Interview

วรเดช จริยะวรกุล

วรเดช จริยะวรกุล
บริษัท แบล็คซี 1994 จำกัด
“เราไม่สามารถเปลี่ยนโลกได้ แต่เราสามารถเปลี่ยนตัวเองได้”

ผมเล่นบาสฯ ตั้งแต่อายุ 9 ขวบ ที่เล่นกีฬา ก็เพราะเด็กๆ ตัวอ้วนมาก พี่ๆ บ่นอยากให้ลดน้ำหนัก จึงเริ่มเล่นบาสฯ แล้วผมเป็นคนทำอะไรจริงจัง เมื่อเล่นแล้วก็ฝึกซ้อมหนัก ทำให้มีการพัฒนาทักษะการเล่นมาเรื่อยๆ จนได้เป็นนักกีฬาโรงเรียน นักกีฬาวิทยาลัย เป็นนักกีฬาให้จังหวัดอยุธยา เป็นตัวแทนเขต 1 ในตำแหน่งการ์ดขวา ทำหน้าที่จ่ายบอล ผมตัวไม่สูงมากนัก แต่กระโดดจับห่วงได้ อาศัยความสามารถเฉพาะตัว อ่านเกม คุมเกม คอยกัน คอยทำแต้ม

พอจบ มศ.3 อยากจะเรียนพลศึกษา เพราะเป็นคนชอบกีฬา แต่ก็มีจุดเปลี่ยนทำให้ต้องไปเรียนสายช่างที่ช่างกลปทุมวันและเรียนต่อวิศวะเครื่องกลที่พระจอมเกล้าพระนครเหนือจนจบปริญญาตรี แล้วก็เข้าเรียนต่อปริญญาโทที่นั่นด้วย แต่การทำวิทยานิพนธ์ต้องใช้ทุนสูงในการทำวิจัย ผู้ให้ทุนก็อยากได้ลิขสิทธิ์ ขณะที่สถาบันก็ต้องการเช่นกัน เรื่องที่ผมวิจัยนั้นเป็นการคิดค้นผลิตอุปกรณ์ลูกถ้วยไฟฟ้าแรงสูง เพื่อทดแทนการนำเข้า ซึ่งเป็นเรื่องยากมาก มีขั้นตอนซับซ้อนในการจะผลิตให้ได้คุณภาพตามต้องการ อุปสรรคที่ผมเจอในเวลานั้นคือการหาทุน กับการถือลิขสิทธิ์ จนในที่สุดก็ไม่ได้ทำวิจัย

พอเกิดปัญหานี้ขึ้นมา ผมก็ทบทวนว่า ถ้าจบปริญญาโทแล้วจะไปทำอะไร ในประเทศเรางานทางด้านวิจัยมีน้อย ส่วนใหญ่ก็จะไปเป็นอาจารย์สอนหนังสือในมหาวิทยาลัย เลยตัดสินใจเปลี่ยนไปเรียนสายบริหาร เพราะมองว่ายังไงเราก็ทำงานอยู่กับคน

เดิมทีช่วงที่กำลังเรียนอยู่ปี 3 อาจารย์จะหาทุนไปเรียนต่อปริญญาโทที่เยอรมัน เพื่อให้กลับมาสอน แต่ตอนนั้นผมไม่อยากเป็นอาจารย์สอนหนังสือจึงปฏิเสธไป และช่วงนั้นมีการแข่งขันกีฬาภายใน อาจารย์มอบหมายให้ผมคนเดียวไปจัดการทั้งหมด ผมก็ไปวางแผน ลงมือทำงาน จนงานกีฬาสำเร็จลุล่วงเรียบร้อยสมบูรณ์แบบ ท่านก็ชวนให้ผมไปเป็นผู้ช่วยสอน

