ทำงานเพื่อทดแทนคุณแผ่นดิน – ดร.กิตติพงษ์ โพธิมู
ดร.กิตติพงษ์ โพธิมู
อธิบดีกรมพลศึกษา
“ทำงานเพื่อทดแทนคุณแผ่นดิน”
ผมอยากเล่นกีฬา อยากเป็นนักกีฬา แต่ตัวเล็กร่างกายไม่ค่อยเอื้ออำนวยนัก ผมเป็นลูกน้ำเค็ม เกิดที่สมุทรสงคราม สิ่งที่ติดตัวมาคือกีฬาทางน้ำ ว่ายน้ำเป็นตั้งแต่เด็ก แล้วมาเริ่มเล่นกรีฑา เป็นนักวิ่ง จากนั้นก็มาเล่นฟุตบอล ซึ่งเป็นกีฬาที่ชอบ เดิมทีนั้นเรียนที่โรงเรียนวัดบางจะเกร็งประโชติประชานุกูล คุณพ่อคุณแม่เป็นครูอยู่ที่นั่น ก็เล่นกรีฑาตั้งแต่รุ่นจิ๋ว รุ่นเล็ก รุ่นกลาง วิ่ง กระโดดไกล กระโดดสูง พอเป็นตัวแทนนักเรียนมาแข่งกรีฑาจังหวัด ได้เห็นรุ่นพี่ๆ เขาวิ่ง ก็อยากจะเป็นนักวิ่ง อยากเป็นนักกีฬา ดูแล้วเหมือนเท่ห์ ซึ่งเป็นสิ่งอยู่ในใจมาตั้งแต่เด็กๆ
พอขึ้นมัธยมที่โรงเรียนศรัทธาสมุทร ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดสมุทรสงคราม เห็นเขาเล่นกีฬากันก็อยากไปเล่นด้วย ระหว่างเรียนก็ทำกิจกรรมหลายอย่าง เล่นกีฬาด้วย เป็นนักดุริยางค์ไปด้วย ผมเป่าคาริเน็ต ตีกลองแต๊ก พอจบมัธยมก็ไปเรียนต่อที่วิทยาลัยครูหมู่บ้านจอมบึง ราชบุรี ไปถึงก็เล่นกีฬา ตอนนั้นไม่ได้เล่นกรีฑาแล้ว ได้รับคัดเลือกให้เป็นนักฟุตบอลของวิทยาลัยฯ ไปแข่งกับในเครือวิทยาลัยครูด้วยกัน
ผมเป็นนักเรียนประจำ และได้รับคัดเลือกให้ไปอยู่ที่บ้านของอาจารย์ฉัตรชัย วิจักขณะ ซึ่งผมได้เห็นท่านเล่นกีฬาหลายอย่าง จนเกิดแรงบันดาลใจ ปรึกษาท่านว่า ผมอยากเรียนพลศึกษา อยากเรียนกีฬาจะต้องทำอย่างไรบ้าง ซึ่งขณะนั้น วิทยาลัยพลศึกษามีเปิดอยู่ 4 แห่ง ที่ ชลบุรี เชียงใหม่ ยะลา และ มหาสารคาม อาจารย์ก็แนะนำว่าไปสอบที่เชียงใหม่เพราะมีเพื่อนของท่านสอนอยู่ที่นั่น แล้วผมก็โชคดีสอบได้
ตอนนั้นผมจบ ปกศ.ต้นแล้ว กำลังเตรียมเรียนต่อ ปกศ.สูง, ครั้งแรก คุณพ่อคุณแม่ไม่ค่อยเห็นด้วยนัก เพราะทั้งไกลบ้าน และยังไม่แน่ใจกับสาขาวิชานี้ เรียนไปแล้วจะมีอนาคตหรือเปล่า ซึ่งในสมัยนั้นส่วนใหญ่อยากจะให้ลูกได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัย อยากให้เป็นแพทย์ เป็นวิศวะ เป็นทหาร ผมเองก็เคยคิดจะไปสอบเป็นทหาร แต่เมื่อไม่ได้ไปก็เลยคิดอยากเป็นครูตามอย่างคุณพ่อคุณแม่ ครั้งแรกก็คิดเรียนแค่ ปกศ.ต้น แล้วจะออกมาทำงาน แต่เมื่อได้รับแรงบันดาลใจ จึงเลือกเรียนต่อ ปกศ.สูง สาขาพลศึกษา ทั้งที่ๆ ได้รับคัดเลือกให้เรียนต่อ ปกศ.สูง สาขาสังคมศึกษา ที่วิทยาลัยครูหมู่บ้านจอมบึงด้วยเช่นกัน
