สัพเพฯ กอล์ฟ

สู้สุดใจ

สู้สุดใจ

คราวก่อนเขียนเรื่องของ “สังเวียนไก่ชน” ที่ถือว่าเป็นผู้นำทั้งทางด้านการจัดการ แล้วยังเป็นบรรทัดฐานของการขอเปิดสนามไก่ชนในแถบหัวเมืองใหญ่อีกด้วย สนามไก่ชน “เทิดไท” คือสถานที่ซึ่งซุ้มไก่ทั้งหลายกระหายที่จะได้พาไก่ของตนเข้ามาประลองการดวลเพลงแข้งสักครั้ง นั่นคงเป็นเพราะว่า “ถ้าไก่ซุ้มใดโชว์เพลงแข้งได้เข้าตาคนเล่นแล้วความเชื่อถือจะเกิดขึ้นกับซุ้มนั้น”

จากซุ้มไก่ที่เป็นเหมือนเพียงสัตว์เลี้ยงใต้ถุนบ้าน แต่ปัจจุบันมันกลายเป็นแหล่งทำมาหากิน เป็นอาชีพที่ทำรายได้นับร้อยล้านในแต่ละปี ลองคิดดูนะครับจุดเริ่มต้นก็สายพันธุ์ การเลี้ยงดู อาหารการกิน ยา วัสดุในการก่อสร้างกรง นี่ยังไม่รวมถึงคนเลี้ยงในซุ้มใหญ่ๆ จะมีคนดูแลไก่เป็นสิบๆ คน แต่คนที่สำคัญสุดๆ ในแต่ละซุ้มก็ตกเป็น เทรนเนอร์หรือมือให้น้ำ ว่ากันว่ามือให้น้ำไก่เก่งๆ เงินรายได้ในแต่ละเดือนมากพอที่จะซื้อกระบะได้เป็นคัดๆ กันเลยทีเดียว แล้วซื้อแบบเงินสดได้เลยนะครับ

ครูไก่เคยพบเจอกับการต่อสู้ของสัตว์ร่วมโลกที่มนุษย์เราเอาธรรมชาติของพวกเขานำมาเป็นเรื่องบันเทิง นับตั้งแต่ แมงช้าง, จิ้งหรีด, กว่าง. ปลาเข็ม, ปลากัด, ปลาหมอไทย, แมว, สุนัข, วัว, ควาย สำหรับคู่ที่ถือว่าสู้แบบสุดชีวิตก็ต้องเป็น “ไก่ชน” เท่านั้น เพราะบรรดาสัตว์ที่กล่าวมาก่อนหน้านั้น “ในการต่อสู้แต่ละครั้ง หากเริ่มปะทะกันแล้วเรี่ยวแรงสู้ไม่ได้ หรือเจ็บก็จะยอมหนี” แต่กับไก่ชนไม่มีเรื่องเหล่านี้แน่นอน

การชนไก่นั้น เวลาในการต่อสู้ในแต่ละ “อัน” หรือ “ยก” เขาใช้เวลา 22 นาที พัก 22 นาที กำหนด 6 ยก ครับ ผมเคยเห็นบางคู่สู้กันชนิดลืมตายก็ไม่ผิด เช่นไก่บางตัว ถูกตีตาบอดตั้งแต่ยกแรก พอจบยกมือให้น้ำจะรีบนำไปดูแล ภายในเวลา 22 นาทีของการพัก ตาที่บอดก็จัดการเย็บปิดที่บอดนั้นเสีย สรุปก็เหลือตาข้างเดียว การปั่นคอเอาเสมหะกับเลือดออก นำเย็นประคบหน้าตาให้หายบวม แล้วก็มียารวมทั้งข้าวสุกปั้นกรอกลงคอ  ครบ 22 นาทีก็กลับลงสังเวียนกันอีกรอบ ในสังเวียนจะมีกรรมการคอยดูแลไก่ให้สู้กันตลอดเวลา

