อังคณา หิรัญพฤกษ์
อังคณา หิรัญพฤกษ์
Personal Assistant to CEO
บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด
เด็กผู้หญิงมักจะมีความฝันร่วมกันอยู่หลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคือการได้เป็นผู้หญิงที่สวยที่สุดในประเทศ ได้เป็นนางสาวไทย และยังมีความใฝ่อยากจะได้เป็นดอกเตอร์ เพื่อจะได้เป็นทั้งคนสวยและคนเก่ง เรื่องยากๆ เกินกว่าจะคาดคิดได้แบบนี้ น้อยคนนักที่จะทำความฝันดั่งเทพนิยายให้กลายมาเป็นความจริงที่จับต้องได้ และ คุณก้อย อังคณา หิรัญพฤกษ์ นางสาวไทยประจำปี 2550 สามารถพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ทั้งความฝันและความใฝ่ จะเป็นจริงได้ หากตั้งใจสู้
“ก้อยเป็นคนไม่ชอบทำอะไรช้าๆ ค่ะ สมัยเรียนเวลาต้องทำงานกลุ่ม ก็มักจะทำล่วงหน้าไม่รอใคร จนเพื่อนต้องท้วงว่า นี่งานกลุ่มนะ รอนิดนึงสิ่ เดี๋ยวช่วยกัน แต่ก้อยก็ทำจนเสร็จก่อนทุกที”
คุณก้อย มีกิจกรรมด้านกีฬามาเยอะแบบจัดเต็ม ทั้งเทนนิส ปีนหน้าผา หรือแม้กระทั่งมวย และ กอล์ฟ ที่เริ่มเล่นมาพักนึงแล้ว “ก้อยคิดว่าผู้หญิงที่เล่นกอล์ฟได้ ดูแล้วเท่ค่ะ”.. และจากที่ฟังๆ มา ใครจะเล่น กอล์ฟ ได้ต้องมีทั้งสมาธิ เป็นการแข่งกันตัวเอง ใจร้อนมากๆ จะตีไม่ได้ ยิ่งเล่นก็ยิ่งแย่ ดังนั้นการเป็นคนใจร้อน ถ้าได้มาเล่นกีฬานี้ ก็น่าจะช่วยได้ ทำให้ซอร์ฟลงบ้าง นิดหน่อยก็ยังดี ชกมวยก็เพราะไม่ค่อยชอบวิ่ง ยิ่งบนลู่ยิ่งรู้สึกน่าเบื่อ ไม่ท้าทาย พอมาเล่นชกมวยก็รู้สึกว่าเหนื่อยสะใจดี แต่ละยกก็ไม่เหมือนกัน ได้ออกกำลังทุกส่วน ได้เผาผลาญเต็มที่, ปีนหน้าผา ชอบตรงแอดแวนเจอร์ดี ดูสนุก แต่ละขั้นที่ต้องปีนขึ้นไป ได้คิด ได้วางแผนตลอดว่าจะทำยังไง จะไปตรงไหนต่อ ช่วยฝึกความคิดให้เป็นระบบ ค่อยๆ คิดไปทีละขั้นๆ และ เมื่อไม่นานมานี้ก็ได้เล่นเทนนิสอีกอย่าง ทำให้มีกิจกรรมการออกกำลังกายค่อนข้างเยอะมาก.. “เพื่อนสมัยเรียนไม่เชื่อว่ากิจกรรมของก้อยจะเปลี่ยนไปได้ถึงขนาดนี้”
แต่ก่อนหน้านั้น… “ตอนเด็กๆ ก้อยไม่เล่นกีฬาเลยค่ะ” เธอเป็นเด็กทำกิจกรรมอยู่ในแนวผู้หญิงๆ ถนัดในเรื่องการแสดงต่างๆ เช่น บัลเล่ต์ รำไทย แม้จะรู้สึกว่าบางครั้งไม่อยากไปเรียน มีบ่นๆ บ้าง แต่ก็ไม่งอแง คุณแม่พาไปเรียนอะไรก็ได้หมด
“ก้อย เรียนบัลเล่ต์ตั้งแต่ อนุบาล 2 จนถึง ป. 5 จนกระทั่งคุณพ่อเสียไป คุณแม่ต้องเลี้ยงลูกคนเดียว ค่าใช้จ่ายค่าเล่าเรียนพิเศษต่างๆ ที่สูงมากๆ ก็จำเป็นต้องหยุด เพิ่งมารู้ว่ารักและชอบบัลเล่ต์ก็เมื่อตอนต้องหยุดเรียนทั้งๆ ที่เพิ่งจ่ายค่าเรียนไป ตอนนั้นถึงขนาดร้องไห้ ถามคุณแม่ว่าไปเรียนไม่ได้เหรอ ไหนๆ เราก็จ่ายเงินไปแล้ว แต่คุณแม่ก็บอกว่า ยังไงอีกสามเดือนก็ต้องหยุดอยู่ดี หยุดตอนนี้เลยดีกว่า”… นั่นคือการหยุดเรียนบัลเล่ต์แบบหักดิบ แต่ทักษะนี้ก็ยังติดตัวเธอมาจนได้ใช้ประโยชน์อีกครั้งในการพิชิตใจคณะกรรมการในการประกวดนางสาวไทย ซึ่งก็ได้ผล