ด้วยความเป็นลูกน้ำเค็ม พอไปอยู่วิทยาลัยพลศึกษาเชียงใหม่ เลยได้ไปเป็นประธานชมรมว่ายน้ำ เป็นนักกีฬาว่ายน้ำของวิทยาลัย พอปีที่ 2 ไปฝึกสอนที่เชียงราย ก็ได้ไปเป็นนักกีฬาจังหวัดเชียงราย เล่นให้เขต 5 นั่นคือการได้เป็นนักกีฬาจริงจังในกีฬาเขตแห่งประเทศไทย
เมื่อจบ ปกศ.สูง แล้วก็อยากจะเรียนต่อปริญญาตรี ตอนนั้นเกือบจะได้งานทำเหมือนกัน เพราะ ผู้อำนวยการโรงเรียนแม่สายประสิทธิ์ศาสตร์ให้ไปสอบบรรจุที่นั่น แล้วก็สอบได้ ต้องตัดสินใจอีกว่า จะทำงาน หรือจะเรียนต่อ เพราะวิทยาลัยพลศึกษาทั้ง 4 แห่งจะคัดเลือกนักเรียนที่มีผลการเรียนดี ให้มาเรียนต่อที่ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พลศึกษา ซึ่งสมัยนั้นก็คือที่ สนามศุภชลาศัย
พอมาเรียนก็ไปคัดตัวเป็นนักกีฬาฟุตบอล แต่ไม่ติดเพราะมีคนเก่งๆ กันเยอะมาก ส่วนว่ายน้ำนั้นติดอยู่แล้วแน่นอนเพราะเป็นนักกีฬาตัวแทนของมหาวิทยาลัย เป็นตัวเยาวชนทีมชาติ แล้วยังได้เล่นโปโลน้ำเพราะเป็นกีฬาแนวเดียวกัน ด้วยความชอบกีฬาทำให้เล่นอีกหลายอย่าง เคยเล่นยูโดจนกระดูกไหปลาร้าหัก ขณะเดียวกันก็มองหากีฬาที่จะเล่นอีก เลยไปคัดตัว ฮ้อกกี้ เพราะคล้ายๆ กับฟุตบอล จนได้เป็นตัวนักกีฬาของมหาวิทยาลัยฯ
ความใฝ่ฝันหลังจบปริญญาตรีคือการได้เป็นอาจารย์สอนในวิทยาลัยพลศึกษา สอนกีฬา สอนเรื่องนันทนาการ, อยากเรียนต่อปริญญาโท, อยากสอบเข้าเร่งรัดพัฒนาชนบท เพื่อไปเจ้าหน้าที่ รพช. ขับรถจี๊บสร้างถนนหนทาง ขณะที่ก็อยากเป็นครูพละด้วย ทางเลือกทั้งหมดมีอยู่ 3 ทาง ก็สอบได้ทั้ง รพช. และ ครูพละ ในที่สุดก็เลือกทางที่ตัวเองชอบเป็นวิชาชีพที่ตัวเองถนัด เลือกไปเป็นอาจารย์สอนที่ วิทยาลัยพลศึกษา จ.เชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2521
