Interview

ประยุทธ อัตถศิลปกิจ

ประยุทธ อัตถศิลปกิจ
ผู้จัดการทั่วไป สนามกอล์ฟเมืองแก้ว, เชียงใหม่ไฮแลนด์ กอล์ฟ แอนด์ สปา รีสอร์ท
“ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม คุณต้อง ‘รัก’ สิ่งนั้นก่อน”

ชีวิตที่พลิกผัน : พอเรียนจบจากโรงเรียนกรรณสูต ที่จังหวัดสุพรรณบุรี ก็เข้ามาเรียนปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ คณะนิเทศศาสตร์ หลังเรียนจบ ผมไปทำงานกองถ่ายภาพยนตร์ต่างประเทศ ก็ถือว่ายังตรงสายที่เรียนอยู่ ทำเป็นครั้ง ๆ ไป ทีละ 2 – 3 เดือน ได้เรียนรู้การทำงานระบบฝรั่ง ระบบของเขาเป๊ะมาก หนึ่งคนทำหน้าที่เดียว ไม่เหมือนกองถ่ายของประเทศไทยที่คนเดียวทำได้ทุกอย่าง ต่างสไตล์กันเลย เช้าไปกองถ่าย เสร็จงานตอนเย็นจบงาน กลับที่พักไม่ต้องคิดอะไรเยอะ ทำให้มีเวลาว่างและคิดทบทวนอนาคตของตัวเอง สุดท้ายก็คิดเรื่องเรียนต่อปริญญาโท โดยระหว่างที่ว่างจากงานออกกองถ่ายแต่ละครั้ง ก็เตรียมตัวอ่านหนังสือสอบเข้าเรียนปริญญาโทที่จุฬาฯ จนสอบติดแต่ไม่ได้เรียนเพราะติดสัญญากับทางกองถ่ายภาพยนต์ต่างประเทศทำให้ต้องกลับไปทำงานต่อ ทางบ้านก็ไม่ค่อยพอใจที่เลือกทำงานมากกว่าเรียนต่อปริญญาโท เพราะในความคิดของผู้ใหญ่ งานแบบนี้ไม่ได้มีรายได้มั่นคง ตอนนั้นมีความฝันที่จะไปเรียนต่างประเทศและตัดสินใจเลือกที่จะไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ สมัครเข้าเรียนหลักสูตร MBA ที่ University of Kent เมืองแคนเตอร์เบอรี่ พอทางมหาวิทยาลัยรับเข้าเรียนแล้ว ระหว่างที่รอเปิดภาคเรียนของปีถัดไป ก็ไปเรียนปรับพื้นฐานภาษาเพื่อให้คุ้นชินกับการฟัง อ่าน เขียน พูด พอได้ไปใช้ชีวิตอยู่ที่อังกฤษ 1 ปีเต็ม ก็กลับมาถามตัวเองว่า ถ้าเรียนที่อังกฤษ กลับมาเมืองไทยแล้วเรา ‘จะมีเพื่อนมั้ย’ คำตอบคือ ถ้าเรียนอยู่ต่างประเทศ พอจบและกลับเมืองไทย สังคมเราก็จะอยู่ที่เรียน สุดท้ายเราเราจะไม่มีเพื่อน

SASIN: จังหวะนั้นที่ ศศินทร์ (สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) เปิดหลักสูตร MBA ปริญญาโทของปีการศึกษาพอดี จึงกลับมาแล้วสมัครสอบจนได้เข้าเรียนและกลับมาใช้ชีวิตอยู่ประเทศไทย มีเพื่อนพ้องที่นี่ ได้เจอกับคุณอุ้ม (คุณวรนล สามโกเศศ) ที่นี่ด้วย กลุ่มเพื่อนที่เรียนปริญญาโทด้วยกันก็เหนียวแน่น แข็งแรง มีอะไรก็ช่วยกัน ทุกวันนี้ยังคุยกันอยู่ พอจบปริญญาโทแล้วก็เริ่มงานในสายงานด้านธุรกิจ โดยเข้าทำงานด้านบริหารจัดการบริษัทด้านโลจิสติกส์ ในอุตสาหกรรมยาและเครื่องมือแพทย์ ทำอยู่ 3 ปีจนรู้สึกอิ่มตัวกับการทำงาน คุณอุ้มก็มาชวนให้ไปทำงานสนามกอล์ฟ โดยให้ดูแลด้านการตลาด

