Interview

ปกรณ์ ขุนทอง

ปกรณ์ ขุนทอง
ร้านอาหารปองจันทร์ นครปฐม
“รักษาคำพูด รับปากใครแล้ว ต้องไม่ทำให้เขาผิดหวัง”

เด็กศิลปะ : ช่วงเรียนมัธยม มีอาจารย์สอนศิลปะจบจากเพาะช่าง สมัยก่อนเวลามีงานพระปฐมเจดีย์ มีการเปิดร้าน แล้วให้นักเรียนไปแสดงผลงานด้านศิลปะ อาจารย์ก็ให้เตรียมผลงานไปส่งประกวด พอดีที่บ้านได้นิตยสารจากต่างประเทศ เป็นงานเขียนภาพของฝรั่ง เราเห็นว่าสวยดี ก็นำมาเป็นแม่แบบเขียนภาพด้วยสีโปสเตอร์ แล้วส่งเป็นงานไปให้จัดแสดง โดยไม่รู้อะไรเลย (หัวเราะ) หลังจากนั้น อาจารย์ก็มาที่บ้าน มาถามพ่อว่ารูปนี้ผมเขียนเองรึป่าว? พ่อก็บอกว่าเขียนเอง เห็นนั่งวาดอยู่ ผมก็บอกว่าจะเขียนให้อีกรูปก็ได้ อาจารย์ก็เอาไปแสดงที่โรงเรียน และบอกกับพ่อว่า ถ้ามีฝีมือแบบนี้ ให้ไปเรียนเพาะช่าง ซึ่งตอนนั้นผมไม่รู้อะไรเลย เพราะเพื่อน ๆ ส่วนใหญ่ไปเรียนต่อ ม.ปลาย, วิทยาลัยครูที่นครปฐม หรือสายอาชีวะ อาจารย์ได้แนะนำเพิ่มอีกว่า ให้ไปเรียนกวดวิชาเพิ่ม โดยให้ข้อมูลไว้หมดเลยว่าจะต้องไปที่ไหน

สีโปสเตอร์ : ด้วยความเป็นเด็กบ้านนอก ไปนั่งเรียนวิชาวาดสีน้ำ ผมก็ไม่รู้มาก่อนว่า สีโปสเตอร์กับสีน้ำ มันไม่เหมือนกัน (หัวเราะ) จำได้ว่าตอนนั้นได้เรียนกับพี่เหลิม (อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์) ซึ่งเป็นรุ่นพี่ที่ศิลปากร แล้วอาจารย์ให้มาเป็นติวเตอร์ มาสอน มาเขียนสีน้ำให้ดู เราก็เขียนตาม แต่ใช้สีโปสเตอร์ที่ติดตัวมาด้วย พอเพื่อนเห็นก็แซวว่า ‘พี่นี่เก่งระดับเก่งอาชีพเลยนะ’ เราก็งง จนต้องถามว่าคืออะไร ‘เขาใช้สีน้ำกัน ไม่ใช่สีโปสเตอร์’ ถ้าเป็นการสอบจริง ผมคงตกไปเรียบร้อย เพราะใช้สีผิด ‘ก็ไม่รู้นี่หว่า’ (หัวเราะ) ทำให้เริ่มเรียนรู้ ทำความเข้าใจ ตอนหลังก็สอบติดเพาะช่างรอบบ่าย เพราะผมต้องเดินทางจากนครปฐมไปเรียน คุณพ่อเป็นตำรวจ แม่เปิดร้านขายของชำ ผมเป็นลูกคนโต เช้าต้องช่วยงานที่บ้านก่อน