การได้กลับมาอยู่ที่ วิทยาลัยพลศึกษา จ.เชียงใหม่ อีกครั้ง ตั้งใจไว้ว่าเมื่อได้กลับมาทำงานในวิทยาลัยฯ ที่เราจบ ต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ผมได้ทำทีมว่ายน้ำให้กับ วพ.เชียงใหม่ เป็นโค้ชว่ายน้ำให้กับ เขต 5 เชียงใหม่ เป็นอาจารย์สอนพิเศษให้กับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นโค้ชให้กับ มช. ในกีฬา มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ได้ทำงานหลากหลายมาก
ผมได้มาสอบชิงทุนของ ก.พ.ไปเรียนต่อปริญญาโท ซึ่งหลักเกณฑ์มีอยู่ว่า ต้องเป็นเรื่องที่ไม่มีการสอนอยู่แล้วในประเทศไทย ผมจึงเลือกเรียนทางด้านนันทนาการที่ มหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ จนจบแล้วกลับมาทำงาน และจากการทำงานที่เชียงใหม่ จากผลงานที่สร้างขึ้น ทำให้ผมได้รับคัดเลือกให้ไปเรียนโค้ชว่ายน้ำที่ประเทศเยอรมัน เป็นทุนของกรมพลศึกษา ที่มหาวิทยาลัยไลพ์ซิจ ซึ่งขณะนั้นเมืองนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของเยอรมันตะวันออก ยังเป็นคอมมิวนิสต์ พออยู่ได้ปีนึงก็รวมเป็นประเทศเดียวกันกับฝั่งตะวันตก ผมยังได้ไปดูการทุบกำแพงที่เบอร์ลิน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญอีกด้วย
ขณะนั้น ความก้าวหน้าของเยอรมันไปไกลกว่าบ้านเราเยอะมาก เขาสร้างสระที่ใช้แรงดันน้ำเพื่อฝึกนักกีฬาให้ว่ายต้านน้ำ มีอุปกรณ์ต่างๆ ที่แสดงให้เห็นถึง ความถี่ ความต้านของน้ำ ความเร็ว ความอ่อนตัว แล้วแสดงออกมาเป็นกราฟให้ดู ซึ่งเป็นเทคโนโลยี่เก่าที่เขาใช้มาถึง 30 ปีแล้ว และกำลังจะเลิกใช้ ขณะของบ้านเราไม่มีอุปกรณ์ต่างๆ เหล่านี้เลย ทำให้เมื่อมองย้อนหลังแล้วการพัฒนากีฬาทางบ้านเราคงจะสู้ยุโรปเขาไม่ได้ง่ายๆ เพราะเขาไปเร็ว ไปไกลกว่าเราเยอะมาก
บ้านเราคิดว่าโค้ชคนเดียวทำได้ทุกอย่าง ขณะที่บ้านเขามีผู้เชี่ยวชาญในแต่ละเรื่องมาคอยดูแล นักโภชนาการดูเรื่องอาหาร, นักจิตวิทยาดูเรื่องจิตวิทยาทางการกีฬา, โค้ช ดูแลเรื่องการฝึก ทำตารางการฝึก, นักวิทยาศาสตร์การกีฬา ไบโอแมคคานิค ก็มาดูเรื่อง มุม องศาต่างๆ ที่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด, มีแพทย์ มาคอยเจาะเลือดไปตรวจหาสารต่างๆ มีนักวิเคราะห์ดูว่ามีค่าอะไรขาดหรือสูงเกินไป ซึ่งทั้งหมดนี้ทำกันเป็นทีม เพื่อสร้างนักกีฬาให้ไปสู่โอลิมปิค เขาคิดกันถึงขนาดเรื่องชาติพันธุ์ของนักกีฬา