพราะเราทำด้วยความตั้งใจ ใส่ข้อมูลครบครัน ทั้งภาพนิ่ง วีดีโอ ประวัติความเป็นมา รายละเอียด กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนรู้จักเรา มีคนเข้ามาชมมากยิ่งขึ้น เราจึงกลายเป็นแกลเลอรี่ที่สมบูรณ์แบบไปเลย ภายในระยะเวลาแค่ ปีกว่าๆ เท่านั้นเอง”

ณ วันนี้ ณ.สยาม แกลเลอรี่ มีงานพระบรมรูปในหลวง รัชกาลที่ 9 มากที่สุด เพราะที่นี่เน้นงานประติมากรรมเป็นหลัก

“เราเป็นคนไทย ที่รักและเคารพในหลวง รัชการที่ 9 และราชวงศ์จักรี สมัยที่พระองค์ท่านยังมีพระชนม์ชีพศิลปินก็ยังไม่ได้ทำงานเพื่อพระองค์มากนัก อาจจะมีบ้างที่จัดสร้างขึ้นตามวาระต่างๆ แต่เมื่อพระองค์ได้จากไปแล้ว เหล่าศิลปินได้น้อมรำลึก ลุกขึ้นมาทำงาน ถวายงานพระองค์ท่าน อย่างน้อยก็เพื่อฝากผลงาน แสดงความจงรักภักดีไว้ในแผ่นดิน ซึ่งเป็นเรื่องดีสำหรับเราที่ชอบสะสมงานอยู่แล้ว อยากเก็บงานไว้เพื่อให้ประชาชน ลูกหลานของเรา คนรุ่นหลัง ได้เห็นพระองค์ท่าน ตามที่ศิลปินได้ตีความ แล้วถ่ายทอดความรู้สึก เล่าเรื่องผ่านผลงานประติมากรรม เป็นการบอกเล่า บอกต่อ ถึงสิ่งที่พระองค์ได้ทรงสร้างให้กับพสกนิกร ปวงชนชนชาวไทย”

“เราพยายามรวบรวม ผลงานให้ได้มากที่สุด แล้วจัดนิทรรศการ พ่อไม่ได้จากไปไหน ขึ้นเมื่อปลายปี 2560 โดยมีวัตถุประสงค์ว่า อยากให้ทุกคนมาเห็นพระองค์ท่าน มาด้วยรอยยิ้ม มาด้วยความอิ่มเอมใจ บางคนมาแล้วเห็น ก็มีน้ำตาแห่งความปลื้มปิติ บางคนใช้เวลาเป็นวันๆ ในการชื่นชม อิ่มเอมทั้งศิลปะและเรื่องราว ค่อยๆ ดู ค่อยๆ พิจารณา นั่นทำให้เรามีความสุขที่ได้เก็บและนำมาเผยแผ่ เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามาชม นับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ซึ่งก็ไม่ได้จบแค่นั้น ทุกวันนี้ยังเปิดให้ชมได้ฟรี เราถือว่านี่คือการแบ่งปัน”

“เราสุขใจที่เห็นคนเดินเข้ามาชม ยิ่งเมื่อเห็นเขามีความสุข เราก็มีความสุข เราจะพยายามเก็บผลงาน เพื่อเผยแผ่ และ แบ่งปัน ในปีนี้ก็เตรียมจะจัดนิทรรศการเกี่ยวกับพระบูชา เป็นพุทธศิลป์ และยังจัดเตรียมพื้นที่สำหรับ แกลเลอรี่หมุนเวียน เพื่อศิลปิน อาจจะเป็นใครก็ได้ จัดแสดงนิทรรศการแบบเล็กๆ เพื่อส่วนรวม เพิ่มเติมจากแกลเลอรี่กึ่งถาวรที่จัดแสดงอยู่”

“ณ วันนี้ เราจึงเป็นตัวกลางให้ศิลปินจากทั่วทั้งประเทศไทย ได้มีโอกาสโชว์ผลงาน และเรายังเป็นศูนย์กลางแบ่งปันผลงานให้กับผู้นิยมอยากสะสมงาน การทำเช่นนี้ทำให้เกิดนักสะสมหน้าใหม่มากขึ้น กลุ่มนักสะสมก็กลายเป็นคนรุ่นใหม่วัยกำลังทำงาน ไม่ใช่สูงวัยแบบในอดีตอีกแล้ว อีกทั้งยังมีการประมูลงาน เพื่อให้โอกาสกับผู้ที่อยากได้ อยากสะสม เราก็อยากเป็นผู้ให้ ผู้แบ่งปัน สานฝันให้นักสะสมรุ่นใหม่อีกด้วยค่ะ”

“ตั้งแต่มีทำแกลเลอรี่ เราสนุกจนเลิกทำงานอย่างอื่นไปหมดเลย เป็นงานเดียวที่ทำในตอนนี้ มีอะไรให้คิดให้ทำทั้งวัน เป็นสิ่งที่ทำแล้วมีความสุข บางครั้งรู้สึกเครียดๆ ก็ลุกจากหน้าจอไปเดินรอบๆ เหมือนเดินไหว้พระ ดูงานชิ้นต่างๆ แป๊ปเดียวก็หายเครียด บางทีก็พากันไปดูกับสามี ดูไปก็ทบทวนความทรงจำไป เขาก็เล่าว่างานแต่ละชิ้นมีที่มาที่ไปอย่างไร มีข้อสรุปของงานแต่ละชิ้นให้ เราก็คอยจำ จะได้ไม่ต้องไปอ่านหนังสือ ช่วยฝึกให้ทบทวนไม่ให้เป็นคนขี้หลงขี้ลืม”