สำหรับคนดูนั้น ประเภทอยากรู้อยากเห็นมากว่าการเล่นคงมีไม่มากมายนัก ส่วนใหญ่รักใครซุ้มไหนก็ตามตามชมตามเชียร์กันไป เท่าที่ครูไก่เห็นการเล่นไก่มันหนักหนามากมายนัก การเอ่ยป่ายต่อสู้กันเริ่มที่ “พัน” กันแทบจะทุกคน ผมไม่เคยได้ยิน ห้าร้อย, ร้อย เลยสักนิด คาดว่ามีวงเงินสะพัดหมุนเวียนในแต่ละครั้งที่สนามเปิดเป็น “สิบล้าน” ครับ เพราะในคู่เก่งๆ มีการถือหางกันเป็นหลายๆ ล้านครับ ลองคิดดูนะครับ นี่คือเงินที่ต้องนำมาวางกันเป็นเงินสด ส่วนเงินเล่นในคู่แบบนี้ไม่ต้องพูดถึง หากจะพูดถึงวิชาการดูแลไก่ในแต่ละซุ้มก็ศาสตร์ใครศาสตร์มัน เป็นความลับที่ทุกซุ้มมี ก็อย่างที่บอก “มือน้ำเก่งๆ” มีเงินเข้ากระเป๋าเดือนละหลาย แสน

นอกจากเรื่องของอาชีพพ้นฐานแบบชาวบ้านแล้ว ยังมีอะไรอีกบ้างที่เข้ามาเกี่ยวดองหนองยุ่งอีกบ้าง อาชีพของ “หมอยา” ที่เป็นทั้งยาพื้นบ้าน หรือยาที่ผลิตจากโรงงาน มีอยู่มากมายหลายยี่ห้อ ทั้งเป็นสมุนไพรและสารเคมีทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งก็แน่นอนว่าทั้งหลายทั้งปวงก็เพื่อความสำเร็จของการต่อสู้ในสังเวียนนั่นเองครับ

โดยธรรมชาตินั้น ไก่ทั้งโลกถ้าไม่ผิดปกติแต่อย่างใดที่โคนขาจะมีเดือยงอกออกมาเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม แต่ถ้าเราปล่อยให้เดือยงอกออกมา นั่นคืออาวุธ หากปล่อยให้สู้กันชนิดติด “อาวุธ” ไก่จะตายแน่นอน ดังนั้น เขาจึงหุ้มเดือยไว้ด้วย “ปลาสเตอร์” จะกี่ชั้นก็ว่ากันไป ตามภาษาที่เรียกันว่า “ไก่ใส่นวม” โดยการหุ้มเดือยในแต่ละครั้ง จะมีกรรมการคอยดูอย่างใกล้ชิด

ไก่ชนอาจจะมีหลากหลายลีลาในการต่อสู้ บางตัวอาจจิกตี หรือ หลบตี, ตีตรง, ตีข้าง ฯลฯ  ไก่เก่งๆ เมื่อปลดระวาง อาจมีค่าตัวเป็นล้าน เพื่อไปเป็นพ่อพันธุ์ เคยได้ยินว่าบางตัวแพงซื้อขายกัน 5 บ้านทีเดียวครับ  คราวที่เห็นเบาะๆ โดย “น้าแอ๊ด” ขายไปล้านห้าแสนบาท แล้วเงินทองที่ได้ก็เอาไปทำบุญทำทานกันหมดสิ้น

นี่แหล่ะครับ เรื่องอะไรที่เป็นพื้นบ้าน ไม่ว่าจะเป็นคนเป็นสัตว์หากนำมาสร้างมูลค่าเพิ่ม รู้จักคิดรู้จักทำให้มีกฏกติกาที่ผู้คนรับได้ อะไรๆ ที่เราคิดว่ามันไม่ได้เรื่องไม่เข้าท่า ของแบบนี้ก็สามารถสร้างงานสร้างอนาคตให้กับผู้คนที่เป็นฐานของบ้านของเมืองตัวจริง ใครจะออกมาบอกว่าเรื่องนี้เป็นการทรมานสัตว์ผมบอกเลย “ใช่ครับ” แต่ธรรมชาติของเพื่อนร่วมโลกเรานี่ “เขาสู้กันทั้งชีวิต” อยู่แล้ว ความทรมานที่เราเห็นนี่มันจิ๊บๆ “เพราะความทรมานที่แท้จริงคือ ความอดอยากของคนเรานี่แหล่ะ” หรือใครจะว่าอย่างไร ?

ครูไก่ ลำพอง ดวงล้อมจันทร์