ถ้านักกีฬาเก่ง มาแต่งงานกับนักกีฬาเก่ง ลูกที่ออกมาจะต้องเก่งต่อไปอีก คิดถึงการผสมของยีนส์ คิดวิธีการฝึก โดยแต่ละเรื่องนั้นละเอียดและลึกซึ้ง ทำให้เราได้ประสบการณ์เยอะแยะมากมาย พอผมกลับก็นำมาถ่ายทอดให้กับสมาคมว่ายน้ำ และได้สอบเป็นผู้ตัดสินของสมาคมว่ายน้ำแห่งประเทศไทย ตอนอยู่เชียงใหม่ผมก็ทำหลายอย่าง แล้วยังเป็นผู้ตัดสินของสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยด้วย แต่ก็คิดว่าเมื่อเรามาทางว่ายน้ำแล้วก็อยากจะไปให้ไกลที่สุด ก็ไปสอบเป็นผู้ตัดสินนานาชาติ FINA ได้ตัดสินในระดับซีเกมส์ เอเชี่ยนอินดอร์เกมส์
เมื่อจบปริญญาโทมาแล้ว ก็ใฝ่ฝันอยากเรียนปริญญาเอก ก็สอบชิงทุนอีก ผมได้ทุนของยูเนสโก เรียกว่า ทุนโคลัมโบ ไปเรียนที่อินเดีย พอทำสัญญาเสร็จเรียบร้อยแล้ว มหาวิทยาลัยจากอเมริกาที่เคยสมัครไว้ก็ตอบกลับมาให้ไปเรียนอีก ตอนแรกตัดสินใจว่าจะสละสิทธิ์ทางนี้ พอดีมีพี่ข้าราชการในกรมพลศึกษา คุณฉะอ้อน เกตุแก้ว (ภรรยาของ อาจารย์วิจิตร เกตุแก้ว) ได้มาสอบถาม แล้วให้ข้อคิดว่า ถ้าไม่ไปก็น่าเสียดายนะ เพราะการเป็นนักเรียนทุนคือความภาคภูมิใจของชีวิต
ผมเรียนท่านไปว่ามองดูแล้วประเทศอินเดีย คงไม่ค่อยเจริญมากนัก สกปรก คนเยอะ แต่ท่านก็ให้คำแนะนำว่า จะเรียนที่ไหนไม่สำคัญ สำคัญที่ตัวเรา การจะทำให้ตัวเองประสบความสำเร็จ ทำตัวให้ตัวเองมีค่า อยู่ที่ไหนก็ทำได้ เสียดายทุนของยูเนสโก้ที่สอบได้แล้ว และยังเป็นทุนให้เปล่าแบบไม่มีข้อผูกมัด ผมจึงไปปรึกษากับ ก.พ.ว่าจะขอไปดูก่อน ถ้าเรียนได้ก็จะเรียน แบบนี้จะทำได้หรือไม่ ซึ่ง ก.พ. ตอบว่าทำได้ไม่มีปัญหาเพราะทุนนี้ไม่มีข้อผูกมัดใดๆ ซึ่งยูเนสโก สนับสนุนทุนให้กับเขตโคลัมเบียทั้งหมด เช่น ศรีลังกา อินเดีย ปากีสถาน ไทย อิหร่าน เวียดนาม ฯลฯ ซึ่งผมก็เลือกไว้ 2 แห่ง คือ ที่มหาวิทยาลัยปัญจาบ กับ Lakshmibai National Institute of Physical Education พอไปถึง สถานทูตอินเดียก็แนะนำให้ไปเรียนที่ ลักษมีไบ เพราะเป็นศูนย์กลางในเรื่องพลศึกษาของอินเดีย
