Interview

รศ.ดร.ธวิช สุดสาคร

รศ.ดร.ธวิช สุดสาคร
สถาบันฝึกอบรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
“ถ้าบอกไม่มีปัญหา มันก็ไม่มีปัญหา”

วิ่งเข้าใส่ : เมื่อเจอปัญหาคนอื่นอาจจะหนี แต่นั่นไม่ใช่ผม เจอปัญหาวิ่งเข้าใส่ (หัวเราะ) แล้วแก้ไข สมัยก่อน วางแผนชีวิตว่าอยากเป็นมืออาชีพ แต่ผมมีพื้นฐานภาษาอังกฤษแย่ ถ้าไม่พัฒนา ก็ไปต่อไม่ได้ จึงต้องพยายามเติมเต็มในส่วนที่ขาดหายไป แต่กว่าจะได้ไปต่างประเทศ ยากลำบากมาก จะหาคนรับรองยังไม่มีใครยอมเลย ผมดั้นด้นจนเจอญาติผู้ใหญ่ ไปอธิบายว่า แค่หนึ่งลายเซ็น ‘เปลี่ยนชีวิต’ เด็กคนนึงได้ โดยท่านไม่ต้องรับผิดชอบอะไรกับผมเลย เพราะเตรียมการทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว

ออสเตรเลีย : ไปด้วยความไม่พร้อม (หัวเราะ) อาศัยคนรอบข้างช่วย ๆ กัน คุณแม่เพื่อนบริจาคกระเป๋าเดินทางให้ แต่ล็อคไม่ได้ ต้องใช้ยางยืดรัดพันเอาไว้ (หัวเราะ) ผู้ใหญ่ที่รู้จักร่วมสมทบทุนคนละเล็กละน้อย รวบรวมได้บ้างนิดหน่อยติดตัวไป มีแค่นั้น หมดแล้วหมดเลย พอไปถึงคนรู้จักพาไปทำงานร้านอาหารไทย ทำแบบไม่มีเงินเดือน ขอแค่มีที่อยู่กับมีข้าวกิน

ชีวิตต้องไปต่อ : แต่ผมอยู่แบบนี้นานไม่ได้ เพราะต้องจ่ายค่าต่อวีซ่า จ่ายค่าเรียน จำเป็นต้องออกมาหางานทำ เก็บเงิน, ผมไปเรียนภาษาก่อน 20 สัปดาห์ แล้วเรียนทักษะทางธุรกิจ เหมือนกับพาณิชย์บ้านเรา ซึ่งความรู้ผมเกินตรงนั้นแล้ว เป็นการศึกษาเพื่อเรียนรู้ชีวิตที่นั่นมากกว่า ได้ติวให้กับคนในห้อง เพราะผมโตกว่า (หัวเราะ) โดยมีแผนจะเรียนต่อปริญญาโท ปริญญาเอก แต่ยังไม่มีทุน

เบ๊ ประจำร้าน : ไปสมัครงาน ร้านก็ไม่มีตำแหน่งว่าง พนักงานเต็มแล้ว ก็บอกว่าไม่เป็นไร ผมทำให้ฟรี จนเขาไม่กล้าปฏิเสธ และอย่างเคย ผมเป็นคนไม่อู้ ทำงานเต็มเหนี่ยว ไม่มีพักสูบบุหรี่ ตำแหน่งผมคือ เบ๊ที่สุดในร้าน (หัวเราะ) ทุกคนใช้ผมได้หมด, พอนั่งรถไปถึงร้าน ล้างห้องน้ำก่อนเป็นอันดับแรก เทขยะ หั่นผัก เตรียมของทั้งหมด หุงข้าว และต้องคอยดูไม่ให้หมด เพราะต้องใช้เยอะมาก เคยโดนไล่ออก เพราะเพื่อนอีกคนที่เป็นบัดดี้กัน ไปสูบบุหรี่ ปล่อยให้ข้าวหมด เราพลอยซวยไปด้วย (หัวเราะ) แต่อีกวัน เจ้าของร้านรู้ว่าผมไม่ได้เป็นคนทำ ก็ส่งคนมาตามกลับไปทำงาน