เชียงใหม่ไฮแลนด์ : จังหวะนั้น พอคุณอุ้มมาชวนทำการตลาดที่สนามกอล์ฟ (เชียงใหม่ไฮแลนด์ กอล์ฟ แอนด์ สปา รีสอร์ท) ผมก็จับพลัดจับผลู อยากไปอยู่เชียงใหม่อยู่แล้ว มีภูเขา มีธรรมชาติแวดล้อม เห็นว่าน่าสนใจจึงตอบตกลง และเตรียมค้นคว้า วิเคราะห์ข้อมูลของคู่แข่งในธุรกิจสนามกอล์ฟ เหมือนการทำวิจัยตอนเรียน ทำข้อมูลสนามกอล์ฟทั้งเมืองแก้วและเชียงใหม่ไฮแลนด์ ดูว่าสนามรอบข้างมีอะไรบ้าง จุดด้อย จุดแข็งของแต่ละแห่ง จะพัฒนาอะไรที่ด้อยกว่าคนอื่น ที่จะต้องปรับปรุง จุดแข็งที่มีที่เราต้องเสริมก็มาคุยกัน และเปิดพรีเซ็นต์งานให้ท่านประธาน (คุณวิชัย สามโกเศศ) พอท่านฟังไปครึ่งชั่วโมง ก็บอกว่าไม่ต้องแล้ว ทำข้อมูลมาเยอะขนาดนี้ก็รู้แล้วว่าคุณสนใจจริง งั้นคุณไปเริ่มงานที่เชียงใหม่ไฮแลนด์ได้เลย ทำอยู่ประมาณหนึ่งปี คุณอุ้มบอกว่า ไหน ๆ ทำแล้ว ให้เป็นผู้จัดการทั่วไปที่เชียงใหม่ไฮแลนด์เลยละกัน ซึ่งขณะนั้น ที่เมืองแก้ว พี่แวว (คุณอรณิชา คำลือวงศ์) เป็นผู้จัดการทั่วไป ก็ได้ทำงานร่วมกัน

ห้องเย็น : ในช่วงแรกของการทำงานที่เชียงใหม่ไฮแลนด์ โดนเรียกเข้า ‘ห้องเย็น’ เกือบทุกวัน ด้วยความที่เป็นมือใหม่สำหรับธุรกิจสนามกอล์ฟ ท่านประธานก็เป็นห่วง กลัวเราจะทำงานไม่ได้ หรือจะรู้ไม่ทันคนอื่น ในขณะที่เราต้องไปร่วมงานหรือไปเป็นหัวหน้า ท่านจะเรียกเข้าห้องแล้วไปสอน บอกทุกวัน ๆ จนกระทั่งเราซึมซับในความรักสนามกอล์ฟของท่าน หลังจากนั้นเป็นต้นมา ถ้าเรื่องสนามกอล์ฟ ท่านมีเจตนาจะทำสนามให้ดีอย่างไร เราก็จะรักษาเจตนารมณ์ของท่านไว้

กอล์ฟ = งาน : ผมเล่นกอล์ฟไม่เป็นเลย ลองพยายามหัดแล้ว แต่รู้สึกว่าความสนุกมันหายไป ผมไม่ได้มองภาพกอล์ฟเป็นกีฬา แต่มองว่าเป็นงาน เวลาลงสนามกอล์ฟจะไม่ได้เห็น แฟร์เวย์ บังเกอร์ กรีน หรือรัฟแบบนักกอล์ฟ แต่จะเห็นปัญหาจุดต่าง ๆ ทำไมตรงนี้ไม่สวย ไม่เรียบร้อย ทำไมตรงนี้หญ้ารัฟยาว ทำไมบังเกอร์มีผ้าใบโผล่ ฯลฯ ปัญหามันเยอะไปหมด เหมือนกับตามลงไปเก็บงาน กลายเป็นว่ากอล์ฟไม่ใช่เป็นกีฬาที่สนุกสำหรับผม แต่เป็นการทำงานไปด้วย