พอเข้าเรียนก็มีความรู้สึกเหมือนเป็นวีรบุรุษของประเทศ เพราะเขาให้ความสำคัญกับเรามาก ครั้งแรกที่แนะนำตัวว่าเป็นนักเรียนทุนของยูเนสโก ผู้คนก็ปรบมือให้เกียรติกันทั้งหอประชุม รู้สึกว่าตัวเองมีค่ามาก ที่นี่เป็นการศึกษาระบบอังกฤษ ประเทศอินเดียก็อยู่ไม่ไกลบ้านเรามากนัก ลูกก็ยังเล็กพอเดินทางไปมาหาสู่กันได้ไม่ยาก จึงตัดสินใจแจ้ง ก.พ. ไปว่าขอรับทุนเรียนที่นี่เลย
ในประวัติที่เขียนประกอบการสมัครเรียน ผมเขียนไว้อย่างละเอียดเลยว่า เคยผ่านงานหรือเรียนอะไรมาบ้าง โชคดีที่ผมเคยไปฝึกที่เยอรมัน พอเขาเห็นประวัติ ก็ให้ผมเป็น Teaching Fellow ซึ่งหมายถึงเป็นขณะที่เป็นนักเรียนทุนก็เป็นอาจารย์สอนไปด้วยได้ พออ่านประวัติไปอีกเห็นว่าเคยอยู่ที่วิทยาลัยพลศึกษาเชียงใหม่ ก็ให้ไปเป็นอาจารย์นิเทศน์นักศึกษาฝึกสอนได้อีก แล้วยังให้เป็นผู้ตัดสินฟุตบอล ลงทำหน้าที่ตัดสินในคู่สำคัญๆ, ใหม่ๆ ก็รู้สึกกดดัน แต่พอผ่านช่วงแรกไปได้ทุกอย่างก็ราบรื่น ได้รับเชิญให้ไปตัดสินตามเมืองต่างๆ มีคนรู้จักมากขึ้น เดินในมหาวิทยาลัยไปทำงานที่ห้องแล็ปส่วนตัวตอนเช้า เด็กต้องยืนเคารพเราเหมือนนักเรียนกับครูในบ้านเรา ภาพอินเดียที่เราเคยนึกไว้เมื่อยังไม่ได้มาเอง กับสิ่งที่ได้พบได้เห็น มันต่างกันมาก ผมเป็นนักเรียนประจำ มีอาหาร มีหอพัก ตื่นตั้งแต่ตี 5 มาทำกายบริหาร เสร็จเรียบร้อยแล้วแยกไปฝึกกีฬาใครกีฬามัน เราในฐานะอาจารย์ก็ไปออกกำลังกาย ดูเด็กซ้อมกีฬาโน้นกีฬานี้ รู้สึกสำคัญเหมือนราชสีห์ในป่า เดินไปไหนเด็กต้องทำความเคารพ ขนาดนั่งทานข้าวด้วยกัน ซึ่งเราก็เป็นนักเรียนอยู่ที่นั่นด้วย แต่ถ้าเขาจะลุกหรือจะนั่งก็ต้องขออนุญาตเราก่อน
การเรียนปริญญาเอกระบบอังกฤษคือต้องหาอาจารย์ที่ปรึกษาให้ได้ก่อน แล้วเสนอหัวข้อวิทยานิพนธ์ ขณะที่เรียนสามารถเก็บข้อมูลและทำวิทยานิพนธ์ควบคู่กันไปได้เลย ผมทำเรื่องประสาทสัมผัส การตัดสินใจ ในเรื่องกลไกทักษะของนักกีฬา โดยใช้ตัวอย่างจากนักศึกษาวิทยาลัยพลศึกษา เชียงใหม่ ปีที่ 1 มีเครื่องมือทดสอบต่างๆ เช่น ปล่อยลูกบอลให้กลิ้งลงมาตามราง แล้วต้องวิ่งไปจับให้ทัน เพื่อดูระบบประสาทในการตัดสินใจ ดูปฏิกริยาในการตอบสนอง นักกีฬาจะมีปฏิภาณไหวพริบในเรื่องการตัดสินใจเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง แต่การตัดสินใจนั้น ต้องเป็นทักษะกลไกของร่างกายในการสั่งงานด้วย