ล้างจานจนร้องไห้ : เป็นหนึ่งปีที่คุ้มค่ามาก มีเรื่องเกือบทุกวัน (หัวเราะ) สองสัปดาห์แรกล้างจานไปร้องไห้ไป หันไปมองทีไรก็มีจานลำเลียงมาให้ตลอด ล้างยังไงก็ไม่มีวันหมด หากใช้วิธีแบบเดิม ๆ ด้วยการใช้แรงเข้าแลกอย่างเดียว เหมือนกับทำงานไม่มีประสิทธิภาพ, เด็กเสิร์ฟ 4 – 5 คน โยนจานมากองสุม เศษอาหารยังเต็มไปหมด ก็มาคิดว่า เขาควรส่งมอบงานที่ดีกว่านี้ให้ผม ซ้อนจานประเภทเดียวกันให้ เคลียร์เศษอาหารออกก่อน ไม่งั้นภาระทั้งหมดจะตกอยู่ที่ผมคนเดียว แบบนี้เท่ากับผมถูกรุม 5 ต่อ 1 (หัวเราะ) ต่อให้ใช้ทั้งเครื่องทั้งมือล้าง ยังไงก็ไม่ทัน

เรียงลำดับความสำคัญ : ผมหยุดทุกอย่าง ถอยหลังออกมา แล้วมองเข้าไปดูว่า แม่ครัวใช้จานแบบไหนเยอะที่สุด จนเห็นแล้วว่าคือจานขนาดกลาง ก็เริ่มจับลำดับความสำคัญใหม่ ทำงานที่สำคัญเร่งด่วนก่อน, จานเปล จานเล็ก ไม่ค่อยได้ใช้ เก็บไว้ล้างทีหลัง, วิธีนี้ทำให้ผมทำงานทัน และมีเวลาเหลือ ไปช่วยคนอื่นได้อีก เห็นแม่ครัวยืนผัดจนแขนล้า ก็ไปช่วยผัด ใครงานล้นมือเข้าไปช่วยหมด

เปลี่ยน : ผมทำหน้าที่เหมือนกัปตันทีม คนไหนเหนื่อยก็คอยไปเติม จากเดิมที่ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างทำ ผมไปเปลี่ยนวัฒนธรรมในการทำงาน ให้ทุกคนช่วยกันได้ โดยผมเริ่มก่อน แล้วก็มีความสุขกับการทำงาน ล้างจานไปร้องเพลงไป (หัวเราะ) ทุกคนก็งงว่าทำไมขณะที่เขาเหนื่อยแต่ผมมีความสุข เพราะผมมีทัศนคติที่ดีในการทำงาน ทำให้บรรยากาศในที่ทำงานดีขึ้น รักกันมากขึ้น โดยทั้งหมดนี้เป็นคนไทยด้วยกันทั้งหมด แต่ละคนมีปัญหาชีวิตเยอะกันทั้งนั้น (หัวเราะ) อยู่ที่นั่น คุณต้องเป็นปลาที่แข็งแรง เพราะต้องว่ายน้ำเชี่ยวตลอดเวลา แผ่วเมื่อไหร่คุณไม่รอด

พอใจในสิ่งที่ทำ : ทางร้านจะโปรโมทผมให้เป็นเชฟ เพราะเห็นหน่วยก้าน เห็นว่าผมทำได้ แต่ผมบอกว่าไม่กล้ารับ เขาก็สงสัย เพราะจะได้รับเงินเพิ่มขึ้นเยอะมาก จากเด็กล้างจานมาเป็นเชฟ โอกาสนี้มีแต่คนอื่นต้องการ แต่ผมไม่กล้ารับผิดชอบร้านที่มีชื่อเสียง อยู่เมืองไทยทำอาหาร ผมยังทานได้คนเดียวเลย (หัวเราะ) ทั้ง ๆ ที่แม่ครัวสอนให้ผมใช้วิธีตวงตามสูตร ส้มตำครกแรกที่ทำ เขาบอกอร่อย ผมยังไม่ค่อยเชื่อ (หัวเราะ) ทำไปจนถึงเมนูผัด คนอื่นอาจมองว่าแปลกที่ไม่อยากเลื่อนตำแหน่ง แต่ผมพอใจหน้าที่ตรงนี้ หากมีอะไรให้ช่วย ผมเต็มที่ วันหยุดเสาร์อาทิตย์ เด็กนักเรียนไทยมักจะไม่มาทำงาน ผมก็ควงกะคนเดียว ทั้งเสิร์ฟ ทั้งล้าง จนหลัง ๆ เจ้าของร้านเรียกผมว่า ‘ท่าน’ เลยนะ (หัวเราะ) หลายครั้งคอยบอกว่า ‘ท่าน…พักบ้างเถอะ’ (หัวเราะ) เมื่อเห็นผมทำงานไม่หยุด เพราะผมมีทัศนคติกับการทำงานว่า ต้อง ‘ตั้งเป้า’ ให้ประสบความสำเร็จ