เพาะช่าง : เรียนเพาะช่าง 3 ปี ชีวิตสนุกมาก ได้เจอกับเพื่อนเป็นนักดนตรี เขาก็ชวนไปไหนไปกัน ไปซ้อม ไปเล่น เราก็ไปช่วยแบกเครื่องดนตรี โดนหลอกไป (หัวเราะ) เป็นอย่างนั้นอยู่สองปี จนวันหนึ่งจะขึ้นปีสาม เพื่อนที่เป็นเด็กเรียน ชวนไปดูงานนิทรรศการศิลปะ บอกว่างานสวยมาก อาจารย์ที่เคยสอนเขาสมัยมัธยมอยู่ที่นี่นั่น (อ.ปรีชา เถาทอง ศิลปินแห่งชาติ) ผมก็ไปดูด้วย รุ่นนั้นมีศิลปินคนสำคัญ ๆ หลายท่านมาก ผลงานสวย ๆ ทั้งนั้น ผมก็ถามว่าที่นี่ คือที่ไหน เพื่อนบอกว่า ‘มหาวิทยาลัยศิลปากร’

ชีวิตมีเป้าหมาย : อยู่กรุงเทพฯ มาพักใหญ่ แต่ไม่รู้ว่ามี ม.ศิลปากร รู้แค่ว่า จบเพาะช่าง ก็ต่อเพาะช่าง หรือประสานมิตร เพราะมัวแต่เที่ยว (หัวเราะ) จึงเกิดคำถามว่า ถ้าอยากเรียนที่นั่น จะต้องทำยังไง? เพื่อนก็บอกว่า จบปี 3 แล้วมาสอบก็ได้ จากนั้นก็เกิดความมุมานะ เลิกเที่ยว (หัวเราะ) ตั้งใจเตรียมสอบ ฝึกเขียนรูปจริงจัง ไปรวมกลุ่มกับเพื่อน ๆ เช่าบ้านอยู่ด้วยกัน บางคนที่เคยสอบแล้วก็มาแนะนำ ติวเรื่องวิชาการ เพราะต้องสอบทั้งวิชาการและปฏิบัติ, พอดีมีรุ่นพี่ทำงานฝ่ายศิลป์ที่กรมแพทย์ทหารเรือ แล้วไปบวช ผมก็ไปช่วยทำงานแทนเดือนนึง เขาแบ่งเงินเดือนมาให้ 900 ร้อยบาท สมัยก่อนหนังสือตำราด้านศิลปะมาจากต่างประเทศแทบทั้งนั้น แล้วราคาแพงมาก, มีตำรากายวิภาคเล่มหนึ่ง ในห้องสมุดยังไม่มี ร้านหนังสือสั่งมาขายแค่เล่มเดียว ราคา 800 บาท ผมใช้เงินที่ได้เกือบทั้งหมดไปซื้อ แล้วมาดู มาอ่าน ศึกษา ฝึกเขียนด้วยตัวเอง ระหว่างเตรียมตัว ก็สอบเรียนต่อที่เพาะช่าง ติด ภาควิชาจิตรกรรมสากล อุ่นใจไว้ก่อน ว่ามีที่เรียน (หัวเราะ) พอถึงเวลาไปสอบที่ศิลปากร ก็ติด ถึงได้สละสิทธิ์ที่เพาะช่าง

คณะจิตรกรรมฯ : ผมเข้า ม.ศิลปากร คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ สมัยนั้นยังไม่ได้แยกกัน และเปิดหลักสูตรศิลปไทย เมื่อปี 2519 โดย อ.ชลูด นิ่มเสมอ เป็นผู้ก่อตั้ง, ปี 1 – 2 เรียนรวมทั้งหมด พอปี 3 เริ่มแยก ให้เลือก 2 วิชาหลัก, พอปี 4 เหลือแค่ 1 วิชาเอก ซึ่งผมเลือกภาพไทย เป็นรุ่นที่ 4 เรียนกันอยู่ 5 คน เพราะชอบ ศรัทธาในผู้สอน อยากเรียนรู้ว่าอาจารย์จะสอนอะไร มีวิธีการคิดแตกต่างจากคนอื่นอย่างไร ถึงแม้ผมจะไม่มีพื้นฐานด้านภาพไทยมาก่อน และยังเป็นภาควิชาเปิดใหม่ กฎระเบียบเยอะแยะมากมาย ถูกบีบจำกัดมาก ก็เครียดเหมือนกัน (หัวเราะ) การเรียนที่นี่ ถึงแม้เราจะไม่เก่ง แต่ดีมากสำหรับชีวิต ทำให้ได้ประสบการณ์ รู้วิธีคิด รู้ขั้นตอน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากในงานศิลปะ ถ้าคุณเข้าใจเรื่องการเรียนแล้ว พอเรียนจบ จะทำงานศิลปะหรือเป็นศิลปิน คุณจะทำอะไรก็ได้ นั่นเป็นอีกเรื่องนึง

