ยินดีด้วยกับความสำเร็จ…ที่ต้องแลกมา
ยินดีด้วยกับความสำเร็จ…ที่ต้องแลกมา
ยินดีด้วยกับความสำเร็จก้าวเล็กๆ ของ นางสาวชลชีวา วงษรัศม์ หรือ “น้องอาโป”
กับการเป็นแชมป์ในการเล่นกอล์ฟอาชีพเป็นครั้งแรกในการแข่งขันของสมาคมกีฬากอล์ฟอาชีพสตรี
“SINGHA-SAT Bangkok Ladies Championship 2024”
ด้วยสกอร์….18 อันเดอร์พาร์ (64,63,71)
ณ สนามกอล์ฟวอเตอร์มิลล์ คลอง 14 จังหวัดนครนายก
ระหว่างวันที่ 29-31 พฤษภาคม พ.ศ.2567
ชลชีวา วงษรัศม์ อายุ 17 ปี เป็นชาวเชียงใหม่ เทิร์นโปรเมื่ออายุ 15 ปี จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จากระบบการศึกษานอกระบบ จังหวัดเพชรบุรี
เริ่มต้นเรียนกอล์ฟกับโรงเรียนสอนกอล์ฟเชาวรัตน์ สาขาพิมานทิพย์ ตั้งแต่อายุ 5 ปี กับโปรจันจิรา หนองแก้ว
ช่วงอายุประมาณ 10 ปี มาฝึกซ้อมเพิ่มเติมกับ โปรสุธี วงศ์ษาโรจน์ (โปรโน๊ต) โรงเรียนสอนกอล์ฟเชาวรัตน์ สาขานอร์ธฮิลท์ (ขณะนี้ย้ายสถานที่ไปสนามไดร์ฟเอ็มสปอร์ต)
เมื่ออายุ 13 ปี มาต่อยอดการฝึกซ้อมกับโปรเชาวรัตน์ เขมรัตน์ ”โปรเชาว์“ ผู้อำนวยการโรงเรียนสอนกอล์ฟเชาวรัตน์ ที่สนามไดร์ฟกอล์ฟธนบุรี พระรามสอง กรุงเทพฯ ภายใต้การดูแลของ ”มูลนิธิกอล์ฟไทยสู่กอล์ฟโลก“
เริ่มควอลิฟายเข้าสู่เส้นทางนักกอล์ฟอาชีพกับสมาคมกีฬากอล์ฟอาชีพสตรี เมื่ออายุ 13 ปี ในสถานะนักกอล์ฟสมัครเล่น
ตลอดเวลาที่ “อาโป” เริ่มแข่งขันกอล์ฟอย่างจริงจัง “อาโป” และครอบครัว ได้รับการดูแลและคำแนะนำในเส้นทางการพัฒนากีฬากอล์ฟอย่างเข้มข้น กับ “โปรเชาว์” และทีมงานผู้เชี่ยวชาญของโรงเรียนสอนกอล์ฟเชาวรัตน์ ประกอบด้วย รศ.ดร.สุพัชริน เขมรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยากีฬากอล์ฟ โดยได้รับแนวทางการฝึกจิตใจที่ถูกต้องเหมาะสมตามวัยและเข้าใจธรรมชาติของกีฬากอล์ฟ มาตั้งแต่อายุ 8 ปี และในช่วงอายุ 13 ปี ได้รับการดูแลด้านสมรรถภาพทางกายเป็นอย่างดี กับ รศ.ดร.อภิลักษณ์ เทียนทอง โดยทั้งสองท่านเป็นอาจารย์ประจำ คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“อาโป” พื้นฐานเป็นคนเรียบร้อย มีสัมมาคารวะ กตัญญู เป็นที่รักใคร่ของผู้พบเห็น จึงทำให้ได้รับความเอ็นดูช่วยเหลือจากผู้ใหญ่หลายท่านเสมอมา
ที่สำคัญ ”อาโป“ มีวินัยสูง ขณะเรียนหนังสือในระบบการศึกษาปกติ ผลการเรียนเฉลี่ยอยู่ระดับ 4 อย่างสม่ำเสมอ แม้ว่ามีความจำเป็นต้องลาเรียนเพื่อฝึกซ้อมหรือแข่งขันอยู่บ้างก็ตาม
