จิตวิทยาการกีฬา

การจัดการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยกับการพัฒนากีฬาชาติ (ตอนที่ 1)

การจัดการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยกับการพัฒนากีฬาชาติ (ตอนที่ 1)

27 มกราคม ถึง 5 กุมภาพันธ์ เป็นช่วงเวลาของการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 49 (นนทรีเกมส์) โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (วิทยาเขตกำแพงแสน) เป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขัน ที่ประกอบไปด้วยกีฬาบังคับจำนวน 10 ชนิดกีฬา กีฬาเลือกสากล 14 ชนิดกีฬา กีฬาเลือกทั่วไป 1 ชนิดกีฬา และกีฬาสาธิต 3 ชนิดกีฬา รวม 32 ชนิดกีฬา ชิงชัย 361 เหรียญทอง โดยมีจำนวนมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมในปีนี้ 109 มหาวิทยาลัย/สถาบัน จากจำนวนสมาชิกทั้ง 122 แห่ง

แน่นอนว่าการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทยเป็นการแข่งขันของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยที่มีประวัติยาวนานตั้งแต่ปี 2500 (อย่างไม่เป็นทางการ) และยังไม่ได้เรียกชื่อการแข่งขันว่ากีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย จนกระทั่งมีการจัดการแข่งขันอย่างเป็นทางการและมีคณะกรรมการกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2513 และ 2516 ตามลำดับ นั่นสะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการและประสบการณ์ที่ดีในการจัดการแข่งขันกีฬานี้กับนักศึกษาและมหาวิทยาลัยไทย

โดยสังเขป การจัดการแข่งขันนี้เป็นมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ มีนักกีฬาและผู้เข้าร่วมการแข่งขันจำนวนมาก การจัดการแข่งขันมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ในปัจจุบันมหาวิทยาลัยใหญ่ๆเท่านั้นที่สามารถเป็นเจ้าภาพในรอบมหกรรมได้ เนื่องจากมีจำนวนนักกีฬาและสถาบันเข้าร่วมแข่งขันจำนวนมาก (หลังจากมีรอบคัดเลือก ของมหาวิทยาลัยตามภูมิภาคมาแล้ว = รอบคัดเลือก) มีนักกีฬาระดับนานาชาติ ระดับชาติและมือสมัครเล่น มหาวิทยาลัยที่เป็นเจ้าเหรียญทองมีการหมุนเวียนกันไปอย่างมีนัยสำคัญ การจัดการแข่งขันยังใช้ช่วงเวลาที่มีการเรียนการสอนปกติ ในช่วงเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ เป็นหลัก และใช้เวลาประมาณ 10 วัน อาจารย์และนักศึกษาจำนวนมากเข้าร่วมการจัดการแข่งขัน เตรียมการแข่งขัน รวมทั้งหยุดพักการเรียนการสอน ที่พักที่เป็นหอพักทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย จากจำนวนมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมในปีนี้ 109 มหาวิทยาลัย/สถาบัน จากจำนวนสมาชิกทั้ง 122 แห่ง ในบางครั้งมีการจัดทำเพลงประกอบการแข่งขันด้วย

เป้าหมายของการจัดการแข่งขัน มีว่าเพื่อเป็นการแข่งขันกีฬาเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยต่าง ๆ โดยที่ปรัชญาของการทำทีม การส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขัน นักกีฬาและผู้ฝึกสอนกีฬา รวมทั้งมหาวิทยาลัยอาจจะมีแนวคิดที่ต่างกัน ในการแข่งขันครั้งนี้ (ที่ปรากฏในสูจิบัตรการแข่งขันในช่วงของประวัติการจัดการแข่งขัน ครั้งที่ 49) มีคำขวัญว่า “หลากหลายสู่สรรสร้าง สุขภาวะที่ยั่งยืน” สะท้อนให้เห็นถึงเป้าหมายที่เพื่อสุขภาพที่ยั่งยืน ยาวนานเป็นหลัก

จะเห็นได้ว่าการจัดการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยยังเป็นการแข่งขันที่เป็นมหกรรมครั้งเดียวจบ (ถ้าไม่รวมรอบคัดเลือก) ในแต่ละครั้ง แต่ละปี ที่มีลักษณะของการจัดการแข่งขันแบบเดียวกับในระดับนานาชาติ เช่น กีฬาซีเกมส์ เอเชียนเกมส์และโอลิมปิคเกมส์

จากข้อมูลที่ปรากฏข้างบนนี้ จึงอยากจะนำเสนอและให้ข้อสังเกตอีกครั้งหนึ่ง ถึงการจัดการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ที่อาจจะช่วยให้บรรลุเป้าหมายของการแข่งขันเพื่อมวลนิสิตนักศึกษา ส่งเสริมความเป็นเลิศและสุขภาวะที่ยั่งยืน อย่างผสมกลมกลืน

อย่างไรก็ตามขอใช้เวลาในการนำเสนอที่มากกว่านี้ และมีความชัดเจนมากขึ้น เนื่องจากมีหลายประเด็น หลายแง่มุม จึงขอใช้โอกาสในเดือนต่อไปในการนำเสนอในรายละเอียดว่าเรายังมีแนวทางอื่น ๆอีกไหมที่จะจัดการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทยที่สนองเป้าหมายของการแข่งขันและมหาวิทยาลัย

ผศ. ดร. นฤพนธ์ วงศ์จตุรภัทร
คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยบูรพา
นายกสมาคมจิตวิทยาการกีฬาประยุกต์แห่งประเทศไทย