งานพิเศษ : พอช่วงปี 3 จะขึ้นปี 4 ทางบ้านมีค่าใช้จ่ายมากขึ้นจากค่าเล่าเรียนน้อง ๆ ผมอยากทำงานแบ่งเบาภาระ พอดีมีคนแนะนำให้รู้จักพี่โย่ง (เอกชัย นพจินดา) พาไปฝากงานที่แกรนด์สปอร์ต ทำงานด้านอาร์ทเวิร์ค โฆษณา ออกแบบ ฯลฯ โชคดีที่มหาวิทยาลัยไม่เข้มงวดเรื่องการเช็คชื่อ เช้าไปทำงาน ไม่เคยได้เรียนเลย (หัวเราะ) ทำสารพัดหน้าที่ ตั้งแต่อาร์ทเวิร์ค ออกแบบเสื้อผ้า ตกแต่งบูธสินค้านอกสถานที่ ถ่ายรูปโฆษณา ฯลฯ เพื่อนคนไหนเป็นอะไรก็มาสอน ทำกันเองแบบจับแพะชนแกะ (หัวเราะ) ทำงานไปสักพัก มีการเปิดหนังสือ ‘เปรียว’ ของคุณระวิ โหลทอง พี่โย่งก็แนะนำให้อีก ทำงานด้านติดต่อขายโฆษณา หานางแบบ ถ่ายแอด ฯลฯ ทำเป็นทีมร่วมกับเพื่อน แรก ๆ ทำงานทั้งสองแห่ง แต่ตอนหลังไม่ไหว เลยมาอยู่ที่หนังสือเต็มตัว

งานหนังสือ : สนุกมาก ได้รู้จักกับผู้คนอีกเยอะแยะมากมาย แต่ทำให้เรียนจบช้าไปปีนึง (หัวเราะ) จนเพื่อนที่เรียนด้วยกันแซวว่าหาตัวผมไม่เจอ เพราะผมทำงานแต่ไม่ได้บอกใคร กลางวันไปทำงาน ตกเย็นเข้ามหาวิทยาลัยเขียนรูปส่งงานอาจารย์ เพื่อจะขอจบ ปีแรกอาจารย์บอกว่าทำงานส่งน้อยไปหน่อย จนต้องดรอป พออีกปีได้ไอเดีย ก็ทำงานส่งเพิ่มจนจบ แล้วมาทำงานต่อ ได้เจอกับ โต (วิทยา มารยาท) เป็นช่างภาพแฟชั่น เขาเรียนถ่ายรูปมา ก็ไปช่วยงานกัน เขาก็แนะนำสอนถ่ายภาพแบบครูพักลักจำ จนเมื่อโรงพิมพ์เปิดหนังสือใหม่ ก็มีโอกาสได้ถ่ายปกอีกหลายเล่ม