ฝากผลงาน : ทุกองค์กรที่ผมเข้าไปทำงาน ต้องฝากผลงานไว้ เป็นเหมือนนวัตกรรมหรือการพัฒนา ทำให้ไว้ทุกที่ เคยได้รับฉายาตอนเรียนสวนกุหลาบว่า ‘ดร.ลิง’ เพราะว่องไว แรง คล่อง อะไรก็เอาไม่อยู่ (หัวเราะ) ไม่เคยเป็นจุดอ่อนให้ใคร แต่วันนั้นที่ล้างจานแล้วร้องไห้ รู้สึกว่าตัวเองเป็นจุดอ่อน ถ้างานผมไม่เสร็จ คนอื่นก็กลับบ้านไม่ได้ กฎกติกาคือ ต้องกลับพร้อมกัน นอกจากล้างจานแล้ว ยังต้องเช็ดทำความสะอาดครัวทั้งหมด ถ้าไม่สะอาดเจ้าหน้าที่ตรวจเจอเมื่อไหร่ถูกสั่งปิดร้านได้ทันที ระหว่างคนอื่นทำงานผมต้องตามไปเช็ดอยู่ตลอด ขณะที่คนอื่นพัก ผมก็ยังทำ ไม่อยากให้คนอื่นกลับบ้านช้า ถึงขนาดตอนที่ผมจะกลับไทย มีคนที่รู้จักเคารพรักกันบอกอยากจะยกลูกสาวให้ (หัวเราะ) ทุกที่ ที่ผมทำงานด้วย จะไม่อยากให้ผมออก เพราะอยู่กับใครก็จริงใจกับคน ไม่เกเร ไม่ทำร้าย ไม่คดโกง ให้ความรักคนด้วยความจริงใจ มีทัศนคติที่ดีกับการทำงาน ไม่คิดว่าตัวเองเป็นแค่ลูกจ้าง ทำอะไรคิดให้ดีที่สุด บางครั้งก็คิดแทนเจ้าของ

พัฒนาตัวเอง : กลับมาได้งานบริษัทก่อสร้างชั้นนำของไทย ทำอยู่ 6 ปี ไม่เคยทำงานที่ไหน หนักเท่าที่นี่ (หัวเราะ) ผมทำงานหนึ่งวันอาจเหมือนหนึ่งปีของคนอื่น เคยทำงานคนเดียว 12 โครงการ จนเจ้านายเดินมาถามว่า ‘ทำงานยังไงของคุณ’ (หัวเราะ) เพราะผมเป็นคนไม่ปฏิเสธ พอมีโครงการเปิดใหม่ ขาดคน ขอให้ไปช่วย ผมก็รับหมด เพราะเป็นงานประจำที่ทำเหมือนกัน ต่างกันที่ขนาด ซึ่งผมวางแผนรับมือไว้แล้ว, ตอนจะออกเขาก็ไม่อยากให้ออก จากนั้นผมไปช่วยงานโรงงานผลิตขนม มีส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้านด้วย แต่ใช้ระบบการจัดจำหน่ายแบบดั้งเดิม ขายส่งต่อ ๆ กันไป ไม่รู้เลยว่าลูกค้าอยู่ที่ไหน แต่ผมใช้วิธีไปถึงตัวลูกค้าที่อยู่ต่างประเทศ ความยั่งยืนมันต่างกัน ความเหนื่อยคือต้องไปเปิดตลาด ต้องสร้างแบรนด์ใหม่ ทำโฆษณาเปิดตัว สิ่งแวดล้อมก็ไม่เหมือนกัน เป็นความท้าทายไปอีกแบบ ต้องไปฝึกคน สอนงานด้วยตัวเอง ซ้อนท้ายมอเตอร์ไซด์ลูกน้องจนหัวแดง ไปลุยแจกสินค้าตัวอย่าง ตั้งแต่ถนนยังเป็นทางลูกรัง ไปทำความรู้จักกับเจ๊ ๆ ตามหัวเมืองใหญ่ ๆ (หัวเราะ)