ด้วยความเป็นคนตัวสูง ชอบมีคนทักมาตลอดว่า น่าจะไปเป็นนางแบบ นางงาม แล้วก็ยังเป็นความใฝ่ฝันแบบเด็กๆ ว่า “อยากจะเป็นผู้หญิงที่สวยที่สุดในประเทศ อยากเป็นนางสาวไทย อยากจะเป็นดอกเตอร์” ตอนเรียนบัญชีจุฬาฯ ปี 4 จึงตัดสินใจไปประกวด เมื่อปี 2550 ช่วงนั้นก็ลังเลสุดๆ เพราะตรงกับสอบ แต่คุณแม่ก็ให้กำลังใจว่า ให้ไปลองดูก่อน อาจจะไม่ได้ก็ได้ หรือถ้าได้ก็ค่อยๆ ว่ากันไปทีละขั้น อย่าไปคิดเหมาเอาเองทั้งหมด แล้วก็เป็นอย่างที่คาดไว้ ทุกอย่างมีช่องทางให้จริงๆ
เวทีประกวดนางสาวไทย ใช่ว่ามาถึงแล้วจะเข้าไปได้เลย คุณต้องมีความรู้จริงๆ ถึงจะผ่านไปได้ ในปีนั้นเน้นเรื่องภาวะโลกร้อน กับ เศรษฐกิจพอเพียง ทำให้คุณก้อยต้องอ่านหนังสือเยอะมาก เหมือนกับเตรียมตัวไปสอบยังไงยังงั้น รอบคัดเลือก พอแนะนำตัวเสร็จ กรรมการถามคุณก้อยว่า “วันนี้ค่าเงินบาทเท่าไหร่?” ทำเอาเธอตกใจกับคำถาม
“งงมากเลยค่ะ ว่านี่เรามาประกวดนางสาวไทย หรือมาสอบแข่งขันอะไร” พอรอบต่อไปเธอก็เจอกับอีกคำถามว่า “คุณคิดว่าค่าเงินบาทเท่าไหร่ ถึงจะเหมาะกับเศรษฐกิจประเทศไทย” วันที่ตอบคำถามไป พอออกจากห้องเธอรีบโทรกลับไปหาอาจารย์ เพื่อเช็คคำตอบว่า ที่ตอบไปนั้นถูกต้องหรือไม่ จนเมื่อภายหลังได้มาคุยกับกรรมการท่านนั้น ถึงได้ทราบว่า.. “ท่านไม่ได้ต้องการคำตอบที่ถูกต้องชัดเจน แต่จะดูปฏิกิริยาของเราว่า จะตอบเขายังไงมากกว่าค่ะ”
สิ่งสำคัญที่ได้รับจากเวทีประกวดนางสาวไทยก็คือ การทำงานร่วมกับผู้อื่น การต้องรู้จักรอ เมื่อก่อนไม่เคยรอก็ต้องรอ ทำอะไรอยู่ในวินัย ตารางของกองประกวดเป็นอย่างไรก็ต้องทำตามนั้นเป๊ะๆ ยิ่งไม่ถนัด ไม่คุ้นเคย ก็ต้องยิ่งเตรียมตัวมากขึ้น ตื่นก่อน นอนทีหลัง เพื่อเธอจะได้พร้อมที่สุด
เคล็ดลับอย่างหนึ่งที่คุณก้อยได้จากพี่ที่เป็นเหมือนกับแฟนพันธ์แท้ของนางงาม ได้ให้กำลังใจและบอกกับเธอว่า “เวลาที่อยู่บนเวที อยู่ต่อหน้ากรรมการ อย่าคิดว่าตัวเองเป็นผู้เข้าประกวด แต่ให้คิดว่าตัวเองคือนางสาวไทย เวลาจะตอบคำถามอะไร จะแสดงสีหน้าแววตาอย่างไร ให้ทำไปในฐานะนางสาวไทย ด้วยความมั่นใจ” เธอก็ใช้ความคิดแบบนั้นบนเวที แต่ไม่กล้าหวังมาก ยังเผื่อใจไว้ จนเมื่อเหลือผู้เข้าประกวดอยู่เพียงสามคนบนเวที
คำถามสุดท้ายที่คุณก้อยต้องตอบก่อนประกาศผลว่าใครจะได้เป็นนางสาวไทยประจำปี 2550 ก็คือ.. “คุณคิดว่าเศรษฐกิจพอเพียงจะช่วยแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนได้อย่างไร?”