พอเรียนจบผมก็ถามตัวเองว่า ชีวิตต้องการอะไรกันแน่ คำตอบหนึ่งก็คือ ทุกคนต้องการเกียรติยศ ต้องการเป็นที่ยอมรับจากสังคม นั่นคือการเรียนสูงๆ จบดอกเตอร์ สอนในมหาวิทยาลัย ไปไหนคนก็เรียกอาจารย์ ผมไม่มีพื้นฐานทางการค้าจึงคิดอยากจะเรียน ก็ต้องรับราชการ ไปสมัครสอบเป็นครูซึ่งมีแค่ตำแหน่งเดียว แล้วผมก็สอบได้ สอนอยู่สองปีก็รู้ว่านี่ไม่ใช่ตัวเรา เพราะการเรียนหรือการสอนก็ต้องอยู่ในรั้วสถาบัน แต่ผมอยากจะออกไปท่องโลกภายนอกบ้าง…

เพื่อนบอกว่า ถ้าอยากจะเป็นเจ้าของธุรกิจต้องไปเป็นเซลส์ก่อน ต้องรู้จักวิธีหาลูกค้า จะดูแลลูกค้ายังไง ผมจึงไปเป็นเซลส์เอ็นจิเนียร์ ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องการขายอย่างเดียว แต่ต้องช่วยลูกค้าดูแลว่าเขาจะต้องใช้อะไรถึงจะเหมาะสม แล้วเราก็คำนวณออกมาให้ ถ้าซื้อไปแล้วใช้ไม่ได้ตามที่เขาต้องการ เราต้องรับผิดชอบ

งานทางด้านสายช่าง เป็นงานที่ผมได้สัมผัสมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กนักเรียน ช่วงปิดเทอมก็จะไปทำงานพิเศษ โรงงานทำบัลลาร์ด หม้อแปลง โรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ตื่นตั้งแต่ตีห้าถึงบ้านห้าทุ่ม แต่เมื่อมาย้อนถามตัวเองว่า ชอบงานช่าง ชอบซ่อมเครื่องหรือเปล่า คำตอบก็คือไม่ เพราะงานซ่อมต่างๆ จะต้องอาศัยการติดตามข่าวสารอยู่ตลอดเวลา แล้วถามต่อว่าเราถนัดอะไร คำตอบสุดท้ายก็คือ การเล่นกับคน การบริหารคน การบริหารทีม เพราะงานทุกอย่างจะประสบความสำเร็จได้ก็เพราะทีมงาน เราคนเดียวทำงานไม่ได้ ต้องสร้างทีมงาน คนเรามีความสามารถอยู่ 100% แต่ใช้แค่ 25-30% เราเป็นผู้บริหารจะรีดความสามารถเขาอย่างไรเพื่อจะให้เพิ่มเป็น 70-80%

เราได้เรียนเรื่องราวเกี่ยวกับมนุษย์ มีทฤษฎีที่แบ่งออกเป็น ทฤษฎี X บอกว่า คนต้องถูกบังคับ ต้องใช้กฎเกณฑ์ ต้องถูกลงโทษ ถึงจะทำงาน ส่วนที่ตรงข้ามกันเลยคือ ทฤษฎี Y กลับบอกว่า คนต้องการแรงจูงใจ ให้กำลังใจ ไม่ต้องการถูกลงโทษ ไม่ยอมรับการบีบบังคับ แต่คนเรามีทั้งสองแบบ บางกลุ่มก็ต้องใช้กฎข้อบังคับ ส่วนอีกกลุ่มไม่จำเป็น เขารับผิดชอบเองได้ นั่นเป็นเรื่องของจิตวิทยา ทำให้ผมก็เคยอยากจะเรียนต่อทางด้านจิตวิทยาด้วย

จังหวะนั้นผมต้องไปทำงานต่างจังหวัด เพราะก่อนหน้านี้เพื่อนให้ช่วยขายธุรกิจโรงโม่ให้ จะให้ค่านายหน้า ตอนนั้นผมยังรับราชการอยู่ แล้วพอดีผมกู้เงินได้ก็เลยซื้อไว้เอง ทำงานหนักมาก ทั้งเหนื่อย ทั้งสนุก ทั้งเครียด ห้าปีแรกไม่มีใครได้เห็นรอยยิ้มผมเลย เพราะงานที่ทำมันต้องติดต่อกับผู้คน หน่วยงานต่างๆ ต่อเนื่องกันหลายมิติ และยังต้องลงทุนเพิ่มหากจะทำให้ผลผลิตออกมาคุ้มค่า ต้องปรับปรุงเครื่องจักร ซื้อที่ดิน หาแหล่งวัตถุดิบ แล้วยังต้องเจอกับกฎหมายที่มีการเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดอีก จ้างเขาทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ผมก็ต้องมานั่งช่วยเขาทำ ช่วงแรกๆ ของการทำธุรกิจจึงเจอแต่ปัญหา กู้เงินมาลงทุนแต่หนี้กลับเพิ่มขึ้น พอผ่านไปอีก 3 ปีก็เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ทำให้มีหนี้อยู่จำนวนมาก แต่ก็ผ่านมาได้ ด้วยการรู้วิธีจัดการกับปัญหา