ด้วย คุณสมบัติพื้นฐาน 2 ประการข้างต้น โปรเชาว์ และทีมงาน จึงกล้าตัดสินใจสนับสนุนในทุกเรื่องที่จำเป็น และร่วมกันวางแผนเส้นทางการฝึกซ้อมและแข่งขัน เพื่อมุ่งสู่อนาคตการเป็นนักกอล์ฟอาชีพที่มีความพร้อมสำหรับการก้าวสู่รายการอาชีพสูงสุด คือ LPGA เมื่ออายุครบ 18 ปี
เมื่อชัดเจนในเป้าหมายว่าจะเข้าสู่เส้นทางนักกอล์ฟอาชีพ แต่การศึกษายังมีความสำคัญ ดังนั้นเมื่อ “อาโป” จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จะเปลี่ยนจากระบบการศึกษาปกติ เป็น การศึกษานอกระบบ (กศน.) และไม่ศึกษาต่อต่างประเทศ แต่อาจพิจารณาการศึกษาในประเทศแทน เพื่อทุ่มเทเวลาให้กับการฝึกซ้อมและแข่งขันอย่างเต็มที่
“โปรเชาว์” ต้องลดชั่วโมงการสอนนักเรียนปกติ เนื่องจากตัดสินใจกันแล้วว่าจะเดินทางในเส้นทางอาชีพ บทบาทหนึ่งที่ต้องลงมือทำ คือ การเป็นโค้ชและทำหน้าที่แคดดี้ร่วมด้วย จึงเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเดินทางแข่งขันทั้งในประเทศและต่างประเทศ ต้องบริหารเวลาที่มีอยู่อย่างเหมาะสม
“ทีมงาน” ทั้งหมด ไม่ว่าเป็น พ่อแม่ โค้ชจิตใจ โค้ชร่างกาย ทีมงานผู้สอนของโรงเรียนสอนกอล์ฟเชาวรัตน์ และทีมงานมูลนิธิกอล์ฟไทยสู่กอล์ฟโลก ต่างร่วมด้วยช่วยกันเต็มที่ พยายามหาทุนสนับสนุนค่าใช้จ่าย ซึ่งต้องใช้จำนวนมากพอสมควร
ตั้งแต่ “อาโป” เทิร์นโปร เมื่ออายุ 15 ปี ผลการแข่งขันอยู่ในระดับพอใช้ มีความผิดพลาดอยู่บ้าง ผลงานยังไม่โดดเด่นที่สุด แต่มีให้เห็นความสำเร็จมีผลงานติดอันดับต้นในหลายๆ ทัวร์นาเม้นท์ หนึ่งในทัวร์นาเม้นท์ที่เป็ฯแรงผลักดันและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายสิ่ง คือ ThailandMixed จัดโดย Trust Golf ซึ่ง “อาโป” ได้รับโอกาสได้สิทธิ์เข้าร่วมแข่งขัน ณ สก็อตแลนด์ประเทศอังกฤษ ในแมทช์ของ LET Access และเข้าเล่นในแมทช์ของ WPGA Australasia แต่ทีมงานต้องหาทุนเพื่อสร้างประสบการณ์และโอกาสให้กับ “อาโป” ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีผู้นำทาง
การที่ได้รับโอกาสไปแข่งขันต่างประเทศ ทำให้รับรู้บรรยากาศที่แวดล้อมด้วยสังคมกอล์ฟ ไม่ว่าจะเป็นนักกอล์ฟอาชีพ การจัดการแข่งขัน และสภาพสนามที่แตกต่างจากบ้านเราอยู่มาก ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้หล่อหลอมเป็นประสบการณ์ตอกย้ำแนวคิดความเชื่อของ “โปรเชาว์” ในการมีทีมงานที่เข้มแข็ง รู้จริง สามารถทำให้เราสู้นักกอล์ฟชาติอื่นได้น่นอน ขอเพียงฝึกฝนและประเมินผลอย่างต่อเนื่อง