ลดเงินเดือน เพิ่มความสุข : ช่วงทำงานประจำ มีโอกาสเรียนต่อปริญญาโทเศรษฐศาสตร์ที่ NIDA พอจบ ความคิดต่าง ๆ เริ่มจุดประกาย เวลาไปทำงานที่ไหนก็ซัดเต็มเหนี่ยว (หัวเราะ) ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ เกิดประโยชน์กับเจ้าของธุรกิจเพียงกลุ่มเดียว แต่ถ้าผมนำความรู้ ประสบการณ์ที่เก็บรวบรวมไว้ ได้มาด้วยความเหนื่อยยาก ไปทำประโยชน์ โดยเฉพาะในเรื่องการพัฒนาคนในระบบการศึกษา โดยผมเป็นหัวหน้างาน เห็นว่ามีอะไรบกพร่องสำหรับการผลิตคนออกมาทำงาน ทำไมเขาเริ่มต้นไม่ได้ ต้องจับมือทุกอย่าง การเรียน การทำงาน ความคิด มันไม่ไปด้วยกัน ผมว่าต้องมีปัญหาอะไรสักอย่างกับระบบการศึกษา จึงคิดว่าเรากระโดดเข้าไปอยู่ตรงนี้ดีกว่า (หัวเราะ) โดยจะใช้พลังที่ผมมีอยู่ช่วยพัฒนาและเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้สังคมดีขึ้น

งานการศึกษา : การทำงานในบริษัทได้เก็บประสบการณ์ จากการเป็นผู้จัดการมาแทบทุกแผนก จนรู้สึกเต็มเหนี่ยว (หัวเราะ) การเป็นผู้บริหาร ต้องรักคน ต้องรู้จักเป็นผู้ให้ก่อน กระทั่งตัดสินใจมาทำงานในภาควิชาการ ใช้ความรู้ที่เก็บสะสมมา ซึ่งหลักสูตรธุรกิจ น่าจะตรงกับผมมากที่สุด จึงมาเป็นผู้บริหารหลักสูตร ผู้อำนวยการ MBA ที่ ม.ศรีปทุม ชลบุรี งานสายการศึกษา ทำให้ผมได้เห็นทั้งกระบวนการ การผลิต การสร้างคนที่อยู่ในระบบ ปริญญาตรี ปริญญาโท ผมเรียนเศรษฐศาสตร์ พอปริญญาเอก ก็อยากเรียนเศรษฐศาสตร์ให้ต่อเนื่อง แต่มหาวิทยาลัยมอบหมายให้เป็นผู้อำนวยการ MBA โดยให้ทุนเรียนสาขาบริหารเท่านั้น นั่นคือหน้าที่ จึงเข้าเรียนที่ AIT พอเรียนคอร์สเวิร์คจบ ก็ไปเรียนคอร์สเวิร์คที่ NIDA อีกสองปี ทำให้ผมต้องสลับเรียนทั้งสองแห่ง พร้อมกับทำงานเป็น ผอ. ไปด้วย เป็นงานที่หนักมาก ผมจะใช้วิธี ‘มากที่สุด’ ไม่ได้ แต่ต้องใช้ ‘เหมาะที่สุด’ เพื่อทำหลาย ๆ อย่างในเวลาเดียวกัน อาจไม่ได้ดีที่สุดในเรื่องนั้น แต่พอไปได้ในระดับกลาง ๆ ตามที่เคยใช้กระบวนการที่มีระบบในวิชาฟิสิกส์ สมัย ม.4 (หัวเราะ) จนในที่สุดก็จบปริญญาเอกจาก AIT (ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาธุรกิจระหว่างประเทศ) และเรียนคอร์สเวิร์คที่ NIDA จนจบ (ว่าที่ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาเศรษฐศาสตร์)