เหมือนกับการยิงลูกโทษ ว่าผู้รักษาประตูจะตัดสินใจป้องกันทางด้านไหน เพราะไม่อาจจะรอให้ลูกถูกเตะออกมาก่อนแล้วค่อยตัดสินใจ ต้องพุ่งตัวออกไปจังหวะเดียวกับลูกออกจากเท้าถึงจะทันกัน หรืออย่างวอลเลย์บอล ก็ต้องพุ่งตัวขึ้นไปจังหวะเดียวกัน ไม่ใช่รอให้ตบก่อนแล้วค่อยโดดขึ้นไปป้องกันนั้นไม่ทัน กีฬาทุกอย่างจะอยู่ที่ Motor Learning หรือ การเรียนรู้ทางการเคลื่อนไหว ซึ่งในบ้านเราขณะนั้นถือเป็นเรื่องใหม่
การจะสร้างนักกีฬาให้ไปสู่ความเป็นเลิศได้นั้น ประเทศอินเดียให้ไว้ 6 ศาสตร์ ได้แก่ 1. Physical Fitnessความสมบูรณ์ทางกาย ตั้งแต่รูปร่าง ยีนส์ ความแข็งแรง ความคล่องตัว ดูว่าพร้อมที่จะฝึก 2. Basic Skill ให้พื้นฐานทางทักษะ คนที่มีความสมบูรณ์ของร่างกาย มีความพร้อม ถือว่าใส่อะไรไปก็รับได้ จากนั้นใส่ 3. Technicเทคนิค และ 4. Tactic ใส่แทคติคขั้นสูงขึ้นไปอีก 5. Moral ขวัญและกำลังใจ ซึ่งมีความสำคัญมาก นักกีฬาซ้อมมาดี เก็บตัวมาดีแค่ไหน แต่ถ้าจิตใจไม่สู้ พลังก็ลดลง จึงต้องมีการสร้างขวัญและกำลังใจให้ฮึกเหิม ถึงจะเกิดพลังมหาศาล และสุดท้าย 6. กติกา มารยาท ในการเล่น ผมมักจะสอนเสมอว่า เล่นกีฬาอะไรก็ตาม ต้องมีคัมภีร์ไบเบิ้ล ถ้าเราไม่สอนให้นักกีฬารู้จักและทำความเข้าใจกับกติกาอย่างชัดเจน เล่นไปก็ฟาวล์ ทำผิดกติกาอยู่บ่อยๆ ก็เสียเปรียบ
ในระดับปริญญาเอก เมื่อทำวิทยานิพนธ์เสร็จ ส่งให้อาจารย์ที่ปรึกษาพิจารณาเรียบร้อยแล้ว ต้องส่งให้ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นบุคคลภายนอก 5 ท่าน พิจารณาอีก แล้วก็ต้องผ่านหมดทุกคน ถึงจะเรียกว่าเรียนจบอย่างสมบูรณ์ ระหว่างที่รอการพิจารณา ผมก็ขอกลับมาทำงานล่วงหน้าไปก่อน 6 เดือน เงินเดือนไม่ขึ้นก็ไม่เป็นไร ถือว่าเป็นชีวิตสปิริตของเราเอง พอทุกท่านอ่านวิทยานิพนธ์ครบหมด ก็มีหนังสือจากมหาวิทยาลัยฯ แจ้งให้กลับไปสอบครั้งสุดท้าย เป็นการตอบคำถามให้มั่นใจว่า สิ่งที่เราทำมานั้นเกิดประโยชน์จริง หลังจากนั้นก็ถือว่าเราเรียนจบได้วุฒิปริญญาเอกอย่างเป็นทางการ