“โปรเชาว์“ ขอโอกาสจากทีมงานในการนำพา”อาโป“ สมัครเข้าเป็นสมาชิกของ WPGA Australasia เมื่อช่วงต้นปี พ.ศ. 2567 ซึ่งต่อเนื่องจากการได้รับสิทธิ์จาก Trust Golf ได้ไปเล่นที่ Australia Open ที่เมืองซิดนีย์ ช่วงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2566 และฝาก“อาโป” ไว้กับครอบครัวคนไทยที่รู้จักและให้ความกรุณาอาศัยที่เมือง Sunshine Coast เป็นโอกาสดีในการฝึกภาษา ฝึกซ้อมกอล์ฟ และเพื่อใช้สิทธิ์อยู่ในประเทศออสเตรเลียตามกรอบเวลา (ไม่เกิน 3 เดือน) โดยใช้เงินทุนสำรองที่เก็บสะสมในปี พ.ศ. 2566 และทุนส่วนตัวของ “โปรเชาว์” “โรงเรียนสอนกอล์ฟเชาวรัตน์” และ“มูลนิธิกอล์ฟไทยสู่กอล์ฟโลก” ทั้งที่ทราบดีว่าเงินรางวัลที่จะได้ในรายการแข่งขันไม่สูงมาก แต่ขณะเดียวกันค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง และต้องชำระภาษีถึง 47%
ซึ่งเมื่อผ่านการเป็นสมาชิกของ WPAG Australasia เมื่อช่วงต้นปี พ.ศ. 2567 แล้ว ได้ทำการแข่งขันต่อเนื่องที่ออสเตรเลีย จนจบฤดูกาลเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา จากนั้นกลับมาเริ่มต้นแข่งขันในช่วงปิดฤดูกาลของ Thai LPGA ในช่วงกลางเดือนเมษายน พ.ศ. 2567
รายได้โดยรวมตลอดฤดูกาลที่แข่งขันในออสเตรเลีย ถือว่า บวก นิดหน่อยในช่วงท้ายฤดูกาล เพราะเป็นแมทช์โคแซงชั่น กับ LET จำนวน 2 รายการ ซึ่งมีเงินรางวัลมากขึ้น และทำผลงานได้ค่อนข้างดี โดยทำผลงานได้อันดับสองในการแข่งขันรายการสุดท้าย
สิ่งที่ได้เรียนรู้ถือเป็นเรื่องดี ได้มีโอกาสเล่นกับสภาพสนามที่อยู่กับเนินเขาแทบทุกสนามซึ่งถือว่ายาก แต่ก่อเกิดประสบการณ์ที่ดีให้นำกลับมาออกแบบโปรแกรมการฝึกซ้อม ส่งผลต่อเนื่องให้ผลงานดีขึ้นเป็นลำดับอย่างน่าพอใจ
นี่คือความสำเร็จขั้นแรกเล็กๆ ของ “อาโป” กับการเป็นรองแชมป์ 2 รายการ และเป็นแชมป์แรก ในการแข่งขัน 3 ทัวร์นาเม้นท์ของสมาคมกีฬากอล์ฟสตรีของประเทศไทย ในฤดูกาล 2567 ที่ต้องแลกมาด้วยน้ำพักน้ำแรง ความอดทน มุ่งมั่น ความมีวินัย เวลา และเงินทุน
ยังมีเส้นทางที่ “อาโป” และทีมงานต้องเดินก้าวต่อไปสู่ความท้าทายที่ใหญ่และสูงขึ้นเพื่อเป้าหมาย LPGA เมื่อเธออายุ 18 ปี ในปี พ.ศ. 2568
โปรเชาวรัตน์ เขมรัตน์