การตลาดนอกตำรา : เชียงใหม่ไฮแลนด์ เปิดมาตั้งแต่ปี 2548 พอปี 2552 ก็เริ่มได้รับรางวัลแรกโดยได้รับการโหวตให้เป็นหนึ่งใน 3 สนามกอล์ฟที่ดีที่สุดในประเทศไทย และติดอันดับ 10 สนามกอล์ฟรีสอร์ทที่ดีที่สุดในเอเชียโดยนิตยสาร Golfing Magazine ในปี 2555 และ 2556 ได้รับรางวัล “สนามกอล์ฟที่คุ้มค่าที่สุดในเอเชีย” จากการโหวตของผู้อ่านนิตยสาร Asian Golf Monthly ผมคิดว่าทฤษฎีที่เรียนในตำราใช้ได้แค่ 30% ส่วนอีก 70% คือชีวิตจริงและประสบการณ์จากการทำงาน ปัญหาต่าง ๆ ที่เข้ามา ถ้าเรียนรู้และเติบโตไปกับมัน ก็สามารถนำมาแก้ไขปัญหาอื่น ๆ ได้ ผมค่อนข้างโชคดีที่ทุกคนให้การยอมรับและเชื่อมั่นในเรื่องการทำงานเป็นทีมด้วยกัน ประกอบกับการได้เข้าไปเรียนรู้จากท่านประธานบ่อย ๆ เสริมในจุดที่เรายังขาดความรู้ ขาดประสบการณ์ ข้อกังวลในการทำงานมีเรื่องเดียวคือ เกรงว่าเราจะทำได้ไม่ดีเท่าที่คิด แล้วก็คาดหวังกับตัวเองว่าอยากให้ดีกว่านี้

รักษ์ท้องถิ่น : ทุกคนที่ทำงานที่สนามกอล์ฟถูกปลูกฝังเรื่องเชียงใหม่ไฮแลนด์เป็นแหล่งทำมาหากิน ทุกคนต้องมาช่วยกันรักษาและต่อยอดให้ดีขึ้นๆ ลูกหลานไม่ต้องเข้าไปในเมือง อยู่ที่อำเภอแม่ออน คุณก็สามารถมีงานทำ มีรายได้ไม่ต่างจากเข้าไปทำงานในตัวเมือง เป็นวัฒนธรรมที่สืบต่อกันมา พ่อ-แม่ทำงานในสนามกอล์ฟ เช่น แม่เป็นแคดดี้ พ่อทำงานเป็นช่างในสนามกอล์ฟ ส่งลูกเรียนหนังสือ พอเรียนจบก็กลับมาอยู่บ้านแล้วทำงานในสนามด้วยกันทั้งครอบครัว กลายเป็นชุมชนตรงนี้ค่อนข้างเข้มแข็ง มีส่วนร่วมในการช่วยกันดูแลสนาม ถ้าสนามกอล์ฟมีตำแหน่งว่าง ประกาศไปไม่นานก็จะมีคนมาสมัคร เป็นญาติคนนั้นคนนี้ อ้างอิงกันได้ รู้จักกันหมด การได้ทำงานใกล้บ้านคือความสุข เลิกงานเดินทางกลับบ้านแค่ไม่กี่นาทีก็ถึงบ้าน แตกต่างจากทำงานในเมืองใหญ่ที่หมดเวลาไปกับการเดินทาง

8 ปี ที่ห่างหาย : แล้วก็ถึงจุดเปลี่ยนของชีวิตอีกครั้งเมื่อจะแต่งงานและไปสร้างครอบครัวที่กรุงเทพฯ ตอนที่ไปเรียนท่านประธานว่า ผมจะแต่งงานแล้วย้ายกลับกรุงเทพฯ รู้สึกลำบากใจมากแต่ท่านก็เข้าใจ รู้ว่าทุกคนต้องเติบโต แล้วยังบอกว่าถ้าวันนึงมีโอกาสหวังว่าเราจะได้มาร่วมงานกันอีก มาช่วยท่านทำสนามกอล์ฟ ผมก็รับคำมั่นนั้นไว้ พอกลับมากรุงเทพฯ ได้ทำงานด้านกลยุทธ์ที่บริษัทโลจิสติกส์ ในอุตสาหกรรมยาและเครื่องมือแพทย์ แล้วย้ายไปทำงานกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนบริษัทโลจิสติกส์ในอุตสาหกรรมขนส่งน้ำมัน แต่ทุกปีจะขึ้นเชียงใหม่เพื่อกลับไปหาเพื่อนร่วมงานที่เชียงใหม่ไฮแลนด์ซึ่งเปรียบเสมือนบ้านอีกหลัง ผมรักบรรยากาศธรรมชาติ การได้ขับรถลงไปดูสนามกอล์ฟ ได้เจอผู้คน ได้ทำงานบริการ เพราะที่ผ่านมาผมทำงานเรื่องกลยุทธ์มาตลอด ผมห่างหายจากวงการกอล์ฟไปนานถึง 8 ปี

เปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส : ช่วงของการแพร่ระบาดโควิด19 บริษัทมีนโยบายให้ทำงานแบบ Work from Home เพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ที่ทำงานของภรรยาก็มีนโยบายนี้เช่นกัน ผมมองว่าเป็นโอกาสที่ดีและบอกกับภรรยาว่าใจยังอยากทำงานสนามกอล์ฟ ซึ่งภรรยาผมสามารถทำงานแบบ Work from Home จากเชียงใหม่ได้ ภรรยาเข้าใจเจตนานี้ดีเพราะทุกครั้งที่ขึ้นเชียงใหม่และแวะไปเชียงใหม่ไฮแลนด์ เราจะไปด้วยกันทุกครั้ง โดยบอกให้ผมลองไปคุยดูว่าทางสนามกอล์ฟยังอยากให้ไปร่วมงานอยู่หรือไม่ ผมรีบต่อสายหาคุณอุ้มทันที ซึ่งคุณอุ้มยื่นข้อเสนอให้ดูแลทั้งสนามกอล์ฟเมืองแก้วและเชียงใหม่ไฮแลนด์ ทำให้ได้กลับมาทำงานสนามกอล์ฟอีกครั้ง

คือชีวิต : เมื่อกลับเข้ามาทำงานสนามกอล์ฟเป็นรอบที่ 2 ยังอยู่ในช่วงปลายของการแพร่ระบาดโควิด19 อุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั่วโลกได้รับผลกระทบต่อเนื่อง ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย หลายๆ ธุรกิจในภาคการท่องเที่ยวต้องปิดตัว หลายสนามกอล์ฟหยุดการดูแลสนามเพราะไม่รู้ว่าสถานการณ์ท่องเที่ยวของประเทศจะดีขึ้นเมื่อไร แต่ด้วยวิสัยทัศน์ของคุณอุ้ม ซึ่งมองว่าสนามกอล์ฟ ‘หยุดพัฒนาและหยุดดูแลไม่ได้’ ทั้งสองสนามกอล์ฟยังจ้างงานพนักงานเหมือนเดิม ทำหน้าที่ทุกอย่างเหมือนเดิมทุกวัน ให้ปุ๋ย รดน้ำตามตารางดูแล หญ้าบนกรีน แฟร์เวย์ ทีออฟ และรัฟ ตัดอยู่ทุกวัน สนามกอล์ฟยังมีชีวิตและรอต้อนรับนักกอล์ฟเช่นเดิมเหมือนทุกวัน ซึ่งพอพ้นช่วงการแพร่ระบาดโควิด19 เมื่อเปิดรับนักท่องเที่ยว นักกอล์ฟที่เดินทางเข้าประเทศไทย สนามกอล์ฟของเราก็พร้อมให้บริการเลย ขณะที่บางสนามต้องใช้เวลาในการซ่อมและปรับปรุงกรีน บำรุงสนามอีกหลายเดือนทำให้เสียโอกาส แต่สำหรับเมืองแก้วกรุ๊ป มองว่านี่คืออาชีพเรา นี่คือสิ่งที่เจ้าของสนามกอล์ฟท่านรัก บอกเสมอว่า ‘ทำไปเถอะ’ อยากเห็นสนามสวย ๆ ต้นไม้เขียว ๆ เพราะต้นไม้ใบหญ้ามีชีวิตและต้องการการดูแล ให้พวกเราทำหน้าที่กันเหมือนเดิม นี่เป็นที่มาว่า ทำไมเราทำงานกันง่ายไม่ต้องเจออุปสรรคใหญ่ ๆ หลังพ้นช่วงโควิด19 เพราะเจ้าของท่านรักสนามกอล์ฟอยู่แล้ว