ในการทำธุรกิจทุกอย่าง ต้องหาจุดคุ้มทุน ระหว่างรายได้กับรายจ่ายให้เจอเสียก่อน ถึงจะทำต่อไปได้ ต้องหาวิธีทำให้ทุกคนอยู่รอดให้ได้ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ จากเคยผลิตเยอะๆ ก็ต้องลดกำลังลง ช่วงที่หยุดผลิตก็ให้พนักงานเลือกว่าจะจับฉลากออก หรือไม่ต้องออก แต่จะลดเวลาทำงานลง ช่วงเปิดผลิตรับค่าแรงปกติ แต่ช่วงปิดงานจะได้ค่าแรงครึ่งนึง ส่วนใหญ่ก็เลือกว่าวิธีหลัง ถึงแม้บางคนจะไม่บอกว่าไม่พอใช้ ต้องออกไปหางานทำเพิ่ม แต่ก็มีที่ไปทำงานแล้วไม่ได้เงินเลย นั่นแสดงว่าเศรษฐกิจนั้นแย่จริงๆ จนกระทั่งธุรกิจเริ่มกระเตื้องขึ้นทีละนิดๆ จากการปรับตัวของเรา และสภาพบ้านเมืองโดยรวม

ช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ ผมมีหนี้สินเยอะ แต่กลับไปซื้อธุรกิจร้านอาหารเพิ่ม หลายคนเลยถามว่าทำไมถึงกล้าทำ ซึ่งผมคิดว่า นี่คือการกระจายความเสี่ยง ซื้อช่วงตกต่ำที่สุดเดี๋ยวก็ดีขึ้น นั่นคือการมองแบบคนหนุ่ม คนประสบการณ์น้อย และผมเป็นคนที่เรียกว่า ลิ้นจรเข้ คือกินง่ายอยู่ง่ายมาก ถ้าร้านไหนที่ผมไปกินแล้วบอกว่าไม่อร่อย รับรองว่าร้านนั้นไปไม่รอดแน่นอน

จุดเด่นของร้านก่อนหน้านี้คือ อาหารอร่อย บริการระดับโรงแรม ราคาจึงค่อนข้างแพง คนเลยน้อย หน้าที่ของผมคือจะทำอย่างไรให้คนเต็มร้าน ลานลูกไม้แดง ซึ่งตั้งอยู่ในตัวเมืองนครราชสีมา ภายในเวลาหนึ่งปี ซึ่งผมทำได้ภายในเวลาครึ่งเดียว ปัจจัยสำคัญของร้านอาหารในต่างจังหวัดคือ ราคา จึงต้องปรับให้เหมาะสม และหาความเป็นเอกลักษณ์ของร้านให้ได้ นั่นคือเป็นอาหารไทยรสต้นตำรับดั้งเดิม โรงแรมใหญ่ๆ ของที่นี่ก็แนะนำแขกต่างชาติให้มาทานอาหารไทยกับเรา กุญแจประสบความสำเร็จของร้านเราก็คือ อาหารอร่อย บริการดี บรรยากาศดี สถานที่สะอาด ราคาสมเหตุสมผล

ต่อมาก็ได้ถูกดึงเข้าไปในธุรกิจนมแบบไม่ได้ตั้งใจ โดยถูกเชิญให้เข้าไปช่วยบริหาร แล้วก็ซื้อหุ้นซื้อทุน จากเดิมที่โรงนมมีหนี้สินอยู่เยอะ ก็ค่อยสะสางและแก้ปัญหา จนเลี้ยงตัวได้ ซึ่งแต่ละธุรกิจที่ผมทำ ไม่มีความเกี่ยวข้องกันโดยตรงเลย ทั้ง โรงโม่ผลิตหินก่อสร้าง ร้านอาหาร โรงงานนม แต่ทั้งหมดนี้หัวใจอยู่ที่การสร้างทีมงาน สร้างคน ต้องรู้ว่ากุญแจของความสำเร็จในธุรกิจนั้นอยู่ที่ไหน ในแต่ละธุรกิจให้ผลตอบแทนไม่เท่ากัน เราก็ต้องรู้ถึงความเสี่ยงเหล่านี้