บ้าน : จากประสบการณ์เดินทางไปมากว่าสามสิบประเทศและเคยไปทำงาน ที่อื่นนั้นถึงจะสวยก็แค่ไปชั่วครั้งชั่วคราว บางที่เห็นความเหลื่อมล้ำอย่างมาก หรือมีปัญหาสังคมต้องแก้ไขเยอะ การได้เห็นมุมมองต่าง ๆ จนได้ข้อสรุปว่า ไม่มีที่ไหนเหมือนประเทศไทย ที่ให้ความสุขแบบ ‘บ้าน’ ของเราได้จริง ๆ โชคดีมากที่เกิดเป็นคนไทย ทำให้ผมกลับมาเรียนและบอกตัวเองว่า ต้องกลับมาช่วยคนที่ ‘ขาดโอกาส’ เหมือนตอนผมเป็นเด็ก ยิ่งผมเป็นศิษย์เก่าคณะเศรษฐศาสตร์สหกรณ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยิ่งมีผูกพันกับอุดมการณ์สหกรณ์ และรู้ว่าเป็นหนทางที่น่าจะช่วยสังคมชนบทได้ โดยเฉพาะในเรื่องของความร่วมมือซึ่งกันและกัน

ตกผลึก : พยายามค้นหาว่าความสุขในชีวิตตัวเองคืออะไร (หัวเราะ) พอเปลี่ยนจากเงินเดือนระดับผู้บริหาร แล้วลดลงมาเรื่อย ๆ การหารายได้ก็ไม่ได้เป็นเป้าหมายสูงสุดในชีวิตอีกต่อไป, เราเคยอยู่อย่างลำบากมาก่อน มีชีวิตแค่พออยู่ได้ก็พอใจแล้ว ไม่ต้องถึงกับรวยที่สุด มีมากที่สุด สิ่งที่เป็นเป้าหมายจริง ๆ ที่ผมตอบตัวเองได้ก็คือ ‘ได้ทำประโยชน์ให้กับสังคม’ ซึ่งเรื่องนี้ ผมคิดได้ครั้งแรกระหว่างยืนล้างจานในร้านอาหาร เหมือนได้ฝึกวิทยายุทธ์ (หัวเราะ) ได้อยู่กับตัวเอง ตั้งคำถามว่าเราเกิดมาทำไม เกิดมาเพื่ออะไร ถ้าไม่ได้ทำประโยชน์อะไร มันเสียชาติเกิด เราเป็นมนุษย์มีโอกาสที่ดี ถ้าไม่ได้ทำความดีกับสังคม มันน่าเสียดาย, ความสุขที่ได้เห็นจากสิ่งที่เราทำให้งอกเงย พัฒนา เป็นประโยชน์อย่างยั่งยืนกับสังคม จะเหนื่อยยากยังไง ก็เป็นความสุขที่อิ่มใจ

SEDA : ทุกวันนี้ไปดูเรื่องกลุ่มเปราะบาง เช่น คนพิการ กลุ่มชาติพันธุ์ เด็กบนดอย ฯลฯ ช่วยกันกับภรรยาทำ ‘สถาบันฝึกอบรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม’ (SEDA) ขึ้นมา ตามแผนคือเกษียณจากราชการมาทำเรื่องนี้โดยตรง นั่นคือเราพัฒนาในทุกมิติ โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือก่อน เรานำความรู้และประสบการณ์มาใช้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในเรื่องเศรษฐกิจ ปากท้องต้องมาก่อน กินอิ่ม นอนหลับ อย่างเช่นเรื่องประชาธิปไตย คนที่มีพื้นฐานที่ดี เขาจะให้ความสนใจและให้ความร่วมมือกับเรื่องนี้มาก แต่ถ้ายังกินไม่อิ่ม นอนไม่หลับ ความสนใจของเขาก็จะลดน้อยลงไป ภารกิจ 5 มิติ อันเป็นเป้าหมายของสถาบันมีดังนี้…

1. การดูแลสิ่งแวดล้อม เราถูกธรรมชาติลงโทษ เพราะใช้สิ่งแวดล้อมไม่ถูกวิธี ไปทำลายมากมาย จึงมุ่งเน้นว่าจะดูแลยังไงอย่างยั่งยืน โดยเน้นเป้าหมายของ SDG (Sustainable Development Goals) ในการพัฒนา
2. การรักษาวิถีชีวิตชุมชน ถือว่า เป็น Soft Power มีคุณค่า มีความสวยงาม ในแบบของเรา น่าจะเป็นพื้นฐานของการพัฒนาได้อีกเยอะมาก
3. สร้างงาน สร้างรายได้ ทำให้คนมีรายได้ดูแลตัวเอง ไม่ต้องรอร้องขอความช่วยเหลือจากใคร ทำได้เอง
4. การพัฒนาการศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ ของชุมชนท้องถิ่น
5. การดูแลสุขภาพตัวเอง