ทำงานไม่ได้เงิน : ผมทำงานแบบขัดใจหัวหน้า (หัวเราะ) อะไรที่รู้สึกว่าไม่ใช่ จะเถียง จนโดนคำสั่งว่าไม่ให้จ่ายเงินเดือน (หัวเราะ) แต่ผมก็ยังอยู่ที่นั่น ทำตัวตามปกติอีกพักใหญ่ โดยไม่มีใครรู้ มีแค่ฝ่ายการเงินที่รู้ ผมอยู่ได้เพราะมีงานพิเศษทำอยู่เรื่อย ๆ เพราะอยู่นั่นมีความสุข เฮฮากับเพื่อน ๆ ไป เจ้านายใช้อะไรก็ทำ จนวันนึงเรื่องนี้ถึงผู้บริหาร ทราบว่าผมไม่ได้รับเงินเดือนเลย แต่ผมก็ตอบไปว่าไม่ได้คิดมากอะไร ไม่ขอรับเงินด้วย ถือว่าผมไม่ได้ทำงาน พอถูกถามว่า แล้วกินอยู่ยังไง ก็ตอบประชดไปว่า ขอแถวนี้กิน (หัวเราะ)

ปฏิวัติ : เจ้านายส่งให้ผมไปช่วยงานพี่ตุ่ม (เทพพิทักษ์ จันทร์สุเทพ) ซึ่งเข้ามาทำ ‘ฟุตบอลสยาม’ พอดี ผมทำเลย์เอ้าท์ให้ และอาศัยว่าอยู่ที่นี่มาก่อน รู้จักคนเยอะ เราเก๋า สั่งได้หมด (หัวเราะ) ผมมาดูว่าจะแก้ปัญหาเรื่องสร้างยอดขายได้อย่างไร ส่วนหนึ่งคือการออกไม่ตรงตามกำหนด, คนส่งเรื่อง ส่งข่าว โดยไม่คิดว่าจะใช้เวลาจัดหน้านานแค่ไหน คิดดูละกันว่า หนังสือเล่มละ 10 บาท คนอ่านอยู่ในซอย นั่งรถออกมาซื้อเสียเงินอีกหลายบาท แต่มาถึงแผง หนังสือยังไม่ออก ถ้าจะมาอีกที โดนค่ารถอีกรอบ เขาก็เลิกซื้อ, ผมปฏิวัติเลย (หัวเราะ) ใครส่งช้า โยนลงถังขยะ ช่างภาพถ่ายมาไม่ได้ดั่งใจ ผมไปถ่ายเอง แล้วก็เริ่มออกแบบปกให้แปลก ๆ เปลี่ยนรูปแบบให้ไม่เหมือนเดิม เคยให้นักฟุตบอลทีมชาติ ถ่ายคู่กับนางแบบ เพื่อขึ้นปก เหมือนกับของฝรั่งที่ชอบทำกัน พอเราทำบ้าง โดนด่ายับเลย (หัวเราะ) เพราะไม่มีใครกล้าทำ ขอให้พี่ตุ่มทำคอลัมน์เพิ่ม ใครส่งงานช้า ยกออก เอาเรื่องที่เตรียมไว้แล้วลงแทน ห้องคอมฯ ก็จองคิวไว้ ถ้าไม่ได้ ไม่ยอม (หัวเราะ) บริหารจัดการทุกเรื่อง เพื่อให้ทันเวลา พอหนังสือออก คนวิ่งมาดูงานที่ตัวเองส่ง เพื่อเบิกค่าเรื่อง พอไม่เจอก็ถาม ผมตอบว่าอยู่ในถังขยะ (หัวเราะ) ที่ทำได้เพราะรู้จักกันหมด เพื่อนกันทั้งนั้น ใครเหลวไหลก็ไม่สนใจ ทำตามหน้าที่ เราทำจนหนังสือจากออกรายเดือน มาเป็นรายปักษ์ และเป็นรายสัปดาห์ จากการที่ทำให้หนังสือออกตรงตามกำหนด