พื้นที่ที่ผมทำธุรกิจ อยู่ใกล้ป่าเขาอังคาร จ.บุรีรัมย์ แต่เมื่อครั้งแรกที่มาอยู่ไม่มีต้นไม้เลย เกิดไฟป่าปีละสิบกว่าครั้ง ผมพาชาวบ้านไปดับไฟ จัดตั้งกองทุนพิทักษ์ป่า ดูแลป่าเขาอังคารมายี่สิบกว่าปีแล้ว รวมเนื้อที่กว่าสองหมื่นสามพันไร่ วันนี้ป่าสมบูรณ์ มีฝนตกต้องตามฤดูกาล เมื่อป่าสมบูรณ์จะเป็นแหล่งอาหารตามธรรมชาติ มีการจัดระเบียบ เปิดปิดเป็นเวลา พอถึงฤดูเก็บเห็ดชาวบ้านต่างถิ่นเหมารถมาเก็บไปขายยังคุ้ม และยังมีของป่าอีกเยอะแยะมากมาย

ที่นั่นมีปัญหาภัยแล้ง เมื่อฝนทิ้งช่วงไม่มีน้ำทำนา พอเราทำแหล่งน้ำสามารถสูบน้ำให้ชาวบ้านได้ และยังตั้งกองทุนน้ำเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการสูบน้ำเข้านา มีการจัดสร้างท่อส่งน้ำถึงนา ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของการบริหารจัดการที่เราได้เข้าไปช่วยดูแล โดยเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญเป็นสิ่งแรกคือ ป่าและน้ำ

ในเขตตำบลเจริญสุข อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ จะมีชื่อเสียงในเรื่องดินภูเขาไฟ การทอผ้าภูอัคนี มีการตั้งกลุ่มแม่บ้าน จะทำอย่างไรให้ชาวบ้านมีรายได้ เราก็พาไปดูงาน กลับมาพัฒนาผลิตภัณฑ์จนทุกวันนี้เป็นที่รู้จักกันแล้ว หรือการทำการเกษตร เมื่อหมดฤดูปลูกข้าวก็สอบถามกันว่าเราจะปลูกอะไรกันดี จะทำนาปรังหรือไม่ ซึ่งเมื่อก่อนไม่เคยมีใครเชื่อว่าที่นี่จะทำนาปรังได้ แต่ตอนนี้ทำหกร้อยไร่มาแล้วสามปี ปัญหาคือราคาข้าวไม่ดี ผมก็ต้องหาชนิดอื่นมาปลูกทดแทน จนได้ทราบว่าถั่วเขียวบ้านเรายังขาดแคลนมาก ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ โดยปีแรกเราต้องไปส่งเขาก่อน แล้วถ้าเขารู้ว่าผลผลิตเรามากพอก็จะมารับซื้อถึงที่

ตามกฎหมายได้ระบุไว้ว่าธุรกิจโรงโม่ที่ได้สัมปทานบัตรแปลงใหม่จะต้องตั้งกองทุนพัฒนาชุมชนและสิ่งแวดล้อมขึ้นมา รวมถึงกองทุนเฝ้าระวังสุขภาพอีกด้วย เราไม่จำเป็นต้องตั้งก็ได้เพราะเป็นสัมปทานบัตรเก่า แต่ผมก็ตั้งมาสามปีแล้ว เพราะรู้ดีว่าเวลาชาวบ้านเดือดร้อน ไม่มีงบ ก็สามารถนำทุนส่วนนี้ไปใช้ได้ เพราะผมคิดเสมอว่า ทำอย่างไรให้ชุมชนกับเราอยู่กันได้อย่างพี่น้อง ดูแลเกื้อกูลซึ่งกันและกัน

