คอลัมน์ในอดีต

สายใยสองภพ : ความรัก คือ ตำนาน (2)

ความรัก คือ ตำนาน (2)

หญิงชรา…เล่าต่อ

บุญบั้งไฟ เป็นประเพณีขอฝนของคนอีสานที่ทำกันในเดือน 6 หรือเดือน 7 ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝนเข้าสู่การทำนา ต้นกล้า หว่าน ไถ เพื่อเป็นการบูชาเทวดา(แถน) ขอฝนให้ถูกต้องตามฤดูกาลเหมือนกับการแห่นางแมวของของคนภาคกลาง เป็นประเพณีที่สำคัญจะละเลยไม่ได้ เพราะชาวอีสานจะมีความเชื่อว่าหากหมู่บ้านใดไม่จัดงานบุญบั้งไฟก็อาจจะก่อให้เกิดภัยพิบัติแก่ผู้คนในชุมชนของเขา งานบุญบั้งไฟเป็นงานใหญ่ การจัดงานจะต้องเป็นการตัดสินใจของชุมชนนั้น มีการลงทุนที่สูง ซึ่งในการการนี้ต้องมีพิธีเซ่นไหว้ที่ศาลปู่ตา(บรรพบุรุษหรือเทพารักษ์) หากเศรษฐกิจฝืดเคืองก็ต้องทำพิธีขอเลื่อนที่ศาลปู่ตาเช่นกัน

การเตรียมการจัดการประเพณีบุญบั้งไฟก็จะมีประชุมชาวบ้าน ผู้เฒ่าผู้แก่ พระสงฆ์ในหมู่บ้านเพื่อขอความเห็นว่าจะจัดงานบุญบั้งไฟหรือไม่ ถ้าตกลงจัดก็จะทำในข้อถัดไป แต่ถ้าไม่จัดจะต้องส่งตัวแทน (ผู้มีอายุชายในหมู่บ้าน) และพ่อเฒ่าจ้ำ(หมอผีประจำหมู่บ้าน) ไปขอขมาต่อเจ้าปู่เพื่อขอเลื่อนไปจัดในปีถัดไป (พิธีการรมนี้ไม่ผู้หญิงเกี่ยวข้อง) เมื่อตกลงจัดผู้เฒ่าผู้แก่ของหมู่บ้านจะส่งข่าวบอกเล่าเชื้อเชิญไปยังหมู่บ้านใกล้เคียงให้มาร่วมงานบุญ เรียกว่า “เตินป่าว” ในสมัยถัดมาบ้านเมืองเจริญขึ้นก็พัฒนามาเป็นการแจกหนังสือเชิญชวนเรียกว่า “สลากใส่บุญ” เหตุที่ถือว่างานนี้เป็นงานบุญก็เพราะว่า วัดเป็นที่รวมของการจัดกิจกรรมของชุมชน การเตรียมงานต่างๆตั้งแต่การทำบั้งไฟก็มักจะเริ่มจากพระ ซึ่งถือว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญ เป็นฉบับ (ต้นฉบับ) ในวาระโอกาสนี้ยังมีการแทรกประเพณีทางพระพุทธศาสนาเข้าไปด้วย เช่น การบวชและฮดสงฆ์ กองฮด พิธีการในการยกย่องพระสงฆ์ ชาวบ้านจะเรี่ยไรเงินและสิ่งของตามศรัทธาเพื่อร่วมสมทบการสร้างบั้งไฟ ในสมัยโบราณจะทำเพียงบั้งเดียว บอกบุญให้บ้านเรือน 3-4 หลังคา รวมกันต้อนรับแขกจากต่างบ้านที่มาร่วมบ้านหนึ่ง ซึ่งจำนวนไม่มากนักจะมาพร้อมบั้งไฟของหมู่บ้าน เช่น พระภิกษุ สามเณร หญิงชายที่มาร่วมขบวนแห่ ส่วนใหญ่ก็มักจะกำหนดให้ครอบครัวที่บวชลูกหลานเป็นเจ้าภาพ ชาวบ้านที่ได้รับมอบหมายจะสร้างประรำ หรือ “ผาม” หรือ “ตูบบุญ” ซึ่งทำด้วยโครงไม้จริง ยกพื้นข้างบนให้พระสงฆ์นั่งฉันภัตตาหาร ส่วนข้างล่างปูด้วยไม้ไผ่หรือฟางข้าวให้หญิงสาวนั่ง โดยมีหญิงสูงอายุควบคุมดูแลหญิงสาวเหล่านี้ เพื่อป้องกันมิให้ถูกชายในขบวนเซิ้งลวนลามจนเกินเหตุ ในวัดจะมีการทำบั้งไฟโดย “ฉบับ” ซึ่งมักจะเป็นพระ โดยมีลูกมือคือชาวบ้านผู้ชาย ทำหมื่อ ซึ่งมีสูตรจำเพาะของช่างแต่ละคน ตำด้วยครกมองให้ละเอียดร่วน ทดสอบด้วยการนำมาโรยเป็นทางยาวแล้วจุดไฟดูความเร็วของการปะทุ หากปะทุก็จะต้องใช้สูตรผสมใหม่ตามแต่ต้นฉบับจะกำหนดบอกมา