โรงพิมพ์ผ้า : อยู่โรงพิมพ์หนังสือจนถึง ราวปี 2531 รู้สึกอิ่มตัว พอเพื่อนชวนไปทำโรงงานสกรีนเสื้อยืดก็ตกลง ตอนนั้นตลาดการ์เมนต์กำลังบูม ธุรกิจส่งออกเสื้อผ้ารุ่งเรืองมาก ขณะเดียวกันเราก็ชอบวงการกีฬา คลุกคลีมาตลอด เห็นเสื้อยืดเชียร์ทีมฟุตบอลที่นักข่าวชอบใส่กัน แต่ผมไม่เคยไปอังกฤษไม่รู้ว่าจริง ๆ เป็นยังไง พอรู้ว่าพี่โย่งมีเสื้อแบบนี้ ก็ขอยืมมาเป็นตัวอย่าง ได้ไอเดียมาทำเสื้อ ตอนนั้นเริ่มมีร้านสตาร์ซอคเกอร์ที่พันทิพย์พอดี ผมก็ไปตกแต่งสถานที่ให้ เริ่มมีการนำวิดีโอเทป สินค้าจากอังกฤษมาขาย ผมเสนอทำเสื้อส่ง จนเมื่อได้ลิขสิทธิ์อย่างถูกต้องก็ผลิตให้มากขึ้น

สู้วิกฤติทุกรอบ : จนเมื่อเกิดเหตุการณ์สงคราวอ่าวสมัยซัดดัม เกิดปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ ตลาดมันตาย โดนกันหมด ลูกค้าเริ่มมีปัญหาไม่ยอมจ่ายเงิน ผมก็ถอนหุ้น พร้อมกับรับหนี้มาด้วย (หัวเราะ) จำนวนที่ต้องชดใช้ มากกว่าเงินลงทุนไปหลายเท่า ต้องเริ่มธุรกิจเอง ขอเช่าตึกของเพื่อนมาทำโรงงานพิมพ์เสื้อ ค่อย ๆ ปรับตัว ค่อย ๆ ผ่อนใช้หนี้ทีละนิด อาศัยมีคนรู้จักมาให้งานเรื่อย ๆ มาฟื้นตัวจริง ๆ เมื่อมาเจอรุ่นน้องอยู่ประตูน้ำ คนนี้กล้าหาญชาญชัยมาก เราเคยช่วยเขามาก่อน ทำงานกันจนเราดีขึ้น ได้รับงานพรีเมี่ยมจากบริษัทใหญ่ ๆ ธนาคารเริ่มให้เครดิต จากเดิมที่ไม่เคยให้มาก่อน ก็ยอมปล่อยเงินกู้ แต่ต้องมาเจอกับวิกฤติต้มยำกุ้ง รอบนี้หนักกว่าเดิมอีก ทั้ง ๆ ที่กำลังจะดีอยู่แล้ว (หัวเราะ)

วัดเจริญธรรม : หรือ วัดถ้ำภูตอง จ.ลพบุรี เป็นวัดปฏิบัติธรรม วัดป่า มีญาติโยมไปปฏิบัติธรรมที่นั่น ช่วงก่อนสงครามซัดดัม ผมก็ไปวัดด้วย แล้วมีผู้ใหญ่แนะนำกับพระที่นั่นว่าผมจบศิลปากร ท่านก็ให้มาดูว่าจะช่วยออกแบบพระประธานที่จะไว้ในโบสถ์ พอปั้นแบบเป็นปูนพลาสเตอร์เสร็จ ก็นำไปตั้งเพื่อให้เห็นว่า องค์นี้จะอยู่ในโบสถ์ แล้วบอกบุญให้ญาติโยมมาร่วมทำบุญกฐิน ในงานกฐินจะมีพิธีเททอง ทำให้มีแรงศรัทธา จนจัดสร้างเสร็จ ขนาดหน้าตัก 49 นิ้ว และยอดทำบุญเป็นจำนวนมหาศาลพอที่จะสร้างโบสถ์จนเสร็จสิ้น