เพื่อความยั่งยืน : ผมมองว่าชีวิตคนหนึ่งคน ไม่จำเป็นต้องเก่งหรือเรียนรู้ด้านเดียว สามารถเปิดโลกการรับรู้และเรียนรู้ทุกอย่างที่เราอยากรู้ แล้วสุดท้าย สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะผสมผสาน กลมกล่อมมาเป็นตัวเรา ประสบการณ์จากการทำงานที่สะสมมาตลอดชีวิตการทำงาน การวิเคราะห์ข้อมูล การแก้ปัญหารายวันและปัญหาเชิงระบบ การวางแผนงานด้านความยั่งยืนขององค์กรและอื่น ๆ ซึ่งกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน มีเรื่องของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เป็นองค์ประกอบหลักและสามารถนำมาประยุกต์เข้ากับการทำงานได้ เพราะทุกธุรกิจ ‘เพื่อความยั่งยืน’ อยู่แล้ว สนามกอล์ฟเมืองแก้วและเชียงใหม่ไฮแลนด์มีการดำเนินการด้านความยั่งยืนตั้งตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจเช่นกัน เรื่องของการดูแลตลอดห่วงโซ่คุณค่า การพัฒนาท้องถิ่นให้เป็นแหล่งดึงดูดนั่งท่องเที่ยว นำรายได้กระจายสู่ชุมชน(ด้านเศรษฐกิจ) การนำชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในธุรกิจ สร้างงานสร้างอาชีพให้ชุมชนแข็งแรงและเติบโต หางานได้ใกล้บ้านไม่ต้องเข้าไปกระจุกในเมืองใหญ่(ด้านสังคม) การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม สร้างพื้นที่สีเขียว ระบบจัดการน้ำและลดมลภาวะ(ด้านสิ่งแวดล้อม) เป็นความยั่งยืนที่เกิดขึ้นจริง

เรียนนอกสถาบัน : การออกไปทำงานข้างนอกถึง 8 ปี เหมือนกับได้ไปเรียนหนังสือชีวิต แล้วนำประสบการณ์กลับมาใช้กับสนามกอล์ฟได้ เป็นประโยชน์ในการทำงานมาก ๆ การได้เห็นภาพและระบบการทำงานขององค์กรใหญ่ สิ่งใดที่น่าจะเกิดประโยชน์ สิ่งใดที่นำมาปรับปรุงพัฒนาได้เราก็จะทำ หรืออันไหนสเกลใหญ่ไป ต้องลงทุน ไม่เหมาะกับองค์กรระดับกลางก็ต้องนำมาปรับและประยุกต์กันดู ซึ่งการกลับมาในครั้งนี้ รู้สึกทำงานง่ายขึ้น เพราะรอบแรกมีประสบการณ์อยู่แล้ว สามารถต่อยอดทำงานต่อได้เลย

โจทย์ที่แตกต่าง : เมืองแก้วเป็นสนามกอล์ฟในเมืองใหญ่โจทย์แตกต่างกับเชียงใหม่ไฮแลนด์ เพราะเมืองแก้วเป็นสนามในเมือง มีการแข่งขันสูงมากตลอดทั้งปี ขณะที่เชียงใหม่ไฮแลนด์ซึ่งถึงแม้จะเป็นสนามชั้นนำทางภาคเหนือ แต่นักกอล์ฟจะมีมากช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว นอกฤดูกาลต้องปรับตัวให้ดึงดูดให้นักกอล์ฟเข้ามาได้ หรืออย่างเรื่องไนท์กอล์ฟ มีนักกอล์ฟสอบถามมาเยอะมากว่า เมื่อไหร่เมืองแก้วจะทำไนท์กอล์ฟบ้าง เพราะช่วงหลังๆ การเล่นกอล์ฟช่วงกลางคืนเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นตามบริบทของสังคมเมือง เคยนำปรึกษาท่านประธาน ท่านบอกว่า ‘อยากให้ต้นไม้ใบหญ้าได้พักผ่อนเวลากลางคืน’ สนามกอล์ฟมีชีวิต กลางวันรับแสงทั้งวันก็เหนื่อยแล้ว กลางคืนยังต้องมารับแสงไฟอีก เป็นมุมมองของคนรักสนามกอล์ฟจริง ๆ เพราะท่านรักสนามเหมือนสวนในบ้านของตัวเอง