ประเทศอินเดีย เป็นเจ้าภาพกีฬาสำคัญๆ มาก่อนประเทศเรา เขาฝึกศาสตร์ต่างๆ มานานแล้ว เช่น โยคะ เนื่องจากเป็นประเทศใหญ่มีคนเยอะ แล้วมีคนฉลาดเยอะ เก่งด้านไอที มีความก้าวหน้าล้ำสมัย แม้กระทั่งเรื่องกีฬา ก็มีผลงานดีๆ เช่นกัน แต่ไม่ค่อยได้รับการเผยแผ่ ขณะเดียวกันก็มีคนจนเยอะด้วย ทำให้ภาพที่ออกไปไม่ค่อยจะดีนักในสายตาของพวกเรา พอผมกลับมารับราชการ ถึงได้มีความภาคภูมิใจมาก ที่ได้รับการศึกษามาจากอินเดีย เพราะรู้แล้วว่าประเทศเขาก็มีดีเยอะมากเช่นกัน
เมื่อมีการจัดตั้งกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ผู้บริหารกรมฯ ได้เห็นความสำคัญว่าเรามีประสบการณ์เกี่ยวกับกีฬาว่ายน้ำมาหลากหลาย ก็มอบหมายหน้าที่ให้มาเป็นโค้ชทีมชาติ มาเก็บตัวที่กรุงเทพฯ มีลูกศิษย์ที่มีชื่อเสียงหลายคนด้วยกัน เข้าแข่งใน ซีเกมส์ ครั้งที่ 17 ที่สิงคโปร์ โดยผมเป็นโค้ชทีมชาติครั้งแรก ตอนไปอยู่ที่เยอรมัน ก็ยังได้นำกีฬาเรือพายกลับมาด้วย กลับมาเชียงใหม่ก็ทำเป็นเรือแคนู ได้แนวคิดมาจากสิงคโปร์ โดยเอานักกีฬาว่ายน้ำมาหัดพาย จนกระทั่งส่งสมาคมเรือพาย มาแข่งจนนักกีฬาติดทีมชาติ แล้วผมก็เปลี่ยนมาเป็นโค้ชเรือพายทีมชาติ ในซีเกมส์ครั้งที่ 18 ที่ อินโดนีเซีย ครั้งนั้นได้เหรียญทองเรือกรรเชียง แล้วก็ทำเรื่อยมาจนถึงเอเชี่ยเกมส์ครั้งที่ 13 ที่กรุงเทพฯ ผมก็ผันจากผู้ตัดสินว่ายน้ำ มาทำทีมเรือพาย ได้ไปแข่งชิงแชมป์โลก และได้ไปแข่งขันอีกหลายรายการ จนกระทั่งเปลี่ยนมาเป็นผู้บริหารแล้ว ได้มาอยู่หน้าห้องอธิบดีสมัยนั้น (นายทินกร นำบุญจิตต์) ที่กรมพลศึกษาเลยไม่ได้ทำทีมอีก
พอตั้งเป็นสถาบันการพลศึกษาขึ้นจากวิทยาลัยพลศึกษา จ.เชียงใหม่ ผมได้รับเลือกให้เป็นคณะบดีคณะศิลปศาสตร์ ก่อนจะโอนเข้ามาที่กรมพลศึกษา เพราะคิดว่า กรมพลศึกษา มีบุญคุณกับเรามาก เลยกลับมาอยู่สำนักนันทนาการ แล้วก้าวไปเป็นหัวหน้าสำนักงานรัฐมนตรี อยู่กับการเมืองครึ่งนึง ราชการครึ่งนึง ทำงานอยู่สองสมัย ย้ายไปกรมการท่องเที่ยว และกลับมากรมพลศึกษาอีกครั้ง เป็นผู้อำนวยการสำนักนันทนาการ, เป็นรองอธิบดี จนกระทั่งปีสุดท้าย ก็มารักษาการอธิบดี จนเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2558 ครม.ก็เห็นชอบแต่งตั้งเสนอเข้า ครม. โปรดเกล้าให้เป็นอธิบดีกรมพลศึกษา