วัดโพธิ์ทอง : ช่วงเกิดปัญหาทางธุรกิจ เพื่อนแนะนำให้มาพบกับ หลวงพ่อวราห์ ปุญญวโร (วัดโพธิ์ทอง) ผมก็เข้าไปช่วยงานที่วัด เราทำเสื้ออยู่แล้ว ทุกวันเกิดหลวงพ่อ จะนำเสื้อไปแจกชาวบ้าน เวลาวัดมีงานก็ทำเสื้อแจก ทำบุญมาตลอด ตั้งแต่สมัยที่ธุรกิจยังราบรื่นอยู่ แล้วผมยังบวชที่นั่น กะไว้แค่สิบกว่าวัน แต่ยืดไปนานกว่าที่คิดไว้เยอะ (หัวเราะ) ช่วงบวช ศาลาการเปรียญโดนพายุพัดล้ม หลวงพ่อให้ไปดูแล ผมก็ให้ช่างมาปรับปรุง พอท่านเห็นว่าทำได้ก็ให้บูรณะโบสถ์ ใช้ช่างที่รู้จักจนแล้วเสร็จ ทำศาลาเทศน์ ฯลฯ ทำมาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2538 มีงานอะไรก็ช่วยตลอด โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับศิลปะ มีส่วนร่วมในงานครุฑถือธงชัยตั้งแต่รุ่นแรก ๆ โดยให้อาจารย์จากกรมศิลปากรเป็นผู้ออกแบบ ผูกพันกับวัดมาตลอด ใครเดือดร้อนมา ถ้าช่วยได้เราช่วยหมด ไม่ได้ซีเรียสกับเรื่องการทำธุรกิจมากนัก มองว่าทุกอย่างมันไม่แน่นอน อะไรที่มีความสุขก็ทำไป เราไม่รู้หรอกว่า เมื่อเราไม่อยู่แล้วมันจะเป็นยังไง จังหวะที่เราล้ม เราเครียด รู้สึกว่าการฆ่าตัวตายมันง่าย แต่พอเอาธรรมะเข้าไปจับ ก็พบว่า ชีวิตนี้ไม่มีอะไรหรอก

ธรรมะคือสิ่งยึดเหนี่ยว : ตอนเรียนมหาวิทยาลัย โชคดีที่เคยไปปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่อฤษีลิงดำ ท่านสอนอะไรไว้เราก็นำมาใช้ ต่อยอด เราทำอะไรไปย่อมมีทั้งคนด่า คนตำหนิ คนไปพูดนินทา ตรงนั้นมันสอนเราให้เข้าใจชีวิต, ช่วงผมไปทำโบสถ์ เขาก็นึกว่าไปรับจ้างจนรวย ใช้เวลาก่อสร้างนานกว่าของคนอื่น จนพอสร้างเสร็จ ได้เห็นผลงาน เขาถึงได้รู้ความจริง แต่ก่อนหน้าโดนด่ามาเยอะเลย (หัวเราะ) เพราะการทำงานฝีมือ ต้องใช้ช่างเฉพาะเท่านั้น ซึ่งมีอยู่น้อย และต้องให้เวลาในการทำงาน ไปเร่งไม่ได้ แต่ผมไม่สนใจเรื่องที่มากวนใจเหล่านี้ ไม่อธิบายด้วย เพราะไม่ใช่หน้าที่เรา เราทำอะไรย่อมรู้ตัวของเราเอง ว่าทำถูกหรือผิด ดีหรือไม่ดี อยู่ที่ตัวเรา หาใช่จากคนอื่น ไม่งั้นผมคงต้องอธิบายให้ฟังกันทีละคน ซึ่งไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะจบสิ้น แล้วก็ไม่มีประโยชน์อะไรกับเราด้วย