ดีเอ็นเอ แห่งความอบอุ่น : ตั้งแต่สมัยท่านประธาน (คุณวิชัย – คุณจันทร์จรัส สามโกเศศ) ใช้ระบบการทำงานแบบครอบครัว ท่านดูแลพนักงานทุกคนเหมือนลูกหลาน เวลาลงสนามก็ทักทายพนักงานทุกคน ไม่ว่าจะเป็นใคร ทำหน้าที่อะไร ท่านคุยเล่น ถามสารทุกข์สุกดิบตลอด นี่คือดีเอ็นเอแห่งความอบอุ่นที่ส่งต่อกันมา แม้กระทั่งคุณอุ้ม (คุณวรนล สามโกเศศ) ซึ่งรับช่วงเข้ามาดูแลสนามกอล์ฟต่อจากท่านประธาน ถึงจะมีธุรกิจอื่น ๆ ที่ต้องดูแล แต่เวลาที่คุณอุ้มเข้าสนามกอล์ฟก็ช่วยดูแลสอดส่องพวกเราทุกคนอยู่เสมอ พนักงานทุกคน เวลามีอะไรก็คุยกัน เราไม่ใช่องค์กรใหญ่ที่มีระดับสายบังคับบัญชายาวเหยียด ที่นี่มีแค่ท่านประธาน กรรมการผู้จัดการ และทุกคนรวมถึงผมด้วย เพราะฉะนั้น สายการบริหารจัดการสั้นมาก เราทำงานกันเป็นครอบครัว เข้าถึงได้ง่ายมาก เดินไปไหนก็เจอ ผมมองว่าตำแหน่งเป็นเพียงหัวโขนที่สวมไว้เพื่อให้รู้บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบ ตำแหน่งไม่ได้เป็นสิ่งบ่งชี้อำนาจ การทำงานต้องเข้าใจ เข้าถึง มีส่วนร่วม ยิ่งคนสมัยใหม่ เราต้องเข้าไปคุยกับเขา จะได้รู้ว่าเขาคิดอะไร

เริ่มจาก ‘รัก’ : ท่านประธาน (คุณวิชัย สามโกเศศ) สอนเสมอว่า ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม คุณต้อง “รัก” สิ่งนั้นก่อน นี่คือคำเดียวเลยที่พอได้ฟังแล้วรู้สึกว่า ต้องกลับมานั่งคิดนอนคิดอยู่ 2 – 3 วัน ว่า ทำอย่างไร เราถึงจะทำได้แบบที่ท่านมอง แล้วพอมีมุมมองแบบนั้นแล้ว เราจะไม่รู้สึกว่าทำงานคือความน่าเบื่อ ทุกครั้งที่ลงสนามกอล์ฟคือลงไปดูสิ่งที่เรารัก สิ่งที่เราผูกพัน สิ่งนี้คือสิ่งที่ท่านปลูกฝัง แล้วเรามาตกผลึกจากตรงนั้น การเข้าไปทำงาน การลงไปดูสนามกอล์ฟ เราชอบตรงนี้เพราะอะไร ก็ย้อนกลับมาคำถามแรก เมื่อตอนคุณอุ้มชวนว่าทำไมเราถึงอยากมาทำสนามกอล์ฟ ทั้งที่เราไม่ได้อยู่ตรงนี้ ไม่มีประสบการณ์มาก่อน ก็ตอบตัวเองได้ว่า สิ่งที่เราชอบคือ ‘ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์’ ได้มองออกไปเห็นสนามเขียว ๆ ต้นไม้เขียว ๆ เห็นผู้คนมาออกรอบเล่นกอล์ฟแล้วยิ้มแย้ม เหมือนมาสนุกกัน เป็นเกมกีฬาที่ทุกคนมาใช้เวลาร่วมกัน ผมมองว่าตรงนี้สำคัญมาก

