กินผักให้ได้วันละ 4 ขีด เพื่อสุขภาพ
กินผักให้ได้วันละ 4 ขีด เพื่อสุขภาพ
มาถึงโค้งสุดท้ายแล้ว ที่ภาครัฐประกาศให้ ปี 2560 เป็น “ปีแห่งการบริโภคผักและผลไม้ปลอดภัย” รณรงค์ให้ประชาชนล้างผักผลไม้ก่อนรับประทาน ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขก็ผลักดันให้โรงพยาบาลในสังกัดนำผักปลอดสารพิษมาปรุงอาหาร ด้านกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็เน้นสร้างผลผลิตประเภทผักผลไม้ให้ปลอดภัยและควบคุมการใช้สารเคมี เพื่อมุ่งเน้นให้ประชาชนได้บริโภคผักและผลไม้ที่มีประโยชน์ ปลอดภัย และได้ปริมาณตามที่องค์การอนามัยโลก และองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติกำหนดไว้
ซึ่งองค์การอนามัยโลกกำหนด ข้อแนะนำการบริโภคผักผลไม้ให้ได้อย่างน้อย 400 กรัม/วัน หรือประมาณ 4-6 ทัพพี เพราะการบริโภคผักผลไม้เพียงพอตามที่แนะนำจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ (NCDs) อาทิ โรคหัวใจขาดเลือด, โรคเส้นเลือดในสมองตีบ, โรคมะเร็งปอด, โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตจากมะเร็งกระเพาะอาหารด้วย
แต่รายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย จากการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 5 ระหว่างปี 2557-2558 ใน 21 จังหวัด พบว่า คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป มีเพียง 1 ใน 4 เท่านั้น ที่รับประทานผักและผลไม้อย่างเพียงพอพบว่า คนส่วนใหญ่หรือประมาณร้อยละ 74.1 บริโภคผักและผลไม้ไม่เพียงพอ ขณะที่ผลสำรวจของของ รศ.ดร. นิภา โรจน์รุ่งวศินกุล สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า คนไทย 75% กินผักผลไม้น้อยกว่าวัน 400 กรัม มีเพียง 17% ที่บริโภคตามมาตรฐาน โดยประเทศไทยมีผักที่บริโภคได้ถึง 330 ชนิด รวมทั้งผักพื้นบ้านด้วย แต่คนไทยบริโภคผักอยู่เพียงแค่ 70-80% ของชนิดผักทั้งหมดเท่านั้น ผักที่นิยมบริโภคมากสุด เป็นผักประเภทปรุงรสแต่งกลิ่น คือผักชี ต้นหอม เมื่อตัดผักปรุงรส แต่งกลิ่นออกจากรายการที่บริโภคพบว่าผักที่นิยมบริโภคได้แก่ ผักกาดขาว/เขียว ถั่วฝักยาว แตงกวา กะหล่ำปลี และฟักทอง ซึ่งพบว่าการบริโภคผักผลไม้ของคนไทยยังมีปริมาณน้อยไม่เป็นไปตามข้อแนะนำ
การบริโภคผักและผลไม้ที่เหมาะสม หากคิดตามหลักธงโภชนาการก็คือ แบ่งเป็น 5 ส่วน ผัก 3 ส่วน ผลไม้ 2 ส่วน รวม 400 กรัมขึ้นไปทุกวัน ผักและผลไม้ที่บริโภค ก็ควรเป็น ผักสด ผักสุก ที่ให้กากใยและคุณค่าทางอาหารที่ยังไม่ถูกทำลายไป ไม่มีวัตถุกันเสีย ไม่มีน้ำตาลเพิ่ม รวมถึงการเลือกกินผักที่มีความปลอดภัยจากการตกค้างของสารเคมีด้วย และที่สำคัญควรกินให้หลากหลาย คือ หลากหลายชนิด หลากหลายสีสัน หลากหลายรสชาติ ควบคู่กับการกินอาหารประเภทอื่นให้ครบ 5 หมู่
และเพื่อความปลอดภัยในการบริดภคผักและผลไม้ ก็ควรล้างให้สะอาดก่อนรับประทาน ไม่ว่าจะเป็นการล้างด้วยวิธีน้ำไหล , ล้างด้วยผงฟู หรือล้างด้วยน้ำส้มสายชู ก็ได้ โดยแยกประเภทผักผลไม้ ออกเป็น ผักแบบชนิดหัว ใบ หรือผล มีการคลี่ใบออก ในส่วนผักใบ ส่วนผักหัวต้องมีการถูก เพื่อให้สิ่งสกปรก รวมถึงสารตกค้างในผักและผลไม้เจือจางไป
แม้ว่าใกล้จะหมด “ปีแห่งการบริโภคผักและผลไม้ปลอดภัย” แล้ว แต่การกินผักผลไม้ให้ได้อย่างน้อย 400 กรัม/วัน เพื่อสุขภาพที่ดี ยังทำต่อไปได้ไม่มีวันหมดเขต