จิตวิทยาการกีฬา

การจัดการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยกับการพัฒนากีฬาชาติ (ตอนที่ 2)

การจัดการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยกับการพัฒนากีฬาชาติ (ตอนที่ 2)

จากการนำเสนอประเด็นการจัดการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทยในภาพรวมๆในฉบับที่แล้ว ฉบับนี้มาต่อกันในรายละเอียดครับว่า การจัดการแข่งขันที่จะนำไปสู่การพัฒนากีฬาชาติและสังคมน่าจะทำแบบไหน ด้วยเหตุผลอะไรครับ

หากเรามองว่าการจัดการแข่งขันฯอีกแนวทางหนึ่งที่น่าสนใจ ที่ขอนำเสนอเหตุผลให้พิจารณาประการแรกจึงควรที่จะเป็นการแข่งขันที่มีคนเข้าร่วมจำนวนมากขึ้น ตั้งแต่นักกีฬา ผู้ฝึกสอนกีฬา นิสิต/นักศึกษา อาจารย์ และชุมชน แค่พูดถึงการมีคนเข้าร่วมกิจกรรมมากขึ้น มีความหลากหลายและเกี่ยวข้องกับการแข่งขัน ย่อมหมายถึงความยิ่งใหญ่ของการแข่งขัน ที่มีผลกระทบต่องบประมาณ/การสะพัดของเงิน ระยะเวลาการจัดที่ต้องใช้ ความรู้สึก การมีส่วนร่วมของสมาชิกในมหาวิทยาลัยก็จะมีมากขึ้น

การจัดการแข่งขันที่ขอเสนอให้ท่านได้ทราบและได้ข้อคิดที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมาย คือการจัดการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยที่เป็นกลุ่ม (League) แบบพบกันหมดในกลุ่ม ที่ไม่ใช่แบบมหกรรมแต่เพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตามแนวทางนี้จะส่งผลกระทบต่อระยะเวลาของการแข่งขันและวิธีการจัดการแข่งขัน และสังคมในหลายแง่มุม ที่ต้องอธิบายในรายละเอียดต่อไป

หากเราแบ่งการแข่งขันออกเป็นกลุ่ม ที่ใช้ภูมิภาคเป็นหลัก ก็หมายความถึงการจัดการแข่งขันที่มีการเดินทางที่สามารถทำได้ในระยะสั้นๆ เช่น ใช้เวลาเดินทาง 1-2 ชั่วโมง แทนการจัดแบบมหกรรมครั้งเดียว ที่ถ้าหากมหาวิทยาลัยทางภาคเหนือเป็นเจ้าภาพ มหาวิทยาลัยทางภาคใต้ต้องใช้เวลาเป็นวันหรือ 2 วันในการเดินทาง การจัดการแข่งขันที่แบบพบกันหมดจึงต้องมีการจัดการแข่งขันแบบเย้าเยือนและใช้เวลานานขึ้นไม่ใช่ครั้งเดียวจบ แต่สิ่งที่แลกมาคือการแข่งขันที่มากกว่า 1 ครั้ง ที่ทีมกีฬาจะได้มีโอกาสได้กลับมาฝึกซ้อมและพัฒนาทีมได้อย่างต่อเนื่อง และใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์การการกีฬามาช่วยให้กลับไปแข่งขันในครั้งต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ข้อดีประการหนึ่งในการแข่งขันที่มีเดินทางน้อยและกลับมาฝึกซ้อมและเตรียมทีมมากขึ้น คือ ความปลอดภัยในการเล่น เมื่อทีมกีฬามีเวลาเตรียมตัว 1 สัปดาห์ก่อนการแข่งขันครั้งต่อไป ความสมบูรณ์ของร่างกาย ทักษะและจิตใจก็จะช่วยให้ลดโอกาสของการบาดเจ็บลงได้ และเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขัน ที่นำไปสู่การเพิ่มความสามารถของทีมกีฬาให้สูงขึ้น และเมื่อทุกทีมก็มีโอกาสและพร้อม และเตรียมตัวมากขึ้นเท่ากับการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย สนับสนุนให้นักกีฬาไทยก็จะมีพื้นฐานที่ดีขึ้น สูงขึ้น

เมื่อการแข่งขันมีจำนวนมากขึ้น (จากการที่ต้องแข่งขันพบกันหมดในกลุ่ม) อะไรที่จะตามมาอีก การเคลื่อนที่ของคนไม่ว่าจะเพื่อวัตถุประสงค์ใดก็จะนำมาซึ่งการใช้จ่าย การเคลื่อนไหวทางเศรษฐศาสตร์ การหมุนเวียนเงินก็จะมากขึ้น เป็นการกระจายรายได้อีกทางหนึ่งผ่านการแข่งขันกีฬา ที่แน่นอนว่าพ่อค้าแม่ค้าย่อมจะมีความพอใจในการขายสินค้า ที่นำไปสู่การมีส่วนร่วมในการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ความรู้สึกที่ดีต่อมหาวิทยาลัยในพื้นที่ของตัวเองก็จะมีมากขึ้น สนองในเรื่องของความสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัยกับชุมชนในทางตรงอีกช่องทางหนึ่ง

อีกเหตุผลหนึ่งของการจัดการแข่งขันแบบเย้าเยือนหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพของชนิดกีฬาเดียว หรือ 2-3 ชนิดกีฬาในแต่ละสัปดาห์แบบนี้ จะเป็นการเพิ่มโอกาสให้ทุกมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยฯ ได้มีโอกาสจัดและเป็นเจ้าภาพการแข่งขัน มีโอกาสได้ประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยของตัวเอง ช่วยเหลือชุมชน และดูแลสนามแข่งขันให้มีคุณภาพและมาตรฐาน ที่สามารถนำไปใช้ทั้งเพื่อการจัดการแข่งขันและทำกิจกรรมปกติของตนเอง

ยังมีอีกหลายประเด็นที่ยังอยากให้ท่านได้ทราบและรับรู้ จึงขอให้ใช้อีกโอกาสของการนำเสนออีกครั้ง สำหรับแนวทางเพื่อการพัฒนากีฬาชาติผ่านการจัดการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทยในฉบับหน้าครับ

ผศ. ดร. นฤพนธ์ วงศ์จตุรภัทร
คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยบูรพา
นายกสมาคมจิตวิทยาการกีฬาประยุกต์แห่งประเทศไทย