“ตอนนั้นก้อยได้แต่บอกกับตัวเองว่า เรานี่แหล่ะคือนางสาวไทย! แล้วก็ตอบคำถามไปตามที่เตรียมมาให้ดีที่สุด ทำให้เกิดความประทับใจที่สุด ซึ่งได้เก็งคำถามแนวนี้ไว้อยู่แล้ว ทำการบ้านมามากอ่านมาเยอะเมื่อทำหน้าที่ทุกอย่างได้เต็มที่แล้ว ที่เหลือก็อยู่ที่ความเห็นของคณะกรรมการค่ะ”
ระหว่างยังทำหน้าที่อยู่ในวงการบันเทิง ถึงแม้จะมีหลากหลายภาระกิจเข้ามาในช่วงนั้น แต่สิ่งที่ภาคภูมิใจที่สุด คือการได้มีส่วนร่วมในการผลิตสารคดีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ เขื่อนขุนด่านปราการชล และอีกแห่งที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการเผยแผ่ประชาสัมพันธ์ให้ทุกคนได้รู้ว่า ในหลวง ร.9 พระองค์ได้ทรงทำอะไรไว้ให้พวกเราชาวไทยบ้าง
อีกเส้นทางหนึ่งของชีวิตที่คุณก้อยใฝ่ฝันไว้ก็คือ เรื่องการศึกษา หลังจากจบที่บัญชีจุฬา พอได้รับตำแหน่งนางสาวไทย เลยได้รับทุนให้ไปเรียนปริญญาโท MBA ที่วิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด ทำให้ได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษมากขึ้นอีกด้วย และหลังจากนั้นก็คิดอยู่เสมอว่าจะต้องเรียนต่อระดับปริญญาเอกให้ได้ จนเมื่อทุกอย่างลงตัวก็ตัดสินใจไปเรียนต่อที่ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ในระดับปริญญาเอก สาขา ผู้นำทางสังคม ธุรกิจและการเมือง ตอนนี้จะจบคอร์สเวิร์คแล้ว โดยทำวิทยานิพนธ์เรื่อง มิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม เป็นโครงการที่เข้ามาช่วยชาวไร่อ้อย ในการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต
“เราอยากจะเผยแผ่ไปยังพืชชนิดอื่นๆ ซึ่งจะทำให้ประเทศเรามีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจมากขึ้น ก่อนหน้านี้เราทำกันเองภายในบริษัท อาจจะยังไม่มีคู่มือ เอกสารทางวิชาการมากนัก แล้วเราเองก็เป็นส่วนหนึ่งของบริษัท จะเข้าไปศึกษา เขียนคู่มือในเชิงการศึกษา เพื่อให้ได้นวัตกรรมใหม่ขึ้นมา ได้ผลลัพธ์ที่ชัดเจนออกมา ข้อมูลนี้ก็จะสามารถนำไปใช้เพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจให้ชาวไร่เข้ามาร่วมโครงการกับเรามากขึ้นค่ะ”
“ตอนนี้ก้อยยังมีอีกความฝันที่อยากจะสานต่อให้เป็นจริง เพราะตัวเองเป็นคนชอบท่องเที่ยว ชอบเดินทาง ก็คิดว่าเมื่อเรียนจบและมีโอกาสก็อยากจะลองออกไปหาประสบการณ์ในต่างประเทศบ้าง อยากเรียนรู้ว่าวิธีการของเขา กับวิธีการของเรา แตกต่างกันอย่างไร ถ้ามีอะไรที่น่าสนใจก็อาจจะอยู่นานหน่อย แต่ในที่สุดแล้ว ยังไงก็ต้องกลับมาทำงานที่เมืองไทย นำความรู้ที่ได้กลับมาพัฒนาบ้านของเขาให้ดีขึ้น”
“ก้อย รู้ดีว่าตัวเองค่อนข้างจะใจร้อน โมโหง่าย ปีใหม่เมื่อสามปีที่แล้วเลยตั้งเป้าไว้ว่า จะขี้โมโหน้อยลง หงุดหงิดให้น้อยลง จะพูดจาดีๆ กับทุกคน ถึงแม้จะมีหลุดบ้างในบางครั้ง แต่ตัวเป้าที่ตั้งไว้ ก็ยังคอยเตือนสติเบาๆ ตลอดเวลาว่าอย่าทำๆ การพยายามมองโลกในแง่ดีอยู่ตลอดเวลาก็ช่วยได้ ทำงานก็เครียดแล้ว ยังจะต้องเจอกับปัญหาเครียดอื่นๆ อีกเต็มไปหมด ถ้ายังคิดในแง่ลบกับตัวเองกับคนอื่นอีก ชีวิตเราก็จะไม่มีความสุขเหลืออยู่เลย”
“การช่วยเหลือคนอื่นที่อยู่ไกลตัว แต่คนใกล้ตัวกลับละเลย ในมุมมองของก้อยคิดว่า คนใกล้ตัวสำคัญกว่า ถ้าเราทำให้ผู้คนที่รายล้อมรอบตัวเราเขามีความสุข เราก็จะมีความสุขตามไปด้วย เราทำดีกับเขา เขาก็ย่อมทำดีกับเรา และเราก็ยังหวังว่า เขาจะทำดีกับคนรอบข้างเช่นเดียวกับที่เราทำต่อๆ กันไป ซึ่งในที่สุดทุกคนก็จะมีความสุขกันค่ะ”