ยาวิเศษ : ผมเชื่อว่า กีฬา โดยเฉพาะฟุตบอลที่ผมฝึกมาตั้งแต่เด็ก ๆ ช่วยพัฒนาตัวเอง ทำให้เรามีความอดทน รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย ยอมรับคนอื่น รู้จักกฎกติกามารยาท ซึ่งผมพิสูจน์มาแล้วด้วยตัวเองว่าได้ผลจริง ตอนนี้ยังทำเรื่องกีฬาด้วย ผมได้รับความอนุเคราะห์จาก สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย กำลังจะจัดหลักสูตรอบรมผู้ฝึกสอน G License ดูแลเด็ก อายุ 6 – 12 ปี เป็นกลุ่มเริ่มต้นพื้นฐาน ทำยังไงให้เด็ก ๆ มีความรัก ความเข้าใจ และพัฒนากีฬาฟุตบอลอย่างถูกทาง

สู้ด้วยวิถีไทย : ผมไปมาทั่วโลก ไม่มีที่ไหนพร้อมเหมือนประเทศไทย เรามีทุกอย่าง แต่ขาดการจัดการที่ดี ถ้ามองในเศรษฐกิจโลก หากเราจะไปแข่งการผลิตกับเขา ยังไงก็ไม่มีทาง เราสู้เขาไม่ได้ในเรื่องต้นทุนการผลิต วิธีคิดของเราคือ ต้องสร้างค่าจากภูมิปัญญา ทรัพยากรของเรา ทำให้มีความแตกต่าง โดดเด่น เป็นที่ต้องการ เราสามารถผลิตอาหาร เราไม่เคยเห็นคนไทยอดตาย, ผมเชื่อว่าชุมชนควรให้ภูมิปัญญาท้องถิ่นไปจัดการ จะทำให้เกิดความยั่งยืนของการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนนั้น คนก็จะอยู่ในพื้นที่ของตัวเอง ไม่ต้องออกไปหางานทำ พ่อแม่ไม่ต้องทิ้งลูกให้อยู่กับปู่ย่าตายาย ครอบครัวเข้มแข็งขึ้น

ดูแลตน : โชคดีตอนไปสอนโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ได้เป็นหัวหน้าโครงการ การพัฒนาคุณภาพชีวิตตำรวจ มีโอกาสทำความเข้าใจในกลไกนี้ เด็ก ๆ อาจไม่เข้าใจว่า ‘ความไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ’ แต่พออายุมากขึ้นถึงเข้าใจเลยว่า ‘สำคัญมาก’ ต้องเข้าใจว่าร่างกายก็เหมือนกับรถยนต์ จะใช้งานโดยไม่ดูแลเลยไม่ได้ ต้องเข้าศูนย์บำรุงรักษาตลอด อย่างตัวเราในแต่ละวัย จริง ๆ ต้องมีความรู้เกี่ยวกับสุขภาพของคนไทย โดยเฉพาะ NCDs (โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง) เช่น เบาหวาน ความดัน ฯลฯ เพราะเราสมบูรณ์ในเรื่องการกิน แต่ถ้าไม่รู้จักบริหารจัดการ ในเรื่องปริมาณและคุณภาพ ต้องคำนึงถึงคุณประโยชน์ โภชนาการ ที่เหมาะสมกับร่างกายและวัย อะไรที่จะเข้าปาก ต้องมีสติก่อน (หัวเราะ) แล้วมีเวลาก็จะชวนภรรยาไปออกกำลังกาย เดินพักผ่อน หรือเดินเร็ว ๆ การขยับเคลื่อนไหวเป็นสิ่งที่ดี ทำให้ระบบหัวใจทำงานเต็มที่ เลือดสูบฉีด นอนหลับสบาย แต่จะให้ไปวิ่งหนักเหมือนเมื่อก่อนก็ไม่ได้ ความเสื่อมของร่ายกายย่อมเกิดขึ้นตามวัย ผมเล่นกีฬามาตั้งแต่เด็ก ใช้ร่างกายมาหนักมาก มีเล่นฟุตบอลบ้าง แต่ไม่ทุ่มเทเหมือนก่อน เปลี่ยนจากผู้เล่นมาเป็นโค้ชมากกว่า (หัวเราะ)