กอล์ฟ : ตั้งแต่เด็ก อยากเล่นกีฬา แต่ไม่มีโอกาสมากนักด้วยฐานะทางบ้าน ผมใช้ไม้ปิงปองอันละไม่กี่บาท แข่งกับคนใช้ไม้แพง ๆ เราก็เอาชนะได้, พอทำงานมีรายได้ อยากเล่นเทนนิสบ้าง แต่ต้องมีคนเล่นด้วย ขณะที่กอล์ฟเป็นกีฬาเล่นคนเดียวได้ รถติด ๆ แวะเข้าสนามซ้อมได้ ฝึกสมาธิเราได้ เวลาเครียดกับงาน คิดอะไรไม่ออก เข้าสนามซ้อม หรือไปตีกอล์ฟคนเดียว พอเล่นเสร็จได้ไอเดียทุกครั้ง เพราะจิตเราว่าง หลายครั้งที่คิดงานได้จากสนามกอล์ฟ ผมรู้จักกอล์ฟเพราะ พี่หนู (ธราวุธ นพจินดา) ไปเรียนกับโปร ที่สนามวิภาวดี ผมไปนั่งดู พี่หนูก็บอกให้เรียนพร้อมกันเลย ซ้อมอยู่ไม่กี่ครั้ง พี่หนูชวนไปเชียงราย พอดีเจอรุ่นพี่ ชวนไปออกรอบที่สันติบุรี เล่นกันแบบยังไม่เป็น ผมใช้เหล็ก 7 อันเดียวเคาะไปเรื่อย จนแคดดี้บ่นว่า ใช้แค่เหล็กเดียวทำไมต้องให้แบกมาทั้งถุงด้วย (หัวเราะ) กลับมาก็เรียนกอล์ฟต่อ โปรที่เรียนด้วย มีอุปกรณ์ต่าง ๆ เยอะมาก สมัยนั้นยังไม่เห็นคนอื่นใช้ จนเมื่อที่โรงพิมพ์ออกหนังสือกอล์ฟของ เดวิด เลดเบดเทอร์, นิค ฟัลโด ผมก็ได้อ่าน พบว่าโปรสอนเหมือนกับในหนังสือเป๊ะเลย (หัวเราะ) แล้วก็เล่นกอล์ฟมาตลอด ธุรกิจก็ทำไปเรื่อย ๆ โดยมีลูกน้องคอยดำเนินการอยู่ พอมีเวลาก็ออกมาช่วยงานในวงการข่าวกอล์ฟ ได้เจอโปรเยอะมาก เก็บความรู้มาบ้าง ซ้อมเองบ้าง ได้เล่นกอล์ฟบ้าง

ร้านปองจันทร์ : จุดเริ่มจริง ๆ คือ อยากทำร้านอาหารให้น้อง ๆ ดูแล เราไม่ได้มีพื้นฐานเรื่องร้านอาหารมาก่อน แต่คุณแม่ทำอาหารเก่ง ตอนเปิดร้านท่านทำไม่ไหวแล้ว แต่น้องพอทำได้ มีร้าน ลูกจันทร์กับขุนทอง ให้น้อง ๆ บริหารกันเอง ส่วนผมก็ทำโรงพิมพ์ผ้าไป จนกระทั่งช่วงโควิด ทุกอย่างต้องหยุดหมด หลังจากนั้นเพื่อน ๆ มาขอใช้ห้องที่ร้าน เพราะร้านมีเครื่องเสียงครบอยู่แล้ว จัดงานบ้าง กินเลี้ยงบ้าง วันเกิดบ้าง จนถึงเลี้ยงรุ่น กระทั่งเพื่อนเรียกร้องให้ผมมาเปิดร้านอาหาร บอกว่าพวกเราจะได้มารวมตัวกันบ่อย ๆ (หัวเราะ) จังหวะนั้นพอดีได้ทุนมาบ้างก็ตัดสินใจเปิด ใช้ชื่อว่า ปองจันทร์ ซึ่งเป็นชื่อคุณแม่