ต้องขอขอบคุณที่ ท่าน ดร.ชาญวิทย์ ผลชีวิน ได้เสนอให้อธิบดีฯ เข้าไปเป็นอนุกรรมการปฏิรูปโครงสร้างกีฬาด้วย ก็ได้ไปเสนอในที่ประชุมใหญ่ว่า อยากให้โครงสร้างของประเทศ คณะกรรมการร่มใหญ่ที่มองเห็น กีฬาที่จะไปเป็นอาชีพได้ กีฬาที่จะก้าวไปสู่ความเป็นเลิศได้ ต้องเริ่มจากพื้นฐาน ถ้าเด็กไม่เล่นกีฬาตั้งแต่ตอนนี้ เราจะไปหวังให้เขาเล่นตอนโตแล้วมันมีช่วงที่พัฒนาสั้นมาก การจะเป็นเลิศทางกีฬาต้องสะสมมาจากเด็ก มีการหารือกับกระทรวงศึกษาธิการ อยากให้รื้อฟื้นว่าสมัยที่กรมพลศึกษาอยู่กับกระทรวงศึกษาฯ ให้เริ่มมีกีฬาสี เริ่มปลูกฝังให้เด็กออกกำลังกาย เพราะกีฬาทำคนให้เป็นคนโดยสมบูรณ์ เด็กจะ รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย รู้ขอโทษ เกิดจากกีฬา ทำงานเป็นทีม ก็จะมีกีฬาสี กีฬานักเรียนนักศึกษา แล้วที่เราจะทิ้งไม่ได้เลยคือเรื่องเด็กของคนพิการ ปัจจุบันก็มีแนวคิดอยากจะให้กีฬานักเรียนนักศึกษาแห่งชาติ กับกีฬานักเรียนคนพิการมาแข่งร่วมกันเพื่อก่อให้เกิดความสามัคคี เกิดความเสมอภาค รื้อฟื้นการแข่งขันกีฬาในส่วนกลางรุ่นต่างๆ ให้มีหลากหลาย เพื่อเป็นการปลูกฝัง ถ้ามีเด็กเล่นกีฬากันเยอะขึ้น เราก็มีตัวเลือกไปสู่กีฬาเพื่อความเป็นเลิศเยอะขึ้นไปด้วย
พลศึกษา คือการศึกษาเรื่องจิตวิญญาณของมนุษย์ เรื่องของความเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ เรามีคำว่า Sound Mind in The Sound Body จิตใจที่แจ่มใจจะอยู่ในร่างกายที่สมบูรณ์ กายกับใจแยกกันไม่ออก พลศึกษา จึงหมายถึงศาสตร์ที่เราใช้ดูแลตัวเองตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่ว่าจะ กิน นอน นั่ง เดิน พักผ่อน ออกกำลังกาย ฯลฯ สอนให้รู้จักการตัดสินใจโดยเอากีฬามาช่วยบริหารงานได้ โดยคำนึงถึงความถูกต้องและเป็นไปได้
ในฐานะข้าราชการ เราเป็นข้าราชบริพาร ในชีวิตนึงก็ขอตั้งใจ ทุ่มเท ทำงานเพื่อทดแทนคุณแผ่นดินให้ได้มากที่สุด ทำงานให้เต็มศักยภาพ ทำเพื่อประเทศชาติ ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ผมเองก็ต้องปณิธานไว้ว่าจะทำงานจนนาทีสุดท้ายของการเกษียณ เราทำดีไม่ต้องให้ใครเห็น ตัวเราเองจะรู้ดีว่าเราทำอะไรอยู่ ถ้าคิดดีทำดี ก็จะส่งผลให้เรามีจิตใจที่ดี ปัญหามีให้แก้ ไม่ได้มีให้กลุ้ม ไม่งั้นจะมารุมเร้าที่ตัวเราเองครับ