ในเรื่องสุขภาพ ผมไม่มีปัญหาเรื่อง ไขมัน ความดัน เบาหวาน สาเหตุหนึ่งคือ ไม่ดื่มน้ำอัดลมมาตั้งแต่อายุยังน้อย ของหวานก็ค่อยทานให้น้อยๆ และออกกำลังกายประจำด้วยการยืดเหยียดเอ็น เพราะก่อนหน้านี้ต้องเดินทางบ่อยๆ แล้วพอนั่งรถนานก็มีอาการเจ็บเข่า พอไปตามจังหวัดต่างๆ ถ้ารู้ว่ามีสนามซ้อมก็จะหาเวลาไปซ้อมกอล์ฟบ้าง เพื่อการผ่อนคลาย แต่พอกลับมานั่งรถอีก อาการเจ็บก็กลับมาอีก จนเอ็นอักเสบเจ็บมาหลายปี จนมาเจอการยืดเหยียด บวกกับได้เจอกับนักโภชนาการ จึงได้รู้ว่ากล้ามเนื้อเรามีอายุมากกว่าอายุจริง จากเดิมพอรู้สึกว่ากล้ามเนื้อไม่มีแรงก็ไปออกกำลังกายส่วนนั้น ความแข็งแรงก็จะกลับคืนมา แต่มาระยะหลังๆ ออกกำลังก็แล้ว แต่ทำไมยังไม่มีแรงเหมือนเดิม ทำให้เล่นกีฬาไม่ได้อย่างที่คิด ไดร์ฟกอล์ฟไม่ไกล เขาก็บอกว่าส่วนหนึ่งคืออาหาร ต้องกลับมาเรียนรู้ว่าควรจะกินอะไรให้เหมาะสม และกำลังทดลองกับตัวเองอยู่ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้าไม่เคยให้ความสนใจกับเรื่องโภชนาการเลย เพราะมีความสุขกับการกินมาตลอด

ส่วนในเรื่องใจ วิปัสสนา คือการเจริญสติ ให้สติมีกำลังให้เกิดปัญญา ทำให้รู้ความเป็นจริงของชีวิต นั่นคือในชีวิตเรา ต้องเจออะไรเข้ามากระทบ อะไรที่ทำให้พอใจ ไม่พอใจ ให้โกรธ ขาดสติ โมโห และสิ่งที่เราเจอในสนามกอล์ฟกับชีวิตจริงก็ไม่ต่างกัน เวลาเจอนักกอล์ฟที่เล่นโกง เราย่อมโมโห เราห้ามไม่ได้ที่จะไม่ให้เกิดอารมณ์นี้ แต่เมื่อรู้แล้วว่าเกิดจะจัดการยังไง นั่นคือการปฏิบัติธรรมในสนามกอล์ฟ ซึ่งในชีวิตจริงเราก็ต้องเจอตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอน ถ้าเรารู้สึกตัว เข้าใจในธรรมชาติ เราก็สามารถปฏิบัติธรรมได้ตลอดเวลา ได้ทุกสถานที่ โดยไม่จำเป็นต้องเข้าวัด ขอให้ทำถี่ๆ บ่อยๆ เหมือนห่วงโซ่ แต่ไม่ใช่ตลอดเวลา มิเช่นนั้นจะกลายเป็นสมถะไป

การปฏิบัติธรรม ทำให้ใจเย็นขึ้น ความยึดมั่นถือมั่นจะลดลง เอาถูกเอาผิดน้อยลง ลดความเป็นตัวตนลง ชีวิตคนเราความรู้สึกสุขทุกข์ต่างๆ กระบวนการในการเกิดมีค่าเท่ากัน ต่างกันที่เราไปใส่ใจตรงจุดไหนเท่านั้นเอง ความทุกข์เกิดจากการยึดมั่นถือมั่น อยากให้โลกเป็นอย่างที่เราต้องการ พอไม่เป็นอย่างที่คิดก็เกิดเป็นทุกข์ เราไม่สามารถเปลี่ยนโลกได้ แต่เราสามารถเปลี่ยนตัวเองได้ วิธีการก็คือ ต้องรู้เท่าทันความทุกข์ แล้วจะไม่ทุกข์ครับ