กิน – ร้อง บ้านเพื่อน : สมัยก่อนเวลาพาผู้ใหญ่ไปทานข้าว ร้องเพลง ในย่านนี้ รู้สึกว่าไม่ค่อยถูกใจเท่าไหร่ จนคิดว่าต้องทำเองแล้ว (หัวเราะ) เมื่อสิบกว่าปีก่อน ร้านแนวแต่งร้านให้ดูเป็นบ้าน สร้างให้ดูดี ดูแลความสะอาด ยังไม่มีใครทำ จนช่างก่อสร้าง เกิดความสงสัย ถามว่าทำไมต้องทำขนาดนั้น เพื่ออะไร แล้วจะกำไรตรงไหน ขนาดแค่ประตูยังลงทุนเป็นแสน (หัวเราะ) ประกอบกับเราชอบออกแบบตกแต่ง อยากให้ร้านดูเป็นเหมือนแกลลารี่ มีงานศิลปะจัดแสดง สมัยนั้นแถวนี้ยังไม่เคยมีมาก่อน เปิดครั้งแรกใครเห็นก็รู้สึกแปลกใจ อยากมาร้านเราเยอะมาก (หัวเราะ) อาหารส่วนใหญ่เป็นพวกปลา เมนูสุขภาพ เพราะลูกค้าส่วนใหญ่เป็นวัยเกษียณ ร้านอยู่ใกล้บ้านเขา เวลามาที่นี่เราก็เชื่อม แนะนำให้รู้จักกันหมด มาที่นี่ก็เหมือนมาเที่ยวบ้านเพื่อน

ยิ่งให้ ยิ่งได้เยอะ : การเป็นผู้ให้โดยไม่หวังผลประโยชน์ แต่กลายเป็นว่าเรากลับได้เยอะแยะมากมาย เป็นเรื่องจริงที่เจอมาตลอด ผมให้ทุกคน เป็นความภาคภูมิใจ พอสบายใจก็มีแรงทำงาน ทำด้วยความซื่อสัตย์ สนุกกับงาน ไม่ได้หวังอะไรมากมาย จะได้กลับมาเท่าไหร่ก็เท่านั้น มิตรภาพช่วยกลั่นกรองคนดี ๆ ไม่ดีก็เลี่ยงไม่คบ ทำงานกับคนดีนั้นง่าย ไม่ต้องระแวง ไม่ต้องระวัง ทำด้วยความสุข ให้เกียรติซึ่งกันและกัน เราเคยล้มมาก่อนเพราะเจอคนจ้องเอาเปรียบ เล่ห์เหลี่ยมกลโกงสารพัด บางครั้งเราก็พลาด เมื่อเจอคนไม่รักษาคำพูด ขณะที่เรารักษาคำพูด รับปากใครแล้วต้องไม่ทำให้เขาผิดหวัง

สำคัญที่ใจ : เป็นนักสู้  บู๊มาตลอดชีวิต (หัวเราะ) ไม่กลัวลำบาก หนักกว่านี้ก็เจอมาเยอะแล้ว เรื่องแค่นี้ถือว่าเล็กน้อยมาก อะไรที่ผมให้ได้ ยินดีเสมอ ถึงไม่ให้กลับมา ก็ไม่ได้คิดอะไร มันเป็นสิทธิ์ของเขา อย่างการทำร้านอาหาร หน้าที่ของเราคือบริการ ไม่เคยคิดว่าจะต้องกำไร ขาดทุนก็คือขาดทุน ทำเท่าที่ไหว ร่างกายไม่ไหวก็ไม่ฝืน เพราะเรื่องใจสำคัญกว่า อะไรที่ยังไม่เกิด อย่าไปกังวล ทุกอย่างมีทางออก ค่อย ๆ แก้ไปทีละเปลาะ อย่างน้อยหนักก็กลายเป็นเบาได้ เวลาเจอวิกฤติ จะมีกัลยาณมิตรที่เราเคยช่วยไว้เข้ามาช่วยเราเสมอ ใครเต็มร้อยมา เราก็เต็มพันกลับไปครับ