บริหารจิต : ผมเป็นคนจริงจังแต่ไม่เครียด ไม่ว่างานจะหนักแค่ไหน เหนื่อยก็แค่พัก แต่เวลาที่งานเยอะ ตัวเองไม่นิ่ง จะฟุ้งไปเรื่อย ถ้าเราหยุดมันไม่ได้ ก็หันมาใช้ ‘การจัดการความคิด’ อยากคิด คิดไป เหนื่อยก็พอ หยุด, แต่ถ้าเราไม่มีสติ จะคิดมั่วไปเรื่อย (หัวเราะ) พอเราไม่มีสติ ไม่มีภูมิคุ้มกันที่ดี ทำให้แก้ปัญหาไม่ถูก ‘ศีล สติ สมาธิ ปัญญา’ ทำให้มีกรอบในการดำเนินชีวิต รู้ว่าสิ่งใดดีหรือไม่ อะไรไม่ดี ก็ไม่ทำ และมี ‘ความละอายเกรงกลัวต่อบาป’ อย่าไปสร้างเวรสร้างกรรม ไม่เกเร ไม่ทำร้ายคนอื่น คิดบวก ทำให้เกิดพื้นฐานจิตใจที่ดีของเรา, พระอาจารย์สอนว่า ‘ตื่นรู้ กำหนดรู้’ แค่สองคำนี้เราฝึกได้ ณ ภาวะนั้น ต้องไม่หลอกตัวเอง สุขก็คือสุข ทุกข์ก็คือทุกข์ ยอมรับความเป็นจริงว่า มาแล้วเดี๋ยวก็ไป กำหนดรู้ คือรู้แล้วต้องเปลี่ยน ไม่จมอยู่กับมัน หมายความว่าต้องขยับออก จนทำให้จิตนิ่ง ปล่อยวางกับสิ่งที่เกิด เมื่อความนิ่งเกิด มีสมาธิ มีสติ ก็ทำให้เกิดปัญญา, ปัญหาเมื่อมีเข้ามา มากมายแค่ไหน เดี๋ยวมันก็ไป คลี่คลายเอง ไม่ได้อยู่อย่างนั้นตลอด ซึ่งจริง ๆ อยู่ที่จิตของเรา ถ้าบอกไม่มีปัญหา มันก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าบอกว่าเป็นปัญหามันก็เป็นปัญหาจริง ๆ (หัวเราะ)

กอล์ฟ : เล่นมาตั้งแต่ปี 2538 ตอนผมเป็นสมุห์บัญชี มีโครงการร่วมทุนกับบริษัทข้ามชาติ เขามาชวนเล่น ก็ต้องไปฝึก ดู ถาม จนเล่นได้ แต่ผมก็ตีผิดวิธีมาเป็นสิบปี โดยที่ไม่รู้ เพื่อนที่ไปด้วยกันก็ไม่ยอมบอก สงสัยเลี้ยงไว้กิน มีแต่แซวว่า วงหลวม ๆ (หัวเราะ) มาทราบตอนไปซื้อไม้ แล้วตีทดสอบ พนักงานทักว่าผมตีรีเวอร์ส ตอนทำแบ็คสวิงแล้วหน้าทิ่ม พอดาวน์สวิงเกิดการยกตัวทำให้หน้าหงาย แกนร่างกายไม่นิ่ง ก็ค่อย ๆ ทำความเข้าใจ แก้ไปทีละอย่าง จนมาเข้าใจกลไก การทำงานของร่างกาย เพื่อทำให้การสวิง การตี เกิดประสิทธิภาพที่ดี ควรจะต้องจัดระเบียบร่ายกายยังไง เหมือนกับการเรียนฟิสิกส์ (หัวเราะ) ที่สำคัญคือการออกรอบ ต้องมีบ้างเดือนละครั้งสองครั้ง คนชอบชวนเพราะฝีมือกลาง ๆ เพื่อนจะเยอะหน่อย (หัวเราะ) ผมตีสกอร์ตามเพื่อน เขาเล่นดีก็ตั้งใจตาม แต่ส่วนใหญ่จะเล่นแบบ รีแลกซ์ ไม่เครียด ตีเร็ว ไม่ทำรูทีน มั่นใจ จดไม้แล้วตีเลย เพราะรู้ว่าหากตีดีกว่านี้ เพื่อนอาจไม่คบครับ!