และอีกบทบาทหนึ่งของคุณชุ ก็คือคุณแม่ของลูกที่กลายเป็นนักกีฬากอล์ฟอย่างเต็มตัว

“อยากให้ลูกเล่นกอล์ฟ เพราะมองว่า เขาต้องแข่งกับตัวเอง ต้องตรึกตรอง ต้องวางแผน และต้องมีระเบียบวินัยกับตัวเอง แค่เขาได้เรื่องเหล่านี้ไป ในอนาคตก็น่าจะเป็นคนดีในสังคมได้”

แต่กว่าจะผ่านช่วงเวลาแห่งความขัดแย้ง ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะถึงแม้จะเห็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีของลูกอย่างชัดเจนหลังจากที่เล่นกอล์ฟ แต่เมื่อก่อน ครอบครัวนี้ก็เคยมีความเห็นไม่ตรงกัน เพราะคุณพ่อคิดว่าลำพังแค่เรียน ลูกก็เหนื่อยมาก แล้วยังจะให้ไปเล่นกีฬา ไปซ้อมต่อ กว่าจะกลับบ้านก็ 2-3 ทุ่ม พรุ่งนี้ก็ต้องรีบตื่นแต่เช้าไปโรงเรียนอีก ทำแบบนี้ไม่หยุด ไม่ได้พักเลย มันเยอะเกินไปสำหรับเด็กหรือเปล่า

“เราเลยทดสอบ ลองทำตามที่คุณพ่อบอก พอเลิกเรียนพาลูกกลับบ้านเลย ไม่ซ้อม แต่พอลูกกลับบ้าน สิ่งที่เห็นคือ เขาดูทีวี นั่งเล่นเกมส์ สามทุ่มลูกก็ยังไม่นอน เลยมาคุยกันว่า ถ้าเราไม่หากิจกรรมให้เขา ก็จะเห็นภาพแบบนี้ เพราะลูกเราเป็นเด็กแอคทีฟ พลังงานยังเหลือ เขาก็ไม่ง่วง และหลังจากนั้นเราก็ไม่เคยมีปัญหาเรื่องนี้กันอีก”

“หลังจากทำงานก็จะอยู่ตามสนามกอล์ฟ พาลูกไปซ้อม พาไปแข่งตามแมทช์ต่างๆ แพ้ชนะไม่เป็นไร อย่างน้อยก็ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ความสุขของเราก็คือ เวลาเขาแข่ง เวลาได้รางวัล เราเห็นความภาคภูมิใจของเขา และเราก็รู้สึกไปกับเขาด้วย ทำให้เขามีจุดมุ่งหมายที่ใหญ่ขึ้นไปเรื่อยๆ มีความเป็นผู้ใหญ่ขึ้น ควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น”

และเมื่อถามถึงเรื่องการดูแลสุขภาพ

“อย่าให้อายุมาเป็นตัวกำหนดชีวิตเราค่ะ อายุมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องแก่เสมอไป ยิ่งงานก็ต้องทำ ครอบครัวต้องดูแล ตัวเราเองยิ่งต้องดูดี ต้องให้เกียรติกับคนที่ต้องมาเจอเรา ให้เกียรติสถานที่ อายุคือตัวเลขที่บอกว่าเราเกิดมาอยู่บนโลกนี้นานแค่ไหน ไม่ใช่ตัวกำหนดของความสำเร็จด้วยว่า อายุแค่ไหนจะต้องมีความสำเร็จระดับไหน”

การดูแลที่ดีไม่มีทางลัด คุณชุ ชอบออกกำลังกายหลายอย่างมาก เล่นค่อนข้างหนัก ทั้ง ฟิตเนสในยิม ไปจนถึงต่อยมวย ทำให้รักษาสุขภาพได้อย่างลงตัว จนเมื่อมีเหตุจำเป็นออกกำลังกายไม่ได้เต็มที่ก็ใช้วิธีควบคุมอาหาร และที่สำคัญ ได้กำลังใจดี

“โชคดีที่คู่ชีวิตเป็นคนอารมณ์ดี ลูกก็ได้รับมาเต็มๆ ด้วย เวลาคุณแม่เริ่มเครียด ทั้งคุณพ่อและคุณลูกก็จะช่วยกันสร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ เหมือนได้ดูตลก ได้ขำ ทำให้เราหายเครียดได้ในเวลาไม่นาน แล้วพร้อมกลับไปสู้ใหม่ได้อีก”

และ สุดท้าย คุณชุ ได้ฝากถึง ณ.สยาม แกลเลอรี่ ว่า…

“เราอาจจะเกิดขึ้นด้วยความตั้งใจส่วนตัว ในฐานะคนที่ชอบงานศิลปะ แต่ ณ วันนี้ เราไม่ได้ต้องการเพียงเพื่อจะเก็บไว้เป็นสมบัติส่วนตัว เราต้องการเผยแผ่ การส่งต่อ ทำให้วงการศิลปะ โดยเฉพาะงานประติมากรรม จากฝีมือศิลปินคนไทย ได้เติบโต ก้าวสู่นานาชาติ ให้มีชื่อเสียงระดับโลก ซึ่งเราก็พร้อมจะให้การสนับสนุนและผลักดันจนเกิดผลสำเร็จได้ ด้วยความยินดีค่ะ”