การทำบั้งไฟในสมัยก่อนจะใช้ไม้ไผ่ลำขนาดใหญ่ที่สุดทะลวงปล้องให้ถึงกัน ภายนอกจะใช้ตอกไม้ไผ่ถักเป็นเชือกมัดรอบลำไผ่ให้แน่นเพื่อไม่ให้ลำไผ่แตก ส่วนหัวปล้องสุดท้ายจะถูกอุดด้วยแผ่นไม่หนาพอควร แล้วทำการอัดบรรจุหมื่อ(ดินปืน) ให้แน่นด้วยการตำ หรือใช้คานดีดคานงัด

การแห่บั้งไฟ ผู้ร่วมขบวนนั้นดูเหมือนจะตั้งใจละเมิดกฎเกณฑ์ปกติ เช่น ชายแต่งกายเป็นหญิง หรือเอาโคลนพอกหน้า ขบวนเซิ้งจะแห่ไปตามหมู่บ้านเพื่อขอสาโทมากิน การเซิ้งจะมีคนจ่ายกาพย์ และคนตีกลองให้จังหวะเซิ้งอยู่กลางขบวนเซิ้ง เพื่อให้ผู้เซิ้งได้ยินเสียงจังหวะและคำกลอน “ลำกาพย์เซิ้ง”ได้ชัดเจน
การละเมิดกฎเกณฑ์และธรรมเนียมปฏิบัติกันทั่วไปเป็นการปลดปล่อยคนให้หลุดจากเกณฑ์ชั่วคราว ในอีสานสมัยก่อนผู้ชายเมื่อแต่งงานต้องเข้าไปอยู่กับครอบครัวฝ่ายหญิง ผู้ชายจึงอยู่ในฐานะที่โดดเดี่ยว ต้องอยู่ในความควบคุมของญาติฝ่ายหญิง และต้องฝากอนาคตของตนไว้กับความเมตตาของครอบครัวฝ่ายหญิงด้วย เพราะจะสามารถสร้างหลักให้แก่ครอบครัวได้ก็ด้วยการอุปถัมภ์ของพ่อตา เขยจะถูกจัดให้เป็นผู้ด้อยกว่าในทางพิธีกรรม การที่แสดงออกในพิธีกรรมบุญบั้งไฟจึงเป็นการปลดปล่อยจากกฎเกณฑ์ของสังคม ตอนบ่ายจะมีการตีกลองโฮม เพื่อให้ขบวนแห่ทุกขบวนไปรวมกันที่วัด ซึ่งจะหมายถึงการไปร่วมพิธีบวชของบุตรหลาน หรือการฮดสงฆ์ ถ้ามีการบวชก็จะมีการแห่นาคด้วยม้า ถ้าหากเจ้าภาพมีฐานะพอทำได้ มีการจุดตะไลตามหลังม้าไปตลอดทาง หากมีการฮดสงฆ์อยู่ด้วยก็จะแห่พระภิกษุที่ต้องการ “ฮด” นำหน้าเจ้านาคไป กลางคืนจะมีการเส็งกลอง หรือแข่งตีกลองกัน โดยแต่หมู่บ้านจะนำกลองกิ่งของวัดในหมู่บ้านตนมาตีแข่ง ถือกันว่าถ้าหากแพ้ในการเส็งกลอง ก็จะไม่ใช้กลองนั้นอีกเลย จะต้องไปเสาะแสวงหากลองเส็งมาใหม่ในปีหน้า การเส็งกลองจะมีกันไปจนถึงเที่ยงคืน รุ่งเช้าจะมีการทำบุญถวายจังหันพระ พอตกบ่ายก็มีการแห่บั้งไฟไปค้างยังที่เตรียมไว้ อาจใช้ต้นไม้ใหญ่เป็นค้างก็ได้ การแข่งขันระหว่างหมู่บ้านก็มีเพียงบ้านใดจะสามารถยิงไปได้สูงกว่ากัน ใช้การนับไปจนกว่าจะมองเห็นบั้งไฟหล่นพ้นก้อนเมฆลงมา เป็นการแสดงความสามารถของช่างหรือฉบับของบั้งไฟบ้านนั้น หากบั้งไฟบ้านใคร หรือพ่นดินปืนออกมาแต่ไม่ขึ้น หรือแตกระหว่างการจุด ช่างหรือฉบับก็จะถูกจับโยนลงตม คือโยนลงไปในโคลนเป็นที่สนุกสนานทั้งผู้โยนและถูกโยน

งานบุญบั้งไฟเป็นงานที่สนุกสนานสืบสานต่อๆกันมาช้านานแล้ว แต่ความเชื่อและวัฒนธรรมก็เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาของมันนั่นแหละหลานเอ๋ย