พระคุณ – พระเดช : ผมไม่ใช้พระเดช ไม่ชอบลงโทษลูกน้อง ถ้าไม่จำเป็นและไม่ได้เป็นความผิดร้ายแรง อยากเริ่มต้นด้วยความเข้าใจว่าปัญหาเขาคืออะไร เราต้องเข้าใจ เข้าถึง แล้วนำไปปรับปรุงร่วมกันกับเขา นี่คือจุดที่ผมบอกว่า ‘พระเดช ใช้ได้แค่ชั่วคราว’ เขายอมเปลี่ยน เพราะกลัวการลงโทษ แต่เปลี่ยนเขาไม่ได้ตลอด เพราะสุดท้ายแล้ว พฤติกรรมที่เขาเป็นก็ยังเหมือนเดิม ไม่ได้ตอบโจทย์ แต่ถ้าเราใช้พระคุณ เข้าหาเขา พูดคุยหาต้นตอของปัญหา สอบถาม ช่วยกันหาสาเหตุของปัญหา ผมว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นจริง ๆ สิ่งนี้คือสิ่งที่ผมใช้ทำงานมาตลอดตั้งแต่สมัยเริ่มทำงาน เมื่อมีปัญหา ต้องเข้าไปค้นว่าปัญหาคืออะไร แล้วแก้ให้ตรงจุด เพื่อไม่ให้ปัญหามันเกิดขึ้นอีก เป็นสิ่งที่ผมใช้มาโดยตลอด ปัญหานั้นใหญ่แค่ไหน ถ้าไม่ได้ใหญ่มาก ช่วยกันแก้ไขได้ก็ช่วยกัน แต่ถ้าแก้ไขไม่ได้ บางอย่างพ้นมือเราไปแล้ว ก็ต้องปล่อย บางอย่างมันทำไม่ได้จริง ๆ ว่ากันไปตามเหตุผล ผมดูแลลูกน้องทุกคนเหมือนเพื่อนคนนึง ที่เรารู้สึกว่าถ้าเพื่อนมีปัญหาเราต้องเข้าไปช่วยแก้ไข

ต้องมีความสุข : ตั้งแต่วันแรกที่ผมมาทำงาน บอกว่าอยากให้ทุกคนมีความสุขในงานที่ทำ แล้วความสุขนี้จะส่งต่อไปถึงลูกค้า นักกอล์ฟ คนรอบข้าง ที่ผ่านมาผมเจอเรื่องเครียดเยอะ สิ่งที่ช่วยลดความเครียดคือออกกำลังด้วยการวิ่ง เพราะทำให้ได้อยู่กับตัวเอง ได้คิดถึงปัญหาและหาวิธีแก้ไข ผ่อนคลายจากความเครียด ยิ่งอายุมากและมีปัญหาด้านสุขภาพ หมอแนะนำให้ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ผมมองว่าการวิ่งคือการออกกำลังกายที่สามารถดูแลตัวเองทั้งร่างกายและจิตใจไปพร้อมกันได้

ตกผลึก : การรู้จักตัวเองสำคัญที่สุด ถ้าเราไม่รู้จักตัวแล้ว จะไปช่วยคนอื่นได้อย่างไร เราจะไม่สามารถมีความสุขได้ การตกผลึกกับตัวตน กับสิ่งที่ตัวเองเป็น สิ่งที่ตัวเองคิด แล้วจะได้มุมมองของเรา สามารถตอบตัวเองได้ว่า สิ่งนี้ทำได้หรือทำไม่ได้ เรามีความสุขกับปัจจุบันหรือยัง เรามีศักยภาพพอมั้ย ขณะเดียวกัน สิ่งที่เราตกผลึกนี้สามารถสนับสนุนคนอื่นได้อีก แม้ว่าจะไม่ใช่สูตรสำเร็จที่ทุกคนนำไปใช้ได้ทั้งหมด แต่สำหรับมุมมองเรา ก็สามารถใช้ในการดำเนินชีวิตมาได้ระดับนึงแล้ว การตกผลึกกับสิ่งที่เป็นตัวเองสำคัญที่สุดครับ